สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 4 ธ.ค. 50
เรื่อง การวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงาน จากการใช้จ่าย
งบประมาณของหน่วยงานภาครัฐปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 4 ธันวาคม 2550 ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาอนุมัติหลักการ การวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณ ของหน่วยงานภาครัฐปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ซึ่งทางคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จ ของการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณของ หน่วยงานภาครัฐปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยให้ผู้แทนสำนักงาน ก.พ. ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการกลั่นกรองการวิเคราะห์ ระดับความสำเร็จของการดำเนินงานการใช้จ่ายงบประมาณด้วย และให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติต่อไป รวมทั้งหมด 3 ประเด็นดังนี้
1.ให้หน่วยงานภาครัฐเฉพาะบางส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ได้รับงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2551 ตามที่สำนักงบประมาณกำหนดดำเนินการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงาน จากการใช้จ่ายงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป ตามแนวทางและขั้นตอนที่ สำนักงบประมาณกำหนด
2. ให้หน่วยงานภาครัฐที่ได้รับงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป รายงานผลการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณให้สำนักงบประมาณ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในกระบวนการจัดการงบประมาณ และจัดทำรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
3. อนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณและการติดตามประเมินผล จากภายนอก เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และปลัดกระทรวงทุกกระทรวงเป็นกรรมการ โดยคณะกรรมการกลั่นกรองฯ มีหน้าที่ในการตรวจสอบผลการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณ ของหน่วยงานภาครัฐให้ถูกต้องตามขั้นตอน กระบวนการ หลักเกณฑ์ที่สำนักงบประมาณกำหนด
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้ปรับเปลี่ยนระบบงบประมาณเป็นระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ (Strategic Performance Based Budgeting : SPBB) ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมสอดคล้องกับผลงาน ที่สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด การวิเคราะห์ผลการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ จะเป็นเครื่องมือในกระบวนการจัดการงบประมาณที่จะช่วยให้รัฐบาล หน่วยงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในกระบวนการงบประมาณ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ดังนี้
หลักการและเหตุผล
สำนักงบประมาณได้ดำเนินการพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณ (Performance Assessment Rating Tool : PART) เพื่อใช้ในกระบวนการงบประมาณทั้งระบบ ให้เป็นเครื่องมือของหน่วยงานภาครัฐใช้ในการประเมินผลการดำเนินงานด้วยตนเอง (Self Assessmsnt) โดยสำนักงบประมาณจะทำหน้าที่วิเคราะห์ผลการประเมิน (Assessor) ของหน่วยงานภาครัฐในแต่ละปีงบประมาณเพื่อนำผลจากการประเมินไปใช้ประกอบการตัดินใจ ในกระบวนการจัดการงบประมาณ และเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการประเมินความคุ้มค่าในการปฏิบัติภารกิจของรัฐตามมาตรา 22 ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 2549 สำนักงบประมาณได้นำแนวทางการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณไปใช้กับหน่วยงานนำร่อง 40 หน่วยงาน และได้ปรับปรุงแนวทางการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จฯ ให้สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 สำนักงบประมาณจะนำแนวทางการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณ มาใช้กับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ได้รับงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ตามที่สำนักงบประมาณกำหนด
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำงบประมาณตามระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ โดยตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้
2. เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถวัดระดับความสำเร็จในเชิงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความคุ้มค่า
3. เพื่อให้มีข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญประกอบการตัดสินใจในกระบวนการจัดการงบประมาณของสำนักงบประมาณ หน่วยงานภาครัฐ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ
สาระสำคัญของการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณ (Performance Assessment Rating Tool : PART)
1. กรอบแนวคิด หน่วยงานภาครัฐที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามพันธกิจในการดำเนินการตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ ของรัฐบาลจะต้องกำหนด เป้าหมายการให้บริการหน่วยงาน แผนกลยุทธ์ ผลผลิต/โครงการ และกิจกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวงเป้าหมายการให้บริการกระทรวง และยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เพื่อให้สามารถดำเนินการบริหารงานตามแผนกลยุทธ์เป็นไปตามเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุ้มค่า
2. ขั้นตอนและการวิเคราะห์ผลการประเมินสำนักงบประมาณจะจัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์และวิธีการวิเคราะห์ ระดับความสำเร็จ ของการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณให้แก่หน่วยงานภาครัฐและแจ้งให้หน่วยงานดำเนินการประเมินตนเอง ตามผลผลิต/โครงการ ที่ได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปีและส่งผลการประเมินตนเองให้สำนักงบประมาณพิจารณา โดยสำนักงบประมาณ จะวิเคราะห์คำตอบและเอกสารประกอบที่หน่วยงานส่งมาเพื่อสอบทานผลการประเมินตนเอง ของหน่วยงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด และจัดทำรายงานผลการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของหน่วยงานภาครัฐ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและแจ้งหน่วยงานเพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงการปฏิบัติงานต่อไป
ในกรณีที่หน่วยงานภาครัฐมีความประสงค์จะขอให้สำนักงบประมาณทบทวนผลการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จฯ สำนักงบประมาณจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงาน การใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อพิจารณาหาข้อยุติ
ประโยชน์ของการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณ
1. หน่วยงานภาครัฐสามารถนำผลการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงาน จากการใช้จ่ายงบประมาณไปใช้เป็นเครื่องมือในกระบวนการจัดการงบประมาณในการกำหนดนโยบายและปรับทิศทางการทำงาน แก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินงาน และใช้เป็นข้อมูลปรับแผนการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มผลงาน (Performance) ให้สามารถนำส่งผลผลิตไปสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. สำนักงบประมาณ คณะรัฐมนตรีและฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถนำผลการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงาน จากการใช้จ่ายงบประมาณ ไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในกระบวนการงบประมาณ โดยสามารถติดตามความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล
คุ้มค่า และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง