เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2550 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยสำนักงานเลขาธิการ ได้จัดการบรรยายในหัวข้อ แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการ ขึ้น ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 โดยมีวิทยากรรรับเชิญคือ พ.ต.ท.วรัท วิเชียรสรรค์ ผู้อำนวยการส่วนดำเนินการเรื่องร้องเรียนและตอบข้อหารือ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
พ.ต.ท.วรัท วิเชียรสรรค์ ได้มาบรรยายให้ความรู้กับข้าราชการสำนักงาน ก.พ.ร. เกี่ยวกับ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งนอกจากการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการแล้ว การอบรมในครั้งนี้ ยังเป็นการดำเนินการตามตัวชี้วัดเรื่อง ระดับความสำเร็จในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ของสำนักงาน ก.พ.ร. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 อีกด้วย
พ.ต.ท.วรัท ได้แนะนำสาระสำคัญของ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 โดยกล่าวถึงเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้ว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐอย่างกว้างขวาง เพื่อให้สามารถแสดงความคิดเห็น และใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ส่งเสริมให้รัฐบาลเป็นไปโดยประชาชนมากยิ่งขึ้น และเพื่อคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารของราชการ
พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2540 และมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2540 หรือ 90 วันหลังการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ประเทศสวีเดนเป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายลักษณะนี้ (กฎหมาย Freedom of the Press ซึ่งเป็นการกำหนดขั้นตอนปฏิบัติในการใช้สิทธิในการรับรู้ และเป็นที่มาของการออกกฎหมายลักษณะคล้ายๆ กันนี้ของประเทศอื่นๆ ในระบอบประชาธิปไตย) ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายนี้ โดยเป็นการรวมกฎหมายในต่างประเทศ 2 ฉบับ มาปรับปรุงและประยุกต์ให้เข้ากับสังคมไทย นั่นคือ กฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลสาธารณะ ซึ่งประชาชนมีสิทธิรู้ และ กฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ซึ่งหน่วยงานที่ครอบครอง ควบคุมดูแลข้อมูลเหล่านั้นต้องคุ้มครอง/ไม่เปิดเผย
กล่าวโดยสรุปคือ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ที่ถือว่าเป็นข้อมูลสาธารณะซึ่งประชาชนมีสิทธิรู้ ขณะเดียวกันก็เป็นการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครอง/ควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ
ทั้งนี้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการมีความสำคัญในการที่จะทำให้ประชาชนได้ข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์ในการตัดสินใจ ได้รับทราบการทำงานของรัฐ รวมทั้งมีโอกาสในการร่วมกำหนดนโยบายของรัฐ อีกทั้งยังเป็นการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของรัฐด้วย
ประโยชน์ที่ได้รับจากพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้แก่
- การสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน
- การมีส่วนร่วมทางการเมือง
- การพิทักษ์สิทธิประโยชน์
- การพัฒนาระบอบประชาธิปไตย
หลักการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ประกอบด้วย
1. เปิดเผยเป็นหลักทั่วไป ปกปิดเป็นข้อยกเว้น
เป็นหลักการพื้นฐานที่ใช้กับข้อมูลข่าวสารทั่วไป ซึ่งตรงกันข้ามกับการปฏิบัติของราชการในอดีต ที่ถือว่าเอกสารของทางราชการเป็นความลับที่พึงสงวน โดยดำเนินการแบบปกปิดเป็นหลัก ดังนั้น ในช่วงแรก ๆ ของการบังคับใช้กฎหมายนี้จึงมีอุปสรรคต่าง ๆ เพราะขัดกับการปฏิบัติและความเคยชินของข้าราชการ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันราชการต้องปฏิบัติ ตามกฎหมายดังกล่าว โดยเปิดเผยข้อมูลเป็นหลัก ส่วนการปกปิดหรือไม่เปิดเผยขัอมูลนั้น จะต้องเป็นไปตามข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้ไว้เท่านั้น
2. ข้อยกเว้นต้องเป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น
ในมาตรา 14 และมาตรา 15 ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้กล่าวถึงเหตุผล/ข้อยกเว้นของการไม่เปิดเผยข้อมูล ซึ่งหากไม่เป็นไปตามข้อยกเว้นดังกล่าว ก็ต้องใช้หลักการข้อ 1 คือการเปิดเผยข้อมูล
3. การคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
เป็นการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ตามกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล โดยปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น ซึ่งตรงข้ามกับหลักการข้อ 1 ที่ใช้กับข้อมูลข่าวสารทั่วไปของทางราชการ โดยหลักการข้อ 3 นี้ จะใช้กับข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีลักษณะเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย
ในนิยามความหมายต่าง ๆ ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 (มาตรา 4) เป็นการกำหนดขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายไปในตัวด้วย โดยมีนิยามความหมายของคำต่าง ๆ ดังนี้
1. ข้อมูลข่าวสาร
หมายถึง สิ่งที่สื่อความหมายให้รู้เรื่องราว ข้อเท็จจริง ข้อมูล หรือสิ่งใด ๆ ไม่ว่าการสื่อความหมายนั้นจะทำได้โดยสภาพของสิ่งนั้นเอง หรือโดยผ่านวิธีการใด ๆ และไม่ว่าจะได้จัดทำไว้ในรูปของเอกสาร แฟ้ม รายงาน หนังสือ แผนผัง แผนที่ ภาพวาด ภาพถ่าย ฟิล์ม การบันทึกภาพหรือเสียง การบันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือวิธีอื่นใดที่ทำให้สิ่งที่บันทึกไว้ปรากฏได้
2. ข้อมูลข่าวสารของราชการ
หมายถึง ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความรับผิดชอบหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐ หรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเอกชน
3. หน่วยงานของรัฐ
หมายถึง ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ศาลเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี องค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพ หน่วยงานอิสระของรัฐ และหน่วยงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
4. เจ้าหน้าที่ของรัฐ
หมายถึง ผู้ซึ่งปฏิบัติให้แก่หน่วยงานของรัฐ
5. ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
หมายถึง ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของบุคคล เช่น การศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม หรือประวัติการทำงาน บรรดาที่มีชื่อของผู้นั้นหรือมีเลขหมาย รหัส หรือสิ่งบอกลักษณะอื่นที่ทำให้รู้ตัวผู้นั้นได้ เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ แผ่นบันทึกลักษณะเสียงของคนหรือรูปถ่าย และให้หมายความรวมถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้ว เป็นต้น
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ข้อมูลข่าวสารนั้นจะต้องประกอบด้วย 2 สิ่ง จึงจะถือว่าเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ได้แก่ 1) สิ่งเฉพาะตัวของบุคคล เช่น ฐานการเงิน ประวัติการทำงาน ประวัติสุขภาพ ฯลฯ และ 2) สิ่งที่ทำให้รู้ตัวผู้นั้นได้ ได้แก่ ชื่อ นามสกุล เสียง ภาพ รหัสพันธุกรรม (DNA) ฯลฯ
ทั้งนี้ มาตรา 21 ของพระราชบัญญัตินี้ กำหนดไว้ว่า บุคคล หมายถึงบุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่รวมถึงนิติบุคคลที่เป็นบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงให้ความคุ้มครองเฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่บุคคลตามกฎหมายจะไม่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ
เนื่องจากจุดประสงค์สำคัญของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 คือ การให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐ ให้ครอบคลุมกว้างขวางมากที่สุด ดังนั้น พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงได้กำหนดเป็นมาตรการเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อให้ประชาชนได้รู้ โดยวิธีการต่อไปนี้
1. การนำข้อมูลข่าวสารของราชการตามที่กฎหมายกำหนด ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หน่วยงานของรัฐนำข้อมูลข่าวสารที่สำคัญที่ประชาชนคนต้องรู้ ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งเก็บเป็นหลักฐานในการใข้ออ้างอิงเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ ทางกฎหมาย โดยข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดไว้ จะต้องมีข้อมูลข่าวสารอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
1.1 โครงสร้างและการจัดองค์กรในการดำเนินงาน
1.2 สรุปอำนาจหน้าที่ที่สำคัญและวิธีการดำเนินงาน
1.3 สถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสาร หรือคำแนะนำในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ
1.4 กฎ มติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือเวียน ระเบียบ แบบแผน นโยบายหรือการตีความ ทั้งนี้ เฉพาะที่จัดให้มีขึ้นโดยมีสภาพอย่างกฎ เพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อเอกชนที่เกี่ยวข้อง
1.5 ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการกำหนด
2. การนำข้อมูลข่าวสารของราชการตามที่กฎหมายกำหนด ไปรวมและจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้
คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีสถานที่เฉพาะ ที่ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจดูได้โดยสะดวก รวมทั้งต้องมีดัชนีหรือรายการข้อมูลข่าวสาร ที่จะให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายการข้อมูลข่าวสารได้ด้วย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 กล่าวโดยสรุปคือ หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานต้องมี ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งหน่วยงานของรัฐต้องรวบรวมข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยต่อไปนี้ ไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูเมื่อใดก็ได้
2.1 ผลการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยที่มีผลโดยตรงต่อเอกชน รวมทั้งความเห็นแย้งและคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าว
2.2 นโยบายและการตีความ
2.3 แผนงาน โครงการ และงบประมาณรายจ่ายประจำปีของปีที่กำลังดำเนินการ
2.4 คู่มือหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีผลกระทบถึงสิทธิหน้าที่ของเอกชน
2.5 สิ่งพิมพ์ที่ได้มีการอ้างอิงถึงในราชกิจจานุเบกษา
2.6 สัญญาสัมปทาน สัญญาที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ
2.7 มติคณะรัฐมนตรีหรือมติคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกฎหมาย หรือโดยมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้ระบุรายชื่อ รายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการพิจารณาไว้ด้วย
2.8 ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารกำหนด
ทั้งนี้ ข้อมูลข่าวสารดังกล่าว หากมีส่วนต้องห้ามมิให้เปิดเผยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 14 หรือมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ อยู่ด้วยให้ลบหรือตัดตอน หรือทำโดยประการอื่นใดที่ไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น นอกจากนี้ ในการให้บริการข้อมูลนั้น หน่วยงานของรัฐอาจกำหนดหลักเกณฑ์เรียกค่าทำเนียมการขอสำเนาของข้อมูลข่าวสารของราชการได้ แต่จะต้องไม่เกินเกณฑ์กลางที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารกำหนด เว้นแต่จะมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
3. การเปิดเผยหรือจัดหาข้อมูลข่าวสารของราชการ ให้กับประชาชนที่มาขอเป็นการเฉพาะราย
มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 กำหนดไว้ว่า ถ้ามีผู้มาขอข้อมูลข่าวสารอื่นใดของราชการ และคำขอนั้นระบุข้อมูลข่าวสารที่ต้องการในลักษณะที่อาจเข้าใจได้ตามควร ให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชอบจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้แก่ผู้ขอ ในเวลาอันสมควร ดังนั้น การจัดข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนตามวิธีนี้ มีลักษณะเป็นการจัดข้อมูลข่าวสารให้กับผู้ขอเป็นรายกรณี ซึ่งแตกต่างกันตามความต้องการของแต่ละคน
ทั้งนี้ ข้อมูลข่าวสารที่ขอนี้ ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องที่จะขอ ว่าจะขอเรื่องอะไร หากไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่เปิดเผยตามที่พระราชบัญญัติกำหนด ให้ถือเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่ต้องจัดหาให้ นอกจากนี้ ต้องเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่แล้วในสภาพที่พร้อมจะให้ได้ ไม่ใช่ต้องไปจัดทำ วิเคราะห์ รวมรวม สรุป หรือจัดให้มีขึ้นใหม่ หรือหากจะจัดทำขึ้นใหม่ก็ได้ แต่ต้องเป็นไปเพื่อการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางการค้า ซึ่งหน่วยงานสามารถเก็บค่าบริการได้ตามที่เห็นสมควร
4. การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นเอกสารประวัติศาสตร์
มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 กำหนดว่า ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะเก็บรักษา หรือมีอายุครบกำหนดนับแต่วันให้เสร็จสิ้นการจัดให้มีข้อมูลข่าวสารนั้น ให้หน่วยงานของรัฐส่งมอบให้แก่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เพื่อคัดเลือกไว้ให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้า ซึ่งกำหนดเวลาที่ต้องส่งข้อมูลข่าวสารของราชการตามที่กล่าวมาแล้วนั้น มีดังนี้
- ข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา 14 (ข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์) เมื่อครบ 75 ปี
- ข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา 15 (ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่ให้เปิดเผย) เมื่อครบ 20 ปี
ทั้งนี้ กำหนดเวลาดังกล่าวอาจขยายออกไปได้คราวละ 5 ปี ตามกรณีที่กำหนดไว้ในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า โดยหลักการแล้วประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการได้ทั้งหมด ในช่วงเวลาต่าง ๆ เพราะข้อมูลข่าวสารบางเรื่องไม่สามารถเปิดเผยได้ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดก็จะสามารถเปิดเผยได้
โดยสรุปแล้ว ประเภทของข้อมูลข่าวสาร แบ่งได้เป็น
1. ข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยได้ ได้แก่
- ข้อมูลข่าวสารที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 7
- ข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดู ตามมาตรา 9
- ข้อมูลข่าวสารที่มีการร้องขอให้เปิดเผยตามมาตรา 11
2. เอกสารประวัติศาสตร์ ตามมาตรา 26
3. ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล (หมวด 3)
คือ ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของบุคคลและสิ่งที่ทำให้รู้ตัวผู้นั้นได้ โดยมาตรา 23 ได้กำหนดหน้าที่และแนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในความควบคุมดูแล ดังนี้
- ต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเพียงเท่าที่เกี่ยวข้องและจำเป็น เพื่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์เท่านั้น และยกเลิกการจัดให้มีระบบดังกล่าวเมื่อหมดความจำเป็น (มาตรา 23(1))
- ต้องพยายามเก็บข้อมูลข่าวสารจากเจ้าของข้อมูลโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่จะกระทบถึงประโยชน์ได้เสียโดยตรงของบุคคลนั้น (มาตรา 23(2))
- จัดให้มีการพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา และตรวจสอบแก้ไขให้ถูกต้องอยู่เสมอ โ (มาตรา 23(3)) โดยไม่ได้ลงในรายละเอียด แต่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับ ประเภทของบุคคลที่มีการเก็บข้อมูลไว้ ประเภทของระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ วิธีการขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารของเจ้าของข้อมูล วิธีการขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล และแหล่งที่มาของข้อมูล
- ต้องตรวจสอบแก้ไขข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในความรับผิดชอบ ให้ถูกต้องอยู่เสมอ (มาตรา 23(4))
- ต้องจัดระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่ระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้มีการนำไปใช้โดยไม่เหมาะสม หรอืเป็นผลร้ายต่อเจ้าของข้อมูล (มาตรา 23(5))
ทั้งนี้ ในมาตรา 25 ระบุไว้ว่า บุคคลมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตน โดยทำหนังสือคำขอไปยังหน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสาร และหน่วยงานของรัฐต้องให้บุคคลนั้น หรือผู้กระทำการแทนบุคคลนั้น ได้ตรวจดูหรือได้รับสำเนาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น ซึ่งหากเห็นว่าข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลนั้นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ก็มีสิทธิยื่นคำขอเป็นหนังสือให้หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสาร แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนนั้นได้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาคำขอดังกล่าวและแจ้งให้บุคคลนั้นทราบด้วย
4. ข้อมูลข่าวสารที่อาจไม่ต้องเปิดเผยก็ได้ ได้แก่
4.1 ข้อมูลข่าวสารของราชการที่ห้ามมิให้เปิดเผย ตามมาตรา 14 คือ ข้อมูลข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระราชบัญญัติกำหนดว่าจะเปิดเผยมิได้ โดยไม่มีข้อยกเว้นให้ไปพิจารณาในดุลพินิจชั่งน้ำหนักทั้งสิ้น
4.2 ข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผย ตามมาตรา 15คือ ข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจใช้ดุลพินิจเพื่อมีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารก็ได้ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าว ได้แก่
- ข้อมูลข่าวสารที่การเปิดเผยจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ (มาตรา 15(1))
- ข้อมูลข่าวสารที่การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ หรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการฟ้องคดี การป้องกัน การปราบปราม การทดสอบ การตรวจสอบ หรือการรู้แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารหรือไม่ก็ตาม (มาตรา 15(2))
- ความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐ ในการดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการทำความเห็นหรือคำแนะนำภายในดังกล่าว (มาตรา 15(3))
- ข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยแล้วอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรือความปลอดภัยของบุคคลใดบุคคลหนี่ง (มาตรา 15(4))
- ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับรายงานแพทย์ หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร (มาตรา 15(5))
- ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย หรือข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น (มาตรา 15(6))
- ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่มีการกำหนดในพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติม (มาตรา 15(7))
ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการใดอาจมีผลกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของผู้อื่น จะต้องสอบถามคำคัดค้านจากผู้ถูกกระทบเสียก่อน โดยให้ผู้นั้นเสนอคำคัดค้านภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งตอ้งไม่น้อยกว่า 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง ซึ่งผู้ถูกกระทบมีสิทธิคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้ โดยทำเป็นหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้
4.3 ข้อมูลที่เป็นความลับตามมาตรา 16 โดยมาตราดังกล่าวได้ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีออกระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 โดยดูควบคู่ไปกับระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2517 ในส่วนที่ว่าด้วยเอกสารข้อมูลข่าวสารลับซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจน โดยไม่ขัดกับระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544
สำหรับองค์กรที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้แก่
1. คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (หมวด 5)
มีอำนาจหน้าที่ในการสอดส่องดูแล และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 17 กรกฎาคม 2552 09:21:16 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 17 กรกฎาคม 2552 09:21:16