สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 16 ต.ค. 50
ที่่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 16 ตุลาคม 2550 ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 7 เรื่อง ดังนี้
กฎหมาย
เรื่อง การยกร่างกฎหมายลำดับรอง ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 บัญญัติให้ดำเนินการ |
คณะรัฐมนตรีอนุมัติและเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. ....
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผนพัฒนาและงบประมาณของจังหวัด และกลุ่มจังหวัด พ.ศ. ....
3. เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. .... และ
4. เห็นชอบแนวทางในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาและงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยในปีงบประมาณ 2551 ให้ดำเนินโครงการทดลองนำร่องในพื้นที่ครึ่งหนึ่งของจำนวนจังหวัดทั้งหมด และดำเนินการให้ครบทุกจังหวัดในปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นไป
สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอว่า ได้ดำเนินการยกร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีตามข้อ 1-3 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38 วรรคหนึ่ง มาตรา 40/1 วรรคหนึ่งมาตรา 52 วรรคสาม มาตรา 53/1 วรรคสามและมาตรา 53/2 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 และได้นำเสนอ ก.พ.ร. พิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบด้วยกับร่างกฎหมาย ลำดับรองทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว และโดยที่มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติระยะเวลาในการตราพระราชกฤษฎีกา เกี่ยวกับการมอบอำนาจไว้ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน (14 พฤศจิกายน 2550) นับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ประกอบกับ เพื่อให้การจัดทำและแปลงแผนพัฒนาและงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามร่างพระราชกฤษฎีกาในข้อ 2 รวมทั้งเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ของจังหวัดในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและงบประมาณจังหวัด จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณา
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มีดังนี้
1. ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 กำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับการมอบอำนาจของทุกตำแหน่งทั้งในระดับส่วนราชการต่างๆ ระดับจังหวัดหรือการมอบอำนาจในต่างประเทศ (ร่างมาตรา 5 ร่างมาตรา 11)
1.2 ให้ปลัดกระทรวงมีอำนาจกำหนดแนวทางปฏิบัติ เกี่ยวกับการมอบอำนาจของส่วนราชการในสังกัด ทั้งในกรณีการมอบอำนาจในส่วนราชการเดียวกันหรือการมอบอำนาจให้กับส่วนราชการอื่นที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงเดียวกันได้ และให้อธิบดีจัดให้มีการมอบอำนาจภายในกรมของตน นอกจากนี้ผู้มอบอำนาจอาจ มอบอำนาจให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งระดับเดียวกัน ในส่วนราชการเดียวกันหรือผู้ดำรงตำแหน่ง ในส่วนราชการอื่น ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงเดียวกันก็ได้ (ร่างมาตรา 12 ร่างมาตรา 14)
1.3 อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่น ที่ส่วนราชการใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการ ถ้ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้น มิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่นหรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ ให้หัวหน้าส่วนราชการดำเนินการมอบอำนาจ การปฏิบัติราชการในเขตพื้นที่จังหวัดให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด การใช้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัด และของผู้ดำรงตำแหน่งใดในจังหวัด ต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด (ร่างมาตรา 21 และร่างมาตรา 24)
1.4 ส่วนราชการใดมีภารกิจที่ต้องดำเนินการในต่างประเทศ ให้หัวหน้าส่วนราชการนั้นมอบอำนาจทั้งปวง ที่จะต้องดำเนินการในต่างประเทศนั้นให้แก่หัวหน้าคณะผู้แทน และให้หัวหน้าคณะผู้แทนมอบอำนาจให้รองหัวหน้าคณะผู้แทน หรือบุคคลในคณะผู้แทน (ร่างมาตรา 26)
2. ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผนพัฒนาและงบประมาณของจังหวัด และกลุ่มจังหวัด พ.ศ. .... มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
2.1 ให้มีคณะกรรมการนโยบายแผนพัฒนาและงบประมาณจังหวัด (ก.น.พ.) โดยมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรี มอบหมายเป็นประธาน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว (ร่างมาตรา 6 ร่างมาตรา 7)
2.2 ให้มีคณะกรรมการแผนพัฒนาและงบประมาณในระดับกลุ่มจังหวัด (ก.พ.ก.) คณะกรรมการแผนพัฒนาและงบประมาณ ในระดับจังหวัด (ก.พ.จ.) และคณะกรรมการแผนพัฒนาและงบประมาณในระดับอำเภอหรือกิ่งอำเภอ
(ก.พ.อ.) และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว (ร่างมาตร 6 ร่างมาตรา 16)
2.3 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผนพัฒนาและงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด (ร่างมาตรา 17 ร่างมาตรา 23)
2.4 ให้ ก.น.พ. ดำเนินจัดการทำสัญญาการบริหารโครงการภายในจังหวัดและกลุ่มจังหวัด (ร่างมาตรา 24 ร่างมาตรา 25)
3. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
3.1 แก้ไขฐานอำนาจในการวางระเบียบจาก อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (8) แห่ง
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เป็นอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 40/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550
3.2 ปรับปรุงถ้อยคำให้สอดคล้องกับความในมาตรา 40/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหาร
ราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 โดยตัดคำว่า กระทรวง ทบวง กรม ออก เนื่องจากมาตรา 40/1 กำหนดให้ส่วนราชการภายในกรมเท่านั้น ที่สามารถจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษได้ และตัดเรื่องเงินรายได้ไม่ต้องนำส่งคลังออก เพราะกำหนดไว้ในมาตรา 40/1 แล้ว
3.3 สาระสำคัญอื่นยังคงเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานของหน่วย บริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2548
กฎหมาย
เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. . |
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. . ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. . พร้อมกับความเห็นและข้อสังเกต ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับได้พิจารณาคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549 เรื่อง การจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2549 แล้ว เห็นสมควรปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เสียใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนเหมาะสม และสอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549 รวมทั้งมุ่งเน้นการอำนวยการ และประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องในการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ให้เกิดประสิทธิภาพและกระทบสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ โดยได้ตัดอำนาจพิเศษที่กำหนดตามร่างเดิมออกทั้งหมด เพราะอำนาจพิเศษเหล่านั้น เป็นมาตรการเดียวกับ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉะนั้น เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในการใช้อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ จึงปรับปรุงร่างใหม่ทั้งหมด โดยให้ กอ.รมน. มีหน้าที่ในการป้องกันและระวังเหตุเบื้องต้น แต่หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้รัฐบาลมีอำนาจเต็มที่ ในการระงับเหตุโดยมิใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน.
ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. . มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ให้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เรียกโดยย่อว่า กอ.รมน. ขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ร่างมาตรา 5)
2. ให้ กอ.รมน. มีฐานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีวิธีการปฏิบัติราชการ การบริหารงาน การจัดโครงสร้างการแบ่งส่วนงาน และอำนาจหน้าที่ของส่วนงานภายใน กอ.รมน.ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด (ร่างมาตรา 5 วรรคสอง) โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้บัญชาการทหารบกเป็นรองผู้อำนวยการ และเสนาธิการทหารบกเป็นเลขาธิการฯ (ร่างมาตรา 5 วรรคสาม และวรรคหก)
3. กำหนดให้ กอ.รมน. มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด และถ้ามีความจำเป็นต้องใช้อำนาจ หรือหน้าที่ตามกฎหมายใด ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ หรือความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐใด ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ใน กอ.รมน. เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้น หรือมีมติให้หน่วยงานของรัฐนั้นมอบอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบตามกฎหมาย ในเรื่องดังกล่าวให้ กอ.รมน. ดำเนินการแทนหรือมีอำนาจดำเนินการด้วยภายในพื้นที่ และภายในระยะเวลาที่กำหนด (ร่างมาตรา 6)
4. ให้ผู้อำนวยการมอบอำนาจให้ ผอ.รมน.ภาค ผอ.รมน. จังหวัด หรือผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติแทนได้ (ร่าง มาตรา 7)
5. ให้หน่วยงานของรัฐจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติหน้าที่ใน กอ.รมน. ตามที่ผู้อำนวยการร้องขอ ทั้งนี้
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. (ร่างมาตรา 8)
6. ให้มีคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และให้เลขาธิการ กอ.รมน. เป็นกรรมการ และเลขานุการ และให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 9)
7. กำหนดให้ในกรณีที่จำเป็น คณะกรรมการโดยข้อเสนอแนะของผู้อำนวยการจะมีมติให้กองทัพภาค จัดให้มีกองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในภาค เรียกโดยย่อว่า กอ.รมน.ภาค ก็ได้ โดยให้ กอ.รมน.ภาค เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ กอ.รมน. โดยมีแม่ทัพภาคเป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาคและให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา กอ.รมน.ภาค (ร่างมาตรา 10 และร่างมาตรา 11)
8. กำหนดให้ ผอ.กอ.รมน.ภาค โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้อำนวยการจะตั้งกองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในจังหวัด เรียกโดยย่อว่า กอ.รมน.จังหวัด ขึ้นในจังหวัดที่อยู่ในเขตกองทัพภาคเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ กอ.รมน.ภาค มีหน้าที่ตามที่กำหนด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ผอ.รมน. จังหวัด และให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา กอ.รมน.จังหวัด (ร่างมาตรา 12 และร่างมาตรา 13)
9. ในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกันปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรนั้นภายในพื้นที่ที่กำหนดได้ โดยให้ กอ.รมน. มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด โดยคณะรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดเพื่อให้ใช้อำนาจพิเศษบางประการ เกี่ยวกับการควบคุมดูแลพื้นที่ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ (ร่างมาตรา 14 ถึงร่างมาตรา 17)
10. ในกรณีที่มีการกระทำความผิดภายในเขตพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ กอ.รมน. ดำเนินการ และปรากฏว่าผู้ต้องหาคนใดได้กระทำความผิด อันมีผลกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเพราะหลงผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ได้กำหนดมาตรการเพื่อการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหานั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคง ในราชอาณาจักร โดยให้มีการ อบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด (ร่างมาตรา 19)
11. กำหนดมาตรการคุ้มครองความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้สุจริตและกำหนดสิทธิประโยชน์ของพนักงาน เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ ภายในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรี มอบหมายให้ กอ.รมน.ดำเนินการ โดยการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่อาจได้รับค่าตอบแทนพิเศษ หรือให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต ทุพพลภาพพิการ หรือสูญเสียอวัยวะ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่นอกจากนั้นยังคุ้มครองพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ถ้าได้กระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา โดยมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นคำสั่ง ที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และให้นำไปใช้บังคับกับผู้ที่ช่วยเหลือ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่ง ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัตินี้ด้วยโดยอนุโลม (ร่างมาตรา 20 ถึงร่างมาตรา 23)
12. บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 17 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 24)
13. กำหนดบทเฉพาะกาลให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และอัตรากำลัง กอ.รมน. ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 205/2549 ฯ มาเป็นของ กอ.รมน. ตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่จัดตั้งตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 207/2549 ฯ เป็นศูนย์อำนวยการที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 25 และร่างมาตรา 26)
กฎหมาย
เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. .... |
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอว่า โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 296 บัญญัติให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน ทั้งนี้ นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 295 มีผลใช้บังคับ ซึ่งขณะนี้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2550 แล้ว จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ โดยมีสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังนี้
1. กำหนดให้พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป (ร่างมาตรา 2)
2. กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 (ร่างมาตรา 3)
กฎหมาย
เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการ ตามมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ พ.ศ. .... |
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
กระทรวงการคลังเสนอว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2550 และวันที่ 28 สิงหาคม 2550 ให้ส่วนราชการดำเนินการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยรวมของส่วนราชการและมีงบประมาณรองรับ รวมทั้งมีมาตรการจูงใจให้ข้าราชการซึ่งลาออกจากราชการได้รับเงินช่วยจากทางราชการ กระทรวงการคลังจึงได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยยกร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และเสนอมาเพื่อดำเนินการ
ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามมาตรการปรับปรุงอัตรากำลัง ของส่วนราชการ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้
1. กำหนดลักษณะของส่วนราชการที่จะเข้าร่วมมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ (โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด) ดังนี้
1.1 เป็นส่วนราชการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ส่วนราชการปรับเปลี่ยนสถานภาพโดยออกจากระบบราชการ
1.2 เป็นส่วนราชการที่ประสงค์จะยุบเลิกบางภารกิจ
1.3 เป็นส่วนราชการที่มีอัตรากำลังเกิน
1.4 เป็นส่วนราชการที่มีจำนวนข้าราชการอายุตั้งแต่ห้าสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปมากกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนข้าราชการทั้งหมด ของส่วนราชการ
2. กำหนดคุณสมบัติของข้าราชการที่จะเข้าร่วมมาตรการฯ โดยต้องมีอายุตั้งแต่ห้าสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรือมีเวลาราชการ ตั้งแต่ยี่สิบห้าปีขึ้นไป และไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการ ไม่เป็นผู้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้อง ออกจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทนั้น ๆ ต้องปฏิบัติราชการชดใช้ตามสัญญาในการไปศึกษา ฝึกอบรม ไม่เป็นข้าราชการ ผู้รับผิดชอบงานโครงการสำคัญของส่วนราชการเข้าร่วมมาตรการ ไม่เป็นข้าราชการผู้มีผลงานดีเด่น และได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนปีละสองขั้น ไม่น้อยกว่าสองครั้งภายในระยะเวลาห้าปีจนถึงวันเข้าร่วมมาตรการ เป็นต้น
3. กำหนดให้จ่ายเงินช่วยเหลือข้าราชการที่เข้าร่วมมาตรการ = (จำนวนปีของเวลาราชการที่เหลือ + 8) X (เงินเดือนเดือนสุดท้าย + เงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี)) ทั้งนี้ เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินสิบห้าเท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย
4. กำหนดให้ข้าราชการซึ่งจะเข้าร่วมมาตรการต้องมีอายุตั้งแต่ห้าสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรือมีเวลาราชการตั้งแต่ยี่สิบห้าปีขึ้นไป ทั้งนี้ ให้นับถึงวันที่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตามมาตรการและมีเวลาราชการที่เหลือไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
5. กำหนดให้พระราชกฤษฎีกานี้ผลใช้บังคับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ถึง ปีงบประมาณ
พ.ศ. 2556
เศรษฐกิจ
เรื่อง การเตรียมการจัดทำงบประมาณ และการกำหนดปฏิทินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 |
คณะรัฐมนตรีรับทราบการเตรียมการจัดทำงบประมาณและการกำหนดปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ และแจ้งกระทรวง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐสำหรับใช้เป็นแนวทางประกอบการวางแผน เตรียมการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ต่อไป
แนวทางในการเตรียมความพร้อมและกำหนดปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เป็นการเบื้องต้น ดังนี้
1. การเตรียมความพร้อมในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เพื่อให้การจัดทำข้อมูลพื้นฐานงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ถูกต้อง ครบถ้วน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอให้กระทรวง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐดำเนินการ ดังนี้
1.1 ติดตามผลการดำเนินงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 พร้อมทั้ง
ทบทวนการกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ ผลผลิต กิจกรรม และตัวชี้วัดผลสำเร็จ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552
1.2 ปรับปรุงฐานข้อมูลประมาณการรายจ่ายล่วงหน้าระยะปานกลางกการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2551 โดยทบทวนเป้าหมาย ผลผลิต กิจกรรม ตัวชี้วัด ตามนัยข้อ 1.1 ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบภาระงบประมาณตามภารกิจและนโยบายต่อเนื่อง
1.3 จัดทำประมาณการวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 (เบื้องต้น)
1.3.1 ประมาณการรายจ่ายขั้นต่ำที่จำเป็นที่มีลักษณะเป็นรายจ่าย เพื่อคงไว้ตามสิทธิ หรือข้อกำหนดตามกฎหมายที่สอดคล้องกับฐานข้อมูลประมาณการรายจ่ายล่วงหน้าระยะปานกลาง
1.3.2 ข้อเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เบื้องต้น ประกอบด้วย รายจ่ายขั้นต่ำที่จำเป็น รายจ่ายตามข้อผูกพัน ภารกิจพื้นฐาน (ตามกฎหมาย) และภารกิจยุทธศาสตร์ต่อเนื่อง
1.4 การเตรียมการด้านงบประมาณให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ
&nbs
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 19 ตุลาคม 2550 13:50:40 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 19 ตุลาคม 2550 13:50:40