สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 12 มิ.ย. 50
ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 12 มิถุนายน 2550 ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้
กฎหมาย
เรื่อง
ขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเกี่ยวกับ
แนวทางปฏิบัติในการออกเสียงประชามติ
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการออกเสียงประชามติ ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ เพื่อให้กระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเทียบเท่ากรม ตลอดจนรัฐวิสาหกิจในสังกัดต่าง ๆ และองค์การของรัฐ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง
แนวทางปฏิบัติในการออกเสียงประชามติ มีดังนี้
1. สั่งข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ และลูกจ้าง รวมทั้งขอความร่วมมือกลุ่มอาสาสมัครหรือกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ และสนับสนุนในการดำเนินการออกเสียงประชามติ รวมทั้งการจัดบุคลากรทำหน้าที่เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติเพื่อให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใส และดำเนินการอื่นใดที่จำเป็น เมื่อเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งร้องขอ โดยให้ถือเป็นงานในหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างนั้น ๆ ด้วย
2. ให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างในสังกัดทุกประเภท และทุกระดับทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น วางตัวเป็นกลางในการออกเสียงประชามติอย่างเคร่งครัดไม่ปฏิบัติการใด ๆ ในลักษณะเป็นการชี้นำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปลงคะแนนออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
3. ให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างในสังกัดทุกประเภท และทุกระดับทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติให้เป็นตัวอย่างแก่ประชาชนทั่วไป และให้คำแนะนำ ชักชวนบุคคลผู้มีสิทธิในครอบครัว ญาติ และมิตรสหาย ไปใช้สิทธิออกเสียงโดยพร้อมเพรียงกัน รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงในสังกัดในการไปใช้สิทธิออกเสียงด้วย
4. ให้การสนับสนุนสถานที่เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการจัดการออกเสียงประชามติ
5. ให้กระทรวงแรงงานออกประกาศเพื่อขอความร่วมมือภาคเอกชนอนุญาตให้ผู้ใช้แรงงาน และลูกจ้างที่มีสิทธิออกเสียงประชามติได้ไปใช้สิทธิออกเสียงได้อย่างทั่วถึง โดยไม่ถือเป็นวันลาหรือวันหยุด
6. ให้หน่วยงานด้านสื่อต่าง ๆ ของรัฐ ทั้งสื่อวิทยุ และโทรทัศน์ เผยแพร่ข่าวสารการออกเสียงประชามติอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงให้มากที่สุด
7. หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ควรจัดให้มีการฝึกอบรม หรือประชุมสัมมนาในช่วงระยะเวลาประมาณ 30 วันก่อนวันออกเสียงประชามติ เพราะจะกระทบต่ออัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องปฏิบัติงานการออกเสียงประชามติ รวมทั้งการไปใช้สิทธิออกเสียงของบุคลากรในสังกัด
กฎหมาย
เรื่อง
การจัดระบบงานเสนอร่างกฎหมายของรัฐบาล
คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติของรัฐบาล (ปนร.) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอ โดยให้แจ้งส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับเฉพาะในสมัยรัฐบาลชุดนี้เท่านั้น
1. รับทราบจำนวนและสถานภาพร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาในภาพรวมทั้งหมด ดังนี้
(1) ร่างพระราชบัญญัติในชั้นการดำเนินการของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
(2) ร่างพระราชบัญญัติในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว
(3) ร่างพระราชบัญญัติในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ปนช.)
(4) ร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีต้องเสนอคู่กับ ร่างพระราชบัญญัติที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ และร่างพระราชบัญญัติที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติขอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ
2. เห็นชอบให้กระทรวงหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการ ดังนี้
2.1 แจ้งรายชื่อร่างพระราชบัญญัติที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล สมควรผลักดันให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายใน 1 สัปดาห์ นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ
2.2 กรณีกระทรวงหรือหน่วยงานของรัฐใดประสงค์จะเสนอร่างพระราชบัญญัติใหม่ และมีร่างพระราชบัญญัติอยู่แล้ว ให้ส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมิถุนายน 2550 แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันในช่วงเวลาดังกล่าว และยังเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ก็ให้เสนอร่างกฎหมายนั้น เป็นแต่ละกรณีตามความจำเป็นเร่งด่วนต่อไป ทั้งนี้ เพื่อคณะรัฐมนตรีจะได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการนำเสนอร่างกฎหมาย เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
3. เห็นชอบให้มีการจัดระบบงานเสนอร่างกฎหมายของรัฐบาล ในชั้นการดำเนินการของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเร่งรัดการดำเนินการในส่วนของฝ่ายบริหารให้รวดเร็วและรอบคอบขึ้น โดยในการเสนอร่างกฎหมายของกระทรวงหรือหน่วยงานของรัฐ ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีวิเคราะห์และแบ่งความสำคัญของกฎหมายเป็น 3 ประเภท ดังนี้
(1) กรณีกฎหมายไม่สลับซับซ้อนไม่มีผลกระทบกับระบบ อำนาจหน้าที่ อัตรากำลังคน เงินงบประมาณ และผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับกระทรวงมาแล้วหรือผ่านการพิจารณาจากองค์กรต่าง ๆ อาทิ คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องแล้ว ให้นำเสนอนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีแล้วแต่กรณีเพื่ออนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์
(2) กรณีร่างกฎหมายมีความสลับซับซ้อนปานกลาง อาจมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นบ้าง แต่ไม่มาก ให้ขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดทำบันทึก เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ หรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์
(3) กรณีร่างกฎหมายมีความสลับซับซ้อนมาก มีผลกระทบมาก ให้ขอความเห็นจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ภายใน 1 สัปดาห์ หากยังไม่ได้รับความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้เสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ หรือคณะรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี โดยแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ หรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์
สำหรับการจัดระบบงานการพิจารณาร่างกฎหมายของรัฐบาลในชั้นการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นั้น จักได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
กฎหมาย
เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) เป็นประธาน ที่มีมติ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับกรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 และความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
2. ให้กระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) รับประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
กระทรวงมหาดไทยเสนอว่า กรุงเทพมหานครได้จัดทำโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในกำกับกรุงเทพมหานคร โดยยกวิทยฐานะของวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล เป็นคณะแพทยศาสตร์ และวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ เป็นคณะพยาบาลศาสตร์ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ แต่อยู่ในกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร โดยจัดให้มีการเรียนการสอนในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการเมือง เพื่อตอบสนองต่อปัญหาและความจำเป็นของกรุงเทพมหานคร โดยเสนอเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ดังนั้น จึงสมควรจัดตั้งมหาวิทยาลัยในกำกับกรุงเทพมหานคร ขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เพื่อให้มีการศึกษา ส่งเสริมวิชาการ การวิจัย และวิชาชีพชั้นสูง พัฒนาองค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเน้นทางด้านเวชศาสตร์เขตเมือง เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร พัฒนาองค์ความรู้ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นและพัฒนามหานคร รวมทั้งให้โอกาทางการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนเขตเมือง จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับกรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้
1. กำหนดให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยในกำกับกรุงเทพมหานครเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการแต่อยู่ในกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร (ร่างมาตรา 4)
2. กำหนดวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง จัดแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัย โดยกำหนดให้กิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้กฎหมายบางฉบับ กำหนดอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ตลอดจนรายละเอียดเกี่ยวกับรายได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย (ร่างมาตรา 6 ร่างมาตรา 14)
3. กำหนดองค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัย สภาวิชาการ และคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย ตลอดจนอำนาจหน้าที่ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุม ฯลฯ (ร่างมาตรา 15 ร่างมาตรา 20)
4. กำหนดให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด โดยต้องมีคุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง ของอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี ตลอดจนการดำเนินงานของส่วนงานต่าง ๆ การรักษาราชการแทน การมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่แทนของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ฯลฯ (ร่างมาตรา 21 ร่างมาตรา 31)
5. กำหนดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย และการประเมินงานของอธิการบดีและ ส่วนงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 32 ร่างมาตรา 34)
6. กำหนดเกี่ยวกับการงบประมาณ การบัญชี และการตรวจสอบบัญชี (ร่างมาตรา 35 ร่างมาตรา 41)
7. กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจและหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย และเรื่องที่มหาวิทยาลัยจะต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ร่างมาตรา 42 ร่างมาตรา 43)
8. กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการ การแต่งตั้ง การถอดถอน และการใช้คำนำหน้านามและการใช้อักษรย่อคำนำหน้านาม (ร่างมาตรา 44 ร่างมาตรา 48)
9. กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับใบปริญญา เครื่องหมายวิทยฐานะและบทกำหนดโทษ (ร่างมาตรา 49 ร่างมาตรา 56)
10. กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับบทเฉพาะกาลของร่างพระราชบัญญัติ (ร่างมาตรา 57 ร่างมาตรา 70)
************************
หมายเหตุ ผลสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติและขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โทร 0 2280 9000 ต่อ 436 หรือhttp://www.cabinet.thaigov.go.th/
ข้อมูลจาก http://www.thaigov.go.th/