มติคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 29 พฤษภาคม 2550
ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 29 พฤษภาคม 2550 ซึ่งมี นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 5 เรื่อง ดังนี้
กฎหมาย
เรื่อง
ร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินรางวัล
สำหรับผู้บริหารและสำหรับหน่วยงานเพื่อจ่ายให้แก่ข้าราชการ
ลูกจ้างประจำ และพนักงานของรัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ ร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วย การเบิกจ่ายเงินรางวัลสำหรับผู้บริหารและสำหรับหน่วยงาน เพื่อจ่ายให้แก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำและพนักงานของรัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ยกเลิกข้อ 6 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วย การเบิกจ่ายเงินรางวัลสำหรับผู้บริหารและสำหรับหน่วยงาน เพื่อจ่ายให้แก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วย การเบิกจ่ายเงินรางวัลสำหรับผู้บริหารและสำหรับหน่วยงาน เพื่อจ่ายให้แก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานของรัฐ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2549 โดยกำหนดเพิ่มเติมเป็นวรรคสามว่า เงินรางวัล (เงินเพิ่มพิเศษ) ที่คำนวณได้ตามวรรคสอง ให้จ่ายให้ผู้บริหารในอัตราร้อยละ 70 สำหรับอัตราร้อยละ 30 ให้นำไปสมทบเพื่อจัดสรรเป็นเงินรางวัลให้กับข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการและจังหวัดตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.ร. กำหนด นอกจากนั้นยังคงหลักการเดิม
2. เนื่องจาก ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 มีผลใช้บังคับแล้ว จึงทำให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งดังกล่าวทุกตำแหน่ง เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งตามพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการ และผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ซึ่งไม่เป็นข้าราชการ พ.ศ. 2538 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและมีสิทธิได้รับการจัดสรรเงินรางวัล (เงินเพิ่มพิเศษ) ในรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 จึงเห็นสมควรยกเลิกบัญชีตำแหน่ง และการคำนวณเงินส่วนต่างของผู้บริหารที่จะนำไปเป็นฐานในการคำนวณเงินรางวัล (เงินเพิ่มพิเศษ) ของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาท้ายระเบียบ ซึ่งออกตามความในข้อ 6 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วย การเบิกจ่ายเงินรางวัลสำหรับผู้บริหารและสำหรับหน่วยงาน เพื่อจ่ายให้แก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานของรัฐ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 ในส่วนของตำแหน่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏโดยการคำนวณเงินส่วนต่างของผู้บริหาร ที่จะนำไปเป็นฐานในการคำนวณเงินรางวัล (เงินเพิ่มพิเศษ) โดยให้ใช้บัญชีตำแหน่งและการคำนวณเงินส่วนต่างตำแหน่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย
กฎหมาย
เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....และ ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
1. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้
1.1 กำหนดให้มีรองปลัดกระทรวงเพิ่มขึ้นเป็นกรณีพิเศษได้ ในกรณีที่กระทรวงมีภารกิจเพิ่มขึ้น และมีความจำเป็นอย่างยิ่ง (เพิ่มเติมมาตรา 21 วรรคเจ็ด (ร่างมาตรา 3))
1.2 กำหนดให้การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนสามารถมอบอำนาจได้กว้างขวางขึ้น และให้มีการมอบอำนาจต่อได้ (แก้ไขมาตรา 38 ถึงมาตรา 40 (ร่างมาตรา 4 และมาตรา 5))
1.3 กำหนดให้จังหวัดสามารถยื่นคำขอจัดตั้งงบประมาณโดยตรงต่อสำนักงบประมาณได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด (เพิ่มเติมมาตรา 52 วรรคสาม (ร่างมาตรา 6))
1.4 กำหนดให้จังหวัดมีอำนาจหน้าที่ภายในเขตจังหวัด และให้จังหวัดจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นในจังหวัด รวมทั้งให้ในจังหวัดนอกกรุงเทพมหานครมีคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด (เพิ่มเติมมาตรา 52/1 มาตรา 53/1 มาตรา 55/1 และแก้ไขมาตรา 53 (ร่างมาตรา 7 ถึงมาตรา 10))
1.5 แก้ไขอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด และกำหนดให้อำเภอมีอำนาจหน้าที่ภายในเขตอำเภอ และให้มีคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทของประชาชน ในเรื่องที่พิพาททางแพ่งและความผิดที่มีโทษทางอาญา (แก้ไขมาตรา 57 (1) (6) (7) และเพิ่มเติมมาตรา 61/1 ถึงมาตรา 61/3 (ร่างมาตรา 11 ถึงมาตรา 13))
1.6 กำหนดให้ในกรณีจำเป็น คณะรัฐมนตรีจะกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่าสามคนแต่ไม่เกินห้าคนต้องทำงานเต็มเวลา และ ก.พ.ร. จะมอบหมายให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ต้องทำงานเต็มเวลาพิจารณาเรื่องใดแทนก็ได้ (แก้ไขมาตรา 71/1 วรรคสอง มาตรา 71/7 และเพิ่มเติมมาตรา 71/1 วรรคห้า (ร่างมาตรา 14 ถึงมาตรา 16))
1.7 กำหนดให้ สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรีและรับผิดชอบในการปฏิบัติ
ราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี (แก้ไขมาตรา 71/9 (ร่างมาตรา 17))
2. ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี และอยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี (เพิ่มเติมมาตรา 7 (12) (ร่างมาตรา 3))
กฎหมาย
เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) เป็นประธาน ที่อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อ งและประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ไปประกอบการพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แล้วดำเนินการต่อไปได้
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอว่า ได้ปรับปรุง ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... โดยมีเนื้อหาแตกต่างไปจากร่างพระราชบัญญัติที่ส่วนราชการเคยได้ให้ความเห็นไว้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 พิจารณา โดยส่วนราชการดังกล่าวได้เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของ ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....มีสาระสำคัญเกี่ยวกับสิทธิในทรัพยากรน้ำ องค์การบริหารจัดการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำ กองทุนทรัพยากรน้ำการพัฒนา ฟื้นฟู คุ้มครอง และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ การป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำขาดแคลน และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทางน้ำชลประทาน ดังนี้
1. กำหนดให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยเพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ตามความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร่างข้อ 5)
2. กำหนดให้การใช้ทรัพยากรน้ำแบ่งเป็นสามประเภท คือ
2.1 การใช้ทรัพยากรน้ำประเภทที่ 1 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อการ ดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการยังชีพ ฯลฯ
2.2 การใช้ทรัพยากรน้ำประเภทที่ 2 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ฯลฯ
2.3 การใช้ทรัพยากรน้ำประเภทที่ 3 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง (ร่างมาตรา 10)
3. ให้มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 32 คน โดยเพิ่มอธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตามความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพิ่มอธิบดีกรมการปกครอง ตามความเห็นของกระทรวงมหาดไทย เพื่อการประสาน สั่งการกับจังหวัดและอำเภอ โดยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยทั่วไป และมีอำนาจหน้าที่อื่น ได้แก่ เสนอนโยบายและแผนทรัพยากรน้ำแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนแม่บทลุ่มน้ำ แผนงาน หรือโครงการพัฒนา บริหารจัดการ ฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งน้ำ กำหนดสิทธิในทรัพยากรน้ำของแต่ละลุ่มน้ำ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสมเหตุสมผล ควบคุม กำกับ ติดตาม เร่งรัด และตรวจสอบการดำเนินการตามนโยบายและแผนทรัพยากรน้ำ พิจารณาอนุญาตการใช้ทรัพยากรน้ำประเภทที่ 3 รวมทั้งกำหนดลำดับความสำคัญเพื่อการจัดสรรทรัพยากรน้ำ ฯลฯ (ร่างมาตรา 14 ร่างมาตรา 15)
4. กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการคัดเลือก และแต่งตั้งผู้แทนแต่ละส่วนและผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การรักษาการของคณะกรรมการดังกล่าว ระเบียบการประชุม มติที่ประชุม แลินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม (ร่างมาตรา 17 ร่างมาตรา 22)
5. ให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการหรืออนุกรรมการ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีอำนาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลใดมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง มาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ (ร่างมาตรา 23 ร่างมาตรา 24)
6. ให้กรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวมทั้งกรรมการและอนุกรรมการ ได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นตามระเบียบของทางราชการ (ร่างมาตรา 25)
7. การกำหนดลุ่มน้ำให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยให้คำนึงถึงสภาพอุทกวิทยา สภาพภูมิศาสตร์ ระบบนิเวศน์ วัฒนธรรมประเพณี ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ลุ่มน้ำก่อน (ร่างมาตรา 26)
8. คณะกรรมการประจำลุ่มน้ำที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยทั่วไปในลุ่มน้ำ ออกข้อกำหนดลุ่มน้ำ และมีอำนาจอื่นตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 27 ร่างมาตรา 29)
9. การกำหนดลุ่มน้ำย่อยให้กระทำโดยประกาศคณะกรรมการลุ่มน้ำที่ลุ่มน้ำย่อยนั้นตั้งอยู่ โดยให้คำนึงถึงสภาพอุทกวิทยา สภาพภูมิศาสตร์ ระบบนิเวศน์ วัฒนธรรมและประเพณี ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียภายในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยก่อน (ร่างมาตรา 31)
10. ให้มีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นหน่วยงานระดับกองหรือสำนัก สังกัดกรมทรัพยากรน้ำขึ้นในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจหน้าที่ตามกำหนด และให้มีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำและสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำย่อย เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 36 ร่างมาตรา 40)
11. ให้มีองค์กรผู้ใช้น้ำ สหพันธ์ผู้ใช้น้ำ และสมาพันธ์ผู้ใช้น้ำ มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ การดำเนินงาน ระบบบัญชีและการเงิน รวมทั้ง หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการก่อตั้งเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 41 ร่างมาตรา 43)
12. ให้มีการจัดตั้งกองทุนทรัพยากรน้ำขึ้นในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งให้การบริหารจัดการกองทุนเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 46)
13. กำหนดเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินกองทุนและการบริหารจัดการกองทุน ลุ่มน้ำ สำหรับรายละเอียด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับกองทุนลุ่มน้ำ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 47 และร่างมาตร 48)
14. เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองแหล่งต้นน้ำ ลำธาร รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือคณะกรรมการลุ่มน้ำ มีอำนาจออกกฎกระทวง ประกาศ หรือคำสั่งกำหนดพื้นที่ต้นน้ำ ลำธาร เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือประกาศให้โครงการประเภทใดหรือขนาดใดที่อาจส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการลุ่มน้ำ หรือคณะกรรมการลุ่มน้ำย่อยก่อนดำเนินการ (ร่างมาตรา 49 - ร่างมาตรา 50)
15. ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง (ร่างมาตรา 53)
เศรษฐกิจ
เรื่อง
ขออนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง
และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535
และที่แก้ไขเพิ่มเติม
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอทั้ง 2 ข้อ ดังนี้
1. ยกเว้นระเบียบ
1.1 ระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. 2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 6-9 ข้อ 11-12 ข้อ 15 ข้อ 31 และ ข้อ 65
1.2 ระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ. 2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 22 และ ข้อ 58-59
1.3 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 15 ทวิ 73 และ ข้อ 128-144
2. ยกเว้นตามข้อเสนอข้อ 1 สำหรับการดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ TITV โดยมีเงื่อนเวลา ดังนี้
การขออนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. 2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และการขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ. 2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นั้น จะขอยกเว้นเฉพาะในการดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ TITV ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2550 ถึงวันที่ระเบียบกรมประชาสัมพันธ์ว่าด้วยเงินรายได้ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ได้ประกาศใช้บังคับแล้ว ส่วนการขออนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการพัสดุ นั้น จะขอยกเว้นสำหรับการดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ TITV ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2550 ถึงวันที่คดีหมายเลขดำที่ 431, 437/2550 จะถึงที่สุดหรือศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือกิจการของสถานีโทรทัศน์ TITV เปลี่ยนแปลงไป
สังคม
เรื่อง
การจัดตั้งสำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์
ระบบ ยู เอช เอฟ เฉพาะกิจ เป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
ในกรมประชาสัมพันธ์
คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จัดตั้ง สำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ เฉพาะกิจเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ ในกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการในการประชุมครั้งที่ 6/2550 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 ตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ
คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการในการประชุมครั้งที่ 6/2550 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดตั้งสำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ เฉพาะกิจ เป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ ในกรมประชาสัมพันธ์ เป็นการแปลงสภาพภารกิจการดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ให้แก่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ของกรมประชาสัมพันธ์ มาเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่ให้บริการแก่กรมประชาสัมพันธ์เป็นหลัก ซึ่งเป็นการดำเนินการเฉพาะกิจชั่วคราวเพื่อรองรับงานตามนโยบาย และตามนัยคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครอง โดยกรมประชาสัมพันธ์ได้กำหนดขอบเขตภารกิจและเป้าหมายงานบริการที่จะได้จากสำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ เฉพาะกิจ ไว้อย่างชัดเจน อันจะเป็นประโยชน์แก่การให้บริการสาธารณะได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการจัดตั้งที่สอดคล้องกับกรอบแนวทางของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2548 ประกอบกับมีความพร้อมในการจัดตั้ง และไม่เป็นภาระต่อภาครัฐ จึงเห็นชอบให้จัดตั้งสำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ เฉพาะกิจ เป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ ในกรมประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้
1. หน่วยบริการรูปแบบพิเศษนี้ควรยึดหลักการในการเป็นสื่อสาธารณะ และต้องมีรูปแบบในการแสวงหารายได้ที่ไม่เป็นการแข่งขันและแสวงหากำไร โดยมีรายได้หลักมาจากการให้บริการแก่กรมประชาสัมพันธ์
2. เนื่องจากหน่วยบริการรูปแบบพิเศษนี้ จะมีลักษณะจัดตั้งเป็นการชั่วคราว ในการสรรหาบุคคลภายนอกเข้ามาปฏิบัติงาน จึงควรกำหนดเงื่อนไขการจ้างไว้รองรับกรณีที่ต้องมีการยุบเลิกหน่วยงานบริการรูปแบบพิเศษนี้ด้วย
************************
หมายเหตุ ผลสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติและขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ สำนักบริหารการประชุมคณะรัฐมนตรี โทร 0 2280 9000 ต่อ 331 - 333
ข้อมูลจาก http://www.thaigov.go.th/