มติคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2550
ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2550 ซึ่งมี นายพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 4 เรื่อง ดังนี้
กฎหมาย
เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. .
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) เป็นประธาน ที่อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. . ที่ได้แก้ไขปรับปรุงแล้ว ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น ส่วนราชการเห็นชอบในหลักการ ที่จะให้มีการตรากฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ และได้แก้ไขสาระสำคัญ ดังนี้
1. ให้มีสำนักงานส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ อยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้โอนกิจการฯ ของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม ในสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี ไปเป็นของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติตามร่างพระราชบัญญัตินี้
2. แก้ไขร่างมาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามร่างพระราชบัญญัตินี้
3. แก้ไขร่างมาตรา 10 เกี่ยวกับองค์ประกอบคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นรองประธานกรรมการคนที่สาม และให้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินสิบสี่คน
4. ร่างมาตรา 46 ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ
เศรษฐกิจ
เรื่อง
การปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
คณะรัฐมนตรีพิจารณาการปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอแล้ว มีมติดังนี้
1. เห็นชอบการกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,660,000 ล้านบาท โดยเป็นประมาณการรายได้จำนวน 1,495,000 ล้านบาท และดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล จำนวน 165,000 ล้านบาท
2. เห็นชอบการปรับปรุงวงเงินและรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ของกระทรวง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ
3. เห็นชอบให้สำนักงบประมาณนำข้อเสนอตามข้อ 1 และ 2 ไปจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 และเอกสารประกอบ และให้เสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 พร้อมเอกสารประกอบดังกล่าว ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันอังคารที่ 19 มิถุนายน 2550 เพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้จัดส่งร่างเบื้องต้นของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 ด้วยแล้ว
สำนักงบประมาณชี้แจงว่า
1. การปรับปรุงวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 เพิ่มเติม
โดยที่สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะความต้องการในการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งในรูปของการบริโภคอุปโภคของครัวเรือน และการลงทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งหากสภาพการณ์ดังกล่าวล่วงเลยไป ในระยะยาวแล้วจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต อาจก่อให้เกิดปัญหาการว่างงาน และขยายผลเป็นปัญหาสังคมได้ในอนาคต สำนักงบประมาณได้พิจารณาทบทวนความสอดคล้องเหมาะสมของวงเงินงบประมาณรายจ่ายและแนวโน้มเศรษฐกิจ ประกอบกับความจำเป็นในการดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล จึงเสนอการปรับปรุงวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 เพิ่มเติมอีกจำนวน 25,000 ล้านบาท เป็นวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 จำนวน 1,660,000 ล้านบาท และปรับลดประมาณการรายได้ คงเหลือ 1,495,000 ล้านบาท ลดลงจากเดิม จำนวน 20,000 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณขาดดุล จำนวน 165,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้น เพื่อนำไปจัดสรรให้รายการต่าง ๆ ดังนี้
1.1 ค่าใช้จ่ายการปรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ จำนวน 17,000 ล้านบาท เพื่อปรับอัตราเงินเดือน สำหรับข้าราชการพลเรือน ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครู ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการอัยการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ๆ รวมทั้งเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และเงินช่วยเหลือการครองชีพข้าราชการบำนาญ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
1.2 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด จำนวน 5,000 ล้านบาท
1.3 ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 3,000 ล้านบาท
2. การปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
2.1 กระทรวงต่าง ๆ ได้ขอปรับปรุงงบประมาณภายในกรอบวงเงินกระทรวง จำนวน 2,672.4 ล้านบาท สำนักงบประมาณพิจารณาตามแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 แล้ว เห็นสมควรให้มีการปรับปรุงภายในกรอบวงเงินกระทรวง 8 กระทรวง จำนวน 2,272.5 ล้านบาท
2.2 เนื่องจากกระทรวงต่าง ๆ เสนอขอเพิ่มวงเงินงบประมาณนอกกรอบวงเงินของกระทรวง รวมจำนวน 103,220.4 ล้านบาท ซึ่งพิจารณาแล้ว เห็นสมควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ในการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล จำนวน 7,450.1 ล้านบาท โดยเพิ่มเติมให้รายการที่สำคัญ ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ค่าใช้จ่ายรายหัว) การก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม เงินเพิ่มทุนรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของส่วนราชการต่าง ๆ เป็นต้น โดยปรับลดจากงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 7,450.1 ล้านบาท คงเหลือตั้งงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 จำนวน 40,001.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 ของวงเงินงบประมาณ ใกล้เคียงกับสัดส่วนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550
ทั้งนี้ หากกระทรวงต่าง ๆ พิจารณาเห็นว่ามีโครงการสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ก็ขอให้เสนอขอเพิ่มในชั้นการพิจารณาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ตามความจำเป็นตามขั้นตอนต่อไป
2.3 การปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ภายในกรอบวงเงินของกระทรวง ตามนัยข้อ 2.1 และ เพิ่มขึ้นนอกกรอบวงเงินของกระทรวงตามนัยข้อ 2.2 จะมีผลทำให้มีวงเงินผูกพันงบประมาณของกระทรวงต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น จำนวน 87,122.6 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 จำนวน 1,000.2 ล้านบาท และผูกพันวงเงินงบประมาณรายจ่ายในปี 2552 2581 อีกจำนวน 86,122.4 ล้านบาท
3. ผลจากการปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
การปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ตามนัยข้อ 1 และ 2 ในวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 จำนวน 1,660,000 ล้านบาท สรุปผลได้ ดังนี้
3.1 การจัดสรรในเชิงมิติรายจ่าย
|
จำนวน (ล้านบาท) |
สัดส่วน (ร้อยละ) |
วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น |
1,660,000.0 |
|
100.0 |
|
- รายจ่ายประจำขั้นต่ำที่จำเป็น |
639,873.4 |
|
38.5 |
|
- รายจ่ายชำระหนี้ |
173,629.5 |
|
10.5 |
|
- เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น |
40,001.9 |
|
2.4 |
|
- เงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น |
147,840.0 |
|
8.9 |
|
- รายจ่ายตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณปี 2551 (เมื่อหักรายจ่าย 4 รายการดังกล่าวข้างต้น) |
658,655.2 |
|
39.7 |
|
3.2 โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ประกอบด้วย
- รายจ่ายประจำ จำนวน 1,214,056.1 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 73.1 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย เปรียบเทียบกับร้อยละ 72.5 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550
- รายจ่ายลงทุน จำนวน 400,168 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 24.1 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย เปรียบเทียบกับร้อยละ 24.0 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550
- รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 45,775.9 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 2.8 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่าย เปรียบเทียบกับร้อยละ 3.5 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550
3.3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ
ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ |
งบประมาณ |
จำนวน |
ร้อยละ |
รวมทั้งสิ้น |
1,660,000.0 |
100.0 |
1. ยุทธศาสตร์การส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี มีคุณธรรมนำความรู้ และสามารถปรับตัวสู่สังคมฐานความรู้ |
563,261.9 |
33.9 |
2. ยุทธศาสตร์การแก้ไขความยากจน กระจายความเจริญสู่ชนบท และลดช่องว่างของรายได้ |
59,833.1 |
3.6 |
3. ยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน |
182,873.3 |
11.0 |
4. ยุทธศาสตร์การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม |
50,744.3 |
3.1 |
5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเมืองและการบริหารจัดการภาครัฐ ที่มีประสิทธิภาพ และ เป็นธรรม |
409,965.1 |
24.7 |
6. ยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงของชาติและความสงบสุขของสังคม |
219,692.8 |
13.2 |
7. รายการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ |
173,629.5 |
10.5 |
3.4 สัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล
สำหรับการกำหนดสัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลนั้น เดิมได้กำหนดไว้ร้อยละ 25.20 ของรายได้รัฐบาลสุทธิ หรือคิดเป็นจำนวน 381,780 ล้านบาท เมื่อมีการปรับปรุงประมาณการรายได้สุทธิของรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ลดลงจากเดิม จำนวน 1,515,000 ล้านบาท คงเหลือ จำนวน 1,495,000 ล้านบาท หรือลดลง 20,000 ล้านบาท นั้น พิจารณาแล้วยังเห็นสมควรกำหนดสัดส่วนรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลเป็นร้อยละ 25.20 เท่าเดิม หรือคิดเป็นวงเงินจำนวน 376,740 ล้านบาท ยังคงกำหนดจำนวนงบประมาณและเงินอุดหนุนไว้เท่ากับข้อเสนอปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 เดิม (ข้อเสนอวันที่ 22 พฤษภาคม 2550) คือ 147,840 ล้านบาท แล้วคงจำนวนประมาณการรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง จำนวน 35,223.6 ล้านบาท เท่ากับข้อเสนอเดิมเช่นกัน และปรับลดในส่วนของรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บให้และแบ่งให้ลง จำนวน 5,040 ล้านบาท คงเหลือเป็นเงิน จำนวน 193,676.4 ล้านบาท
ทั้งนี้ การจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าว เห็นควรให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาปรับแนวทาง และหลักเกณฑ์การจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจำนวนหนึ่ง เพื่อดำเนินโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องดำเนินการ หรือโครงการที่มีวงเงินงบประมาณสูง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีศักยภาพในด้านรายได้ของท้องถิ่น ที่จะดำเนินการได้เองในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาพื้นที่ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550
เศรษฐกิจ
เรื่อง
เรื่อง การปรับปรุงค่าตอบแทนภาคราชการ (ฉบับที่) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการปรับค่าตอบแทนภาคราชการ และอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
แนวทางการปรับปรุงค่าตอบแทนภาคราชการมีดังนี้
1. ในระยะเร่งด่วน
1.1 ปรับอัตราเงินเดือนเป็นร้อยละเท่ากันทุกตำแหน่งในอัตราร้อยละ 4 สำหรับข้าราชการพลเรือน ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการตุลาการ ศาลยุติธรรม ตุลาการศาลปกครอง ข้าราชการอัยการ ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ข้าราชการการเมือง ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 (12 เดือน)
1.2 ปรับอัตราเงินเดือนขั้นสูงและขั้นต่ำของผู้มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว ซึ่งจะมีผลให้รายได้ขั้นสูงของผู้มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวปรับเพิ่มเป็น 11,000 และรายได้ขั้นต่ำปรับเพิ่มเป็น 7,700 บาท
1.3 ปรับเงินช่วยเหลือการครองชีพข้าราชการบำนาญ ในอัตราร้อยละ 4 เช่นเดียวกัน
1.4 ประมาณการงบประมาณที่ต้องใช้ในการนี้ 17,000 ล้านบาท
การพิจารณาปรับบัญชีอัตราเงินเดือนและเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวตามขั้นตอนนี้ สามารถดำเนินการโดยคณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติอนุมัติ และตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และกำหนดระเบียบเพื่อใช้บังคับต่อไป
2. ในระยะยาว ให้พิจารณาปรับโครงสร้างค่าตอบแทนภาคราชการ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของค่าตอบแทนของข้าราชการประเภทต่าง ๆ โดยกำหนดอัตราเงินเดือนข้าราชการให้แตกต่างกันตามลักษณะงาน และระดับตำแหน่งอย่างเหมาะสมเป็นธรรม รวมทั้งปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการให้ใกล้เคียงกับอัตราเงินเดือนของภาคเอกชนในตลาดแรงงาน โดยมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. ศึกษาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะต่อไป
เศรษฐกิจ
เรื่อง
โครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้มีการดำเนินการตามมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของรัฐ โดยหากหน่วยงานใดพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้ว ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานโดยรวมของส่วนราชการ และมีงบประมาณของส่วนราชการรองรับ ให้พิจารณาดำเนินการได้ โดยให้หน่วยงานจัดทำรายละเอียดข้อเสนอมาตรการเสนอคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป ตามมติ ก.พ. ครั้งที่ 4/2550 วันที่ 26 เมษายน 2550 ตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ
สำหรับกรณีโครงการเกษียณอายุราชการของกระทรวงกลาโหม ให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาดำเนินการตามมติ ก.พ. ครั้งที่ 4/2550 วันที่ 26 เมษายน 2550 ตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ ต่อไป
************************
หมายเหตุ ผลสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติและขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ สำนักบริหารการประชุมคณะรัฐมนตรี โทร 0 2280 9000 ต่อ 331 - 333
ข้อมูลจาก http://www.thaigov.go.th/