Focus Group
การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
นับเป็นก้าวแห่งความสำเร็จอีกก้าวหนึ่ง สำหรับการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น (Focus Group) จากส่วนราชการต่าง ๆ เรื่อง รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐขึ้น เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2550 ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอคองคอร์ด และเรื่อง เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ที่จะนำมาใช้ประเมินตามตัวชี้วัดคำรับรองการปฏิบัติราชการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2550 ณ โรงแรม ปริ๊นซ์ พาเลช มหานาค
การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในเรื่องรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นผลการดำเนินงานต่อเนื่องจากที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ มาเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐของส่วนราชการ และได้ส่งเสริมให้ส่วนราชการดำเนินการ โดยกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ
เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาปรับปรุงองค์กร ให้สามารถก้าวไปสู่ผลแห่งความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้กำหนดให้มีรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐขึ้น เพื่อมอบให้กับส่วนราชการที่มีคุณภาพการบริหารจัดการที่ดีเลิศ และแสดงถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาและปรับปรุงองค์กรอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ มีความเหมาะสมกับบริบทของราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงจัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น (Focus Group) เรื่องรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐขึ้น
การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ได้แบ่งผู้เข้าร่วมประชุมออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ส่วนราชการระดับกรม ส่วนราชการระดับสถาบันอุดมศึกษาและจังหวัด และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน และผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) เพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกัน ใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. กลไกการบริหารรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
2. ประเภทของรางวัลฯ
3. คุณสมบัติของส่วนราชการในการสมัครขอรับรางวัล
4. กระบวนการตรวจประเมินและตัดสินรางวัล
5. เกณฑ์คะแนนประเมินในแต่ละหมวด
6. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
สำหรับการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น หรือ Focus Group ในครั้งที่ 2 นั้น เป็นการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ตามตัวชี้วัดคำรับรองการปฏิบัติราชการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มย่อย ตามหมวดต่าง ๆ ได้แก่
หมวด 1 การนำองค์กร
หมวด 2 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ (พิจารณาหมวด 7 ผลลัพธ์การดำเนินการร่วมด้วย)
หมวด 3 การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้
หมวด 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล
หมวด 6 การจัดการกระบวนการ
โดยครอบคลุมการพิจารณาใน 4 ประเด็น คือ
ความยาก-ง่าย (ความเข้าใจ) ในเกณฑ์การประเมิน
ความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามเกณฑ์การประเมิน
เอกสารหลักฐานประกอบการตอบคำถามตามตัวชี้วัด
ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ
ผลจากการจัดประชุม Focus Group ทั้ง 2 ครั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จะเก็บรวบรวมทุกข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับปรุงหลักเกณฑ์และกลไกการบริหารรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งส่วนราชการจะต้องดำเนินการตามตัวชี้วัดคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของภาคราชการต่อไป
และนี่คือส่วนหนึ่งของกระบวนการมีส่วนร่วมที่ทุกส่วนราชการจะได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงที่ดีขึ้น ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. มุ่งหวังให้การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ได้ก้าวไปสู่เส้นทางการปฎิบัติราชการสู่ความเป็นเลิศให้ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ส่วนราชการสามารถทำหน้าที่ส่งมอบงานบริการที่ดีมีคุณค่าให้กับประชาชนผู้รับบริการ และเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ มีการปรับตัวและปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเพิ่มขีดความสามารถขององค์การและบุคลากรได้อย่างแท้จริง
อภิจิตตรา (ภ.นวัตกรรมฯ) & กลุ่มสื่อสาร สลธ. / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 1 กรกฎาคม 2552 11:55:12 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 1 กรกฎาคม 2552 11:55:12