สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 30 ต.ค. 50
ที่่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 30 ตุลาคม 2550 ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 4 เรื่อง ดังนี้
กฎหมาย
เรื่อง การพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 |
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ตามที่สำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีเสนอดังนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้เสนอให้สำนักงาน ก.พ.ร. ให้ความเห็นชอบให้การพัฒนา กฎหมายของส่วนราชการเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่ส่วนราชการจะต้องดำเนินการในปี 2551 ซึ่งการพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 มีหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
1. หลักเกณฑ์การพัฒนากฎหมาย โดยเหตุที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติให้มีการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายไว้หลายฉบับ โดยกำหนดระยะเวลาจัดทำให้แล้วเสร็จไว้ต่างกัน เช่น ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หนึ่งปีหรือสองปีนับแต่วันที่คณะรัฐมนตีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่จะต้องตราหรือปรับปรุงแก้ไข เพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วย ดังนี้
1.1 พัฒนากฎหมาย โดยการจัดทำ ปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายให้เป็นไปในแนวทาง ดังนี้
(1) กฎหมายที่จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เช่น กฎหมายเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
(2) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546
(3) นโยบายของรัฐบาล
(4) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 2554)
1.2 หากส่วนราชการใดไม่มีกฎหมายที่จะต้องพัฒนาตามข้อ 1.1 ให้ส่วนราชการเลือกดำเนินการ ดังนี้
(1) พัฒนาหรือจัดระบบกฎหมายซึ่งรวมถึงกฎหมายลำดับรองในความรับผิดชอบเป็นฐานข้อมูลทางกฎหมาย อิเล็กทรอนิกส์ และเผยแพร่บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ส่วนราชการ และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้
(2) ประมวลหรือชำระสะสางมติคณะรัฐมนตรีในความรับผิดชอบ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้หรือปฏิบัติงานและสะดวก ในการค้นหาของประชาชนหากส่วนราชการใดไม่มีกฎหมายที่จะต้องพัฒนาตามข้อ 1.1 และไม่จำเป็นต้องดำเนินการ ตามข้อ 1.2 ให้แจ้งขอยกเว้นตัวชี้วัดดังกล่าวต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
2. ตัวชี้วัด และคะแนนตัวชี้วัด การพัฒนากฎหมายของส่วนราชการประจำปี พ.ศ. 2551 ได้กำหนดไว้เป็น 2 ตัวชี้วัด เช่นเดียวกับในปี 2548 2550 และมีคะแนนในแต่ละตัวชี้วัด ดังนี้
2.1 ตัวชี้วัดที่ 13.1 ระดับความสำเร็จของการจัดทำแผนพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ คะแนนเต็ม 1 คะแนน
2.2 ตัวชี้วัดที่ 13.2 ระดับความสำเร็จของคะแนนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของการดำเนินงานตามแผนพัฒนากฎหมาย ของส่วนราชการ คะแนนเต็ม 2 คะแนน
3. การดำเนินการของส่วนราชการ ส่วนราชการจะต้องดำเนินการพัฒนากฎหมายภายในระยะที่กำหนด ดังนี้
3.1 จัดทำแผนพัฒนากฎหมายในความรับผิดชอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550
3.2 พัฒนากฎหมาย โดยการจัดทำ ปรับปรุงแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายรายฉบับ ตามแผนพัฒนากฎหมาย แล้วส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีภายในวันที่ 30 กันยายน 2551
ในการจัดทำแผนพัฒนากฎหมายตามข้อ 3.1 และพัฒนากฎหมายตามข้อ 3.2 กระทรวงอาจแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกระทรวง ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการภายในกระทรวงและผู้ทรงคุณวุฒิ จากบุคคลภายนอกที่มีความรอบรู้ในกฎหมายของกระทรวง การพัฒนากฎหมาย หรือเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คำแนะนำและปรึกษาหารือ หรือดำเนินการอื่นใด เพื่อให้การพัฒนากฎหมายของส่วนราชการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีก็ได้
3.3 รายงานผลการพัฒนากฎหมาย ตามข้อ 3.2 ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551
เพื่อให้การดำเนินการตามแผนพัฒนากฎหมายเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดและเป็นไปตามเป้าหมายอย่างแท้จริง จึงได้กำหนดให้หักคะแนนสำหรับส่วนราชการที่ดำเนินการล่าช้ากว่ากำหนดไว้วันทำการละ 0.05 คะแนน เช่นเดียวกับในปี พ.ศ. 2548 2550
4. การแนะนำและตรวจติดตาม เพื่อให้ส่วนราชการได้พัฒนากฎหมาย ด้วยความถูกต้อง มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของทางราชการ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้มีการแนะนำ และตรวจติดตามการพัฒนากฎหมายดังนี้
4.1 การแนะนำ
(1) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะจัดสัมมนาเพื่อชี้แจงแนวทางดำเนินการและรับฟังความคิดเห็น จากส่วนราชการดังนี้
(1.1) สัมมนาส่วนราชการทุกแห่ง ก่อนการจัดทำแผนพัฒนากฎหมาย เพื่อชี้แจงและแนะนำแนวทาง
การดำเนินการการจัดทำแผนพัฒนากฎหมาย และรับฟังความคิดเห็นจากส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม พฤศจิกายน 2550
(1.2) สัมมนาส่วนราชการที่ดำเนินการตามแผนพัฒนากฎหมายเพื่อชี้แจง และแนะนำแนวทาง ในการพัฒนากฎหมายรายฉบับ ตามแผนพัฒนากฎหมายและรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งปัญหาในการดำเนินการ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน กรกฎาคม 2551
(2) การให้คำแนะนำ ชี้แจง และตอบปัญหาโดยเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อได้รับการติดต่อร้องขอ จากส่วนราชการ
4.2 การตรวจติดตาม เพื่อให้การพัฒนากฎหมายได้ดำเนินการสำเร็จตามแผนพัฒนากฎหมายด้วยความถูกต้อง และมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ของทางราชการ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้ทำการตรวจติดตามและขอรับทราบความคืบหน้า ในการดำเนินการ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากส่วนราชการและดำเนินการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวให้หมดสิ้นไป
5. การตรวจสอบและการให้คะแนน เพื่อให้การตรวจสอบและการให้คะแนนส่วนราชการที่พัฒนากฎหมาย ตามตัวชี้วัดในข้อ 2 เป็นไปด้วยความถูกต้องเป็นธรรมและโปร่งใส จึงเห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการในการตรวจประเมินและให้คะแนนตัวชี้วัดที่ 13.1 ระดับความสำเร็จของการจัดทำแผนพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ และตัวชี้วัดที่ 13.2 ระดับความสำเร็จของร้อยละเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของการดำเนินงานตามแผนพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ ดังนี้
5.1 คณะกรรมการประเมินผลการพัฒนากฎหมายของส่วนราชการให้มีอำนาจหน้าที่ ในการประเมินแผนพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ และประเมินผลการดำเนินการพัฒนากฎหมายแต่ละฉบับตามแผนพัฒนากฎหมาย จำนวน 2 คณะ
5.2 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ผลการประเมินการพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ ให้มีอำนาจในการพิจารณา และวินิจฉัยการอุทธรณ์ ผลการประเมินแผนพัฒนากฎหมายและผลการดำเนินการพัฒนากฎหมายรายฉบับ จำนวน 1 คณะ
คณะกรรมการตามข้อ 5.1 และ 5.2 ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากฎหมาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีภารกิจที่จะต้องดำเนินการเป็นจำนวนมากและภายในระยะเวลาอันจำกัด อาจแต่งตั้งคณะกรรมการเพิ่มขึ้นอีกได้
6. งบประมาณดำเนินการ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับงบประมาณในการพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ทั้งสิ้น 50 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน และเป็นงบประมาณสำหรับส่วนราชการในการพัฒนากฎหมาย ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้จัดให้ตามความเหมาะสมต่อไป
กฎหมาย
เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... |
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
กระทรวงวัฒนธรรมเสนอว่าได้ขอให้ สำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาการจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ เป็นองค์การมหาชนและพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... แล้ว โดย ก.พ.ร. ได้พิจารณาเรื่องนี้ในการประชุมครั้งที่ 9/2550 มีมติ ดังนี้
1. เห็นชอบให้จัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในกระทรวงวัฒนธรรม โดยให้จัดเป็นองค์การมหาชน กลุ่มที่ 3 (บริการสาธารณะทั่วไป)
2. ให้เพิ่มเติมหมวด 7 การยุบเลิก ในร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... ว่าให้หอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สิ้นสุดลงภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับ
การประกาศจัดตั้ง เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้คงสภาพหอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดังกล่าวต่อไป ซึ่งสามารถกระทำได้เป็นระยะเวลาครั้งละไม่เกิน 5 ปี โดยจะต้องอาศัยข้อมูลจากการประเมินผลซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยการเสนอแนะของ ก.พ.ร.
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มาเพื่อดำเนินการ โดยมีสาระสำคัญของร่างกฎหมาย ดังนี้
1. กำหนดให้จัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติเป็นองค์การมหาชน กำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ (ร่างมาตรา 5
ร่างมาตรา 7 และร่างมาตรา 8)
2. กำหนดให้ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินกิจการของหอภาพยนตร์ส่วนหนึ่งประกอบด้วยเงินที่รัฐบาลจ่ายให้ เป็นทุนประเดิม และเงินอุดหนุนทั่วไป ที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี และรายได้ของหอภาพยนตร์ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง (ร่างมาตรา 9 ถึง ร่างมาตรา 12)
3.กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารหอภาพยนตร์แห่งชาติกำหนดคุณสมบัติ วาระดำรงตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของ
คณะกรรมการ (ร่างมาตรา 13 ถึง ร่างมาตรา 19)
4. กำหนดให้หอภาพยนตร์มีผู้อำนวยการ โดยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้อำนวยการให้เป็นไปตามข้อกำหนด ของ
คณะกรรมการ และกำหนดคุณสมบัติของผู้อำนวยการ (ร่างมาตรา 23 ถึงร่างมาตรา 25)
5. กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานของหอภาพยนตร์มี 3 ประเภท ได้แก่ เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ร่างมาตรา 33)
6. กำหนดให้หอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สิ้นสุดลงภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับประกาศจัดตั้ง เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้คงสภาพหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ต่อไป ครั้งละไม่เกิน 5 ปี (ร่างมาตรา 44)
7. กำหนดให้รัฐมนตรีดำเนินการโอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน รายได้และเงินงบประมาณของหอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร ไปเป็นของหอภาพยนตร์ (ร่างมาตรา 45)
กฎหมาย
เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร และบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... |
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยให้นำความเห็นของสำนักงาน กพ. และ สำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
กระทรวงมหาดไทยเสนอว่า
1. เนื่องจากมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 บัญญัติให้นำกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ และกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูมาใช้บังคับ แก่ข้าราชการครูกรุงเทพมหานครโดยอนุโลม ซึ่งขณะนี้ สำนักงาน ก.พ. ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 โดยได้มีการปรับปรุงระบบตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้จำแนกตามกลุ่มลักษณะงานให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เป็นกลไกในการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในราชการพลเรือน และให้มีกระบวนการสรรหาบุคลากรในระบบเปิดเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลของกรุงเทพมหาคร โดยเฉพาะในส่วนของโครงสร้างการบริหารระบบตำแหน่ง อัตราเงินเดือนและการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการกรุงเทพมหานคร รวมทั้งไม่สามารถนำบัญชีเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งมาใช้ได้ อันจะเป็นผลเสียต่อข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร
2. โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้ใช้บังคับมานานแล้ว มีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับการพัฒนาด้านการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับกรุงเทพมหานครมีข้าราชการซึ่งสังกัดสถาบันการศึกษาจำนวนมาก สมควรกำหนดประเภทข้าราชการกรุงเทพมหานครในสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น
จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ โดยมีสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังนี้
1.กำหนดให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษามาใช้บังคับแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร และข้าราชการกรุงเทพมหานคร ในสถาบันอุดมศึกษาโดยอนุโลม และให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของ ก.พ. ก.ค.ศ. ก.พ.อ. และสภาสถาบันอุดมศึกษาเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ข้าราชการกรุงเทพมหาคร และบุคลากรกรุงเทพมนคร (ร่างมาตรา 6)
2. ให้มีคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร เรียกโดยย่อว่า ก.ก. ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่งจำนวนหกคน กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนกรุงเทพมหานครจำนวนหกคน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกคน โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหากรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่าง การประชุม ฯลฯ
(ร่างมาตรา 10 ร่างมาตรา 19)
3. ให้มีคณะอนุกรรมการสามัญประจำกรุงเทพมหานครเรียกโดยย่อว่า อ.ก.ก.สามัญข้าราชการ เพื่อเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของกรุงเทพมหานคร และให้มีคณะอนุกรรมการสามัญประจำหน่วยงานกรุงเทพมหานคร เรียกโดยย่อว่า อ.ก.ก. หน่วยงาน โดยองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ก. (ร่างมาตรา 20)
4. กำหนดให้ ก.ก. มีอำนาจตั้งอนุกรรมการวิสามัญ เรียกโดยย่อว่า อ.ก.วิสามัญ เพื่อทำการใด ๆ แทน การปฏิบัติหน้าที่และการดำรงตำแหน่งให้เป็นไปตามข้อบังคับของ ก.ก. (ร่างมาตรา 21)
5. กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครเรียกโดยย่อว่า สำนักงาน ก.ก. โดยให้มีหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 23)
6. กำหนดให้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร เรียกโดยย่อว่า ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยกรรมการจำนวนห้าคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด ตลอดจนกำหนดคุณสมบัติของกรรมการ การสรรหา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุม ฯลฯ (ร่างมาตรา 24 ร่างมาตรา 33)
7. กำหนดให้ข้าราชการกรุงเทพมหานคร มี 3 ประเภท คือ ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร และข้าราชการกรุงเทพมหานครในสถาบันอุดมศึกษา (ร่างมาตรา 35)
8. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสั่งลงโทษวินัยร้ายแรงหรือการสั่งให้ออกจากราชการ (ร่างมาตรา 36)
9. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยหรือดำเนินการเพื่อสั่งให้ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ออกจากราชการ (ร่างมาตรา 37)
10. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการอุทธรณ์ (ร่างมาตรา 38 ร่างมาตรา 39)
11. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องทุกข์ (ร่างมาตรา 40 ร่างมาตรา 43)
12. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบรรจุ แต่งตั้ง และการให้พ้นจากการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหนคร (ร่างมาตรา 45 ร่างมาตรา 47)
13. กำหนดผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กรุงเทพมหานคร และข้าราชการกรุงเทพมหานครในสถาบันอุดมศึกษา (ร่างมาตรา 48 ร่างมาตรา 51)
14. กำหนดการบริหารงานบุคคลสำหรับลูกจ้างกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามที่กำหนด และกำหนดให้มีพนักงานกรุงเทพมหานครเพื่อปฏิบัติงาน (ร่างมาตรา 5 ร่างมาตรา 53)
15. กำหนดบทเฉพาะกาล (ร่างมาตรา 58 ร่างมาตรา 71)
กฎหมาย
เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. .... |
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี ตรวจพิจารณา แล้วให้ดำเนินการต่อไปได้
กระทรวงสาธารณสุขเสนอว่าโดยที่ยาเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนไทย ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ การพัฒนาระบบยาจึงจำเป็นต้องมีนโยบายที่ชัดเจน และมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัวสูง และมีความต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถประสานความร่วมมือของส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนราชการ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน สามารถประสานการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษาและสภาวิชาชีพ ให้ผลิตและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพทุกสาขาให้มีความรู้ ความสามารถ ความรับผิดชอบ ทักษะ จริยธรรม และเจตคติที่ดีในการบริหารจัดการการใช้ยาอย่างคุ้มค่าและสมเหตุผล รวมทั้งการประสานระบบยากับการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตยา และส่งเสริมการใช้วัตถุดิบที่เป็นทรัพยากรในประเทศ และภูมิปัญญาไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านเทคโนโลยี สังคมเศรษฐกิจ การขยายตัวทางการค้าและอุตสาหกรรม ส่วนการดำเนินการพัฒนาระบบยาที่ผ่านมาเป็นไปภายใต้คณะกรรมการแห่งชาติด้านยาซึ่งตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการดำเนินการ และไม่ทันการณ์ในการแก้ปัญหา เช่น การจัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติให้ต่อเนื่องและทันสมัย เป็นต้น
จึงได้เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ โดยมีสาระสำคัญของร่างกฎหมาย ดังนี้
1. กำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ และประสานให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีการดำเนินการตามนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ (ร่างข้อ 5 และร่างข้อ 10)
2. กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและองค์ประชุม (ร่างข้อ 6 ถึงร่าง ข้อ 8)
3. กำหนดให้จัดตั้งสำนักพัฒนาระบบยาแห่งชาติ (สน.ยช.) เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ สน.ยช. โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาทำหน้าที่อีกสถานะหนึ่งเป็นผู้อำนวยการ
สน.ยช. เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของ สน.ยช. (ร่างข้อ 11)
4. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ หรือ สน.ยช. อาจขอให้คณะรัฐมนตรีให้พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐไปช่วยปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ของ สน.ยช. ได้ (ร่างข้อ 12)
5. กำหนดอำนาจหน้าที่ของ สน.ยช. (ร่างข้อ 13)
6. กำหนดให้ สน.ยช. เป็นผู้ประสานการจัดทำนโยบายแห่งชาติด้านยา แผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการโดยให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นให้ความร่วมมือ (ร่างข้อ 14 ถึงร่างข้อ 15)
************************
หมายเหตุ ผลสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติ หรือขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หมายเลขโทรศัพท์ 0 2280 9000 ต่อ 436 หรือที่ www.cabinet.thaigov.go.th
ข้อมูลจาก http://www.thaigov.go.th
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2550 16:41:30 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2550 16:41:30