Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
หนังสือเวียน / มติ คณะรัฐมนตรี / มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2550 / พฤษภาคม / วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม 2550 II

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม 2550 II

เศรษฐกิจ

เรื่อง
การเร่งรัดการดำเนินการมาตรการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพ
การใช้จ่ายงบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2550

         คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ การเร่งรัดการดำเนินการมาตรการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ เพื่อให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติต่อไป

         ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้กำหนดแนวทางเร่งรัดการดำเนินการสำหรับโครงการ/รายการที่ยังไม่ได้ทำสัญญา/ก่อหนี้ผูกพัน เพื่อให้สามารถทำสัญญา/ก่อหนี้ผูกพันได้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 ดังนี้

         1. ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เร่งรัดการดำเนินการสำหรับโครงการ/รายการ ที่ยังไม่ได้ทำสัญญา/ก่อหนี้ผูกพัน ให้สามารถทำสัญญา/ก่อหนี้ผูกพันได้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 กรณีส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่สามารถทำสัญญา/ก่อหนี้ผูกพันโครงการ/รายการใดได้ทันภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 และเห็นสมควรปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ให้พิจารณานำเงินงบประมาณที่ได้จากการปรับแผนฯ ไปดำเนินโครงการ/รายการ ดังนี้

               1) ดำเนินการตามสัญญา กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและมติคณะรัฐมนตรี เช่น ค่าสาธารณูปโภค ชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน การจ่ายค่างานตามปริมาณที่ทำจริงซึ่งสูงกว่าสัญญา โครงการ/รายการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น

               2) ดำเนินโครงการ/รายการ ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่สามารถดำเนินการได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้

               3) ดำเนินโครงการ/รายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและต้องใช้จ่ายงบประมาณเกินกว่าที่ได้รับการจัดสรร เช่น ราคากลางหรือผลการประกวดราคาสูงกว่างบประมาณที่ได้รับ เป็นต้น

               4) ดำเนินโครงการ/รายการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน เช่น แก้ปัญหาภัยแล้ง แก้ปัญหาน้ำท่วม การจ้างงานในชนบท เป็นต้น

               5) ดำเนินโครงการ/รายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่ดำเนินการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ถือเป็นลำดับความสำคัญสูงสุด

               6) ดำเนินโครงการ/รายการที่ทำให้เพิ่มผลิตภาพผลผลิต (Productivity)

               ทั้งนี้ โครงการ/รายการที่จะดำเนินการดังกล่าวจะต้องอยู่ในเงื่อนไข ดังนี้

               - กรณีที่เป็นรายการเดิมที่ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ซึ่งไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ตามแผนที่กำหนดไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ให้ปรับแผนนำงบประมาณที่ใช้จ่ายไม่ทันไปใช้ได้แต่เฉพาะในรายการอื่น ๆ ที่เป็นรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว และสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าแผน หรือโครงการ/รายการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ และมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องจ่ายเงินตามสัญญาเป็นลำดับแรก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการคลังและไม่เป็นภาระงบประมาณในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป

               - กรณีที่เป็นโครงการ/รายการใหม่ จะต้องมีความพร้อมที่จะดำเนินการและสามารถก่อหนี้ผูกพันได้ ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2550 และต้องไม่เป็นโครงการ/รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ โดยสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2550

         2. สำหรับโครงการ/รายการ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ไม่สามารถทำสัญญา/ก่อหนี้ผูกพันได้ทันภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 หากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจพิจารณาแล้วเห็นว่าจะสามารถทำสัญญา/ ก่อหนี้ผูกพันได้โดยเร็ว และยังไม่ควรปรับแผนฯ ไปดำเนินการโครงการ/รายการอื่น เนื่องจากเป็นโครงการ/รายการที่มี ความจำเป็นเพื่อสนองต่อเป้าหมายการให้บริการของกระทรวง และสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จรวมทั้งเบิกจ่ายงบประมาณได้ทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 เห็นควรให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจขออนุมัติต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อขยายเวลาดำเนินการได้ โดยจะต้องสามารถทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันได้ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2550

               กรณีที่รัฐมนตรีอนุมัติให้ขยายเวลาดำเนินการดังกล่าว ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจติดตามเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จทันตามกำหนดเวลา พร้อมทั้งประสานกับผู้รับจ้างเพื่อเตรียมการให้สามารถดำเนินการและเบิกจ่ายงบประมาณได้โดยเร็ว

         3. กรณีโครงการหรือรายการใด ที่ได้ปรับแผนฯ เพื่อนำงบประมาณไปดำเนินการโครงการ/รายการอื่นแล้ว หากโครงการ/รายการเดิม ยังมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการและมีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ก็ให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเสนอต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ในขั้นการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 และส่งสำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ทั้งนี้ การปรับปรุงรายละเอียดดังกล่าวจะต้องอยู่ในกรอบวงเงินงบประมาณของแต่ละกระทรวง โดยคำนึงถึงเป้าหมายการให้บริการของกระทรวงเป็นสำคัญด้วย

               อนึ่ง เพื่อให้การดำเนินการและการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นควรให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 โดยให้เตรียมการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้สามารถทำสัญญา/ก่อหนี้ผูกพันได้ตั้งแต่เริ่มต้นปีงบประมาณ

         4. ให้สำนักงบประมาณติดตามผล และรายงานการปรับแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ให้คณะรัฐมนตรีทราบ ภายในเดือนสิงหาคม 2550 

สังคม

เรื่อง
รายงานผลการติดตามงานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข
ระดับจังหวัด ในท้องที่จังหวัดพิจิตรและจังหวัดอุทัยธานี ครั้งที่ 1

         คณะรัฐมนตรีรับทราบ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงานผลการติดตามงานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด ในท้องที่จังหวัดพิจิตรและจังหวัดอุทัยธานี ครั้งที่ 1 สรุปสาระสำคัญของผลการดำเนินงาน ดังนี้

         1. สรุปผลการติดตามงาน

             1.1 จังหวัดพิจิตร

                    1.1.1 การประชุมรับฟังข้อมูลและมอบนโยบาย

                              ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร (นายปรีชา เรืองจันทร์) ได้จัดประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชน จำนวนประมาณ 1,000 คน ณ โรงแรมพิจิตรพลาซ่า ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรได้นำเสนอสภาพข้อมูลทั่วไป และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดพิจิตร ซึ่งเน้นในเรื่องการผลิต แปรรูป และส่งเสริมการค้าข้าว รวมทั้งได้ชี้แจงแนวทางขั้นตอนการดำเนินงานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข และเกณฑ์การพิจารณาจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข จำนวน 73 ล้านบาท ดังนี้

                              1) จัดสรรให้หมู่บ้าน/ชุมชน ดังนี้
                                   - จัดสรรให้หมู่บ้าน/ชุมชนในเขตเทศบาลเมือง จำนวน 929 หมู่บ้าน ร้อยละ 90
                                   (1) จัดสรรให้เท่ากันทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ร้อยละ 30
                                   (2) จัดสรรตามจำนวนประชากร ร้อยละ 30
                                   (3) จัดสรรให้ตามผลการประเมินผลการยกระดับคุณภาพแผนหมู่บ้าน/ชุมชน ร้อยละ 20
                                   (4) จัดสรรตามจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท/คน/ปี ร้อยละ 20
                                   - จัดสรรไว้เพื่อสนับสนุนการยกระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ร้อยละ 10

                              2) การนำเสนอโครงการ จังหวัดพิจิตรได้กำหนดให้หมู่บ้าน/ชุมชน ส่งโครงการภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 โดยมีโครงการที่นำเสนอมาแล้ว จำนวน 434 โครงการ จำแนกตามแผนงาน 5 ด้าน ได้ดังนี้ แผนงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 115 โครงการ แผนงานพัฒนาและสร้างโอกาสให้ชุมชน จำนวน 14 โครงการ  แผนงานการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน จำนวน 43 โครงการ แผนงานการสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ จำนวน 62 โครงการ แผนงานการบริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน จำนวน 200 โครงการ

                    1.1.2 การตรวจเยี่ยมโครงการนำร่อง

                              ได้ไปตรวจเยี่ยมโครงการนำร่องชุมชน 2 โครงการ คือ โครงการภูมิปัญญาชาวบ้านของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสามัคคีโพธิ์ประทับช้าง หมู่ที่ 9 บ้านปากกระช่อง ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง และโครงการวิสาหกิจชุมชน หมู่ 5 บ้านสระยายชี ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม ซึ่งมีการนำเสนอการดำเนินงานในลักษณะคณะกรรมการที่มาจากชุมชน ร่วมกันคิดร่วมกันบริหาร และขายผลผลิตเป็นรายได้เข้าสู่ชุมชน

             1.2 จังหวัดอุทัยธานี

                    1.2.1 การประชุมรับฟังข้อมูลและมอบนโยบาย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี (นายอุดม พัวสกุล) ได้ประชุมหัวหน้า
ส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชน จำนวนประมาณ 800 คน ณ โรงแรมไอยราปาร์ค ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีได้บรรยายสภาพข้อมูลทั่วไป และสภาพปัญหาของจังหวัด คือ การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำ รวมทั้งได้ชี้แจงหลักเกณฑ์และการอนุมัติโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข จำนวนเงิน 59 ล้านบาท ดังนี้

                              1) จัดสรรให้อำเภอเป็นหน่วยดำเนินการตามหลักเกณฑ์ คือ
                                   - ร้อยละ 50 จัดสรรเท่ากันทุกอำเภอ
                                   - ร้อยละ 10 จัดสรรตามสัดส่วนหมู่บ้าน/ชุมชน
                                   - ร้อยละ 15 จัดสรรตามจำนวนประชากร
                                   - ร้อยละ 15 จัดสรรตามจำนวนครัวเรือน
                                   - ร้อยละ 10 จัดสรรตามแบบผกผัน (คิดจากรายได้ประชากรต่อหัว)

                              2) การอนุมัติโครงการ พิจารณากระจายใน 5 แผนงาน คือ
                                   - แผนงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 50
                                   - แผนงานพัฒนาและสร้างโอกาสให้ชุมชน ร้อยละ 20
                                   - แผนงานการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน ร้อยละ 10
                                   - แผนงานการสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ ร้อยละ 10
                                   - แผนงานการบริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน ร้อยละ 10

                              ทั้งนี้ ปัจจุบัน จังหวัดอุทัยธานี ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์การจัดทำรายละเอียดโครงการและอนุมัติโครงการ โดยเน้นโครงการที่มาจากแผนชุมชน ที่เริ่มจากชาวบ้านร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันวางแผน และร่วมกันรับผิดชอบ

                    1.2.2 การตรวจเยี่ยมโครงการนำร่อง

                              ได้ไปเยี่ยมชมโครงการตู้เย็นข้างบ้าน บ้านเพชรผาลาด หมู่ 17 ต.ตลุกดู่ อ.ทัพทัน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของชุมชนในการทำเกษตรผสมผสาน ได้แก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เพาะเห็ด ปลูกผัก ในลักษณะพอมีพอกินและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน โดยมีผลการดำเนินงานก้าวหน้าเป็นอย่างดี จนมีผู้มาขอดูงานเป็นจำนวนมาก และได้พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง

         2. การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข

             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้นโยบายแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ณ จังหวัดพิจิตรและอุทัยธานี ดังนี้

             2.1 ความสำคัญของนโยบายอยู่ดีมีสุข   นโยบายนี้เน้นการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองให้ได้ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ประชาชนระดับชุมชนได้พิจารณากันเองว่า สิ่งที่ตนต้องการคืออะไร หรือการวิเคราะห์ปัญหา เริ่มโดยชุมชน ทำโดยชุมชน รัฐโดยจังหวัดเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งจุดสำคัญที่สุดของชุมชน คือ ครอบครัว ทั้งนี้ นโยบายอยู่ดีมีสุขจะสำเร็จได้อยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยขอให้ยึดหลักการ 3 ด้าน คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน การบริหารจัดการที่ดี และต้องมีแผนในการทำงานที่ยั่งยืนและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ขอให้ศึกษาต้นแบบการจัดการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากศูนย์การเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริทั่วประเทศ

             2.2 ลักษณะของแผนงาน 5 ด้าน ดังนี้

                    1) แผนงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการเริ่มจากครอบครัวไปสู่ชุมชน

                    2) แผนงานพัฒนาและสร้างโอกาสให้ชุมชน มี 3 ขั้นตอน คือ
                         - อุปโภคบริโภคให้พอเพียง
                         - จะถนอมผลผลิตและแปรรูปผลผลิตอย่างไร
                         - พัฒนาผลิตภัณฑ์ตามศักยภาพของแต่ละท้องถิ่นเพื่อสู่ตลาดระดับชุมชน

                    3) แผนงานการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของชุมชน ควรมีการปลูกป่าหัวไร่ปลายนา การจัดการขยะและน้ำเสียชุมชน

                    4) แผนงานการสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ จะต้องให้ความสำคัญกับผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่

                    5) แผนงานการบริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข และการฝึกอาชีพ

             2.3 การติดตามผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข  มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรและอุทัยธานี แต่งตั้งคณะกรรมการในระดับต่างๆ เพื่อติดตามแผนงานในแต่ละด้าน และสรุปรายงานผลให้ทราบเป็นระยะ รวมทั้งจะส่งคณะกรรมการส่วนกลางมาสนับสนุนและตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง

             2.4 บทบาทของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนงานตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด

                    2.4.1 จะส่งคณะทำงานไปประเมินสถานภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด
พิจิตร และอุทัยธานี เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วนต่อไป

                    2.4.2 จะส่งคณะกรรมการจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัด

                    2.4.3 ให้หน่วยงานของกระทรวงฯ ที่ตั้งในภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค ศูนย์ทรัพยากรน้ำบาดาลภาค สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ออกไปในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด เพื่อให้คำแนะนำและความช่วยเหลือทางวิชาการ ในการบริหารจัดการและการฟื้นฟูด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามลักษณะภูมิประเทศและภูมิสังคมในแต่ละท้องที่ เพื่อสนับสนุนให้ชุมชน จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริหารจัดการและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยตนเองได้

                    2.4.4 กระทรวงฯ จะดำเนินโครงการที่สนับสนุนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด เช่น โครงการคลองสวย น้ำใส โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภค เป็นต้น 

การศึกษา

เรื่อง
โครงการพัฒนากำลังคนด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
(ทุนเรียนดีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย

         คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) เป็นประธาน ดังนี้

         1. เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนากำลังคนด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (ทุนเรียนดีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยให้รับประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และความเห็นของ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ. ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการต่อไป

         2. ส่วนงบประมาณในการดำเนินงาน เห็นควรให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปอย่างประหยัด และทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามความ
จำเป็นและความเหมาะสมต่อไป

         ทั้งนี้ ให้กระทรวงศึกษาธิการประเมินผลการดำเนินโครงการทุกๆ 5 ปี

         คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้อภิปรายว่า โครงการพัฒนากำลังคนด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นการสร้างฐานกำลังคนที่มีคุณภาพด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในสาขาวิชาที่ขาดแคลน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาในการดำเนินงานที่นานถึง 14 ปี และใช้วงเงินลงทุนสูง จึงสมควรที่กระทรวงศึกษาธิการจะจัดทำแผนการดำเนินงานโครงการให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และเหมาะสมกับความจำเป็นของสาขาวิชาที่จัดสรรทุนต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนบุคลากรที่ขาดแคลนในสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ความพร้อมของสถาบันการศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการ จำนวนการผลิตบัณฑิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การกำหนดเงื่อนไขและข้อผูกพันในการกลับมาชดใช้ทุน การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการกำหนดหน่วยงานรองรับนักศึกษาที่จบจากโครงการฯ การสร้างระบบความก้าวหน้าในวิชาชีพ รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลโครงการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวมีความคุ้มค่าในการลงทุน และบรรลุวัตถุประสงค์ในการผลิตบุคลาก

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 28 พฤษภาคม 2550 14:08:14 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 28 พฤษภาคม 2550 14:08:14
หนังสือเวียน
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th