Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2550 / ตุลาคม / ระบบราชการและประชาชนได้อะไรจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับใหม่

ระบบราชการและประชาชนได้อะไรจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับใหม่

ระบบราชการและประชาชนได้อะไรจากพระราชบัญญัติ

ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับใหม่

          เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2550 ซึ่งนับเป็นวันครบรอบ 5 ปีของการพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัด งานประชุมสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2550 ขึ้น ณ ห้องเจ้าพระยา 1 - 2 ชั้น 2  หอประชุมกองทัพเรือ โดยมี คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นประธานในพิธีเปิด และบรรยายพิเศษเรื่อง ระบบราชการและประชาชนได้อะไรจาก พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 




          
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า นับเป็นการเริ่มต้นของปีงบประมาณ ซึ่งผู้บริหารของส่วนราชการทั้งระดับกระทรวง กรม และจังหวัด จะได้มีโอกาสรับทราบแนวนโยบายและทิศทางในการบริหารราชการ ซึ่งในปีนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบและวิธีการบริหาร ในหลายเรื่อง อันเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2550 

          ดังนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้จัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการประจำปีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมีผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และจัดให้มีการบรรยายและชี้แจงในหัวข้อเรื่อง ดังนี้

          1. ระบบราชการและประชาชนได้อะไรจาก พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ฉบับใหม่
          2. ผลกระทบจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 กับการปฏิบัติราชการ
          3. หลักเกณฑ์และวิธีการมอบอำนาจ ตาม พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
          4. แนวทางและวิธีการในการจัดทำงบประมาณและแผนพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัด ตามพรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

          โดยได้เชิญ ผู้บริหารของส่วนราชการ จังหวัด มหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังและให้ข้อคิดเห็นในงานสัมมนาครั้งนี้ จำนวน ประมาณ 1,250 คน

          และเพื่อให้เป็นการเสริมสร้างความเข้าใจ ให้แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไป สำนักงาน ก.พ.ร. จึงเห็นสมควรเรียนเชิญ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกมนตรี (คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์) ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายและมีส่วนสำคัญ ในการผลักดันพระราชบัญญัติระบเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 จนประสบผลสำเร็จ   รวมทั้ง กรรมการ ก.พ.ร. ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่างกฎหมายดังกล่าว  ได้มาเสริมสร้างความเข้าใจถึงแนวคิดและการดำเนินการ  ตลอดจนประโยชน์ที่จะได้รับจาก พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับนี้ นอกจากนั้นยังจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค อันอาจจะเกิดขึ้นมื่อมีการนำไปปฏิบัติ และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขร่วมกัน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน อันมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ประสบผลสำเร็จได้โดยเร็ว



  

   
 
 

          จากนั้น คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดงานพร้อมบรรยายพิเศษ เรื่องระบบราชการและประชาชนได้อะไรจาก พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นมากเท่าที่สามารถจะทำได้ ภายใต้สถานการณ์และการยอมรับในปัจจุบัน ซึ่งเหตุผลหลักของการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยงแปลงในระบบราชการ คือ สร้างให้ระบบ กลไก การใช้อำนาจรัฐมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สนองตอบต่อปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงในสังคม เพื่อผลักดันหรือนำพาประเทศไทยเข้าไปสู่สังคมที่ทำให้คนส่วนใหญ่ สามารถดำรงชีวิตได้ตามสมควรแก่อัตภาพ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขพอเพียง สามารถผลักดันประเทศเข้าไปอยู่ในสังคมโลกอย่างมีศักดิ์ศรี กล่าวโดยสรุปคือ การทำให้สมรรถนะของการบริหารราชการของรัฐบาลแต่ละคณะ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

          จากประสบการณ์การปฏิบัติราชการมาพบว่า การขับเคลื่อนประเทศนั้น จะต้องเปลี่ยนแปลงอีกมาก ทั้งในด้านกลไก และทัศนคติของข้าราชการ ซึ่งจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแก้ไข พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมาเป็นลำดับ นับแต่ตั้งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงนั้น ยังคงมีอุปสรรค และมีกลไกที่ยังไม่สอดคล้องกับ แนวทางการบริหารราชการแผ่นดินในบางส่วน เช่น เรื่องความเร็ว ซึ่งโลกปัจจุบันเป็นโลกของดิจิตอลที่มีความเร็วเป็นวินาที แต่การบริหารราชการแผ่นดินยังไม่เร็ว ไม่ทันยุคทันสมัย สิ่งนี้จึงเป็นอุปสรรคประการหนึ่งที่ทำให้ขาดกระบวนการตรวจสอบข้อมูล เรียกดูและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเป็นกระบวนการช่วยในการตัดสินใจ

          ดังนั้น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับใหม่จึงมีวัตถุประสงค์สำคัญ ที่จะทำให้กลไกการบริหารราชการมีการผ่อนคลายเพื่อให้การดำเนินการต่าง ๆ มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น เรื่องของการมอบอำนาจ

          ทั้งนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันมีเจตนารมณ์มุ่งมั่นที่จะวางรากฐานของระบบราชการ ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ก้าวไปบนฐานรากที่แข็งแรง ดังนั้น รัฐบาลจึงมุ่งเน้นที่จะบริหารทรัพยากรบุคคลและจัดตั้งองค์กรภาครัฐ ให้สอดคล้องกับทิศทางการนำพาประเทศไปสู่ การพัฒนาอย่างยั่งยืน สนับสนุนการกระจายอำนาจอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักความโปร่งใส เป็นธรรม ประหยัด และมีประสิทธิภาพ

     

          จุดมุ่งเน้นในการแก้ไขปรับปรุง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 นั้น ประกอบด้วย

          1. มุ่งเน้นการบริหารทรัพยากรบุคคลและการจัดองค์กรภาครัฐให้สอดคล้องกับทิศทางการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยให้การรับราชการมีความเป็นมืออาชีพ มีศักยภาพและความสามารถในการปฏิบัติงาน โดยไม่ถูกจำกัดด้วยระบบ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานและกลไกการบริหารราชการแผ่นดินเป็นเงื่อนไขแห่งความสำเร็จของคนเก่ง

          ในทางกลับกัน เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานและกลไกที่มีประสิทธิภาพแล้ว บุคลากรก็ต้องมีประสิทธิภาพด้วย ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาทั้งด้านคนและระบบ

          2. มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งในฐานรากของประเทศ โดยการยกระดับการพัฒนาตั้งแต่ระดับฐานราก และสนับสนุนการกระจายอำนาจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หัวใจสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงให้ความสำคัญกับการบริหารราชการแผ่นดินในระดับภูมิภาค เพื่อสร้างฐานรากให้แข็งแรง



          
สำหรับประเด็นการปรับเปลี่ยนที่สำคัญใน พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ได้แก่

          ประเด็นที่ 1 :   รองปลัดกระทรวง และกลุ่มภารกิจ

          กำหนดให้มีรองปลัดกระทรวงเพิ่มขึ้นเป็นกรณีพิเศษได้ ในกรณีที่กระทรวงมีภารกิจเพิ่มขึ้นและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณาเรื่องดังกล่าวร่วมกัน

          ประเด็นดังกล่าว เป็นการปลดล็อคในเรื่องของจำนวนรองปลัดกระทรวง ในกรณีที่มีภารกิจเพิ่มขึ้น จากเดิมที่กำหนดให้กระทรวงมีรองปลัดกระทรวงหนึ่งคน ซึ่งหากกระทรวงใดไม่มีกลุ่มภารกิจแต่มีปริมาณงานมาก ก็สามารถมีรองปลัดกระทรวงเพิ่มได้อีก 1 คน สำหรับกระทรวงที่มีกลุ่มภารกิจนั้น สามารถมีรองปลัดกระทรวงได้ตามจำนวนของกลุ่มภารกิจที่มีอยู่ในกระทรวง

          ประเด็นที่ 2 :   การมอบอำนาจ

          กำหนดให้การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทน สามารถมอบอำนาจได้กว้างขวางขึ้น และให้มีการมอบอำนาจต่อได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ได้รับการบริการด้วยความรวดเร็ว

          ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกตำแหน่งงานมีทั้งหน้าที่ ความรับผิดชอบ และอำนาจในการตัดสินใจได้ในระดับหนึ่ง เพื่อให้ชั้นการบังคับบัญชาสั้นลง และทำให้การบริหารราชการแผ่นดินมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้บังคับบัญชาทุกระดับจะใช้ความตั้งใจ จริงจัง กับการมอบอำนาจและการตรวจสอบการใช้อำนาจ ต้องคิดไตร่ตรอง และทำให้การมองอำนาจเป็นสิ่งที่มีชีวิตชีวา

          โดยแต่เดิมนั้น การมอบอำนาจได้ถูกกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดมาก กล่าวคือ จะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้ และผู้รับมอบอำนาจนั้น จะมอบอำนาจต่อไปไม่ได้ เว้นแต่การมอบอำนาจให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น แต่พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ได้ผ่อนกลายเรื่องการมอบอำนาจ ให้สามารถมอบอำนาจได้ทุกเรื่องและทุกตำแหน่ง โดยผู้มอบอำนาจสามารถมอบอำนาจให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนั้นโดยตรง ทั้งในส่วนราชการเดียวกัน ส่วนราชการอื่น หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้เป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนได้ การดำเนินการดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนการทลายกำแพงระหว่างหน่วยงาน โดยมองภาพใหญ่และภาพของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพราะทุกคนอยู่ในภาคราชการเช่นเดียวกันจึงเหมือนกับอยู่ในองค์กรเดียวกัน

          ประเด็นที่ 3 และ 4 :   จังหวัด และ อำเภอ

          เป็นการให้ความสำคัญกับการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนภูมิภาค โดยให้จังหวัดและอำเภอเป็นตัวตั้งในพื้นที่ โดยสร้างความเข้มแข็งและระบุหน้าที่รับผิดชอบไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน และประเด็นสำคัญคือ การให้จังหวัดตั้งงบประมาณเองได้ ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญ และเป็นจุดเปลี่ยนการบริหารราชการแผ่นดินอย่างใหญ่หลวง เป็นการทลายขั้วอำนาจ และแสดงถึงความโปร่งใสในกลไกการตัดสินใจ การกระจายอำนาจในเรื่องงบประมาณ เพราะงบประมาณของกระทรวงจะลดลง โดยจะถูกกระจายไปตั้งที่จังหวัด ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการบริหารในพื้นที่

          ในส่วนของจังหวัดนั้น มีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

          1. ให้มีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และการกำหนดให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

               กำหนดให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด พร้อมทั้งให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดยื่นคำขอต่อสำนักงบประมาณได้โดยตรง

               แผนพัฒนาและงบประมาณจังหวัด/กลุ่มจังหวัดนั้น จะมีกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาร่วมจัดทำ เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และเป็นเสมือนสัญญาประชาคมของจังหวัดว่าจะพัฒนาอย่างไร เพื่อประโยชน์ของพื้นที่นั้น ๆฃ

          2. กำหนดให้จังหวัดมีอำนาจหน้าที่ภายในเขตจังหวัดชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการแก่ประชาชน

               นำภารกิจของรัฐและนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์

               ดูแลให้มีการปฎิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและเป็นธรรมในสังคม

               จัดให้มีการคุ้มครอง ป้องกัน ส่งเสริม และช่วยเหลือประชาชนและชุมชนที่ด้อยโอกาส เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง

               จัดให้มีการบริการภาครัฐเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอหน้า รวดเร็วและมีคุณภาพ

          3. กำหนดให้มี คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด โดยมี ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อีกทั้งให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการบริหารราชการของจังหวัดอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งการมีคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดนั้น จะเป็นการถ่วงดุลอำนาจ สร้างความโปร่งใส และมีส่วนช่วยให้การทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

               เพิ่มบทบาทการตรวจสอบจากภาคประชาชนในการตรวจสอบการปฏิบัติราชการ การใช้จ่ายงบประมาณของจังหวัด

               สอดส่องดูแล และเสนอแนะการปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการบริหารราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งเพื่อให้การบริหารราชการของจังหวัด เป็นการบริหารโดยยึดหลักธรรมาภิบาล

          สำหรับประเด็นสำคัญในส่วนของอำเภอ ได้แก่ การกำหนดอำนาจหน้าที่ของอำเภอไว้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้อำเภอมีอำนาจหน้าที่ในเขตอำเภอในลักษณะเช่นเดียวกับของจังหวัด ซึ่งเดิมไม่เคยมีกำหนดไว้ รวมทั้งกำหนดให้อำเภอมีอำนาจหน้าที่ไกล่เกลี่ยหรือจัดให้มีการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาททั้งคดีแพ่งและคดีอาญา

          ดังนั้น จึงนับได้ว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีส่วนวางรากฐานที่สำคัญ ให้การพัฒนาในระดับฐานราก (อำเภอและจังหวัด) เจริญเติบโตขึ้นมาได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

    


          ในช่วงท้ายของการบรรยาย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปถึง สาระสำคัญของ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ไว้ ดังนี้

          1. เป็นการสร้างความเข้มแข็งในการบริหารราชการแผ่นดินให้เกิดขึ้นจากฐานรากคือ อำเภอ และจังหวัด โดยมีกลไกอยู่ในอำเภอและจังหวัด ในกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่การมีส่วนร่วม และสร้างศักยภาพในการบริหารจัดการในจังหวัด โดยกลไกดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในจังหวัด เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องสร้างความเป็นปึกแผ่น ความรู้สึกรักและหวงแหนจังหวัดของตน ในกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดให้ได้

              สำหรับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด การตั้งงบประมาณของจังหวัด

          2. การมอบอำนาจไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งภายในหน่วยงาน และระหว่างหน่วยงานจะก่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้งานบริการประชาชนสะดวก รวดเร็ว สนองตอบต่อความต้องการของประชาชน และปัญหาในพื้นที่ได้เร็วขึ้น ประหยัดงบประมาณและเวลา เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

          3. เป็นการผ่อนคลายในเรื่องการแต่งตั้งรองปลัดกระทรวง

          4. สร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมโดยการมีคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด โดยมีแนวความคิดในเรื่องการมีคณะกรรมการภาคประชาชนเข้ามา เพื่อให้ผู้ที่ไม่ใช่ภาคราชการเข้ามามีส่วนร่วมและช่วยเสนอแนะการบริหารราชการแผ่นดินของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ตอบสนองต่อความต้องการในพื้นที่อย่างแท้จริง


วสุนธรา & ภัทรพร ข. (สลธ.) / รายงาน

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 1 กรกฎาคม 2552 16:18:43 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 1 กรกฎาคม 2552 16:18:43
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th