Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2550 / ธันวาคม / ผลการดำเนินการศูนย์บริการร่วมและเคาน์เตอร์บริการประชาชน ประจำปี 2550

ผลการดำเนินการศูนย์บริการร่วมและเคาน์เตอร์บริการประชาชน ประจำปี 2550

ผลการดำเนินการศูนย์บริการร่วม
และเคาน์เตอร์บริการประชาชน ประจำปี 2550

               นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องของการจัดตั้งศูนย์บริการร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการใช้บริการต่าง ๆ ของภาครัฐ ณ จุดบริการเดียว โดยได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมนำร่องในรูปแบบต่าง ๆ รวม 4 รูปแบบได้แก่

                  1. ศูนย์บริการร่วมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน 
                    เป็นการให้บริการแก่ประชาชนในการขออนุญาตสร้างบ้าน การขอเลขที่บ้าน การขออนุญาตใช้ไฟฟ้า การขอใช้น้ำประปา และการขอหมายเลขโทรศัพท์ (เฉพาะกรณีการยื่นขออนุญาตใหม่) ได้ในที่เดียวกัน โดยดำเนินการจัดตั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ดังนี้
                      - ส่วนกลาง ได้แก่ สำนักงานเขตบางเขน สำนักงานเขตบางพลัด สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ และสำนักงานเขตบางซื่อ
                  - ส่วนภูมิภาค ได้แก่ 1) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่  2) อำเภอเมือง และอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี  3) อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

           2. ศูนย์บริการร่วมเพื่อวิสาหกิจขนาดย่อม
               เป็นการให้บริการแก่ประชาชนที่สนใจจะเป็นผู้ประกอบการใหม่ ให้สามารถขอรับข้อมูลและบริการจดทะเบียนประกอบธุรกิจได้ ณ ที่เดียวกัน และสร้างโอกาสผู้ประกอบการปัจจุบัน ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐ ให้สามารถเข้าถึงและรับรู้บริการด้านข้อมูลจากภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว แบ่งการให้บริการออกเป็น 2 บริการใหญ่ ๆ ได้แก่ บริการข้อมูลเพื่อการจัดตั้งธุรกิจ และบริการรับเรื่องจดทะเบียนพื้นฐานจัดตั้งธุรกิจ สำหรับศูนย์บริการร่วมฯ นี้ ได้จัดตั้งขึ้นในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีหน่วยงานเข้าร่วมรวม 14 หน่วยงาน
           3. ศูนย์บริการร่วมกระทรวง 
               เป็นจุดให้บริการงานของส่วนราชการในสังกัดกระทรวง โดยรวมงานบริการหลายประเภทจากทุกส่วนราชการในกระทรวงไว้ ณ จุดเดียวกัน สำหรับศูนย์บริการร่วมกระทรวงนั้น ได้จัดตั้งที่กระทรวงยุติธรรม มีงานบริการ 3 ลักษณะ คือ การให้ข้อมูล/คำปรึกษา การรับเรื่องขออนุมัติ/อนุญาต และการรับเรื่องร้องเรียน/รับแจ้งเบาะแส
      

     4. ศูนย์บริการร่วมรูปแบบเคาน์เตอร์บริการประชาชน (Government Counter Service : GCS)
              เป็นรูปแบบหนึ่งของการให้บริการที่เป็นการทำงานเชิงรุก เพื่อนำบริการของภาครัฐเข้าถึงประชาชนในแหล่งชุมชน ที่มีประชาชนสัญจรไปมาจำนวนมาก เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเพื่อเป็นต้นแบบก่อนที่จะขยายผลต่อไป รวม 2 แห่ง คือ เคาน์เตอร์บริการประชาชน ณ สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต และ เคาน์เตอร์บริการประชาชน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล แอร์พอร์ต พลาซา จังหวัดเชียงใหม่

           ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการเพื่อให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยได้กำหนดเป็นตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ให้ส่วนราชการระดับกระทรวงและจังหวัดจัดตั้งศูนย์บริการร่วมเพื่อให้บริการแก่ประชาชนไม่น้อยกว่ากระทรวง/จังหวัดละ 1 แห่ง

ผลการดำเนินการศูนย์บริการร่วม / เคาน์เตอร์บริการประชาชน ปี 2550

           สำหรับผลการดำเนินการศูนย์บริการร่วม / เคาน์เตอร์บริการประชาชน ประจำปี 2550 มีดังนี้

           1. การจัดทำเกณณ์มาตรฐานศูนย์บริการร่วมและเคาน์เตอร์บริการประชาชน

                เพื่อให้กระทรวงและจังหวัดได้ปรับปรุง และพัฒนาการดำเนินการของศูนย์บริการร่วม และ เคาน์เตอร์บริการประชาชน ให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้จัดทำเกณฑ์มาตรฐานศูนย์บริการร่วมและเคาน์เตอร์บริการประชาชน แจกจ่ายให้กระทรวงและจังหวัด รวมทั้งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อให้กระทรวงและจังหวัดใช้เป็นแนวทาง ในการพัฒนาการดำเนินการของศูนย์บริการร่วม / เคาน์เตอร์บริการประชาชนของกระทรวง / จังหวัด ให้มีมาตรฐานและสามารถบรรลุจุดมุ่งหมาย ในการอำนวยความสะดวกและให้บริการที่รวดเร็ว รวมทั้งเพิ่มระดับความพึงพอใจของประชาชนต่อการให้บริการของรัฐ พร้อมทั้งจัดให้มีการติดตามประเมินผล เพื่อให้สามารถนำผลการตรวจประเมินไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา และยกระดับการให้บริการของศูนย์บริการร่วม / เคาน์เตอร์บริการประชาชน ไปสู่ความเป็นเลิศต่อไปในอนาคต          

                ทั้งนี้ ได้กำหนดให้กระทรวงและจังหวัดที่ประสงค์จะขอรับการประเมิน เพื่อรับรองมาตรฐานศูนย์บริการร่วม / เคาน์เตอร์บริการประชาชน จัดทำเอกสารเพื่อขอรับการประเมินมายังสำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งในปีนี้มีกระทรวง / จังหวัดที่ส่ขอรับการประเมินฯ รวม 29 แห่ง ซึ่งจากผลการประเมินพบว่า มีศูนย์บริการร่วมและเคาน์เตอร์บริการประชาชนที่อยู่ในณฑ์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฯ จำนวน 21 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์บริการร่วมกระทรวง 8 แห่ง   ศูนย์บริการร่วมจังหวัด 5 แห่ง  เคาน์เตอร์บริการประชาชนกระทรวง 1 แห่ง และ เคาน์เตอร์บริการประชาชนจังหวัด 7 แห่ง โดยทุกกระทรวง / จังหวัดที่ผ่านเกณฑ์การรับรองมาตรฐานฯ มีคะแนนประเมินสูงกว่าคะแนนรวมของเกณฑ์ขี้วัดบังคับ

                  ดังนั้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ศูนย์บริการร่วม/เคาน์เตอร์บริการประชาชนของกระทรวง / จังหวัด จึงได้มีการพิจารณา รางวัลมาตรฐานศูนย์บริการร่วม/เคาน์เตอร์บริการประชาชน เพิ่มให้แก่ส่วนราชการ หากผ่านการรับรองด้วยระดับมาตรฐานที่สูงกว่ามาตรฐานทั่วไป โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภทรางวัล ได้แก่ 1) รางวัลด้านการดำเนินการภาพรวม   2) รางวัลด้านการบริหารจัดการ   3) รางวัลด้านความร่วมมือของหน่วยงาน  และ 4) รางวัลด้านการเสริมสร้างภาพลักษณ์  ซึ่งมีศูนย์บริการร่วม / เคาน์เตอร์บริการประชาชนที่ได้รับรางวัลดีเด่น และรางวัลชมเชยในแต่ละประเภท รวม 14 แห่ง

           2. สรุปจำนวนศูนย์บริการร่วม / เคาน์เตอร์บริการประชาชนที่จัดตั้งขึ้นในปัจจุบัน

                จากการดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมในรูปแบบต่าง ๆ และการกำหนดให้การจัดตั้งศูนย์บริการร่วมเป็นตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ให้กระทรวงและจังหวัดดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมอย่างน้อย 1 แห่ง ปัจจุบันกระทรวง / จังหวัดได้จัดตั้งศูนย์บริการร่วม / เคาน์เตอร์บริการประชาชนแล้ว รวม 119 แห่ง

           3. ให้การสนับสนุนทางวิชาการในการจัดตั้งเคาน์เตอร์บริการประชาชนแก่กระทรวงและจังหวัด

                สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ให้การสนับสนุนการจัดตั้งเคาน์เตอร์บริการประชาชนแก่กระทรวงและจังหวัด โดยได้ดำเนินการสนับสนุนทางวิชาการแก่จังหวัดลำพูน ในการจัดตั้งเคาน์เตอร์บริการประชาชนจังหวัดลำพูน ณ ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาลำพูน และดำเนินการร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งเคาน์เตอร์บริการประชาชน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

           4. การย้ายสถานที่ทำการศูนย์บริการร่วมในรูปแบบเคาน์เตอร์บริการประชาชน บริเวณสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต

                ศูนย์บริการร่วมในรูปแบบเคาน์เตอร์บริการประชาชน ในพื้นที่นำร่องบริเวณสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต กรุงเทพมหานคร ได้เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2548  ซึ่งตามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดตั้ง ศูนย์บริการร่วมรูปแบบเคาน์เตอร์บริการประชาชน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าของพื้นที่ และ บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด ในฐานะผู้รับสัมปทานจัดสรรพื้นที่ ได้ตกลงให้ใช้พื้นที่เป็นระยะเวลา 2 ปี สิ้นสุดลงในวันที่ 31 มกราคม 2550  สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมความคิดเห็น เกี่ยวกับการดำเนินการของเคาน์เตอร์บริการประชาชน ณ สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2550 ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า การให้บริการของเคาน์เตอร์บริการประชาชนเป็นรูปแบบการให้บริการที่มีประโยชน์ สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ จึงควรรักษารูปแบบการให้บริการดังกล่าว พร้อมกับพัฒนาระบบการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น โดยอาจขยายผลการจัดตั้งเคาน์เตอร์บริการประชาชนไปยังพื้นที่อื่นต่อไป

                ประกอบกับกรุงเทพมหานครได้เล็งเห็นประโยชน์ของการทำงานเชิงรุก เพื่อนำงานบริการเข้าถึงประชาชน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยได้จัดตั้งเคาน์เตอร์เพื่อให้บริการด้านการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ในเบื้องต้นจึงเห็นควรย้ายที่ทำการไปจัดตั้งในห้างสรรพสินค้าแทน ดังนั้น ในการดำเนินการจัดตั้งเคาน์เตอร์บริการประชาชน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หน่วยงานต่าง ๆ หลายหน่วยงานที่เปิดให้บริการที่เคาน์เตอร์บริการประชาชน ณ สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต จึงได้นำงานบริการมาร่วมเปิดให้บริการที่เคาน์เตอร์บริการประชาชน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

การดำเนินการในระยะต่อไป

           
1. สนับสนุนจังหวัดในการจัดตั้งเคาน์เตอร์บริการประชาชน
           2. ศึกษาระบบบริการจัดการที่เหมาะสมกับการให้บริการของศูนย์บริการร่วม/เคาน์เตอร์บริการประชาชน
           3. ศึกษา รวบรวมกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการที่ยังมีข้อจำกัด หรือเป็นอุปสรรคในการให้บริการของศูนย์บริการร่วมและเคาน์เตอร์บริการประชาชน และผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องของการมอบอำนาจต่อไป


วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
ข้อมูลจากเอกสารประกอบการประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 13/2550
โดย... ภารกิจนวัตกรรมฯ

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 1 กรกฎาคม 2552 12:53:49 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 1 กรกฎาคม 2552 12:53:49
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th