สำนักงาน ก.พ.ร. จับมือ 3 หน่วยงานกลาง ขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานกลาง 4 หน่วยงาน ได้แก่ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบัณฑูร สุภัควณิช ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และ นางนิตยา กมลวัทนนิศา ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง การบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานกลาง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการ SIGA (Sasin Institute for Global Affairs) เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องเฟื่องฟ้า โรงแรมเรดิสัน
การบูรณาการร่วมกันของ 4 หน่วยงานกลางในครั้งนี้ นับเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาระบบราชการไทย ที่นำไปสู่ภาพของการบริหารราชการที่มีการปลดล็อคกลไกต่าง ๆ ให้มีความคล่องตัว รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัด ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการผนึกกำลังร่วมกันทำงานของ 4 หน่วยงานกลางดังกล่าว
สืบเนื่องจากมาตรา 10 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 กำหนดว่า ในกรณีภารกิจใดมีความเกี่ยวข้องกับหลายส่วนราชการ หรือเป็นภารกิจที่ใกล้เคียงหรือต่อเนื่องกัน ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนั้นกำหนดแนวทางการปฏิบัติราชการเพื่อให้เกิดการบริหารราชการแบบบูรณาการร่วมกัน โดยมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
ให้ส่วนราชการมีหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติราชการของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือหัวหน้าคณะผู้แทนในต่างประเทศ เพื่อให้การบริหารราชการแบบบูรณาการในจังหวัดหรือในต่างประเทศ แล้วแต่กรณี สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายได้ครบถ้วนตามความจำเป็น และบริหารราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับ ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 มาตรา 8 (2) กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) เป็นผู้กำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเสร็จเรียบร้อย และอยู่ระหว่างทูลเกล้าฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ตลอดรวมถึงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2555 ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องการปรับรูปแบบการทำงานให้มีลักษณะเชิงบูรณาการ เกิดการแสวงหาความร่วมมือและสร้างเครือข่ายกับฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงาน ได้แก่ การวางระบบการบริหารงานแบบบูรณาการภายในระบบราชการ และการส่งเสริม ผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานกลางต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการของส่วนราชการ
ดังนั้น เพื่อให้การบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. .... และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2555) ทั้ง 4 หน่วยงานกลาง อันประกอบด้วย สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และกระทรวงมหาดไทย จึงร่วมกันดำเนินงานสนับสนุนการขับเคลื่อนการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ โดยการสร้างความร่วมมือแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานกลาง รวมทั้งภาคส่วนต่าง ๆ โดยให้การสนับสนุนตั้งแต่การจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดและจังหวัด การสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนฯ ตลอดจนการกำกับ ติดตามการดำเนินงานตามแผนฯ ทั้งในแง่ของระบบบริหารจัดการ ยุทธศาสตร์ งบประมาณ กำลังคน และอื่น ๆ ที่จำเป็น
สำหรับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานกลาง ประกอบด้วย
1. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- สนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด
- พิจารณาความเชื่อมโยงของแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค
2. สำนักงบประมาณ
- สนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด
- ให้คำปรึกษาด้านงบประมาณในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
- สนับสนุนให้เกิดการบูรณาการระหว่างกระทรวง/กรม และจังหวัด/กลุ่มจังหวัด
3. กระทรวงมหาดไทย
-สนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้เกิดการบูรณาการในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ระบบบริหารจัดการ ยุทธศาสตร์ งบประมาณ กำลังคน และอื่น ๆ ที่จำเป็น
4. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
- สนับสนุนให้เกิดการบูรณาการของหน่วยงานกลาง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ
การบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานกลาง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่สามารถช่วยให้การบริหารราชการของจังหวัดแบบบูรณาการมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนได้อย่างแท้จริงต่อไป
การบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานกลาง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่สามารถช่วยให้การบริหารราชการของจังหวัดแบบบูรณาการมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนได้อย่างแท้จริงต่อไปการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานกลาง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่สามารถช่วยให้การบริหารราชการของจังหวัดแบบบูรณาการมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนได้อย่างแท้จริงต่อไป
กลุ่มสื่อสารฯ สลธ. / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 4 กันยายน 2552 17:31:15 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 4 กันยายน 2552 17:31:15