Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
หนังสือเวียน / มติ คณะรัฐมนตรี / มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2550 / กันยายน / วันอังคารที่ 18 กันยายน 2550

วันอังคารที่ 18 กันยายน 2550

สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 18 ก.ย. 50
ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.

           การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 18 กันยายน 2550    ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 4 เรื่อง ดังนี้


กฎหมาย

เรื่อง
แนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค

         คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค ตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้รับความเห็น ของกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศและการสื่อสาร  สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณไปพิจารณา ประกอบการดำเนินการต่อไปด้วย และให้แจ้งเวียนแนวทางการจัด ส่วนราชการในภูมิภาคให้ส่วนราชการทราบ และถือปฏิบัตดังนี้

           1. แนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค จะประกอบด้วย (1) แนวทางการจัดตั้งหน่วยงานของราชการบริหารส่วนกลาง ในภูมิภาค และ (2) แนวทางการจัดตั้งส่วนราชการส่วนภูมิภาคของกระทรวง ทบวง กรม โดยแต่ละแนวทางจะมีองค์ประกอบ คือ หลักการรูปแบบและแนวทาง การพิจารณา

           โดยการที่จะเลือกใช้รูปแบบใดในการกำหนดส่วนราชการนั้น จะขึ้นอยู่กับปริมาณของภารกิจ ในการบริการประชาชน การพัฒนาพื้นที่หรือการปฏิบัติการ /บังคับใช้กฎหมายในเขตจังหวัด ปริมาณของประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มที่มีความต้องการ ในการรับบริการจากส่วนราชการนั้น รวมถึงความคุ้มค่า ของการที่จะจัดตั้งส่วนราชการนั้น นอกจากนั้นแล้วต้องพิจารณาถึงการมอบหมาย ให้ส่วนราชการอื่นดำเนินการแทนด้วย

             2. แนวทางการดำเนินการเพื่อขอจัดตั้งส่วนราชการในภูมิภาค โดยเฉพาะจัดตั้งส่วนราชการ ส่วนภูมิภาคของกระทรวง ทบวง กรม ควรจะมีการทดลองดำเนินการ ในบางพื้นที่ก่อน เพื่อมีการศึกษารูปแบบการทำงาน และประเมินความคุ้มค่าของการจัดตั้งก่อน โดยอาจมีการดำเนินการ ดังนี้

                    2.1 เลือกจังหวัดตัวอย่างอย่างน้อย 3 จังหวัด ใน 3 ภาค เพื่อทดลองจัดตั้งส่วนราชการประจำจังหวัด/อำเภอ

                   2.2 กำหนดภารกิจของส่วนราชการประจำจังหวัด/อำเภอ เป็นรายกิจกรรมและหาข้อมูลปริมาณงาน โดยเฉพาะงานส่งมอบบริการ ให้ประชาชนย้อนหลังอย่างน้อย 3-5 ปี

                    2.3 รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อกำหนดตัวแบบว่า ถ้าจังหวัด/อำเภอใดเป็นไปตามแนวทางที่กำหนด และงานบริการประชาชน มีปริมาณมาก ก็ให้มีการจัดตั้งเป็นสำนักงานระดับจังหวัด/อำเภอ ถ้าปริมาณงานบริการประชาชนมีน้อย ให้มีสำนักงานประจำจังหวัด/อำเภอหนึ่ง แต่ให้รับผิดชอบในพื้นที่กลุ่มจังหวัด/อำเภอ อาจจะให้มี หน่วยเคลื่อนที่ลงไปให้บริการประชาชน ตามจังหวัด/อำเภอที่อยู่ในกลุ่ม

                    2.4 ให้พิจารณาทบทวนหรือปรับปรุงระบบและวิธีการดำเนินการในภารกิจนั้น ว่าสามารถมอบหมายให้มีผู้อื่นดำเนินการแทน ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น มอบหมายเครือข่ายหรือพันธมิตรดำเนินการแทน หรือให้จังหวัดหรืออำเภอให้บริการประชาชนแทน หรือการมอบหมายท้องถิ่นดำเนินการแทน เป็นต้น

                    2.5 จัดหาบุคคลที่สาม เช่น สถาบันการศึกษา ให้เข้ามาทำการศึกษาออกแบบ วางระบบการทำงาน และกลไกการบริหารงานในทุกมิติ ทั้งในเรื่องของนโยบาย ขั้นตอน การปฏิบัติ การติดตามประเมินผล การบังคับบัญชา การกำกับให้เป็นไปตามเป้าหมาย และแนวทางการบริหารงานบุคคล เป็นต้น

                    2.6 ดำเนินการตามรูปแบบที่กำหนด

                    2.7 ประเมินผลการดำเนินการ แล้วจึงเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ
และการเกษตร (องค์การมหาชน) พ.ศ. ....

         คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) เป็นประธานที่อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และการเกษตร (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณา โดยให้ตัดร่างมาตรา 8(8) ออก แล้วดำเนินการต่อไปได้

            ประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ คณะที่ 1 มีดังนี้

           1. โดยที่ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... มาตรา 8 (8) กำหนดให้สถาบันมีอำนาจ ให้กู้ยืมเงิน เพื่อเป็นทุนในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน โดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์ นั้น ไม่น่าจะสอดคล้องกับภารกิจของสถาบันฯ จึงเห็นควรให้ตัดร่างมาตรา 8(8) ออก

           2. มีข้อสังเกตว่า ข้อความตามร่างมาตรา 8(8) นั้น เป็นรูปแบบทั่วไปในการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์การมหาชนหรือไม่ ในเรื่องนี้ ที่ประชุมขอให้ฝ่ายเลขานุการฯ รับไปประสานกับสำนักงาน ก.พ.ร. ในการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถ กำหนดอำนาจดังกล่าว โดยพิจารณาจากภารกิจ และความจำเป็นของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน เป็นรายกรณีไป

           กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอว่า

           1. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเสตต์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) ได้ร่วมกันพัฒนากลไกการรวบรวมข้อมูล และประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรน้ำ
         โดยให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการโครงการวิจัยและพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทยขึ้น และได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเชื่อมต่อ และเก็บรวบรวมข้อมูล ทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด จากหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้เกิดเป็นกลไกการประสานงาน และดำเนินการด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2541 และระบบสามารถใช้งานได้จริงตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ทั้งนี้ได้มีการวิจัยและพัฒนาให้มี ขีดความสามารถสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับด้านการเกษตรได้มีการดำเนินงาน โครงการวิจัยและพัฒนาระบบเครือข่ายสารสนเทศการเกษตร ภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2545 เพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายสารสนเทศ ที่มีความเหมาะสม สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการนำข้อมูล มาสนับสนุนการเรียนรู้ในการจัดการ และการผลิตด้านการเกษตร รวมทั้งการพัฒนาชุมชน


           2. เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการตามข้อ 1 มีความต่อเนื่องสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรมชลประทาน และสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร จึงร่วมกันจัดตั้ง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ขึ้น ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อดำเนินภารกิจให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการความร่วมมือดังกล่าว ทั้งนี้ ในคราวประชุมคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) ที่ประชุมฯ ได้มีมติปรับเปลี่ยนสถานภาพ ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และการเกษตร เป็นองค์การมหาชนในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและต่อมาที่ประชุม ก.พ.ร. ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้ง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นองค์การมหาชน กลุ่มที่ 2 (บริการที่ใช้เทคนิควิชาการเฉพาะด้านหรือสหวิทยาการ)

           3. การดำเนินงานของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการจัดการสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และการเกษตรของประเทศ และพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจดำเนินงาน หรือวางแผนงาน ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องเร่งด่วน อาทิ ภัยแล้ง และน้ำท่วม ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถใช้ข้อมูลติดตาม วางแผนและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยลดการสูญเสียทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคมได้ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของสถาบันดังกล่าว เกิดประโยชน์สูงต่อการพัฒนาประเทศ เห็นควรให้สถาบันมีสถานภาพ เป็นองค์การมหาชนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อให้การจัดการของสถาบันมีความเป็นอิสระ คล่องตัว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมา เพื่อดำเนินการ

เศรษฐกิจ

เรื่อง
มาตรการและแนวทางการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงิน
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551


        
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการและแนวทางการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

          1. มาตรการเร่งรัดติดตามในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551

                      1.1 กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ได้ร่วมกันพิจารณา และเห็นสมควรกำหนดเป้าหมาย การเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 สำหรับรายจ่ายลงทุนเห็นสมควร กำหนดเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ 74.0 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน ของแต่ละส่วนราชการ ซึ่งจะผลักดันให้รายจ่ายงบประมาณในภาพรวมถึงร้อยละ 94.0 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 1,660,000 ล้านบาท โดยเป้าหมายในภาพรวม แยกเป็นรายไตรมาส ดังนี้

ไตรมาสที่
เป้าหมายการเบิกจ่าย
แต่ละไตรมาส (ล้านบาท)

เป้าหมายการเบิกจ่ายสะสม ณ สิ้นไตรมาส (ล้านบาท)
เป้าหมายอัตราการเบิกจ่ายสะสม
ณ สิ้นไตรมาส (%)

1
373,500
373,500
22.5
2
390,100
763,600
46
3
398,400
1,162,000
70
4
398,400
1,560,400
94.00

      












  การกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ข้างต้น พิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

                                      (1) ในช่วงระยะเวลาก่อนพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ประกาศใช้ ส่วนราชการมีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปีฯ ประกาศใช้ คาดว่าส่วนราชการ สามารถเบิกจ่ายเงิน งบประมาณได้ทันที

                                        (2) โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 มีสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำร้อยละ 78.02 ของวงเงินงบประมาณ (1,660,000 ล้านบาท) โดยในจำนวนนี้เป็นรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจำนวน 173,630 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.46 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งโดยปกติรายจ่ายประเภทดังกล่าวจะสามารถเบิกจ่ายได้ทั้งจำนวนภายในปีงบประมาณ

                                        (3) สำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เต็มตามจำนวนเงินงบประมาณรายจ่าย ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ประกาศใช้บังคับแล้ว จึงทำให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจสามารถใช้จ่าย หรือก่อหนี้ผูกพันได้ภายหลังจากวันประกาศใช้พระราชบัญญัติ ดังกล่าว ยกเว้นรายการ ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ซึ่งต้องดำเนินการ ตามระเบียบว่าด้วยการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณก่อน
                       
                                        (4) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 มีการจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในรูปของเงินอุดหนุน โดยทั่วไปมากขึ้น ประกอบกับกระทรวงการคลังได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ ในการเบิกจ่ายให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลมากขึ้น

                       1.2 เห็นควรแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมในคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ จำนวน 2 คน คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม และรองอธิบดีกรมบัญชีกลางที่อธิบดีกรมบัญชีกลางมอบหมาย

                      1.3 ให้นำอัตราการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนตามเป้าหมาย ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเป็นตัวชี้วัดในคำรับรอง การปฏิบัติราชการของส่วนราชการ

       2. แนวทางการดำเนินงานของส่วนราชการเจ้าของงบประมาณ

                       2.1 ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 โดยเร่งดำเนินการ โอนจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ของแผนงบประมาณ แผนงบประมาณในเชิงบูรณาการ ผลผลิตหรือโครงการ ประเภทงบรายจ่าย และรายการ ในงบรายจ่าย ที่ต้องดำเนินการในเขตพื้นที่จังหวัด ยกเว้นงบบุคลากรประเภทเงินเดือนและค่าจ้างประจำ ไปยังสำนักเบิกส่วนภูมิภาคนั้น ๆ ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ที่กำหนดไว้โดยไม่ชักช้า แต่อย่างช้าไม่เกิน 15 วัน นับตั้งแต่ วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ

                      2.2 ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและก่อหนี้ผูกพันให้ได้ร้อยละ 70 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับ ภายในสิ้นเดือนมกราคม 2551

                      2.3 ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจปรับแผนการใช้จ่ายเงินให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายเงินจริง รวมทั้งให้ปรับข้อมูลในระบบ GFMIS ด้วย

                      2.4 ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจดำเนินการตรวจรับงาน และเบิกจ่ายเงินให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเป็นไปตามแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่าย งบประมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ

                     2.5 ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจและจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานในการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 เพื่อทำหน้าที่ในการติดตาม เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ตลอดจนติดตามปัญหาอุปสรรคในการเบิกจ่ายเงิน และดำเนินการตามมาตรการ และแนวทางการเร่งรัดติดตาม การใช้จ่ายเงินงบประมาณ

                     2.6 ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจรายงานสถานการณ์เบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน ทุกสิ้นเดือนภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไปส่งให้กรมบัญชีกลางผ่านทาง Web Site:
www.cgd.go.th

                     2.7 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้คลังจังหวัดดำเนินการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของส่วนราชการในจังหวัด เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมาย

        3. แนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานกลาง

                     3.1 กระทรวงการคลังจะมอบหมายให้กรมบัญชีกลางรายงานผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 และปัญหาอุปสรรค รวมทั้งมาตรการที่ควรดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบสำหรับรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ให้ติดตามผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ของหน่วยงานในสังกัดผ่านทางระบบ GFMIS และเร่งรัดให้หน่วยงานในสังกัด ปฏิบัติตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินอย่างเคร่งครัด

                     3.2 ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น รายงานผลการติดตามการดำเนินงาน และปัญหาอุปสรรคขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคดังกล่าว ให้คณะรัฐมนตรีและกรมบัญชีกลางทราบ ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีให้มีการเพิ่มเติมแนวทาง การดำเนินงานของหน่วยงานกลาง โดยให้กรมหรือหน่วยงานเทียบเท่าที่มีงบลงทุนจัดทำแผนการดำเนินงาน และแผนการเบิกจ่ายเงิน ของงบประมาณปี 2551 และงบผูกพันปีงบประมาณ 2550 เพื่อกำหนดเป็นเป้าหมายสำคัญ ในการพัฒนาของโครงการลงทุนทุกโครงการต่อไป โดยให้จัดทำเป็นรายครึ่งไตรมาส (เริ่มจากวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550) เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณา เพื่อเร่งรัดติดตามผลงาน และให้รายงานคณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นรายครึ่งไตรมาส

สังคม

เรื่อง
การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่อง
มาตรการสลับเวลาทำงานของหน่วยงานของรัฐ
เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร

        คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้

           1. เห็นชอบให้ปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง มาตรการสลับเวลาทำงานของหน่วยงานภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้

                  1.1 ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม) ถือปฏิบัติตามมาตรการสลับเวลาทำงานตามความเหมาะสม โดยให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดเลือก เวลาทำงาน ได้ตามความสมัครใจใน 3 ช่วงเวลา ดังนี้ 

                                              - 7.30 น. 15.30 น. หรือ
                                              - 8.30 น. 16.30 น. หรือ 
                                              - 9.30 น. 17.30 น.

             ทั้งนี้ ให้มีการส่งเสริม ชักชวน ให้มีการเลือกเวลาทำงานทั้ง 3 ช่วงเวลา ให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกันมากที่สุด เพื่อให้มีการกระจายการจราจร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                1.2 หากมีหน่วยงานใดไม่สามารถปฏิบัติตามข้อ 1.1 ได้ ให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นประกอบการขอยกเว้น โดยมอบให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เป็นผู้พิจารณายกเว้นแทนคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ไม่รวมถึงหน่วยงานที่ คจร. ได้พิจารณายกเว้นการไม่สามารถปฏิบัติตามข้อ (1.1) ไว้ก่อนแล้ว

         2. อนุมัติให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่อง มาตรการสลับเวลาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร จำนวน 8 มติ ประกอบด้วย มติคณะรัฐมนตรี (21  มีนาคม    2532) เรื่องการพิจารณามาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร มติคณะรัฐมนตรี (20 สิงหาคม 2534) เรื่องมาตรการเร่งด่วนในการลดปริมาณการจราจร มติคณะรัฐมนตรี (27 สิงหาคม 2534) เรื่องมาตรการเร่งด่วนในการลดปริมาณการจราจร มติคณะรัฐมนตรี (28 มกราคม 2535) เรื่องการประเมินผลมาตรการสลับเวลาทำงาน มติคณะรัฐมนตรี (1 กันยายน 2535) เรื่องการประเมินผลมาตรการสลับเวลาทำงาน มติคณะรัฐมนตรี (1 มิถุนายน 2536) เรื่อง การประเมินผลมาตรการสลับเวลาทำงาน มติคณะรัฐมนตรี (9 มกราคม 2539) เรื่อง มาตรการสลับเวลาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร (การเปลี่ยนแปลงเวลาทำการของธนาคารพาณิชย์) มติคณะรัฐมนตรี (10 กันยายน 2539) เรื่อง การเปลี่ยนแปลงเวลาทำการของธนาคารพาณิชย์

           3.ให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นเพิ่มเติมของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

 ************************


หมายเหตุ
  ผลสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติ หรือขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หมายเลขโทรศัพท์ 0 2280 9000 ต่อ 436 หรือที่  www.cabinet.thaigov.go.th


ข้อมูลจาก  http://www.thaigov.go.th

 

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 21 กันยายน 2550 10:14:14 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 21 กันยายน 2550 10:14:14
หนังสือเวียน
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th