มติคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 22 พฤษภาคม 2550
ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 22 พฤษภาคม 2550 ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 6 เรื่อง ดังนี้
กฎหมาย
เรื่อง
การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง
การเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว
คณะรัฐมนตรีพิจารณาการปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราวตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ แล้วมีมติดังนี้
1. เห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีรวม 6 มติ เกี่ยวกับเรื่อง การเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว ดังนี้
1.1 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 สิงหาคม 2511 เรื่อง การขออนุมัติเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ
1.2 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 พฤศจิกายน 2522 เรื่อง ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว
1.3 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 สิงหาคม 2548 เรื่อง การเดินทางไปประชุมหรือดูงาน ณ ต่างประเทศ
1.4 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 มกราคม 2539 เรื่อง การเดินทางไปประชุมหรือดูงาน ณ ต่างประเทศ
1.5 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 กรกฎาคม 2539 เรื่อง การเดินทางไปประชุมหรือดูงาน ณ ต่างประเทศ
1.6 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 เรื่อง การเดินทางไปราชการต่างประเทศ
2. เห็นชอบในการปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง แนวทางในการปฏิบัติการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว ตามความเห็นของสำนักงบประมาณเพื่อให้มีความสมบูรณ์ชัดเจน ดังนี้
1) ในการพิจารณาอนุมัติให้ข้าราชการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราวเพื่อประชุม สัมมนา หรือดูงาน ให้กระทรวง กรม พิจารณาอนุมัติเฉพาะกรณีที่จำเป็นและมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับภารกิจงานที่รับผิดชอบโดยตรง และเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานอย่างแท้จริง ตามแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่สำนักงบประมาณให้ความเห็นชอบแล้ว โดยให้กำหนดจำนวนคนและระยะเวลาเดินทางให้เหมาะสมตามความเป็นและเป็นไปอย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด
ในกรณีที่ข้าราชการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว โดยมิได้กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงเรื่องการขอโอนหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพื่อนำไปใช้หรือสมทบในการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว ส่วนราชการจะต้องขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ โดยชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับอย่างชัดเจน ทั้งนี้ จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับแผนการปฏิบัติงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณที่สำนักงบประมาณได้เห็นชอบไว้ก่อนแล้ว และจะต้องให้สำนักงบประมาณพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่จะเดินทางไปราชการต่างประเทศ
2) ให้ข้าราชการที่ได้รับอนุมัติให้ไปปฏิบัติราชการในต่างประเทศชั่วคราวจัดทำรายงานผลการเดินทาง (Progress report) และผลการปฏิบัติงานการประชุม สัมมนา หรือดูงานในแต่ละครั้ง แล้วนำเสนอรายงานต่อหัวหน้าส่วนราชการรับทราบ และพิจารณานำไปใช้ประโยชน์ให้แก่หน่วยงานต่อไปด้วยทุกครั้ง
เศรษฐกิจ
เรื่อง
รายงานผลการดำเนินการของ
คณะกรรมการสำนักงานบริหารการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน
คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการดำเนินการของคณะกรรมการสำนักงานบริหารการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน
2. เห็นชอบกับเงื่อนไขการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจของสำนักงานบริหารการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (สปท.) โดยเห็นชอบกับข้อเสนอแนวทางการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ และองค์ความรู้ในการพัฒนาสินทรัพย์ให้เป็นทุนที่ยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้แนวทางของโครงการพระราชดำริและพระราชเสาวนีย์ และเห็นชอบให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550 เพื่อดำเนินการถ่ายโอนภารกิจตามข้อเสนอดังกล่าว และงบประมาณเงินอุดหนุนของ สปท. ที่ยังมิได้ผูกพันรายการใช้จ่าย วงเงิน 250 ล้านบาท ให้กับมูลนิธิโครงการหลวงเป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินการ และให้ คณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง ซึ่งมีอยู่แล้วทำหน้าที่กำกับการดำเนินงาน
3. เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับ ติดตาม ดูแลภารกิจที่ถ่ายโอนให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ขึ้นชุดหนึ่ง โดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี และมอบให้ สศช. รับไปดำเนินการโดยให้ถ่ายโอนงบประมาณเงินอุดหนุนของ สปท. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการของคณะกรรมการฯ
4. มอบหมายให้คณะกรรมการ สปท. ดำเนินการคัดเลือกบุคลากรของ สปท. ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่ถ่ายโอนจำนวนไม่เกิน 5 คน และที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการชำระบัญชีจำนวนไม่เกิน 3 คน เพื่อจ้างมาช่วยสนับสนุนการดำเนินการกำกับ ติดตาม ดูแลภารกิจที่ถ่ายโอน และช่วยเหลือผู้ชำระบัญชี
5. เห็นชอบหลักเกณฑ์เงื่อนไขการจ่ายค่าช่วยเหลือ (เยียวยา) แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของ สปท.
6. เห็นชอบให้ยุติภารกิจและบอกเลิกสัญญาจ้างบุคลากร สปท. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2550
7. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกายุบเลิกสำนักงานบริหารการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... เพื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการตรวจร่างต่อไป และเห็นชอบในหลักการร่างหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการตรวจสอบทรัพย์สินและชำระบัญชีการโอน หรือการจำหน่ายทรัพย์สินและการจัดการเกี่ยวกับบุคลากรของ สปท. (องค์การมหาชน) เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนให้มีผลบังคับใช้ต่อไป และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
เศรษฐกิจ
เรื่อง
การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้
1. กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 จำนวน 1,635,000 ล้านบาท โดยเป็นนโยบายงบประมาณขาดดุล จำนวน 120,000 ล้านบาท รายได้จำนวน 1,515,000 ล้านบาท
2. รายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ของกระทรวง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ มีดังนี้
2.1 โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ประกอบด้วย
- รายจ่ายประจำ จำนวน 1,188,908.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 72.7 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย เปรียบเทียบกับร้อยละ 72.5 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550
- รายจ่ายลงทุน จำนวน 400,315.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.5 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย เปรียบเทียบกับร้อยละ 24.0 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550
- รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 45,775.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.8 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย เปรียบเทียบกับร้อยละ 3.5 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550
2.2 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ
ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ |
งบประมาณ |
จำนวน |
ร้อยละ |
รวมทั้งสิ้น |
1,635,000.0 |
100.0 |
1. ยุทธศาสตร์การส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี มีคุณธรรมนำความรู้ และสามารถปรับตัวสู่สังคมฐานความรู้ |
561,832.5 |
34.4 |
2. ยุทธศาสตร์การแก้ไขความยากจน กระจายความเจริญสู่ชนบท และลดช่องว่างของรายได้ |
51,624.3 |
3.1 |
3. ยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน |
177,685.8 |
10.9 |
4. ยุทธศาสตร์การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เป็นประโยชน์ ต่อเศรษฐกิจและสังคม |
50,419.8 |
3.1 |
5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเมืองและการบริหารจัดการภาครัฐ ที่มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม |
400,270.5 |
24.5 |
6. ยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงของชาติและความสงบสุขของสังคม |
219,564.6 |
13.4 |
7. รายการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ |
173,629.5 |
10.6 |
2.3 แผนงบประมาณตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 สำนักงบประมาณได้กำหนดแผนงบประมาณตามยุทธศาสตร์ จำนวน 32 แผนงบประมาณ เพื่อเป็นทิศทางโดยรวมในการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล และเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการกำหนดเป้าหมายการให้บริการกระทรวง/หน่วยงาน การจัดทำผลผลิต/โครงการ และการดำเนินภารกิจของกระทรวง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ ที่มุ่งเน้นให้การจัดสรรทรัพยากรบรรลุผลสำเร็จ ตามเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่รัฐบาลต้องการให้เกิดผลดีแก่ประชาชนและประเทศชาติ
2.4 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปของภาษีและอากร เงินอุดหนุน รายได้อื่น และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่นเอง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 เห็นควรให้มีการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 147,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ที่ได้รับจากการจัดสรรเงินอุดหนุนไว้ จำนวน 139,374 ล้านบาท เป็นเงิน 8,466 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับรายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเอง และรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บให้และแบ่งให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกจำนวน 233,940 ล้านบาท จะรวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น จำนวน 381,780 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 25.20 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดไว้ร้อยละ 25.17
3. การปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
3.1 การปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดแต่ละกระทรวง ควรดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ดังนี้
1) ปรับปรุงรายละเอียดภายในกรอบวงเงินของแต่ละกระทรวงหรือวงเงินของหน่วยงานที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
2) งบประมาณที่ได้รับจัดสรรไว้สำหรับรายจ่ายผูกพันตามสัญญา ตามมติคณะรัฐมนตรี ตามกฎหมาย รายจ่ายชำระหนี้ เงินอุดหนุนที่จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากรและค่าสาธารณูปโภค ไม่ควรเปลี่ยนแปลงรายการไปจัดสรรให้รายการอื่น ๆ
3) เพื่อรักษาสัดส่วนรายจ่ายลงทุนของแต่ละกระทรวงให้อยู่ในระดับที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ในภาพรวม จึงไม่ควรเปลี่ยนแปลงรายจ่ายลงทุนไปเพิ่มในรายจ่ายประจำ
4) ควรหลีกเลี่ยงการปรับปรุงงบประมาณที่ก่อให้เกิดรายการใหม่ที่มีการผูกพันงบประมาณปีต่อ ๆ ไป
ทั้งนี้ให้กระทรวง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ส่งผลการพิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงให้สำนักงบประมาณภายในวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2550
3.2 ให้สำนักงบประมาณพิจารณาและปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2551 แล้วให้นำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในนามคณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 4 มิถุนายน 2550
3.3 ให้สำนักงบประมาณนำผลการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณ ไปจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 และเอกสารประกอบ โดยให้ส่งร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน และแจ้งผลการพิจารณาให้สำนักงบประมาณทราบโดยตรง ก่อนนำไปจัดพิมพ์และเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 และเอกสารประกอบ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันอังคารที่ 19 มิถุนายน 2550 เพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้ ให้เลื่อนกำหนดเวลาที่ให้กรุงเทพมหานคร ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐส่งผลการพิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงจากเดิมภายในวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2550 เป็นวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2550 และให้รองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) รับไปหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการปรับปรุงวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 เพิ่มเติมให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและความต้องการในการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน แล้วให้นำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนต่อไป
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 28 พฤษภาคม 2550 15:39:30 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 28 พฤษภาคม 2550 15:39:30