ระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์การบริหารราชการ
แบบมีส่วนร่วม
สำนักงาน ก.พ.ร. โดยกลุ่มพัฒนาระบบสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ กลุ่มงานวิชาการ เตรียมจัด การสัมมนาระดมความคิดเห็น เรื่อง การจัดทำร่างยุทธศาสตร์การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2555) ในวันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2550 เวลา 08.30 น. ณ ห้องกมลทิพย์ ชั้น 2 โรงแรมสยามซิตี้
ที่มาของการจัดทำ ร่างยุทธศาสตร์การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2555)นั้น สืบเนื่องจาก คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ในการประชุมครั้งที่ 1/2550 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2550 ได้มอบหมายให้ อ.ก.พ.ร.ฯ 4 ท่าน ประกอบด้วย 1) นายไชยา ยิ้มวิไล 2) นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ 3) นางพัชรี สิโรรส 4) นายขวัญสรวง อติโพธิ เป็นคณะทำงาน เพื่อกำหนดทิศทางการจัดทำร่างยุทธศาสตร์การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
ในการดำเนินการนั้น คณะทำงานฯ ได้ประชุม เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2550 เพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำร่างยุทธศาสตร์การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2555) โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบกับยุทธศาสตร์การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (ยุทธศาสตร์การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2550) และได้ข้อสรุปกรอบแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งได้นำเสนอ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ในการประชุมครั้งที่ 2/2550 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2550 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
วิสัยทัศน์
เน้นให้ราชการเข้าใจ จริงจัง และจริงใจที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ
พันธกิจ
1) เสนอแนะนโยบาย และมาตรการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการ (การมีส่วนร่วมของประชาชน)
2) เสนอแนะวิธีการปฏิบัติราชการ (การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม)
3) เสนอแนะ ดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจ (สร้างความรู้ความเข้าใจ)
4) ติดตามและประเมินผล รวมทั้งรายงานผล (ผลสำเร็จในการเปิดระบบราชการ)
เป้าหมาย
1) เครือข่ายภาคประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มีความพร้อมในการทำงานร่วมกับภาคราชการ และมีการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
2) ภาคราชการทั้งระบบ (100%) มีความเข้าใจ มีการจัดระบบการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมที่พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วน่วมในมิติที่เหมาะสม
3) ส่วนราชการไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ผ่านเกณฑ์การประเมินความพึงพอใจจากประชาชนในการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
กลยุทธ์
เน้นการพัฒนาจากภายในภาคราชการ (Inside-out approach) ร้อยละ 60 และการพัฒนาจากภายนอกภาคราชการ (Outside-in approach) ร้อยละ 40 โดยเน้นการทำให้ภาครัฐมีการทำงานที่เปิดเผย โปร่งใส โดยควรดำเนินการ ดังนี้
1) การพัฒนาจากภายในภาคราชการ (Inside-out approach)
สร้างระบบการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมทุกส่วนราชการ โดยให้มีนโยบาย กระบวนการ กลไกการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมที่เน้นผลสำเร็จเชิงคุณภาพ จัดทำหลักสูตรการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริหารภาครัฐ ในการขับเคลื่อน และสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับ
มีระบบ หรือกลไกในการติดตามผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม
มาตรการกำหนดตัวชี้วัดผลงานของส่วนราชการ ที่มีกระบวนการทำงาน ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจของหน่วยงาน
สร้างตัวแบบการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยลงมือปฏิบัติการในพื้นที่นำร่องที่มีประเด็นการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับภูมิภาค และทำงานในลักษณะองค์รวม เน้นเอกภาคในระดับพื้นที่
2) การพัฒนาจากภายนอกภาคราชการ (Outside-in approach)
กระตุ้นให้เกิดองค์กร หรือกลไกสาธารณะ หรือพลเมืองอาสาที่พร้อมจะเข้าร่วมในการทำงานกับภาครัฐ
สร้าง ก.พ.ร. ภาคประชาชนเพื่อช่วยขับเคลื่อนการทำงานของราชการให้เป็นราชการระบบเปิด
ทั้งนี้ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมได้พิจารณาแนวทางการดำเนินการดังกล่าวแล้ว และมีความเห็น ดังนี้
1. กรอบแนวทางที่คณะทำงานฯ ได้ดำเนินการไปแล้ว ควรเป็นเค้าโครงของยุทธศาสตร์การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และเมื่อนำไประดมความคิดเห็น (Focus group) จากผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงจะได้เป็นกรอบของยุทธศาสตร์ฯ ที่เกิดจากความคิดเห็นของผู้แทนทุกภาคส่วนในสังคม และควรนำร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม มาประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2555) ด้วย
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในเรื่องการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม มิฉะนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะมีความลำอคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ อ.ก.พ.ร.ฯ ยังได้้อภิปรายและเสนอ วิสัยทัศน์ กันอย่างกว้างขวาง อาทิ
ทำให้ระบบราชการมีความเข้าใจ ตระหนัก จริงใจในการเปิดระบบราชการแบบมีส่วนร่วม และผลักดันให้การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
ข้าราชการต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม กล้าที่จะแสดงออก ทัดทานการเมือง
ระบบราชการไทยเป็นระบบเปิด ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกด้าน
2. อ.ก.พ.ร.ฯ ต้องมีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ ของการเป็นผู้ผลักดัน และขับเคลื่อนให้เกิดการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมในภาครัฐ
3. ควรนำโครงการในแต่ละเรื่องของจังหวัดมานำเสนอ หรือแสดงรายละเอียดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม หรือ ควรทำให้งานของภาครัฐเป็นข้อมูลสาธารณะ และจะต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
4. การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมจะนำไปสู่การจัดโครงสร้างองค์กร จัดกระบวนการทำงาน ปรับกระบวนทัศน์ข้าราชการ การปรับเปลี่ยนนโยบาย การให้รางวัลและการลงโทษ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น
จากข้อคิดเห็นต่าง ๆ ดังกล่าว ที่ประุชุม อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ได้ร่วมกันหารือและพิจารณาแล้ว มีมติที่ประชุม อ.ก.พ.ร.ฯ ดังนี้
1. โครงร่างของยุทธศาสตร์การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม รอบใหม่ ควรเน้นการพัฒนาจากภายในภาคราชการ (Inside-out approach) : ภายนอกภาคราชการ (Outside-in approach) ในสัดส่วน 60 : 40 ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าข้าราชการในมิติการมีส่วนร่วมของประชาชนควรเป็นอย่างไร
2. วิสัยทัศน์ คือ ให้ระบบราชการไทยเป็นระบบเปิดที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกด้าน
3. ให้นำเป้าหมายของยุทธศาสตร์ฯ รอบใหม่ ที่คณะทำงานฯ นำเสนอ ไประดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ว่าเป้าหมายที่พึงประสงค์ควรเป็นอย่างไร
3. ให้นำเป้าหมายของยุทธศาสตร์ฯ รอบใหม่ ที่คณะทำงานฯ นำเสนอ ไประดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ว่าเป้าหมายที่พึงประสงค์ควรเป็นอย่างไร
และนี่จึงเป็นที่มาของการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็น เรื่อง การจัดทำร่างยุทธศาสตร์การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2555)ที่จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2550 นี้ เวลา 08.30 น. ณ ห้องกมลทิพย์ ชั้น 2 โรงแรมสยามซิตี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้บริหารและผู้แทนของส่วนราชการระดับกระทรวง ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.ฑ.ร. โดยมีกิจกรรมหลัก ๆ ดังนี้
การชี้แจงวัตถุประสงค์การสัมมนา และการดำเนินการตามแนวทางยุทธศาสตร์การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2550) ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
โดย ดร.อรพินท์ สพโชคชัย กรรมการพัฒนาระบบราชการ (เต็มเวลา) และประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
การชี้แจงกรอบโครงร่างยุทธศาสตร์การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2555) และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอร่างยุทธศาสตร์การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
โดย ดร. ไชยา ยิ้มวิไล อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มมีส่วนร่วมฯ / ข้อมูล
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 16 กรกฎาคม 2552 14:02:12 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 16 กรกฎาคม 2552 14:02:12