OPDC News วันนี้ยังคงอยู่ที่เรื่องของบทสรุปของข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุม เพื่อประเมินสถานภาพของกลุ่มจังหวัดในปัจจุบัน และการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงในอนาคต ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งใน การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การบริหารราชการแบบกลุ่มจังหวัด ที่สำนักงาน ก.พ.ร. โดยกลุ่มพัฒนาระเบียบราชการส่วนภูมิภาคและความสัมพันธ์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มงานวิชาการ จัดขึ้น เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 200 คน
โดยวันนี้ขอนำเสนอ คือ กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ กลุ่มภาคใต้ ที่ OPDC News จะมานำเสนอต่อในวันนี้ โดยบทสรุปดังกล่าว เรียบเรียงโดย คุณวิชิตร์ แสงทองล้วน ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระเบียบราชการส่วนภูมิภาคและความสัมพันธ์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มงานวิชาการ
การประเมินสถานภาพของระบบการบริหารราชการกลุ่มจังหวัด
|
การประเมินสถานภาพของระบบการบริหารราชการกลุ่มจังหวัดในปัจจุบันนี้ เป็นการประมวลจากข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของตัวแทนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) กับระบบการบริหารราชการกลุ่มจังหวัด ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยการเสนอความเห็นจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มภาคเหนือและกลุ่มภาคตะวันออก (2) กลุ่มภาคกลาง (3) กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ (4) กลุ่มภาคใต้ สำหรับข้อเสนอแนะและความคิดเห็น ของกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ กลุ่มภาคใต้ มีดังนี้
|
กลุ่มที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
|
|
กลุ่มจังหวัดภายในกลุ่ม ประกอบด้วย 5 กลุ่ม คือ
กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
6.1 หนองคาย หนองบัวลำภู เลย อุดรธานี
6.2 กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร สกลนคร
6.3 ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด
กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
7.1 ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์
7.2 ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี
ประมวลข้อคิดเห็น
1. แนวทางการจัดกลุ่ม
แนวทางการจัดกลุ่มจังหวัด ที่มีประเด็นเรื่องความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ความเห็นเรื่องแนวทางเศรษฐกิจการค้า การผลิต และการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่า การได้เปรียบและการแข่งขัน และยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาเร่งด่วนร่วมกันของประเทศ เห็นด้วยและไม่มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม
2. การจัดกลุ่มจังหวัด
กลุ่มจังหวัดที่มีการจัดจังหวัดภายในกลุ่มมีความเหมาะสมแล้ว จำนวน 3 กลุ่มจังหวัด คือ
กลุ่มจังหวัด 6.1 หนองคาย หนองบัวลำภู เลย อุดรธานี
กลุ่มจังหวัด 7.1 ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์
กลุ่มจังหวัด 7.2 ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี
กลุ่มจังหวัดที่มีการจัดจังหวัดภายในกลุ่มยังไม่เหมาะสม คือ
1) กลุ่มจังหวัด 6.2 กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สกลนคร นครพนม และ
2) กลุ่มจังหวัด 6.3 มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด
โดยมีความคิดเห็นว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเดิมอยู่ในกลุ่มจังหวัด 6.2 นั้นมีปัญหาในเรื่องของความลำบากในการเดินทาง และควรสภาพการค้าการลงทุน ที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มจังหวัด 6.3 มากกว่า จึงเห็นควรที่จะย้ายจังหวัดกาฬสินธุ์ มาอยู่ที่กลุ่มจังหวัด 6.3
จึงจัดกลุ่มใหม่ได้ ดังนี้
กลุ่มจังหวัด 6.2 นครพนม มุกดาหาร สกลนคร
กลุ่มจังหวัด 6.3 มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์
3. ระบบการบริหารและกลไกการบริหารกลุ่มจังหวัด
มีข้อเสนอแนะในด้านการจัดระบบ หรือกลไกการบริหารราชการแบบกลุ่มจังหวัด ดังนี้
โครงสร้างการบริหารของกลุ่มจังหวัดที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นฝ่ายเลขานุการ ยังไม่เหมาะสม มีข้อเสนอแนะว่าควรให้ผู้ตรวจราชการของกระทรวงมหาดไทยเป็นฝ่ายเลขานุการ และรวมทั้งให้มีผู้แทนสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมด้วย
งบประมาณที่เป็นปัญหาสำคัญในการบริหารงาน ซึ่งเกิดจากระเบียบเกี่ยวกับงบประมาณ ที่ไม่เอื้ออำนวยในการโยกงบประมาณของแต่ละจังหวัดให้มารวมกัน เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดได้ จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
ควรมีการจัดตั้งงบกลางไว้ให้กลุ่มจังหวัดเป็นการเฉพาะ รวมทั้งให้ กกจ.มาดูแลภาพรวม พิจารณาโครงการโดยจัดเรียงลำดับความสำคัญของโครงการ ที่เสนอเข้าไปในงบกลางที่เสนอมาให้กลุ่มจังหวัด
โครงการของกลุ่มจังหวัดควรจัดสรรงบประมาณลงมาให้เจ้าภาพ ที่เป็นเจ้าภาพโครงการที่เสนอไป เพราะปัจจุบันงบประมาณที่เสนอไปเป็นงบประมาณลอย และก็ทำให้การดำเนินงานนั้นไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ควรแก้กฎระเบียบควรให้กลุ่มจังหวัดมีสิทธิในการขอรับจัดสรรงบประมาณโดยตรง
การบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันภายในของกลุ่มจังหวัด มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดมาอบรม เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจกับกลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัดหรือจังหวัดร่วมกันเพื่อให้มีการดำเนินงานที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
หน่วยบริหารเชิงยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัด (OSM) เป็นปัญหาอย่างมากในแต่ละจังหวัดที่ขาดบุคลากรและงบประมาณในการบริหารจัดการกลุ่มจังหวัด แต่ละจังหวัดจะต้องส่งเจ้าหน้าที่มาประจำอยู่ OSM ซึ่งอาจจะเป็นการสั่งการจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้มาดำเนินการ ซึ่งเป็นงานที่ไม่ประจำ จึงมีข้อเสนอแนะว่าควรมีงบประมาณเข้ามาดำเนินการใน OSM โดยตรง มีบุคลากรประจำสำนักงาน ไม่ใช่เป็นการเกลี่ยอัตรากำลังจากสำนักงานจังหวัด
ปัญหาด้านการบริหารงานบุคคลที่สำคัญ คือการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดบ่อย ทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง มีข้อเสนอแนะว่าควรกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อไม่ให้มีการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดบ่อย และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำรงตำแหน่งในระยะเวลาเพิ่มมากขึ้นเพียงพอต่อการดำเนินงาน
ด้านการสนับสนุนจากหน่วยงานส่วนกลาง มีข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานส่วนกลาง เช่น สำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย สำนักงาน ก.พ.ร. ควรสนับสนุนบุคลากรงบประมาณและองค์ความรู้ต่างๆ ในการอบรม เพื่อให้บุคลากรในจังหวัดให้มีความเหมาะสมตามความต้องการกลุ่มจังหวัดในแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญคือสำนักงาน ก.พ.ร. ควรเสนอให้กับรัฐบรรจุหลักสูตรเพื่ออบรมของภาครัฐและเอกชนร่วมกัน ให้เกิดการเรียนรู้ในการทำงานและประสานงานร่วมกัน เช่น หลักสูตร วปรอ.ที่ส่วนกลางได้ดำเนินการอยู่ได้ จะเป็นการสร้างหน่วยงานภาครัฐให้มีเครือข่ายและการดำเนินงานร่วมกันและใกล้ชิด
ข้อคิดเห็นอื่น ๆ เพิ่มเติม
ในการเชิญภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมกับภาครัฐ ภาครัฐควรสนับสนุนค่าใช้จ่ายการเดินทาง ค่าที่พักให้ภาคเอกชนด้วย
การบูรณาการทำงานควรให้ท้องถิ่น ควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีงบประมาณลงไปในท้องถิ่น เป็นจำนวนมากซึ่งโครงข่ายตรงนี้ จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
เสนอให้มีการฟื้นระบบ กรอ.เดิมในอดีตเพื่อให้การทำงานร่วมกัน และบูรณาการการทำงานร่วมกันด้วย ทั้งภาครัฐและเอกชน
ให้มีการจัดประชุมสัมมนาของหน่วยงานกลางเพื่อให้การพัฒนาระบบราชการหรือแผนงานโครงการแล้ว ควรมีการแจ้งผลการประชุมแนวทางการดำเนินงานและรายงานความคืบหน้า รวมทั้งกำหนดเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ทราบความคืบหน้าของแต่ละประเด็นปัญหาที่เสนอไป
ควรมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนว่าจะมีระบบกลุ่มจังหวัดและระบบประเมินกลุ่มจังหวัดต่อไปหรือไม่
ตัวชี้วัดกลุ่มจังหวัดควรมีจำนวนที่พอเหมาะ ปัจจุบันตัวชี้วัดมีจำนวนมาก 30-40 ตัวชี้วัด อยากให้ลดลงและมีจำนวนที่เหมาะสม และควรกำหนดตัวชี้วัดระดับกลุ่มจังหวัดอย่างเดียว
ควรมีการทบทวนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดเพื่อให้สอดรับกับกลุ่มจังหวัด โดยให้สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติภาคมาช่วยดำเนินงาน เพราะปัจจุบันบางยุทธศาสตร์จะไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10
การกำหนดเจ้าภาพกลุ่มจังหวัด ควรใช้ระบบการหมุนเวียนเจ้าภาพ
ผู้ว่าราชการไม่สามารถสั่งการให้หน่วยราชการส่วนกลางตั้งอยู่ในจังหวัดมาดำเนินการร่วมกันได้ เพราะส่วนราชการที่ไปอยู่ในจังหวัดนั้นๆ จะขึ้นอยู่กับส่วนกลาง รับคำสั่งจากส่วนกลาง
กลุ่มจังหวัดภายในกลุ่ม ประกอบด้วย 5 กลุ่ม คือ
กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน
8.1 ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี
8.2 ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง
8.3 กระบี่ พังงา ภูเก็ต
กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน
9.1 นราธิวาส ปัตตานี ยะลา
9.2 สงขลา สตูล
ประมวลข้อคิดเห็น
1. การบริหารแบบกลุ่มจังหวัด
รูปแบบการบริหารราชการแบบกลุ่มจังหวัด มีความจำเป็นและสมควรที่จะสนับสนุนให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
เนื่องด้วยการบริหารดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์การทำงานเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกัน ลดการแข่งขันกันเองภายในกลุ่ม และทำให้เกิดการประสานงานในการทำงานอย่างดี แต่ควรมีการจัดกลุ่มจังหวัดที่เหมาะสม แต่ในการจัดกลุ่มจังหวัดเพื่อการบริหารนั้นต้องมีความเหมาะสม และมีวิธีการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มจังหวัดยั่งยืนและเข้มแข็ง
2. การจัดกลุ่มจังหวัด
การจัดกลุ่มจังหวัดนั้น มีความเห็นสอดค้องกับแนวทางที่กำหนดไว้เดิมซึ่งมีด้วยกัน 3 ประการคือ (1) ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (2) ความเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจการผลิต การค้า การลงทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าการได้เปรียบการแข่งขัน และ (3) ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนร่วมกันของประเทศ แต่ควรเพิ่มแนวทางที่ว่าด้วยความเชื่อมโยงของยุทธศาสตร์แต่ละจังหวัดด้วย โดยให้คำนึงและสอดคล้องกับแผนระยะสั้นและระยะยาวของยุทธศาสตร์
ข้อสังเกตในเรื่องของการจัดกลุ่มจังหวัด นั้น ควรมีการให้ความสำคัญกับแนวคิด 4 ประการ คือ (1) การมองยุทธศาสตร์และอนาคตในการพัฒนาพื้นที่ 2) การพิจารณาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (3) การสร้างความร่วมมือในกลุ่มจังหวัด (4) การมีสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกลุ่มจังหวัดที่มียุทธศาสตร์เดียวกัน เอื้อกันเพื่อร่วมมือการทำงาน นอกจากจะให้ความสำคัญกับแนวความคิดทั้งสี่ประการนี้แล้ว ควรนำแนวความคิดดังกล่าว มาสร้างโครงสร้างและบทบาทภารกิจสำนักงานกลุ่มจังหวัดด้วย
ข้อเสนอของสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งมีทั้งภาคราชการและภาคเอกชนที่ร่วมกัน ในการจัดกลุ่มจังหวัดในภาคใต้ใหม่ โดยเสนอเป็น 3 รูปแบบ คือ
รูปแบบที่ 1 เป็นการจัดโดยอาศัยพื้นที่เป็นหลัก และมีเศรษฐกิจหรือยุทธศาสตร์ที่ใกล้เคียงกัน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
(1) กลุ่มอ่าวไทยตอนบน ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง
(2) กลุ่มอ่าวไทยตอนล่าง ประกอบด้วย สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
(3) กลุ่มอันดามันประกอบด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล
ข้อเสียของการจัดกลุ่มในรูปแบบนี้ จะอยู่ที่การมีอาณาเขตที่ครอบคลุมยาวถึงพัทลุง เป็นระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร
รูปแบบที่ 2 เป็นการจัดโดยแก้ไขปัญหาที่เกิดจากรูปแบบที่ 1 และเน้นด้านความมั่นคง แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ
(1) กลุ่มอ่าวไทยตอนบน ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี
(2) กลุ่มอ่าวไทยตอนกลาง ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช และพัทลุง
(3) กลุ่มภาคใต้ชายแดน ประกอบด้วย สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
(4) กลุ่มอันดามันประกอบด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล
รูปแบบที่ 3 เป็นการจัดโดยพิจารณาจากเศรษฐกิจหรือยุทธศาสตร์ที่ใกล้เคียงกัน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ
(1) กลุ่มภาคใต้ตอนบน ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช
(2) กลุ่มภาคใต้ตอนกลาง ประกอบด้วย สตูล และพัทลุง
(3) กลุ่มภาคใต้ชายแดน ประกอบด้วย สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
(4) กลุ่มอันดามันประกอบด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง
3. การจัดระบบ กลไกการบริหารแบบกลุ่มจังหวัด
การบริหารเชิงยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด
ปัญหา คือ (1) จังหวัดเจ้าภาพต้องใช้ศักยภาพของตัวเองในการจัดการยุทธศาสตร์ ทั้งการประมวลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดการประสานงาน (2) การขาดแคลนงบประมาณของกลุ่มจังหวัด เป็นปัญหาสำคัญของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัด (3) การขาดการมีส่วนร่วมของจังหวัดภายในกลุ่ม (4) ไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เป็นของกลุ่มจังหวัดร่วมกัน หรือกรณีที่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน แต่ไม่มีเงินงบประมาณของกลุ่ม ต้องนำงบประมาณของจังหวัดมาจัดสรรกัน
ข้อเสนอแนะหรือแนวทางการแก้ปัญหา คือ (1) การสร้างระบบและกลไกภาคส่วนและจังหวัดในกลุ่มมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์โดยมีระยะเวลาที่เพียงพอ (2) ต้องมีการบริหารการจัดทำยุทธศาสตร์ร่วมกัน (3) แผนงานโครงการของกลุ่มจังหวัดต้องมีลักษณะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัด และเป็นลักษณะของการเปลี่ยนแปลงในทางเพิ่มคุณค่า (value change)
ด้านงบประมาณ
ปัญหา คือ (1) กลุ่มจังหวัดไม่มีงบประมาณเป็นของตนเองทำให้การบริหารงานไม่มีความคล่องตัว งบประมาณในที่นี้หมายถึงงบในการบริหารสำนักงานกลุ่มจังหวัด งบประมาณของโครงการที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัด ให้ดำเนินไปได้ตามวัตถุประสงค์
ข้อเสนอแนะหรือแนวทางการแก้ไข คือ (1) ควรมีการจัดสรรงบประมาณกลุ่มจังหวัดและจังหวัดอย่างเพียงพอ ตามสัดส่วนพื้นที่และสัดส่วนประชากร (2) ควรจัดกลุ่มหรือจัดลำดับแผนงานโครงการตามความเร่งด่วนเพื่อเสนอต่อสำนักงบประมาณ
การบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันภายในกลุ่มจังหวัด
ปัญหา คือ (1) เป็นการบริหารจัดการรายจังหวัด (2) ในแต่ละจังหวัดไม่สามารถให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ไปจัดการกลุ่มจังหวัดได้ (3) สำนักบริหารยุทธศาสตร์(OSM) ที่ตั้งโดยคำสั่งกระทรวงมหาดไทย โดยกำหนดเจ้าภาพกลุ่มจังหวัดซึ่งในทางปฏิบัติจะเป็นภาระกับจังหวัดที่เป็นเจ้าภาพต้องรับผิดชอบและบริหารจัดการกันเอง
ข้อเสนอแนะ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นผู้มีบทบาทในการประสานการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
ความร่วมมือประสานงานระหว่างจังหวัด
ปัญหา คือความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนยังมีน้อยเกินไป ข้อเสนอแนะคือต้องมีเวทีหรือกลไกในการประสานความร่วมมือ เพื่อเพิ่มระดับความร่วมมือให้ชัดเจนขึ้น
การจัดหน่วยบริการเชิงยุทธศาสตร์ในกลุ่มจังหวัด (OSM)
ปัญหา คือ (1) การขาดแคลนบุคลากร หรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการปฏิบัติงานในสำนักงานบริหารกลุ่มจังหวัด หรือบางแห่งอาจมีการมอบเจ้าหน้าที่ มาช่วยปฏิบัติ แต่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่มีความชำนาญที่จะรับผิดชอบงานเฉพาะเรื่องได้ (2) ความชัดเจนของบทบาทและภารกิจของ OSM ยังไม่ชัดเจน (3) ระบบความเชื่อมโยงของ OSM ในกลุ่มจังหวัดและจังหวัด ไม่มีความชัดเจน
ข้อเสนอแนะหรือแนวทางการแก้ไข คือ (1) กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปปฏิบัติงานที่สำนักงาน OSM (2) กำหนดให้มีผู้ตรวจราชการของกระทรวงต่างๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ (3) จัดโครงสร้างที่ทำให้ส่วนราชการอื่นๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามประเด็นยุทธศาสตร์ได้ (4) กำหนดบทบาท ภารกิจและหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานได้ และ (5) ประธานคณะกรรมการกลุ่มจังหวัดของ OSM ต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัด OSM ในกลุ่มจังหวัดนั้น
การบริหารงานบุคคล
ปัญหา คือ (1) การขาดแคลนบุคลากรในการช่วยดำเนินการ (2) การโยกย้ายสับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ในพื้นที่บ่อยทำให้ขาดความต่อเนื่อง มีผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
ข้อเสนอแนะ คือ (1) กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติงานให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง (2) พัฒนาประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (3) การมีระบบสนับสนุนของหน่วยงานส่วนกลางอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง
กฎหมาย กฏ และระเบียบ
ปัญหา คือ ไม่มีระเบียบรองรับการทำงานของ OSM ข้อเสนอแนะ คือ กำหนดระเบียบหรือกฎหมายรองรับการทำงานของ OSM รวมทั้งการกำหนดยบทบาทหน้าที่ของกลุ่มจังหวัดและของสำนักงานยุทธศาสตร์จังหวัดให้ชัดเจน เพื่อให้การขับเคลื่อนสอดคล้องและมุ่งสู่จุดเป้าหมายเดียวกัน
วิชิตร์ (กลุ่มภูมิภาคฯ) / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ