Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
หนังสือเวียน / มติ คณะรัฐมนตรี / มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2550 / มิถุนายน / วันอังคารที่ 19 มิถุนายน 2550

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน 2550

 สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 19 มิ.ย. 50

ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.

           การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 19 มิถุนายน 2550    ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 6 เรื่อง ดังนี้

สังคม

เรื่อง
การเพิ่มหน่วยงานในกลุ่มภารกิจในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


         คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้จัดกรมการข้าวไว้ในกลุ่มภารกิจด้านการผลิต ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กำหนดกรมการข้าวไว้ในกลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการผลิต) ตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

         สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการได้มีมติเห็นควรจัดกรมการข้าวไว้ในกลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการผลิต ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเห็นชอบกับร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจที่ต้องแก้ไขปรับปรุงใหม่ โดยเห็นว่า กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการผลิตเป็นการนำกรมที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทางด้านการผลิตด้านเกษตรกรรม (พืช ประมง และปศุสัตว์) ไว้ด้วยกัน ที่เน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งในเรื่องคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานถูกสุขอนามัย โดยดูแลตั้งแต่ต้นจนเป็นผลิตภัณฑ์ (From Farm to Table) ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วย กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมวิชาการเกษตร โดยที่กรมการข้าวมีภารกิจเกี่ยวกับข้าว โดยครอบคลุมถึงการปรับปรุงพัฒนาการปลูกข้าวให้มีผลผลิตต่อพื้นที่และคุณภาพสูงขึ้น การพัฒนาพันธุ์ การอนุรักษ์และคุ้มครองพันธุ์ การผลิตเมล็ดพันธุ์ ฯลฯ รวมทั้งการตลาดและการส่งเสริมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าว ซึ่งภารกิจของกรมการข้าวข้างต้น เป็นงานเกี่ยวกับด้านพัฒนาการผลิตพืช จึงสมควรรวมกรมการข้าวไว้ในกลุ่มภารกิจดังกล่าว ซึ่งจะทำให้การส่งเสริม การพัฒนาการผลิตด้านการเกษตรในภาพรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้เสนอขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดังกล่าว

         ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจ พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีกลุ่มภารกิจ ดังนี้

         1. กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการผลิต ประกอบด้วย กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร

         2. กลุ่มภารกิจด้านบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิต ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

         3. กลุ่มภารกิจด้านส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรและระบบสหกรณ์ ประกอบด้วย กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ 

สังคม

เรื่อง
การพัฒนามติคณะรัฐมนตรีเรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบภายในภาคราชการ ล

         คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับ เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบภายในภาคราชการ จำนวน 3 มติ คือ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2542 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2542 และให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบภายในภาคราชการ โดยใช้หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ พ.ศ. 2548 และระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน พ.ศ. 2546 โดยเคร่งครัด

         สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาศึกษาสาระสำคัญและประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบภายในภาคราชการ ตามมติคณะรัฐมนตรีจำนวน 14 มติแล้วเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มีหลายมติและบางมติอาจสร้างความสับสนให้แก่ส่วนราชการ ข้อความในมติบางฉบับมีความซ้ำซ้อน และบางมติมีข้อความคลุมเครือต่อการปฏิบัติ รวมทั้งข้อความบางส่วนของมติคณะรัฐมนตรียังมีผลไม่เป็นแนวทางที่ควรปฏิบัติอย่างเป็นปัจจุบัน จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้ให้สมบูรณ์และชัดเจน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวในการถือปฏิบัติต่อไป

         ในการนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงได้สรุปมติคณะรัฐมนตรีเฉพาะในส่วนที่จะดำเนินการปรับปรุง จำนวน 6 มติ พร้อมทั้งได้ยกร่างประเด็นสาระสำคัญของมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบภายในภาคราชการ ขึ้นใหม่ โดยได้แจ้งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เสนอความเห็น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้ และเมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของส่วนราชการต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ได้นำมาพิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง โดยเห็นสมควรดำเนินการยกเลิกเฉพาะมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 3 มติ คือ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2542 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2542 จึงเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบดังกล่าว 

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ
(ฉบับที่..) พ.ศ. ....

         คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

         กระทรวงการคลังเสนอว่าพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการชั่วคราวและราชการประจำ ในราชอาณาจักร ซึ่งสมควรปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่ เช่น การเบิกจ่ายเงินเกี่ยวกับศพซึ่งถึงแก่ความตายในระหว่างเดินทางไปราชการ การเบิกเบี้ยเลี้ยงในลักษณะเหมาจ่าย การเบิกค่าเช่าที่พัก การเบิกค่าโดยสารเครื่องบิน การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการกรณีไปประจำสำนักงานต่างสังกัด เพื่อให้ผู้มีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการมีสิทธิเบิกจ่ายได้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง

         ร่างพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

         1. กำหนดให้ในกรณีผู้เดินทางไปราชการถึงแก่ความตายระหว่างไปราชการ บุคคลในครอบครัวหรือผู้จัดการศพอาจร้องขอให้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับศพได้ ตามจำนวนเงินและเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 12 ตรี)

         2. กำหนดให้การเบิกเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ให้เบิกได้ในลักษณะเหมาจ่ายตามจำนวนเงินและเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด (ร่างมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 15)

         3. กำหนดให้ผู้เดินทางไปราชการสามารถเลือกเบิกค่าเช่าที่พักในลักษณะเหมาจ่าย หรือเบิกในลักษณะจ่ายจริงตามอัตราและเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด (ร่างมาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 17)

         4. กำหนดหลักเกณฑ์การเบิกค่าโดยสารเครื่องบินในการเดินทางไปราชการชั่วคราวในราชอาณาจักร โดยกำหนดชั้นที่นั่งเครื่องบินให้แก่ผู้เดินทางในแต่ละระดับ (ร่างมาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 27)

         5. กำหนดให้ในกรณีไปประจำสำนักงานต่างสังกัด ให้เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการจากสังกัดใหม่ที่ไปประจำ (ร่างมาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 41) 

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551

         คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ และให้นำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

         ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 มีสาระสำคัญดังนี้

         1. กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 จำนวน 1,660,000
ล้านบาท เป็นประมาณการรายได้จำนวน 1,495,000 ล้านบาท และเป็นนโยบายขาดดุล จำนวน 165,000 ล้านบาท

         2. โครงสร้างงบประมาณประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 1,209,546.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 72.8 รายจ่ายลงทุน 404,677.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.4 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 45,775.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.8

         3. งบประมาณจำแนกตามกระทรวงและจำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ

         4. สัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลร้อยละ 25.2 หรือจำนวน 376,740 ล้านบาท โดยจัดสรรเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 147,840 ล้านบาท 

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติการกำหนดกิจการ หลักเกณฑ์
และขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ....

         คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการกำหนดกิจการ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

         ร่างพระราชบัญญัติการกำหนดกิจการ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

         1. กำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542

         2. กำหนดให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีมูลค่าสินทรัพย์เกินกว่าสองพันล้านบาทให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการที่มิให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือ กิจการซึ่งโดยสภาพของกิจการหรือการลงทุนทำให้ไม่มีการแข่งขันในตลาด และกิจการเกี่ยวกับการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีผลเสียต่อสุขภาพอนามัย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งนี้ จะดำเนินการแปรรูปทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ และจะแปรรูปเป็นบริษัทเดียวหรือหลายบริษัทก็ได้

         3. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องไม่มีผลเป็นการโอนอำนาจในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ หรืออำนาจในการอนุมัติ อนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน รับแจ้ง รับรอง หรืออำนาจมหาชนอื่นใด รวมทั้งสิทธิพิเศษที่รัฐวิสาหกิจนั้นมีอยู่ในกิจการที่แปรรูป ไปให้แก่บริษัทที่จัดตั้งขึ้นจากการแปลงสภาพโดยสิทธิพิเศษ หมายความรวมถึงการได้รับยกเว้นมิให้ต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า หรือกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร

         4. ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจจัดตั้งบริษัทหรือนิติบุคคลอื่นใดเพื่อประกอบกิจการใด ๆ การจัดตั้งบริษัทหรือนิติบุคคลนั้น ต้องไม่เป็นการประกอบกิจการซึ่งโดยสภาพของกิจการหรือการลงทุน ทำให้ไม่มีการแข่งขันในตลาด หรือกิจการเกี่ยวกับการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีผลเสียต่อสุขภาพอนามัย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องไม่มีการโอนอำนาจมหาชนหรือสิทธิพิเศษอื่นใดไปยังบริษัทลูกที่จะจัดตั้ง และการกระจายหุ้นของบริษัทที่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจดังกล่าวต้องดำเนินการตามกฎหมายนี้

         5. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วยกระบวนการแปลงสภาพและกระบวนการกระจายหุ้น ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท และคณะกรรมการกระจายหุ้น

         6. กำหนดลักษณะของกิจการของรัฐวิสาหกิจที่แปลงสภาพ ที่ต้องจัดให้มีองค์กรกำกับดูแล คือ กิจการที่มีอำนาจมหาชน กิจการที่ประกอบกิจการ ซึ่งโดยสภาพของกิจการหรือการลงทุนทำให้มีผู้ประกอบการน้อยรายหรือมีการแข่งขันน้อยราย หรือกิจการที่มีส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยการจัดตั้งองค์กรกำกับต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ

         7. กำหนดให้บรรดากิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด และสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ โอนไปยังบริษัทที่จะตั้งขึ้น บริษัทดังกล่าวยังคงมีสิทธิในการใช้ที่ราชพัสดุหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และให้กระทรวงการคลังยังคงค้ำประกันหนี้ต่อไปโดยเสียค่าธรรมเนียม กำหนดความคุ้มครองแก่พนักงานในเรื่องเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมทั้งกำหนดให้สัญญาต่าง ๆ ที่ได้กระทำไว้ยังคงมีผลบังคับต่อไป

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

         คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

         กระทรวงการคลังเสนอว่า

         1. พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 มีบทบัญญัติในเรื่อง การแต่งตั้งให้เป็นกรรมการหรืออนุกรรมการโดยตำแหน่ง ที่สมควรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการหรืออนุกรรมการโดยตำแหน่งส่วนใหญ่ เป็นผู้บริหารระดับสูงหรือเป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งในทางปฏิบัติจะมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น ๆ โดยตรงเข้าร่วมประชุมแทน จึงควรกำหนดให้นับผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมประชุมแทนเป็นองค์ประชุม และมีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม ซึ่งจะมีผลต่อมติที่ประชุมของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ แล้วแต่กรณีด้วย

         2. กรมบัญชีกลางมีแผนการดำเนินงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 จึงจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อประกาศใช้ให้ทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550

         จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้กรรมการหรืออนุกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยตำแหน่ง ซึ่งไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ อาจมอบหมายให้ผู้อื่นเข้าร่วมประชุมแทน โดยให้ถือว่าผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมประชุมแทนกรรมการหรืออนุกรรมการนั้น ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการหรืออนุกรรมการผู้มอบหมาย สามารถนับเป็นองค์ประชุม และมีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมในอัตราเดียวกับกรรมการหรืออนุกรรมการ (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9/1)

************************

หมายเหตุ  ผลสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติและขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โทร 0 2280 9000 ต่อ 436 หรือ http://www.cabinet.thaigov.go.th/


ข้อมูลจาก http://www.thaigov.go.th/

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 22 มิถุนายน 2550 11:46:35 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 22 มิถุนายน 2550 11:46:35
หนังสือเวียน
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th