เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 เวลา 21.30 - 22.30 น. รายการ เดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ได้ออกอากาศสดอีกครั้งทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ก.พ.ร. และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งในครั้งนี้ได้นำเสนอในชื่อตอน การมีส่วนร่วมของประชาชน กับการพัฒนาระบบราชการ โดยมี ดร. อรพินท์ สพโชคชัย กรรมการพัฒนาระบบราชการเต็มเวลา และ นายกวี กิตติสถาพร ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นแขกรับเชิญมาร่วมพูดคุยกับ คุณศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ พิธีกรประจำรายการ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ปัจจุบันประเด็นที่มีการพูดอย่างกว้างขวางในขณะนี้คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งกำลังเป็นหัวข้อที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ผ่านมา ได้กำหนดให้ส่วนราชการและข้าราชการมีหน้าที่ที่จะต้องส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องต่าง ๆ ดังนั้น การพัฒนาระบบราชการไทย จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับวิถีการพัฒนาทางการเมืองที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. โดยคณะกรรมการ ก.พ.ร. ได้เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และได้กำหนดเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย นอกจากนี้ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550 ได้กำหนด หลักธรรมาภิบาล ไว้ ซึ่งเป็นที่มาของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ที่ต้องการให้ระบบราชการเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และตอบสนองความต้องการประชาชน
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ก.พ.ร. ได้พยายามผลักดันรูปแบบการ บริหารที่เป็นการบูรณาการเพื่อการพัฒนา โดยการผนึกกำลังของส่วนราชการในแต่ละจังหวัด เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์จังหวัด ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการเสนอความต้องการของตนเอง ในเวลาเดียวกัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดโครงการนำร่อง 12 จังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมานั้น ทำได้ยาก เนื่องจากข้อมูลของจังหวัดและงบประมาณกระจายกันอยู่หลายแห่ง จึงเสนอให้มีการจัดทำแผนจากล่างสู่บน ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าสามารถทำได้ ก่อให้เกิดการริเริ่มของชุมชนในการจัดทำแผนแม่บทชุมชน เพื่อเป็นตัวแบบให้ภาครัฐมีส่วนร่วมกับประชาชน และเมื่อได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐก็จะทำให้โครงการมีความรวดเร็ว สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณให้ดียิ่งขึ้น
จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นหนึ่งใน 12 จังหวัด ที่ได้เริ่มโครงการดังกล่าวในปี 2547 - 2548 เน้นการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน และการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ โดยจังหวัดเป็นตัวเชื่อมระหว่างกระทรวง กรม และท้องถิ่น กับประชาชนในพื้นที่ การสอบถามความต้องการของประชาชนในพื้นที่อยู่บนพื้นฐาน 4 ท ได้แก่ ทรัพยากร ทางออก ทัศนคติ ทักษะ และร่วมแสดงความคิดเห็น เป็นข้อมูลรายบุคคล แต่ละครัวเรือน ซึ่งข้อมูลทางกายภาพชาวบ้านจะเก็บข้อมูลกันเอง เน้นการช่วยตัวเองก่อนแล้วร่วมกันร่างแผนของชุมชน ทำประชาพิจารณ์เสนอต่อจังหวัด เพื่อพิจารณาว่า มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดหรือไม่ แล้วนำไปสู่การปฏิบัติ
จุดเด่นของจังหวัดกาฬสินธุ์คือ ความร่วมมือจากเครือข่ายประชาสังคม เช่น ภาคเอกชนและคณะสงฆ์ ที่ช่วยกันและร่วมมือกัน ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญในเรื่องยุทธศาสตร์จังหวัด และการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสารทางราชการมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เนื่องจากเป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน อันจะนำไปสู่การลดความขัดแย้ง สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการและหวงแหนในแผนการนั้น ซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิมที่หน่วยราชการเป็นผู้ริเริ่มและเป็นเจ้าของโครงการเพียงฝ่ายเดียว
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดตัวชี้วัดผลการทำงานด้านคุณภาพการให้บริการของส่วนราชการ โดยวัดความสำเร็จในการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ และได้แบ่งระดับของการมีส่วนร่วมเป็น 5 ระดับ คือ
1. ร่วมคิดและเสนอความคิดเห็น
2. ร่วมตัดสิน
3. ร่วมดำเนินการ
4. ร่วมรับประโยชน์
5. ร่วมติดตามผลการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ
ทั้งนี้ สำหรับตัวชี้วัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในปี 2550 จะมีระดับความยากขึ้นในการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องภายในและภายนอก ซึ่งในแต่ละหน่วยงานจะมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันไป
บทสรุปของการมีส่วนร่วมในความหมายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ คือ รับรู้ รับทราบ ร่วมคิด ร่วมทำ การให้โอกาสหรือเวทีประชาชน และกระบวนการมีส่วนร่วมจะประสบความสำเร็จได้ จะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ โดยมีองค์ประกอบในเรื่องความไว้วางใจ ถูกสถานการณ์ ถูกเป้าหมาย ถูกเวลา ใช้เทคนิคและวิธีการให้ถูกต้อง
ข้าราชการสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมรับโทรศัพท์จากทางบ้าน
อินทริยา (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ