Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
หนังสือเวียน / มติ คณะรัฐมนตรี / มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2550 / สิงหาคม / วันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2550

วันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2550

 สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 21 ส.ค. 50
ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.

           การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2550 ซึ่งมี นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี  ณ  ห้องประชุมชั้น  2  ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่เนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 5 เรื่อง ดังนี้

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติกีฬาอาชีพ พ.ศ. ....

         คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกีฬาอาชีพ พ.ศ. ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ.... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นสำนักงานคณะกรรมการกีฬาอาชีพ จะต้องไม่มีฐานะเป็นหน่วยงานระดับกรม และไม่จัดตั้งกองทุนขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแิห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

         ร่างพระราชบัญญัติกีฬาอาชีพ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้
                     1. กำหนดให้มีคณะกรรมการกีฬาอาชีพ (กอช.) ประกอบด้วย ประธานกรรมการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพากร เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย และผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้แทนนักกีฬาอาชีพ บุคลากรกีฬาอาชีพ ผู้ประกอบธุรกิจกีฬาอาชีพ และสมาคมกีฬาอาชีพ ฝ่ายละหนึ่งคน และกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจาก ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนห้าคน โดยมีรองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยแต่งตั้งเป็น เลขานุการ (ร่างมาตรา 6)

                     2. ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอนโยบายเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมกีฬาอาชีพต่อ คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ กำกับดูแล กำหนดมาตรการช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนนักกีฬาอาชีพบุคลากรกีฬาอาชีพและผู้ประกอบธุรกิจกีฬาอาชีพกำหนดชนิดกีฬามาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานการแข่งขัน และจรรยาบรรณของนักกีฬาอาชีพให้สอดคล้องกับมาตรฐานและจรรยาบรรณกีฬาอาชีพระหว่างประเทศ รวมทั้งออกระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนของผู้ตัดสิน และกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทน หรือ ส่วนแบ่งระหว่างนักกีฬาอาชีพไป ผู้ฝึกสอนหรือบุคลากรกีฬาอาชีพ (ร่างมาตรา 10)

                     3. ให้สำนักงานคณะกรรมการกีฬาอาชีพในการกีฬาแห่งประเทศไทยมีผู้อำนวยการซึ่งดำรงตำแหน่ง ไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่าเป็นผู้บังคับบัญชา พนักงานและลูกจ้าง และผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของ สำนักงานคณะกรรมการกีฬาอาชีพ (ร่างมาตรา 13)

                     4. กำหนดให้บุคคลที่ประสงค์จะเป็นนักกีฬาอาชีพ หรือบุคลากรกีฬาอาชีพต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวต่อนายทะเบียน (ร่างมาตรา 15 ร่างมาตรา 17)

                     5. กำหนดให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดประกอบธุรกิจกีฬาอาชีพหรือการจัดการ แข่งขันกีฬาอาชีพแต่ละรายการ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน และในการจัดการแข่งขันกีฬาอาชีพหรือประกอบกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการแข่งขันกีฬาอาชีพแต่ละรายการ ให้ผู้ประกอบธุรกิจกีฬาอาชีพจัดให้มีมาตรฐานความปลอดภัยและมาตรฐานการแข่งขัน สำหรับนักกีฬาอาชีพและบุคลากรกีฬาอาชีพตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยกำหนดหลักประกันขั้นพื้นฐานไว้ (ร่างมาตรา 18 ร่างมาตรา 26)

                    6. กำหนดบทบัญญัติคุ้มครองกีฬาอาชีพ โดยห้ามผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใดแก่นักกีฬาอาชีพ ผู้ตัดสิน หรือผู้อื่น เพื่อจูงใจให้กระทำการแข่งขันกีฬาอาชีพไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รวมทั้งห้ามเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่น เพื่อทำให้การแข่งขันหรือตัดสินการแข่งขันไม่เป็นไปตามระเบียบ กติกาการแข่งขันหรือใช้ดุลพินิจอย่างไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม (ร่างมาตรา 27 ร่างมาตรา 31)

                     7. ให้มีกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพเป็นทุนหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการวิจัย การพัฒนา การฟื้นฟู
การศึกษา การเผยแพร่ และการพัฒนากีฬาอาชีพ โดยกองทุนประกอบด้วย เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่าย ประจำปีตามความจำเป็น ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือค่าตอบแทนอื่นสิทธิประโยชน์ที่ได้จากการจัดการลิขสิทธิ์ เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการบริจาค เป็นต้น (ร่างมาตรา 32 ร่างมาตรา 35)

                     8. กำหนดให้มีการอุทธรณ์กรณีที่นักกีฬาอาชีพ บุคลากรกีฬาอาชีพ หรือผู้ประกอบธุรกิจกีฬาอาชีพ แล้วแต่กรณี ถูกเพิกถอนบัตรประจำตัวหรือถูกเพิกถอนหนังสืออนุญาต (ร่างมาตรา 36)

                     9. กำหนดให้นายทะเบียนมีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบการ สถานที่จัดการแข่งขันกีฬาหรือสถานที่ อื่นใดที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการแข่งขันกีฬาอาชีพ เพื่อตรวจสอบอาคารสถานที่ อุปกรณ์การแข่งขันกีฬา และมีหนังสือเรียก ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ ส่งเอกสารหรือวัตถุที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา (ร่างมาตรา 37 ร่างมาตรา 40)

                   10. กำหนดให้ผู้ที่จัดการแข่งขันกีฬาอาชีพหรือผู้ประกอบการกีฬาอาชีพอยู่แล้ว ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะประกอบกิจการดังกล่าวต่อไปให้ยื่นคำขอรับอนุญาต ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และนักกีฬาอาชีพหรือบุคลากรกีฬาอาชีพอยู่แล้วก่อนหรือ ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับถ้าประสงค์จะเป็นนักกีฬาอาชีพ หรือบุคลากรกีฬาอาชีพต่อไป ต้องยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ร่างมาตรา 48 ร่างมาตรา 49)

                    กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอว่า กีฬาอาชีพเป็นกิจกรรมที่นานาประเทศได้ให้ความสำคัญและ ใช้เป็นมาตรการในการเสริมสร้างรายได้ และการอาชีพแก่นักกีฬา นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศ แต่โดยที่กิจกรรมกีฬาอาชีพเป็นธุรกรรมที่ดำเนินการทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในทางธุรกิจทุกระดับ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่สอดคล้อง ควบคุมการกีฬาอาชีพและส่งเสริมและสนับสนุนการกีฬาอาชีพ ให้มีมาตรฐานมีเพียงพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ซึ่งมีบทบัญญัติครอบคลุมเฉพาะกีฬามวยอาชีพ จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมา เพื่อดำเนินการ
 

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ....

        คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงวัฒนธรรม เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติพ.ศ. .... ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ และแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทราบ เพื่อประกอบการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ต่อไป
        กระทรวงวัฒนธรรมเสนอขอเปลี่ยนสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้


                    1. ขอเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยให้นายกรัฐมนตรีหรือ รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ให้รับผิดชอบด้านวัฒนธรรมเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการ

                    2. กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ และงานธุรการของคณะกรรมการวัฒนธรรม
แห่งชาติ

                    3.  กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเพิ่มเติม โดยให้มีอำนาจวางนโยบายและกำหนดแผนงาน รวมทั้งยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับ วัฒนธรรมระดับชาติ และเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการปรับปรุงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องครอบคลุมทุกมิติด้านวัฒนธรรม และภารกิจด้านศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรม

                    4.  กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เปลี่ยนเป็นสำนักงานวัฒนธรรมวิถีชีวิตและภูมิปัญญาไทย ดูแลรับผิดชอบเรื่องวัฒนธรรมวิถีชีวิต และภูมิปัญญาไทย รวมทั้งกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม (เดิม)

เรื่อง
ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. ....

         คณะรัฐมนตรีรับทราบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นชอบด้วยแล้ว และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งร่างกฎกระทรวง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
        ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2545 เพื่อจัดตั้งสำนักการบินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้


                  1. ปฏิบัติงานด้านการบินและการสื่อสาร เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

                  2. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย
การให้เงิน
อุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ....

      
       
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
        กระทรวงการคลังเสนอว่า เนื่องจากปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้ดำเนินโครงการจัดให้มีบริการสาธารณะให้กับประชาชน และกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับประชาชนบางกลุ่มให้ต่ำกว่าต้นทุนของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการที่ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะจ่ายค่าบริการที่คุ้มทุนของรัฐวิสาหกิจ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจ เพราะหากปล่อยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและยาวนาน อาจส่งผลร้ายแรงต่อสภาพคล่องทางการเงิน มีผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการและรัฐต้องฟื้นฟูกิจการในที่สุด จึงได้เสนอร่างระเบียบดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ


        ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

                  1. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอนการเสนอขอรับการอุดหนุนทางการเงินจากรัฐบาลในการให้บริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ

                  2. กำหนดให้รัฐวิสาหกิจต้องจัดให้มีระบบบัญชีซึ่งแสดงถึงการแยกรายได้ และค่าใช้จ่ายของการให้บริการเชิงพาณิชย์และบริการสาธารณะ และต้นทุนการให้บริการสาธารณะ ตามวิธีปฏิบัติทางบัญชีที่คณะกรรมการกำหนด

                 3.  กำหนดให้คณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะเป็นผู้กำหนดวิธีปฏิบัติทางบัญชี และวิธีการคำนวณต้นทุนการให้บริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ ตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป และมีความเหมาะสมกับลักษณะการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจนั้น โดยจะกำหนดวงเงินและเงื่อนไขการจ่ายเงิน ที่รัฐควรจะจ่ายชดเชยให้กับรัฐวิสาหกิจเสนอ กระทรวงการคลังพิจารณานำเสนอ คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ พร้อมทั้งรายงานผลการให้บริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจต่อกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเผยแพร่สู่สาธารณชน เป็นประจำทุกปี

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ....

         
        
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการ พลังงาน พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอ ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

        ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานขึ้น เพื่อกำกับดูแลกิจการพลังงาน โดยกำหนดให้มีหน้าที่ป้องกันการใช้อำนาจผูกขาดโดยมิชอบ ให้การคุ้มครองผู้ใช้พลังงานและผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการพลังงาน และเพื่อให้คณะกรรมการสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมควรให้มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ


************************


หมายเหตุ
  ผลสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติ หรือขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หมายเลขโทรศัพท์ 0 2280 9000 ต่อ 436 หรือที่  http://www.cabinet.thaigov.go.th/


ข้อมูลจาก  http://www.thaigov.go.th/

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 23 สิงหาคม 2550 10:48:03 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 23 สิงหาคม 2550 10:48:03
หนังสือเวียน
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th