Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2551 / กุมภาพันธ์ / ไปตากใบแล้วใจพอง

ไปตากใบแล้วใจพอง

ไป ตากใบ แล้ว ใจพอง


        

   ตามที่สัญญากันไว้ว่า วันนี้ OPDC News จะนำสกู๊ปข่าวพิเศษจากสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ได้บันทึกเรื่องราวจากการเดินทางไปถ่ายทำสกู๊ปรายการโทรทัศน์ที่ โรงพยายาลตากใบ และ โรงพยาบาลระแงะ จังหวัดนราธิวาส เพื่อนำมาออกอากาศในรายการเดินหน้า...พัฒนาราชการไทย โดยในวันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับโรงพยาบาลตากใบกันก่อน เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติดตามอ่านได้เลยค่ะ


           
10 ที่แล้ว ถ้ามีคนชวนขับรถลงใต้ไปเที่ยวจังหวัดนราธิวาส คงตอบตกลงโดยไม่ยาก แต่ถ้า 3 ปีที่ผ่านมานี้ มีใครสักคนชวนลงไปเที่ยวที่เดียวกัน คงตอบรับได้ไม่ง่ายนัก!

           ที่ว่าไม่ง่ายเพราะ คงต้องคิดหนักและคิดอย่างระมัดระวังว่า จะใช้เส้นทางไหน ไปรถยนต์ หรือขึ้นเครื่องบินไป จะอยู่กี่วัน จะพักที่ไหน และจะออกเดินทางเมื่อไหร่? เรากลายเป็นต้องพึ่ง ความปลอดภัย ไว้ก่อนเป็นลำดับแรกเสียแล้ว เพราะสถานการณ์วุ่นๆ ที่เกิดขึ้นมาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ทีมงาน เดินหน้าพัฒนาราชการไทย ต้องตรองดูชั่วขณะ หากจะต้องเดินทางไปทำสกู๊ปแบบเจาะลึกถึงที่มาของการได้รางวัลของโรงพยาบาลในจังหวัดนราธิวาส 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลตากใบ กับ โรงพยาบาลระแงะ

           โรงพยาบาลทั้งสองแห่ง คว้ารางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชนดีเด่น ประจำปี 2550ไปครอง คือ โรงพยาบาลตากใบ ได้รางวัลดีเด่นประเภทนวัตกรรมการให้บริการ ในงานการให้บริการผู้ป่วยนอกโครงการสุขภาพเบ็ดเสร็จ และ โรงพยาบาลระแงะ ได้รางวัลดีเด่นประเภทรายกระบวนงานในงานการให้บริการรักษาผู้ป่วยนอกกรณีผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ ขอบอกว่า มีส่วนราชการหลายแห่งเช่นกันที่ได้รับรางวัลดีเด่นเช่นนี้เพียงแต่ทั้งสองโรงพยาบาลนี้ ดึงดูดใจทีมงานจนต้องตัดสินใจจะไปให้ได้ แล้วก็ได้ไปมา เพราะเหตุผลเดียวที่ทีมงานเคาะโต๊ะ และพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า

           ทีมงานคนที่ 1 เค้าอยู่ได้ ทำดีจนได้รางวัล ทำไมเราจะลงไปหาพวกเค้าไม่ได้ (เสียงเข้มแข็งมาก)
           ทีมงานคนที่ 2 ตกลงไปด้วยรถตู้ แต่เหยียบมิดนะ เอาให้เข้าเมืองนราฯ ก่อนพระอาทิตย์ตกเป็นใช้ได้... (ไม่ได้กลัว แต่อยากให้ได้สกู๊ปกลับมาอย่างปลอดภัย...แฮ่ๆ)
           ทีมงานคนที่ 3 โอ.เค. ขับยังไงก็ได้ ไม่เอารถนำ ไม่เป็นรถตาม อย่าขับตามรถ ท... รับรองไม่เป็นเป้า (รอบคอบจริงๆ)
           สรุปว่า ทีมงานออกเดินทางกันตี 5 ของวันที่ 11 ธันวาคม 2550 เหยียบเส้นแดนนราธิวาส 5 โมงเย็น ในวันเดียวกัน!!

************************

  วันแรกที่ตากใบ  

          เช้าวันที่ 12 ธันวาคม 2550 การเดินทางจากโรงแรมที่พักไปยังโรงพยาบาลตากใบ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เราเก็บภาพบรรยากาศทั่วไปของโรงพยาบาลตอนเช้า ที่มีผู้ป่วยและญาติๆ มานั่งรอคิวรักษาเฉกเช่นเดียวกันกับภาพที่เกิดกับโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ปัญหาจึงไม่หนีไปจากกันเท่าไหร่ นั่นคือ หมอน้อย (หมายถึงจำนวนไม่ใช่ชื่อ) พยาบาลมีจำกัด เภสัชฯ มีไม่พอ คนรอมีมากกว่า แต่ว่า สมการที่เป็นสูตรของโรงพยาบาลรัฐของที่ตากใบแห่งนี้ คุณหมอผู้อำนวยการ พยาบาลและบุคลากรแบบ สหวิชาชีพตามที่เจ้าของสถานที่ระบุ ได้ช่วยกันแก้ไขไปได้อย่างน่าชื่นชม จนกระทั่งต้องส่งเรื่องเข้าประเมินผลและได้รับรางวัลในที่สุด

 

   

 

สลามัตตากใบ...สวัสดีตากใบ
ยินดีต้อนรับค่ะ


ปัญหาเดิมๆ


        นายแพทย์สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบ เล่าให้ฟังว่า ปัญหาคลาสสิคของโรงพยาบาลรัฐนอกจากบุคลากรจะมีไม่พอแล้ว ยังเป็นเรื่องของพื้นที่ที่คับแคบด้วย เพราะเวลาที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลไม่ได้มาเพียงลำพังแต่มีญาติหรือเพื่อนตามมาคอยดูแลด้วย แล้วที่โรงพยาบาลตากใบมีพื้นที่ไม่กว้างมากนัก จึงมีปัญหาด้านสถานที่เข้ามาปนอยู่อีกปัญหาหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีเรื่องของผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังอย่าง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ที่มีจำนวนมาก เวลาผู้ป่วยเหล่านี้มาที่โรงพยาบาล ก็จะยื่นบัตรนัด บัตรคิว พร้อมกับผู้ป่วยทั่วไปรายอื่นๆ ทำให้ใช้เวลานานมาก บางคนต้องลางานมาทั้งวัน เท่านั้นไม่พอญาติสนิทก็ต้องลางานมาเป็นเพื่อนด้วย

           ทีนี้ก็ลำบากละ เพราะบางทีสามีผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยทำงานรับเงินรายวัน ถ้าต้องมาลางานทีเพื่อรอหมอ รอผลการตรวจ รอรับยาเป็นวันๆ อย่างนี้ ขาดรายได้แน่นอน ชาวบ้านแถวนี้ฐานะทางบ้านไม่ค่อยดีนัก พอเป็นแบบนี้บ่อยเข้าก็รู้ละว่าต้องรักษาแต่ที่สุดก็ต้องเลือกเอาเงินกับเอางานก่อน พอเป็นแบบนี้ทีมงาน (เหล่าคุณพยาบาล) ก็มานั่งคิดกันว่า จะทำอย่างไรดีให้สภาพการณ์การรักษาพยาบาลดีขึ้น ผู้ป่วยเต็มใจมาโรงพยาบาลเพื่อการรักษา ผู้ติดตามก็เต็มใจพาผู้ป่วยมารักษา โดยลดระยะเวลาการทำงานให้เกิดประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้องมากที่สุด คุณหมอสมชายกล่าว

           ผลจึงออกมา 2-3 วิธีการปรับระบบการทำงานที่มีค่ายิ่ง นั่นคือ

           1. เดิมที่ OPD มีขั้นตอนในการรักษา 7 ขั้นตอน ใส่กรรมวิธีลดระยะเวลาและขั้นตอนการปฏิบัติงานลงไป ทำให้เหลือ 5 ขั้นตอน ช่วงเวลาที่คนไข้ต้องนั่งคอยก็จัดให้มีกิจกรรมร่วมกันเพื่อความเพลิดเพลินจะได้ไม่เครียดและใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ เช่น คนไข้กลุ่มที่เป็นโรคเรื้อรัง อย่างความดันโลหิตสูง หรือ เบาหวาน ทางโรงพยาบาลนัดให้มาทุกวันพุธ เพราะฉะนั้นทุกวันอังคารล่วงหน้า ทางโรงพยาบาลจะจัดหาใบนัดจากแผนกเวชระเบียนมาเตรียมความพร้อมเอาไว้ก่อน โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาเป็นตัวช่วย ทีนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคดังกล่าวก็ต้องจัดเวลาดูว่า ระหว่างสัปดาห์หรือระหว่างช่วงเวลานัดนั้น ถ้ามีอาการอาจไปหาพยาบาลที่ศูนย์สุขภาพชุมชนก่อน เพื่อวินิจฉัยอาการเบื้องต้น เพราะที่ศูนย์สุขภาพฯ เป็นเสมือนหน่วยปฐมภูมิในการให้บริการสาธารณสุข (Primary Care Unit หรือ PCU) ถ้าสามารถประทังอาการไปก่อนได้หรือตรวจดูแล้วผู้ป่วยสามารถรอจนถึงเวลาวันพุธที่หมอนัดได้ ก็จะตัดจำนวนผู้ป่วยที่จะไปแออัดที่โรงพยาบาลไปได้ระดับหนึ่ง

           ขณะเดียวกัน ถ้าผู้ป่วยโรคเรื้อรังไปตามนัดในวันพุธ ช่วงเวลาที่คอยหรือผู้ป่วยคนนั้นๆ ยังไม่หายหรืออาการไม่ทุเลา หมอจะหาสาเหตุ ขณะเดียวกันก็จัดกิจกรรมให้ผู้ป่วยได้พบปะพูดคุยกันเอง เพราะผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นแล้วจะแนะนำผู้ป่วยที่ยังไม่ทุเลาให้รู้วิธีการปฏิบัติตัวตามที่หมอ พยาบาล เภสัชกร หรือนักโภชนาการ ได้แนะนำไว้ ผลปรากฏว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่พึงพอใจและมีอาการดีขึ้น

           2. การแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางกับความแออัดในโรงพยาบาล ตรงนี้คือส่วนสำคัญที่ต้องปรบมือ ให้ความยกย่องบุคลากรของทางโรงพยาบาลที่เสียสละออกตรวจชาวบ้านนอกสถานที่ แม้จะอยู่ท่ามกลางความไม่ปลอดภัยทั้งปวงก็ตาม!!

           จากเหตุผลเรื่องการเดินทางของผู้ป่วยที่ต้องใช้เวลาเดินทางนานและใช้เวลามากต่อการมาหาหมอแต่ละครั้ง ทางโรงพยาบาลตากใบ จึงจัดทำประชาคมสอบถามขอความเห็นจากประชาชนประกอบ ด้วย ผู้นำชุมชน ผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำศาสนา ถึงการออกศูนย์สุขภาพเพื่อตรวจรักษาประชาชนสัปดาห์ละ 1 วัน เข้าแนวคิด ใกล้บ้าน ใกล้ใจ เป็นนโยบายระดับกระทรวงมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งการรักษามีประสิทธิภาพเช่นเดียวกันกับการมาโรงพยาบาล เวชภัณฑ์และยาต่างๆ เทียบเท่ากับการไปรักษาที่โรงพยาบาลถึง 98% อีก 2% คือ บรรดายาฉีดหรือยาที่ต้องเก็บรักษาภายใต้อุณหภูมิที่กำหนด

           ปัจจุบันนี้ โรงพยาบาลตากใบออกรักษา 7 พื้นที่ ได้แก่

 

 

วันจันทร์

 

กูบู

 

 

วันอังคาร

 

พร่อน

 

 

วันพุธเช้า

 

ตาบา

 

 

วันพุธบ่ายที่ 1 และ 3 ของเดือน

 

นานาค

 

 

วันพุธบ่ายที่ 2 และ 4 ของเดือน

 

โคกมือบา

 

 

วันพฤหัสบดี

 

โคกงู

 

 

วันศุกร์

 

ศาลาใหม่


           
อย่างไรก็ตามเป็นที่รู้กันว่า ที่นานาค ตาบา เป็นพื้นที่สีแดงคือ อันตรายที่สุด รองลงมาคือ ที่ โคกมือบา (สถานที่ถ่ายทำ) เป็น พื้นที่สีเหลือง เมื่อสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น คณะแพทย์และพยาบาลไม่สามารถออกพื้นที่ตรวจรักษาชาวบ้านได้ ปรากฏว่า ชาวบ้านได้รวมตัวกันขึ้นร้องขอมายัง อบต. และนายอำเภอ ทางโรงพยาบาล ได้ขอคำรับรองจากชาวบ้านถึงความปลอดภัยต่อคณะแพทย์ที่ลงพื้นที่ทำการรักษา ซึ่งชาวบ้านต่างก็ช่วยกันดูแลหมอและพยาบาลจากโรงพยาบาลตากใบ ด้วยการช่วยถมพื้นถนนให้เรียบเพื่อการเข้าออกที่สะดวก คอยเป็นหูเป็นตาให้พ้นจากการถูกลอบทำร้าย จนเป็นที่อุ่นใจของแพทย์และพยาบาล การออกตรวจรักษาจึงดำเนินการต่อได้อีกครั้งหนึ่ง

 



โคกมือบา เสี่ยงเกือบสุดสำหรับหมอๆ

 

สลามัตปือตังก๊ะ...
แปลว่า...สวัสดีตอนบ่ายพี่

 





                       

   Am I O.K.?

           และนั่นคือ เหตุแลผลที่ว่า ทำไม โรงพยาบาลตากใบ จึงสมควรอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลได้รับ 2 รางวัล คือ รางวัลดีเด่น รางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชนประเภทนวัตกรรมการให้บริการในงานการให้บริการรักษาผู้ป่วยนอกในโครงการสุขภาพเบ็ดเสร็จ และ รางวัลชมเชย รางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชนประเภทรายกระบวนงาน ในงานการให้บริการรักษาผู้ป่วยนอกโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง


คำพูดกินใจ

           การพูดคุยถึงกระบวนการทำงานของหมอและพยาบาลที่โรงพยาบาลตากใบ ไม่ได้จบลงที่ความ สำเร็จและขั้นตอนการทำงานของคุณหมอกับคุณพยาบาลที่นี่เท่านั้น ทีมงานอดไม่ได้ที่จะสัมภาษณ์ถึงความรู้สึกลึกๆ ของบุคลากรผู้เสียสละ รักหน้าที่ รักชาวบ้าน และใช้วิชาชีพของตนให้เกิดประโยชน์

           ทีมงานหยอดคำถามที่ว่า กลัวหรือไม่ค่ะ

           ทันทีที่คุณพยาบาลเริ่มตอบคำถามนี้ ทีมงานตั้งทั้งกล้อง จับทั้งปากกา กะว่าจะได้ภาพกินใจจริงๆ มาเป็นสกู๊ป แล้วเราก็ได้ฟังและได้เห็นภาพนั้นจริงๆ ต่างตรงที่ว่า เราต้องลดทั้งกล้องและปากกาลง แต่ใช้หัวใจจดและจำแทน เพราะคำพูดที่ออกมานี้ ออกมาพร้อมกับน้ำตาของพยาบาล 4 คน ที่เป็นหลักของการทำงานจนได้รางวัลครั้งนี้

           เรากลัวแต่ถ้า 1 คนถอย 100 คนถอยเราก็อยู่กันยาก แต่เราหวังว่า ความดีจะชนะความชั่ว เราต้องเข้ากันได้ เรารักบ้านเราค่ะ เรารักต้นไม้ที่ปลูก แผ่นดินผืนนี้เราผูกพัน พ่อแม่ ครอบครัวเราอยู่ที่นี่ เรารักแผ่นดินผืนนี้ค่ะ

 


4 ยอดพยาบาลของ รพ.ตากใบ

 

แผ่นดินของเรา

 

เมื่อตะวันจะลับฟ้า

           ทีมงานถ่ายทำออกจากโรงพยาบาลตากใบอย่างสุขใจ ปลื้มใจอย่างบอกไม่ถูก ภารกิจในวันถัดไป เราจะไปที่โรงพยาบาลระแงะ ก่อนออกมาพยาบาลทั้ง 4 คน ชุดเดียวกับที่ให้สัมภาษณ์อย่างซึ้งใจถามเราด้วยรอยยิ้มว่า แล้วทีมงานกลัวรึเปล่าค่ะ

           ทีมงานตอบได้น่ารักน่าอยู่ต่อมากว่า ไม่กลัวค่ะ คุณอยู่ได้เราก็มาได้ เสียดายที่ต้องกลับก่อน ขอให้พระเจ้าอวยพรทุกคนนะคะ

           พยาบาล เช่นกันค่ะ ขอให้เดินทางโดยปลอดภัยนะคะ พรุ่งนี้ไประแงะ ที่นั่นหนักกว่าที่นี่ค่ะ

           ทีมงาน !!!!!! 180 ไม่ต้องยั้ง เจอด่านอย่าหยุด


   
โชคดีนะ..พี่ทหาร


***
จบข่าว***


ธารทิพย์ (สลธ.) / เรียบเรียง & ถ่ายภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 8 กันยายน 2552 09:26:23 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 8 กันยายน 2552 09:26:23
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th