โครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาราชการระบบเปิด
OPDC News มีข่าวเกี่ยวกับโครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาราชการระบบเปิด ซึ่งเป็นโครงการล่าสุด ที่กลุ่มพัฒนาระบบสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ กลุ่มงานวิชาการ จะดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ มาแนะนำกันค่ะ
โครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาราชการระบบเปิด ซึ่งกลุ่มพัฒนาระบบสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ กลุ่มงานวิชาการ ดำเนินการในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารโลกในการดำเนินโครงการ เพื่อผลักดันการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการภาครัฐ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 7 : การเปิดระบบราชการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ.2546 - พ.ศ.2550)
ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการศึกษารูปแบบการพัฒนาระบบการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับกระทรวง และ โครงการส่งเสริมการสร้างระบบการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับจังหวัด ซึ่งมีรายละเอียดของแต่ละโครงการ ดังนี้
|
โครงการศึกษารูปแบบการพัฒนาระบบการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับกระทรวง |
|
เป็นโครงการโดยความร่วมมือกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับนโยบาย และเปิดระบบราชการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการอย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม สำหรับข้าราชการระดับกระทรวง/กรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้เปลี่ยนแปลงกลไกในการกำหนดนโยบายและพัฒนาระบบบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
ทั้งนี้ ผลการศึกษาของโครงการดังกล่าว คาดว่าจะทำให้เกิดการปรับปรุงกฎระเบียบ หรือนโยบายของหน่วยงาน ให้สอดคล้องกับหลักการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม การปรับปรุงโครงสร้าง การบริหารจัดการ และบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐที่เหมาะสมในการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการดำเนินโครงการนั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการศึกษาหน่วยงานนำร่อง ที่จะพัฒนาระบบบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อเลือกประเด็นที่จะใช้ในการศึกษา และอยู่ระหว่างการพิจารณาประเด็นที่เหมาะสมในการศึกษา นอกจากนี้ จะได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม สำหรับบุคลากรภาครัฐระดับกระทรวง เพื่ออบรมข้าราชการระดับกระทรวง/กรม ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม สำหรับสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปของ โครงการศึกษารูปแบบการพัฒนาระบบการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับกระทรวง ได้แก่
การลงนามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ ในการเป็นหน่วยงานนำร่อง โครงการศึกษารูปแบบการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับนโยบาย ระหว่างสำนักงาน ก.พ.ร. กับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมประชาสัมพันธ์ ในวันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม 2550 เวลา 09.00 12.00 น. ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท
การอบรมวิทยากรกลาง หลักสูตรการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมสำหรับบุคลากรภาครัฐระดับกระทรวง เพื่อเป็นตัวคูณในการขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
การอบรมหลักสูตร การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมสำหรับบุคลากรภาครัฐระดับกระทรวง ให้แก่ข้าราชการในหน่วยงานนำร่อง
การดำเนินการจัดทำแผนงาน/โครงการตามประเด็นที่หน่วยงานนำร่องเลือก โดยจะต้องเป็นการดำเนินการที่เป็นรูปแบบของการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเป็นที่ปรึกษาวิชาการแก่หน่วยงานนำร่อง ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการ รวมไปถึงการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการตามแผนงาน/โครงการด้วย
การจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการที่ประกอบด้วยแนวทาง วิธีการ รูปแบบการพัฒนา ข้อเสนอแนะ และนวัตกรรมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐในระดับนโยบาย
การจัดทำคู่มือการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐในระดับนโยบาย
|
โครงการส่งเสริมการสร้างระบบการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับจังหวัด |
|
เป็นโครงการโดยความร่วมมือกับสถาบันพระปกเกล้า มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายฐานการสร้างความรู้ความเข้าใจในการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม สำหรับข้าราชการระดับจังหวัด และพัฒนาระบบราชการสู่การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม รวมไปถึงเพื่อให้การทำงานของระบบราชการในระดับจังหวัด สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชน และได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการพัฒนาจังหวัดและพัฒนาระบบราชการ
ในการดำเนินโครงการนั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับจังหวัด และการอบรมวิทยากรที่ปรึกษา ซึ่งเป็นการออกไปให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่ของจังหวัด ในการดำเนินการสร้างระบบการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับจังหวัด โดยได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 4 - 5 มิถุนายน 2550 พร้อมกับจัดทำแผนการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมสำหรับบุคลากรภาครัฐระดับจังหวัด ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วย การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม เทคนิคการมีส่วนร่วมรูปแบบต่าง ๆ เทคนิคการจัดทำยุทธศาสตร์แบบมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับจังหวัด การฝึกปฏิบัติในการจัดทำข้อเสนอโครงการการมีส่วนร่วมของประชาชน และการประเมินผลแบบมีส่วนร่วม โดยมีกำหนดการฝึกอบรมให้กับข้าราชการทั้ง 75 จังหวัด
สำหรับสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปของ โครงการส่งเสริมการสร้างระบบการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับจังหวัด ได้แก่
การอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมสำหรับบุคลากรภาครัฐระดับจังหวัด 75 จังหวัด โดยแบ่งออกเป็น 9 กลุ่มจังหวัด อบรมกลุ่มจังหวัดละ 2 วัน ดังนี้
กลุ่มจังหวัด
|
วันที่อบรม
|
สถานที่อบรม
|
1) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน |
9 - 10 กรกฎาคม 2550 |
จังหวัดพิษณุโลก |
2) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง |
10 - 11 กรกฎาคม 2550 |
จังหวัดพิษณุโลก |
3) กลุ่มจังหวัดภาคกลาง ส่วนที่ 1 |
17 - 18 กรกฎาคม 2550 |
โรงแรมเดอะแกรนด์ อยุธยา บางกอก ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร |
4) กลุ่มจังหวัดภาคกลาง ส่วนที่ 2 |
18 - 19 กรกฎาคม 2550 |
โรงแรมเดอะแกรนด์ อยุธยา บางกอก ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร |
5) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก และภาคกลาง |
19 - 20 กรกฎาคม 2550 |
โรงแรมเดอะแกรนด์ อยุธยา บางกอก ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร |
6) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน |
10 - 11 กันยายน 2550 |
จังหวัดสุราษฎร์ธานี |
7) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง |
11 - 12 กันยายน 2550 |
จังหวัดสุราษฎร์ธานี |
8) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน |
24 - 25 กันยายน 2550 |
จังหวัดขอนแก่น |
9) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเหนือตอนล่าง |
15 - 16 กันยายน 2550 |
จังหวัดขอนแก่น |
สนับสนุนการจัดทำแผนงาน/โครงการส่งเสริมการสร้างระบบการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับจังหวัด โดยมีที่ปรึกษาวิชาการประจำจังหวัด ในการให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่จังหวัด ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการ รวมไปถึงการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินการตามแผนงาน/โครงการด้วย
ติดตามประเมินผล วิเคราะห์แผนงาน/โครงการส่งเสริมการสร้างระบบการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับจังหวัด ที่เหมาะสมในการเป็นกรณีศึกษาของรูปแบบที่ดีในการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคประชาชน ในระดับจังหวัดของประเทศไทย (Best Practice Cases)
จัดทำคู่มือการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐในระดับจังหวัด
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มพัฒนาระบบสนับสนุนการมีส่วนร่วมฯ / ข้อมูล
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 16 กรกฎาคม 2552 15:13:50 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 16 กรกฎาคม 2552 15:13:50