Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2551 / กุมภาพันธ์ / สลามัตปากีที่ระแงะ (สวัสดีตอนเช้าที่ระแงะ)

สลามัตปากีที่ระแงะ (สวัสดีตอนเช้าที่ระแงะ)

สลามัตปากีที่ระแงะ
(สวัสดีตอนเช้าที่ระแงะ)


   

        เมื่อคราวที่แล้ว OPDC News ได้พาไปทำความรู้จักกับโรงพยาบาลตากใบ ผ่านสกู๊ปข่าวพิเศษจากกลุ่มสื่อสารสร้างความเข้าใจในการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานเลขาธิการ ที่ได้บันทึกเรื่องราวจากการเดินทางไปถ่ายทำสกู๊ปรายการโทรทัศน์ที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อนำมาออกอากาศในรายการเดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ยังเหลือสถานที่ที่น่าสนใจอีกหนึ่งสถานที่ที่ทีมงานลงไปถ่ายทำสกู๊ปในครั้งนี้ นั่นก็คือ โรงพยาบาลระแงะ และในวันนี้ OPDC News ก็มีสกู๊ปข่าวพิเศษมานำเสนอกันต่อค่ะ


ใบไม้สีทองของเมืองนราฯ...หน้า รพ.ระแงะ

  มาถึงระแงะ  

          เช้าวันถัดมา (13 ธันวาคม 2550) ทีมงานรายการโทรทัศน์ เดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ยังเดินทางต่อไปที่ โรงพยาบาลระแงะ แต่ว่าเช้าวันนี้มีข่าวมาขย่มขวัญทีมงานเล็กน้อย ตรงที่รถขนส่งทหารจำนวนหนึ่งถูกลอบวางระเบิดระหว่างเส้นทางจังหวัดปัตตานี เราจึงต้องเช็คเส้นทางกันดูก่อนว่า มันคือเส้นทางกลับผ่านปัตตานีของเราหรือเปล่า? เมื่อพบว่าไม่ใช่ อาหารมื้อเช้าของเราก็อร่อยขึ้นทันตาเห็น

          เราใช้เส้นทางหมายเลข 42 เดินทางไปยังอำเภอระแงะ ผ่านเส้นทางต่างๆ ไปได้อย่างสะดวกโยธิน เลี้ยวเข้าตัวโรงพยาบาลระแงะพอดีเวลา 9 นาฬิกาตรง มีพยาบาลรอรับอยู่ด้วยรอยยิ้มอบอุ่น คุณพยาบาลถามไถ่ถึงการเดินทาง ซึ่งแน่นอนว่า ทีมงานตอบไปว่า มาอย่างสบายๆ ค่ะ 2 ข้างทางร่มรื่นมาก น่าอยู่น่าเที่ยวจริงๆ

          ตากล้องทำงานทันทีด้วยการเดินเก็บภาพผู้มาใช้บริการของโรงพยาบาล จากนั้นไม่นาน หัวหน้าพยาบาลก็มาเชิญทีมงานเข้าไปรับฟังการบรรยายของคุณหมอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระแงะ คือ นายแพทย์สมเกียรติ ทยานิธิกุล พร้อมทีมงานอีกกว่า 10 ท่าน

          ที่โรงพยาบาลระแงะแห่งนี้ ดูกว้างใหญ่กว่าที่โรงพยาบาลตากใบ แต่ก็มีปัญหาที่ไม่ต่างกันเลย ตรงที่มีผู้ป่วยมาเข้ารับบริการจำนวนมาก ขนาดที่ว่า ตื่นเช้ามาส่งรองเท้ามาเข้าแถวจองคิวไว้ก่อน แล้วขับกลับไปกรีดยาง กะเวลาดิบดีแล้วค่อยกลับมาใหม่ แต่ไม่ได้บอกว่า (ส่งรองเท้าไปกรีดยางแทนหรือเปล่าเหมือนทำหน้าที่ผลัดกัน)

          ปัญหาเรื่องสถานที่คับแคบของโรงพยาบาลรัฐบาล ช่างเป็นปัญหาคลาสสิคเอาซะจริงๆ !!


หมอบอกว่า ที่โรงพยาบาลนี้มี 3 S

       

  คุณหมอสมเกียรติ ออกตัวนิดหน่อยว่า พูดไม่คล่องเท่ากับคุณหมอสมชาย ของโรงพยาบาลตากใบ แต่ทีมงานเองก็ได้เนื้อหามาเต็มๆ ไม่น้อยหน้ากันเท่าไหร่ หมอเล่าว่า

          ...โรงพยาบาลระแงะ ตั้งอยู่ที่ ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส มีประชากรในเขตพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 120,000 คน ทำให้การบริการด้วยโรงพยาบาลขนาด 10 เตียงนั้นไม่เพียงพอ ในปี 2531 และปี 2534 ได้เปิดโรงพยาบาลสาขาจะแนะ และโรงพยาบาลสาขาเจาะไอร้อง โดยมีแพทย์จากโรงพยาบาลระแงะ หมุนเวียนให้บริการแบบผู้ป่วยนอก เนื่องจากโรงพยาบาลสาขาไม่มีแพทย์ประจำ จึงไม่สามรถให้บริการแบบผู้ป่วยใน ปัจจุบัน โรงพยาบาลระแงะ เป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง มีพื้นที่ ในเขตรับผิดชอบ 59 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งสิ้น 86,000 คน อัตราการครองเตียงผู้ป่วยใน 117 คน ผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 241 คน/วัน แม้จะมีหมอหมุนเวียนมาจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บ้างก็ยังถือว่าไม่เพียงพอ เพราะคนไข้มีจำนวนมาก บรรดาหมอทำงานหนักโดยตลอดยิ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น จำนวนผู้ป่วย ผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นมาก เพราะระแงะเป็นพื้นที่เป้าหมาย

          เป็นธรรมดาที่ปัญหาการมีบุคลากรไม่เพียงพอต่อการรักษาจะทำให้ผู้ป่วยที่มารับบริการไม่พอใจ คุณหมอสมเกียรติ จึงตั้งข้อปฏิบัติสำหรับโรงพยาบาลไว้เรียกว่า 3S S แรกคือ Service ให้บริการด้วยความเต็มใจ มีประสิทธิภาพ S ที่สองคือ Speed ความรวดเร็วในการให้บริการ เป็นที่มาของ One Stop Service ที่จะพูดต่อไปในเรื่องของการรักษาผู้ป่วยเอดส์ จนทำให้โรงพยาบาลระแงะได้รับ รางวัลดีเด่นของรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน ประเภทภาพรวมกระบวนงานในงานการให้บริการรักษาผู้ป่วยนอก กรณีผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเอดส์ ส่วน S ที่สามคือ Satisfy

          คุณหมอสมเกียรติ เล่าไปชี้ให้เราดูบริเวณรอบๆ โรงพยาบาลไป พลางบอกว่า ที่รอบๆ นี่เค้าโดนกันมาหมดแล้ว ซ้ายเป็นแฟลตตำรวจ สะเก็ดกระเด็นเข้ามาในโรงพยาบาล รั้วพัง ด้านหน้าที่ว่าการอำเภอ อันนี้ดังมากตอนระเบิดคนไข้เป็นลมกันเป็นแถว ข้างๆ ที่ว่าการอำเภอก็โรงเรียน หมอพูดอย่างอารมณ์ดี แต่ทีมงานนี่สิ กำลังแอบผวา แอบระแวงอยู่กับมอเตอร์ไซต์คันดูเก่าๆ จอดอยู่หน้าโรงพยาบาลและตรงหน้าเราพอดีในระยะเผาขน พลางพยักหน้าอย่างรู้กันว่า ไปเหอะ


มีอะไรใน One Stop Service?

           ความที่โรงพยาบาลระแงะมีพื้นที่น้อย ทำให้คนป่วยที่ติดเชื้อ HIV ไม่อยากมารับการรักษา เพราะมีโอกาสที่จะพบกับคนรู้จักมีสูง ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกอายที่จะต้องตอบคำถามคนรู้จักเหล่านั้น ซ้ำการมาโรงพยาบาลของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV มักจะมาในระดับที่เป็นหนักมากแล้ว เมื่อมาโรงพยาบาลพบกับปัญหาคลาสสิคด้านการคอย ก็ทำให้หมดกำลังใจจะมามากขึ้น

           คุณหมอสมเกียรติ แนะนำให้ทีมงานรู้จักกับ คุณหมอแวสะมิง แวโท หรือ หมอแว คนนี้หนุ่มกว่าหล่อกว่า หมอแว ที่ลงสมัครในนามพรรคพลังประชาชน แต่ไปหล่อเทียบเคียงกับ ไชยา มิตรชัย เข้านี่สิ!!

           หมอแว บอกว่า สถานการณ์โรคเอดส์ในพื้นที่นี้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลส่วนใหญ่เกือบหมดสภาพ ที่น่าเป็นห่วงคือบรรดาโรคฉวยโอกาสทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย ทำให้การรักษายากขึ้น ยอดสะสมผู้ติดเชื้อตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบันมีถึง 200 กว่ารายแล้ว ปัญหาที่พบในผู้ติดเชื้อที่เป็นแม่บ้านกว่า 60 % มาจากเหตุที่สามีเสพยาเสพติดในสมัยหนุ่มๆ ก่อนแต่งงานเป็นส่วนใหญ่ ถ้ากลุ่มแม่บ้านที่ติดเชื้อเหล่านี้เข้ามารับยาต้านไวรัสได้ยิ่งเร็วเท่าไหร่โอกาสที่ลูกจะติดเชื้อจะลดลงถึง 3% เลยทีเดียว

           เพราะฉะนั้น ทางโรงพยาบาลจึงคิดวิธีที่จะรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ด้วยการตั้ง ห้องบริการศูนย์องค์รวม ให้คำปรึกษา เป็นแนวคิดของ One Stop Service นั่นเอง ดังนั้น ผู้ป่วยเอดส์ที่มาโรงพยาบาลเพียงเข้ามาที่ห้องบริการศูนย์องค์รวม ของโรงพยาบาลระแงะ แห่งนี้สามารถทำการเจาะเลือด ฟังคำปรึกษา รับการตรวจวิเคราะห์ผล รับยา พร้อมรับใบนัดสำหรับครั้งต่อไปได้ในห้องเดียว เพียงเท่านี้ ผู้ป่วยก็ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดยา และไม่อายใครด้วย

 

 

นี่หละหน้าห้อง...One Stop Service


ดึงผู้ป่วยมามีส่วนร่วมด้วยช่วยกัน

           ไม่รู้จะใช้คำไหนดี ระหว่าง เทคนิค กับ แทคติก ที่โรงพยาบาลระแงะใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยเอดส์ เพราะมีกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ที่มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล มีความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ รวมตัวกันเป็นเพื่อนช่วยเพื่อนมาคุยกับคุณพยาบาลของโรงพยาบาลแล้วตั้งเป็นกลุ่มไปเยี่ยมเยียนเพื่อนๆ ที่ป่วยเป็นเอดส์ที่บ้าน คอยไปให้กำลังใจ ทำให้ผู้ป่วยเอดส์บางรายที่คิดจะลาโลกไปทันทีที่รู้ว่าป่วยเป็นโรคร้ายกลับใจกลายเป็นมีกำลังใจอยู่ต่อ และมารับการรักษาแบบ One Stop Service ที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง แล้วกลับไปทำประโยชน์ต่อให้ครอบครัวและชุมชนได้อีก

           แล้วแบบนี้จะอดใจอย่างไรไหวที่จะไม่มอบรางวัลดีเด่น ของรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน กับโรงพยาบาลระแงะแห่งนี้


    Site Visit บ้านผู้ป่วย


ภาษายาวี นานๆ ที 2 คำ

           ถ้าไม่เก็บเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาฝาก คงไม่ใช่ทีมงานกลุ่มสื่อสารฯ แน่นอน

           ภาษายาวี เก็บมาฝากครั้งนี้ มี 2 คำ
           คำแรก กะปอ แปลว่า ข้าวเกรียบปลาทอด จิ้มน้ำจิ้มก็อร่อย (อันหลังนี่แปลเกิน)
           คำที่สอง ปอเยาะ แปลว่า น้ำวูดู+ทุเรียนพื้นบ้านสุกสุดๆ เป็นปลาร้าแล้ว+ ปลาป่นหรือกุ้งแห้งป่น+ตำพริกใส่ไปนิดสำหรับคนชอบเผ็ด จะกลายเป็นคำว่า ปอเยาะ ไว้คลุกข้าวกิน ที่เด็ดกว่านั้น คือ ต้องกินข้าวกับ ปอเยาะ ด้วยมือ มันจึงจะถึงใจ

           แต่ขอประทานโทษหมอบอกว่า ใช้น้ำล้างมือประมาณอาทิตย์กว่ากลิ่นจะหมด หรือไม่งั้นปล่อยไปก็ชินกลิ่นไปเองนั่นแหละ!!


ธารทิพย์ (สลธ.) / เรียบเรียง & ถ่ายภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 2 กันยายน 2552 17:09:09 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 2 กันยายน 2552 17:09:09
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th