สำนักงาน ก.พ.ร. โดย กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร จัดทำ โครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบราชการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้กรณีศึกษา เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ ที่มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาองค์กร และการพัฒนาระบบราชการไทย และจัดทำเป็นบทความทางวิชาการ เพื่อขยายองค์ความรู้ด้านการพัฒนาองค์กรภาครัฐและการพัฒนาระบบราชการไปในวงกว้าง
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้สนับสนุนและผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบราชการ โดยเน้นหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และการบริหารงานแนวใหม่ อาทิ การส่งเสริมให้มีการบริหารราชการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ เริ่มตั้งแต่การวางแผนกลยุทธ์ เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์และการกำหนดแผนงานในระยะยาว การวางแผนปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการนำกลยุทธ์มากำหนดเป็นกิจกรรมเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ โดยมีเป้าหมายที่แสดงถึงผลผลิตและผลลัพธ์ มีผู้รับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานที่ชัดเจน และมีเป้าหมายการทำงาน ตลอดจนมีตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก อันจะนำไปสู่การวัดผลการปฏิบัติงาน และการปรับปรุงให้เกิดผลงานที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ เพื่อนำระบบราชการไทยเข้าสู่ระบบราชการยุคใหม่ที่ทันสมัยและเป็นสากล สามารถทำงานและให้บริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการของประชาชน และมีสมรรถนะสูง อันจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของประเทศและประโยชน์สุขแก่ประชาชนในที่สุด
ในปัจจุบัน มีส่วนราชการและจังหวัดจำนวนไม่น้อย ได้นำเครื่องมือการบริหารจัดการแนวใหม่ไปขับเคลื่อนให้การพัฒนาระบบราชการ อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ตามวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร. จึงเล็งเห็นความสำคัญ และมีแนวคิดที่จะรวบรวมองค์ความรู้ และผลความสำเร็จดังกล่าว เพื่อนำมาศึกษา วิเคราะห์ และกลั่นกรองร้อยเรียงออกมาในรูปแบบของบทความทางวิชาการ เป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
ดังนั้น โครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบราชการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้กรณีศึกษาจึงได้เกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการขยายองค์ความรู้ด้านการพัฒนาองค์กรภาครัฐ และการพัฒนาระบบราชการไปในวงกว้าง เพื่อเกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างส่วนราชการ เกิดการเทียบงาน (benchmarking) กับวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด (best practices) อันจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ส่วนราชการที่มีผลการปฏิบัติงานดี ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถ และมาตรฐานการทำงานของหน่วยงานราชการไทย ให้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับโลก อันจะนำไปสู่สัมฤทธิผลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับการดำเนินโครงการนั้น จะใช้เวลา 8 เดือน ระหว่างเดือนมกราคม ถึง สิงหาคม 2551 โดยจะทำการศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐที่มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาองค์กรและการพัฒนาระบบราชการไทย ใน 6 ประเด็น ได้แก่
การบริหารเชิงยุทธศาสตร์ในระบบราชการไทย (Strategic Management)
การปรับกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมในการทำงาน (Paradigm Shift)
การปรับปรุงการให้บริการภาครัฐ (Service Improvement)
การบริหารราชการในภูมิภาคของไทย (Provincial Administration)
การจัดการความรู้ (Knowledge Management)
การบริหารงานภาครัฐในรูปแบบเครือข่าย และการมีส่วนร่วมของประชาชน (Governing by Network & People Participation)
จากนั้น จะมีการประชุมร่วมกับระชุมร่วมกับนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญประเด็นการพัฒนาระบบราชการใน 6 ประเด็นดังกล่่าวข้างต้น (resource person) เพื่อพิจารณาคัดเลือกหัวข้อบทความทางวิชาการ รูปแบบการนำเสนอบทความ รวมทั้งพิจารณารายชื่อวารสารวิชาการที่เหมาะสมกับการตีพิมพ์บทความทางวิชาการ ซึ่งบทความหรือเอกสารวิชาการนั้น จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรภาครัฐ และการพัฒนาระบบราชการไทย โดยจัดทำขึ้น 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แล้วนำมาจัดทำเป็นหนังสือรวบรวมบทความทางวิชาการ พร้อมกรณีตัวอย่างจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เพื่อขยายองค์ความรู้ด้านการพัฒนาองค์กรภาครัฐและการพัฒนาระบบราชการไปในวงกว้าง
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
ปิยสุรางค์ (กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร) / ข้อมูล