Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2550 / ตุลาคม / สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2550

สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2550

 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2550

          งานประชุมสัมมนาทางวิชาการ ประจำปี 2550 ที่สำนักงาน ก.พ.ร. จัดขึ้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปีของการพัฒนาระุบบราชการ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2550 ณ ห้องเจ้าพระยา 1 - 2 ชั้น 2  หอประชุมกองทัพเรือ นอกจากจะมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง ระบบราชการและประชาชนได้อะไรจาก พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 โดย คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ประธานในพิธีแล้ว ยังมีการบรรยาย การชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจอีกด้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายใหม่ที่ส่งผลต่อการปฏิบัติราชการของข้าราชการ

          ในช่วงเช้า หลังจากจบการบรรยายพิเศษของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว เป็นการบรรยายในหัวข้อ ผลกระทบจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กับการปฏิบัติราชการ โดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ  เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และกรรมการ ก.พ.ร. โดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ ได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า มีเจตนารมณ์เพื่อ...

          1. คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีบทบาทและส่วนร่วมในการปกครอง และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม

          2. สร้างความสุจริตเน้นคุณธรรม จริยธรรมในการบริหารบ้านเมือง

          3. กำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารให้มีดุลยภาพ และประสิทธิภาพ ตามวิถีการปกครองระบบรัฐสภา

          สำหรับ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการปฏิบัติราชการนั้น แบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่

             1.  ผลกระทบต่อตัวข้าราชการและสถานะข้าราชการ (status) ซึ่งมีผลกระทบที่สำคัญ 2 ประการ  คือ

               ผลกระทบต่อจำนวนข้าราชการ ซึ่งมีจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก
               การเพิ่มกฎเกณฑ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวข้าราชการ ทั้งที่เป็นส่วนที่ข้าราชการต้องปฏิบัติเพิ่มเติม มากขึ้นกว่าในอดีต และส่วนที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของข้าราชการเพิ่มมากขึ้น

           2. ผลกระทบต่อโครงสร้างทางการเมืองและโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน (political and administrative structure) ทั้งผลกระทบโครงสร้างทางการเมือง ที่มีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย อาทิ เปิดโอกาสให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าสู่วุฒิสภาได้ ซึ่งหมายความว่าอดีตข้าราชการจะได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา แต่ไม่เปิดโอกาสให้ข้าราชการประจำเข้าสู่การสรรหา กล่าวคือ ข้าราชการประจำที่จะเข้าสู่การสรรหาจะต้องลาออกก่อน จึงจะสามารถเข้าสู่การสรรหาได้

               นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน อาทิ การเปลี่ยนแปลงในราชการส่วนภูมิภาค ที่เปิดช่องทางให้มีการจัดทำแผนและงบประมาณพัฒนาจังหวัด เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงในส่วนท้องถิ่นที่เน้นการมีส่วนร่วมมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงในส่วนกลาง เช่น การจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย การจัดตั้งสภาการเกษตร การจัดตั้งสภาพัฒนาการเมือง เป็นต้น          3. ผลกระทบต่อกระบวนการปฏิบัติราชการ (process) เป็นส่วนที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติราชการฝ่ายบริหารอย่างมาก  ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปนี้ จะยากกว่าการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยจะแบ่งกระบวนการปฏิบัติราชการเป็น 2 ส่วน คือ

               กระบวนการทางการเมือง ที่มีการเพิ่มบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งเพิ่มบทบาทขององค์กรอิสระ และ
               กระบวนการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น การบริหารราชการแผ่นดินจะถูกตรวจสอบมากขึ้น อีกทั้งยังมีข้อจำกัดต่าง ๆ อีกมากมาย

      


          จากนั้น ในช่วงบ่าย เป็นการชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นโดยแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง ได้แก่

          หลักเกณฑ์และวิธีการมอบอำนาจ ตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550     โดย นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง  ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา    ณ  ห้องเจ้าพระยา 1

          แนวทางและวิธีการในการจัดทำงบประมาณ และแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550   โดย นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร  กรรมการ ก.พ.ร.    ณ  ห้องเจ้าพระยา 2

          นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ชี้แจงถึง หลักเกณฑ์และวิธีการมอบอำนาจ ตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550โดยกล่าวถึงการมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทน ที่กำหนดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งมีข้อแตกต่างจากเดิมคือ การไม่จำกัดผู้ดำรงตำแหน่งในการรับมอบอำนาจ การมอบอำนาจต่างส่วนราชการได้ การแยกเรื่องการมอบอำนาจในการปฏิบัติราชการทั่วไป กับการมอบอำนาจในการอนุญาต และการมอบอำนาจช่วง โดยมีเจตนารมณ์ของการมอบอำนาจ คือ

          1. กระจายอำนาจการตัดสินใจและความรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ
          2. เพื่อให้การปฏิบัติราชการเกิดประสิทธิภาพ มีความรวดเร็ว และลดขั้นตอนการปฏิบัติราชการ
          3. เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของประชาชนยิ่งขึ้น

          นอกจากนี้ นายธนาวัฒน์ ได้กล่าวถึงสาระสำคัญของ ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. .... ซึ่งประกอบด้วย

            
1. หลักเกณฑ์ทั่วไป
          2. การมอบอำนาจในกระทรวงเดียวกัน
          3. การมอบอำนาจให้แก่ส่วนราชการต่างกระทรวง
          4. การมอบอำนาจให้แก่ศูนย์บริการร่วม
          5. การมอบอำนาจให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด
          6. การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนในต่างประเทศ
          7. การมอบอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้ิองถิ่น
          8. การมอบอำนาจของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน

    


          สำหรับเรื่อง
แนวทางและวิธีการในการจัดทำงบประมาณ และแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550นั้น นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร กรรมการ ก.พ.ร. ได้กล่าวชี้แจงถึงสาระสำคัญของ ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำแผนพัฒนาและงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ. .... ซึ่งประกอบด้วย แนวทางการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และแผนปฏฺบัติการจังหวัดประจำปี  คณะกรรมการในระดับต่าง ๆ และอำนาจหน้าที่ รวมทั้งแนวทางการจัดกลุ่มจังหวัด

 


          สำหรับคณะกรรมการในระดับต่าง ๆ นั้น ประกอบด้วย

 ระดับประเทศ คณะกรรมการนโยบายแผนพัฒนาและงบประมาณจังหวัด
(ก.น.พ.)

ระดับกลุ่มจังหวัด

คณะกรรมการแผนพัฒนาและงบประมาณในระดับกลุ่มจังหวัด (ก.พ.ก.)
  ระดับจังหวัด คณะกรรมการแผนพัฒนาและงบประมาณในระดับจังหวัด (ก.พ.จ.)
  ระดับอำเภอ/กิ่งอำเภอ คณะกรรมการแผนพัฒนาและงบประมาณในระดับอำเภอ (ก.พ.อ.)


          นอกจากนี้ ก.พ.ร. มนุชญ์ ได้ชี้แจงถึงแนวทางการจัดกลุ่มจังหวัดได้แก่

           เป็นการรวมจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร ที่มีอาณาเขตติดต่อกันทางภูมิศาสตร์ และมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระวห่างจังหวัด

           ในกลุ่มจังหวัดหนึ่ง ๆ ให้มีจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการร่วมของกลุ่มจังหวัด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดของจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการร่วมของกลุ่มจังหวัด หรือบุคคลอื่นตามที่กระทรวงมหาดไทยเห็นสมควร เป็นผู้ประสานงานของกลุ่มจังหวัด

           การกำหนดกลุ่มจังหวัดและจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการร่วมของกลุ่มจังหวัด ให้เป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา


          สำหรับเอกสารประกอบการบรรยายและการชี้แจงในหัวข้อต่าง ๆ ของงานประชุมสัมมนาทางวิชาการ ประจำปี 2550 สามารถ download ได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.ร. คลิกที่นี่ เพื่อเข้าสู่หน้ากำหนดการจัดประชุม แล้ว    คลิกที่ชื่อของการบรรยายในแต่ละหัวข้อค่ะ


วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
อารีย์พันธ์ (ภ.นวัตกรรมฯ) / ข้อมูล (การบรรยายของ ศ.ดร.บวรศักดิ์ฯ)

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 1 กรกฎาคม 2552 15:53:01 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 1 กรกฎาคม 2552 15:53:01
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th