สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 2 ต.ค. 50
ที่่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 2 ตุลาคม 2550 ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้
สังคม
เรื่อง รายงานผลการพัฒนาระบบราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 - 2549 |
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ รายงานผลการพัฒนาระบบราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 - 2549 ตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ดังนี้
รายงานผลการพัฒนาระบบราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 - 2549 เป็นการประเมินผลความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบราชการตามแผนยุทธศาสตร์ระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546 - 2550) ในแต่ละปี ให้เป็นไปตามเป้าประสงค์และยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งเป้าประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ 4 ประการ ได้แก่ เป้าประสงค์ที่ 1 การพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น เป้าประสงค์ที่ 2 ปรับบทบาทภารกิจและขนาดให้มีความเหมาะสม เป้าประสงค์ที่ 3 ยกระดับขีดความสามารถและมาตรฐานการทำงานให้อยู่ในระดับสูงและเทียบเท่าเกณฑ์สากล และ เป้าประสงค์ที่ 4 ตอบสนองต่อการบริหารการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
จากการประเมินผลการพัฒนาระบบราชการ เปรียบเทียบกับเป้าประสงค์หลักของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย พ.ศ. 2546 - 2550 ในช่วงเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา พบว่า ผลการพัฒนาสามารถบรรลุเป้าประสงค์หลักของแผนได้ก่อนกำหนดในบางส่วน และมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าประสงค์หลักได้ตามเวลาที่กำหนดในแผน ดังนี้
1. การพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น พบว่าส่วนราชการต่าง ๆ ได้ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน กระจายอำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ การอำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของประชาชน และมีการประกาศกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน ตลอดจนจัดทำแผนภูมิขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการให้ประชาชนทราบ นอกจากนี้ยังพัฒนารูปแบบการให้บริการใหม่ ๆ เช่น ศูนย์บริการร่วมรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น ผลดำเนินการนับตั้งแต่ปี 2546 ถึงปี 2549 ส่วนราชการสามารถลดระยะเวลาการปฏิบัติราชการลงได้โดยเฉลี่ยร้อยละ 47.90 เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ประชาชนมีความพึงพอใจในคุณภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉลี่ยร้อยละ 76.61 ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายเพียงเล็กน้อย แต่คาดว่าเมื่อสิ้นปี 2550 จะสามารถยกระดับความพึงพอใจของประชาชน ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ได้
2. ปรับบทบาท ภารกิจ และขนาดของภาครัฐให้มีความเหมาะสม ผลการดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปี 2549 พบว่า ปริมาณหรือจำนวนของภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจของส่วนราชการลดลงร้อยละ 73 กฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ได้รับการปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิก จำนวน 233 ฉบับ และจำนวนข้าราชการลดลงร้อยละ 4.35 ถึงแม้การลดจำนวนข้าราชการจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 10 ในปี 2550 แต่ก็ได้มีการเพิ่มขีดความสามารถของส่วนราชการและข้าราชการให้มีผลผลิตมากขึ้น ในขณะที่จำนวนคนในภาพรวมลดลง
3. การยกระดับขีดความสามารถและมาตรฐานการทำงานให้อยู่ในระดับสูงเทียบเท่าเกณฑ์สากล ผลการดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปี 2549 พบว่า มีหน่วยราชการได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานอย่างน้อย 1 กระบวนงานหลัก ร้อยละ 60
ข้าราชการได้รับการพัฒนาขีดความสามารถตรงตามที่กำหนดไว้ร้อยละ 80 และส่วนราชการอย่างน้อยร้อยละ 80 ได้รับการพัฒนาการให้บริการหรือสามารถดำเนินงานในรูปแบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
4. การเปิดระบบราชการให้สนองต่อการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จากผลการสำรวจในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 พบว่า ระดับความสำเร็จของการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอยู่ในระดับมาก ระดับความสำเร็จในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะอยู่ในระดับมากที่สุด และร้อยละของปัญหาขัดแย้งหรือกรณีพิพาทร้องเรียนระหว่างส่วนราชการกับประชาชน ปรากฏว่ามีจำนวนลดลงหรือไม่มีปัญหาความขัดแย้งในระดับมากที่สุด
ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาระบบราชการ
1. ข้าราชการอาจมีความสับสน มีการสื่อสารน้อยเกินไป และเน้นเฉพาะตัวผู้บริหาร
2. การปรับระบบราชการก้าวเดินเร็วเกินไป
3. ข้าราชการขาดความมั่นใจว่านโยบายการปฏิรูประบบราชการจะยังคงมีต่อไปหรือไม่ และทิศทาง หลักการ และวิธีการพัฒนาระบบราชการจะเป็นอย่างไร
กฎหมาย
เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... |
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้รับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาด้วย ดังนี้
1. วัตถุประสงค์ของสถาบันตามร่างมาตรา 7 ซึ่งมีทั้งในด้านที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน และด้านการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา สมควรพิจารณาปรับปรุงให้มีลักษณะมุ่งเน้นไปในด้านการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา เป็นหลัก เพื่อมิให้ซ้ำซ้อนกับภารกิจของหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ
2. ควรกำหนดเพิ่มเติมให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ในคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ตามร่างมาตรา 14 (2) ด้วย เพื่อความเหมาะสมและสะท้อนถึงความเป็นคณะกรรมการระดับชาติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรายงานว่า
1. ในระหว่างปี พ.ศ. 2548 - 2550 โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ดำเนินการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเตรียมรองรับการเป็นองค์การมหาชน ได้แก่ การจัดสร้างกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.4 เมตร จัดสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ จัดสร้างศูนย์บริการสารสนเทศและฝึกอบรมทางดาราศาสตร์ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการตามพันธกิจหลายด้าน ได้แก่ วิจัยและสร้างเครือข่ายทางดาราศาสตร์ รวมทั้งการพัฒนากำลังคนทางด้านดาราศาสตร์ ซึ่งสถาบันฯ ได้เข้าเป็นสมาชิกระดับประเทศ (National Membership) ของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (International Astronomical Union) และได้ดำเนินความร่วมมือทางการวิจัยและวิชาการกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศหลายแห่ง รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศหลายแห่ง
2. สำนักงาน ก.พ.ร. โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยให้จัดเป็นองค์การมหาชน กลุ่มที่ 2 (บริการที่ใช้เทคนิควิชาการเฉพาะด้านหรือสหวิทยาการ)
3. ดังนั้น เพื่อให้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเป็นองค์กรของรัฐที่สามารถบริหารงานได้ โดยอิสระ และสามารถดำเนินภารกิจตามเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของรัฐ สามารถส่งเสริมและสนับสนุน ตลอดจนดำเนินการวิจัยและให้บริการทางวิชาการแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบริหารงานที่คล่องตัว มีการพัฒนาระบบงานและบุคคลที่มีความทันสมัยและมีสมรรถนะสูง โดยมีระบบการประเมินกระบวนการ ผลลัพธ์และผลผลิตที่ดีและเป็นรูปธรรม
จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ โดยมีสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังนี้
1. ให้จัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเป็นองค์การมหาชน เรียกโดยย่อว่า สดร. และให้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า National Astronomical Reserch Institute of Thailand (Public Organization) เรียกโดยย่อว่า NARIT มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และให้สถาบันมีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 5 - ร่างมาตรา 8)
2. กำหนดเกี่ยวกับที่มาของทุน รายได้ และทรัพย์สินของสถาบัน รวมทั้งการใช้จ่ายเงินของสถาบัน (ร่างมาตรา 9 - ร่างมาตรา 13)
3. ให้มีคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โดยมีองค์ประกอบตามที่กำหนด รวมทั้งกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุมของคณะกรรมการ และให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลสถาบันตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 14 และ ร่างมาตรา 21)
4. ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ที่ปรึกษา และอนุกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุมหรือประโยชน์ ตอบแทนอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และให้คณะทำงาน และที่ปรึกษาคณะทำงาน ได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่น ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด (ร่างมาตรา 22)
5. ให้สถาบันมีผู้อำนวยการโดยคณะกรรมการเป็นผู้สรรหา แต่งตั้งถอดถอน และให้ผู้ปฏิบัติงานมี 3 ประเภท คือ เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมาปฏิบัติงานของสถาบันชั่วคราว (ร่างมาตรา 23 และ ร่างมาตรา 31)
6. กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการจัดการกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิและหนี้สิน การให้คณะกรรมการดำเนินโครงสร้างจัดตั้ง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการฯ รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติในวาระเริ่มแรก (ร่างมาตรา 40 - ร่างมาตรา 42)
************************
หมายเหตุ ผลสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติ หรือขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หมายเลขโทรศัพท์ 0 2280 9000 ต่อ 436 หรือที่ www.cabinet.thaigov.go.th
ข้อมูลจาก http://www.thaigov.go.th