หลักการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Governance)
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 สำนักงานเลขาธิการได้จัดกิจกรรม Home Office Day ส่งท้ายปลายเดือนเมษายน 2550ขึ้น ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยเป็นการบรรยายในหัวข้อ หลักการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.อรพินท์ สพโชคชัย คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.ประจำ) มาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งบทบาทหน้าที่ของ ก.พ.ร. ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาระบบราชการ
ดร.อรพินท์ได้เกริ่นนำถึง ประชาธิปไตย (Democracy) ว่ามีความหมายที่แตกต่างกันในแต่ละยุคแต่ละสมัย เนื่องจากปรัชญา สิ่งแวดล้อม และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีพัฒนาการจากในอดีต สมัยกรีกโบราณที่เป็นประชาธิปไตยแบบบริสุทธิ์ (Direct Democracy) แต่ไม่นับรวมถึงพวกทาส ต่อมาได้พัฒนามาสู่ระบบประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Representative Democracy) ซึ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ซึ่งมีบุคคลบางกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์มากขึ้น และนี่จึงเป็นจุดกำเนิดของประชาธิปไตยในยุคปัจจุบัน นั่นคือ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือ Participative Democracy ซึ่งเป็นยุคสมัยของประชาธิปไตยที่ทุกคนต้องการเข้ามามีส่วนร่วม และนำไปสู่การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เกิดขึ้นจากการที่ประชาชนเริ่มตั้งคำถามกับนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ที่กำหนดโดยผู้ที่อยู่ในภาคราชการซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชน แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ เมื่อไม่ได้รับคำตอบนานวันเข้าก็นำไปสู่ความขัดแย้ง ปัญหาดังกล่าว จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศมองว่า การบริหารราชการแบบเดิม จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารงานใหม่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น
|
ความจำเป็นในการมีส่วนร่วมของประชาชนสำหรับการบริหารจัดการภาครัฐยุคใหม่
|
การมีส่วนร่วมของประชาชน หมายถึง กระบวนการที่ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีโอกาสได้เข้าร่วมในการรับรู้ เรียนรู้ ทำความเข้าใจ ร่วมแสดงทัศนะ ร่วมเสนอปัญหา/ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง ร่วมคิดแนวทาง ร่วมแก้ไขปัญหา ร่วมในกระบวนการตัดสินใจ และร่วมกระบวนการพัฒนาในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนา
หลักการในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น เริ่มมาจากบทเรียนของความล้มเหลวในการพัฒนาชุมชนชนบท ที่ไม่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและการพัฒนาแบบยั่งยืน ประกอบกับกระแสความคิดของนักวิชาการทั้งในประเทศและในระดับสากล เกี่ยวกับเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้การพัฒนาในยุคหลัง ๆ ได้เน้นประชาชนในชุมชนเป็นเป้าหมายสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนา และมีส่วนร่วมของประชาชน (Peoples Participation) จึงเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาชุมชน โดยตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 เป็นต้นมา ได้มีการกำหนดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ค่อนข้างชัดเจน
ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา ก็คือ กระบวนการที่เชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ และภาคีอื่น ๆ นอกจากภาครัฐ เช่น ธุรกิจเอกชน ประชาชน ชุมชน และองค์กรต่าง ๆ ให้ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจ เพราะการพัฒนาที่ทรงพลังและยั่งยืนในสังคมประชาธิปไตย เกิดจากการพัฒนาที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมแรงร่วมใจในการดำเนินการ และร่วมรับประโยชน์จากการพัฒนา
สำหรับแนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ซึ่งหากขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไป จะทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ โดย 5 ขั้นตอนนั้น ได้แก่
1. การมีส่วนร่วมในการรับรู้ สามารถให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
2. การมีส่วนร่วมในการเลือกและเสนอแนวทางเพื่อตัดสินใจ
3. การมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ
4. การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานติดตามตรวจสอบ
5. การมีส่วนร่วมรับประโยชน์ และเป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะ
ทั้งนี้ ในเรื่องของการบริหารภาครัฐได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จากการบริหารรัฐกิจแบบดั้งเดิมมาสู่การบริหารภาครัฐตามหลักธรรมาภิบาล โดยการบริหารรัฐกิจแบบดั้งเดิมนั้น รูปแบบของการบริหารงานจะเป็นการบริหารภาครัฐเพื่อประชาชน โดยมีแนวคิดการให้บริการสาธารณะคือ ผู้บริหารระดับสูง/ผู้บริหารมืออาชีพเป็นผู้กำหนดแผนงาน นโยบาย จัดสรรทรัพยากร และผลักดันลงไปยังผู้บริหารระดับกลาง และผู้ปฏิบัติงาน โดยรับนโยบายไปดำเนินงานให้บริการกับประชาชนและกลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งเป็นผู้รับผลประโยชน์จากการทำงาน
ปัจจุบัน การบริหารภาครัฐได้ก้าวสู่การบริหารภาครัฐตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ที่มีรูปแบบการบริหารงานเป็น การบริหารภาครัฐเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชน คือการให้บริการสาธารณะที่มีคุณภาพ โดยจัดให้มีการบริการสาธารณะที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสม และใช้ทรัพยากรที่เหมาะสม ซึ่งจะเชื่อมโยงเข้ามาสู่แนวคิดการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โดยนำความต้องการของประชาชนมาเป็นหลักให้ผู้บริหารระดับสูงกำหนดยุทธศาสตร์ จัดสรรทรัพยากร แก้ปัญหา กำกับผลงาน และให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม แล้วผลักดันยุทธศาสตร์สู่ผู้บริหารระดับกลางเพื่อแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ บริหารงานราชการ กำกับดูแลผลงาน รวมทั้งพัฒนาองค์กรและงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติส่วนหน้า เป็น Knowledge Workers ที่ให้บริการสาธารณะที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและกลุ่มเป้าหมาย
|
มิติใหม่ในการมีส่วนร่วมของประชาชน
|
ดร.อรพินท์กล่าวต่อไปว่า ในเวทีสากลนั้น มีสถาบันหนึ่งที่มีชื่อว่า International Association for Public Participation (IAP2) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายประเทศทั่วโลก มาร่วมเป็นกรรมการบริหาร และสมาชิกขององค์กร โดยมีหน้าที่ในการส่งเสริมเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่ง IAP2 ได้ให้ความหมายของ การมีส่วนร่วมของประชาชน ไว้ว่า เป็นกระบวนการที่นำเอาประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน หรือ กระบวนการตัดสินใจร่วมกัน และ ใช้ข้อมูลความเห็นของประชาชนเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจ
IAP2 ได้ศึกษาและพัฒนากรอบความคิดเกี่ยวกับ ระดับของการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือ Public Participation Spectrum ซึ่งประกอบด้วย 5 ระดับขั้น ได้แก่
|
|
การแบ่งปันข้อมูล (Inform) |
ปรึกษาหารือ (Consult) |
การเข้ามาเกี่ยวข้อง (Involve) |
การร่วมมือ (Collaboration) |
เสริมพลังเพิ่มอำนาจ (Empower) |
|
นำเสนอข้อมูล ข่าวสารที่เป็นจริง สมดุล ทันสมัย ซึ่งจะ ช่วยให้สาธารณชน มีความรู้ ความเข้าใจ ปัญหา ทางเลือก และ/หรือแนวทางแก้ไข |
รับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อประกอบ การวิเคราะห์ กำหนดทางเลือก และตัดสินใจ |
ทำงานร่วมกับสาธารณชน ตลอดกระบวนการ เพื่อ ยืนยันว่า เข้าใจความคิด และความต้องการของ ประชาชน และถูกนำมา พิจารณา |
ทำงานเป็นหุ้นส่วน ในทุกแง่มุมของ กระบวนการตัดสินใจ รวมถึงการเลือกวิธีการ แก้ปัญหา |
มอบอำนาจการ ตัดสินใจสุดท้าย ให้สาธารณชน เป็นผู้กำหนด |
|
จะนำเสนอข้อมูลได้ อย่างสม่ำเสมอ |
จะนำเสนอข้อมูล ได้อย่างสม่ำเสมอ รับฟังความเห็น เข้าใจถึงความกังวล เหตุผล ความคิดเห็น และจะแจ้งผลการนำ ข้อมูลไปใช้อย่าง สม่ำเสมอ |
จะทำงานร่วมกัน อย่างต่อเนื่อง เพื่อยืนยันว่าความคิด ข้อเสนอแนะ และ ความต้องการที่ได้ จะเป็นส่วนที่กำหนดการ เลือกแนวทางแก้ไข และจะแจ้งว่า ใช้ในการ ตัดสินใจอย่างไร |
จะให้สาธารณชน เข้ามามีส่วนร่วม ในการเสนอแนะ และคิดค้นวิธีการ จัดทำแนวทางการ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมถึงจะนำ ข้อเสนอแนะมา ประกอบการตัดสินใจ |
จะดำเนินการตามที่ สาธารธชนตัดสินใจ |
|
- เอกสารข้อมูล - Website - Open House |
- การรับฟัง ความเห็น - เสวนากลุ่มสนใจ - สำรวจ - เวทีประชาชน |
- ประชุมเชิงปฏิบัติการ - Deliberative Polling |
- คณะกรรมการ ที่ปรึกษาภาค ประชาชน - กระบวนการ ฉันทามติและ ตัดสินใจแบบ มีส่วนร่วม |
- ลงประชามติ - ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง |
ทั้งนี้ IAP2 กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในส่วนของการบริหารราชการนั้น ไม่จำเป็นต้องไปถึงระดับ 5 คือ เสริมพลังอำนาจ ซึ่งแสดงถึงการมีส่วนร่วมในระดับสูงสุด แต่ในการบริหารงานราชการปกติ การทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในระดับ 1 - 3 ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว สำหรับระดับ 4 และ 5 นั้น สามารถดำเนินการได้ในบางงาน/ภารกิจ
นอกจากนี้ IAP2 ยังได้เสนอแนวคิดว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนถือเป็นการลงทุนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะบานปลายในอนาคต ซึ่งนับว่าเป็น มิติใหม่ในของเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่พูดถึงเรื่องของความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า การลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐโดยรวม การทำงานที่มีประสิทธิผลมากขึ้น และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้น ในส่วนนี้เองทำให้การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมในมิติใหม่จึงเป็นภารกิจโดยตรงของ ก.พ.ร. ที่ปฏิบัติงานตามมาตรา 3/1 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ที่กำหนดว่า การบริหารราชการแผ่นดินต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของภาครัฐ ความมีประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าในเชิงภาคกิจแห่งรัฐ....
อย่างไรก็ตาม การขยายแนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนยังอยู่ในวงจำกัด โดยปัญหาส่วนหนึ่งอยู่ที่ตัวข้าราชการเอง ซึ่งยังไม่ค่อยเข้าใจในแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากหลักการ กฎ ระเบียบของระบบราชการ ได้สร้างวัฒนธรรมหรือกรอบความคิดในการทำงาน รวมถึงกำหนดวิธีการในการทำงานที่ไม่เอื้อต่อการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นที่มาของ หลักการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Governance)
การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Governance) คือ การจัดระบบบริหารราชการ ขั้นตอนวิธีการปฏิบัติงาน และโครงสร้างของการบริหารราชการ ซึ่งเป็นระบบที่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชาชน (Public Participation) เปิดเผย โปร่งใส เท่าเทียมกัน เป็นประชาธิปไตย และเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ในส่วนของ ก.พ.ร. นั้น คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งมี ดร.อรพินท์ สพโชคชัย เป็นประธาน ได้นำ หลักการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Governance) ดังกล่าว มาเป็นแนวคิดในการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ของ ก.พ.ร. ในเรื่องของการมีส่วนร่วมฯ โดยดำเนินการในเรื่องของยุทธศาสตร์ที่สร้างระบบราชการ มากกว่าการทำงานร่วมกับบุคคลภายนอก กล่าวคือการปรับปรุงภายในระบบราชการก่อน โดยขับเคลื่อนทุกส่วนราชการให้มีการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น
ดังนั้นการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Governance) จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของ ก.พ.ร. ในการขับเคลื่อนให้ส่วนราชการต่าง ๆ ทุกระดับ มีการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงพัฒนาระบบราชการสู่กระบวนการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ดังนั้น หลักการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมจึงได้สอดแทรกอยู่ในภารกิจต่าง ๆ ของ ก.พ.ร. ทั้งการจัดโครงสร้างส่วนราชการ การพัฒนาราชการส่วนภูมิภาค การจัดระบบบริการสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะของส่วนราชการต่าง ๆ ที่กระทบกับประชาชนโดยตรง
|
การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม กับภารกิจของ ก.พ.ร.
|
ดร.อรพินท์ได้ให้แนวคิดเรื่อง การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมกับภารกิจของ ก.พ.ร. ในส่วนของการจัดโครงสร้างส่วนราชการว่า ในการวิเคราะห์การจัดโครงสร้างของหน่วยงานต่าง ๆ ต้องตั้งคำถามว่า การจัดโครงสร้างดังกล่าวเอื้อต่อการจัดทำนโยบายต่าง ๆ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือไม่ ซึ่งหลายหน่วยงานไม่มีผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว ทำให้หลายนโยบายเกิดจากเจ้าหน้าที่ระดับนโยบายหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายแผน โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้เกิดปัญหาบานปลายได้
นอกจากนี้ ดร.อรพินท์ย้ำว่า Public Participation หรือ การมีส่วนร่วมของประชาชน นั้น ไม่ใช่ Public Relations หรือ การประชาสัมพันธ์ ซึ่งบางหน่วยงานยังมีความเข้าใจผิด โดยนำงานเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนไปเป็นงานของประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะทำให้ระดับของการมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่เพียงขั้นที่ 1 นั่นคือ การแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร (Inform) เท่านั้น
ดังนั้น ในการจัดโครงสร้างส่วนราชการ จึงจำเป็นต้องเข้าใจหลักการของการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และต้องเข้าใจว่า ในกระบวนการทำงานในเชิงนโยบายสาธารณะนั้น การมีส่วนร่วมของประชาชนถึงเป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องจัดโครงสร้างและกำหนดบทบาทภารกิจให้เหมาะสม โดยพิจารณาจากความจำเป็นของการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม กับภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ซี่งมีความจำเป็นมากน้อยแตกต่างกันไป เช่น บางหน่วยงานอาจจัดตั้งหน่วยงานภายในที่รับผิดชอบในเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรง หรือกำหนดเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้เป็นบทบาทหน้าที่หนึ่งของหน่วยงานภายในบางหน่วยงาน เช่น หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องการจัดทำแผนงาน/นโยบาย ทั้งนี้ เพื่อให้นโยบายสาธารณะที่นำออกมาใช้นั้น เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีส่วนร่วมในการจัดทำนโยบาย ไม่ใช่เพียงมีส่วนร่วมในการรับรู้/รับทราบนโยบายที่ภาครัฐจัดทำขึ้นเท่านั้น
โดยสรุปแล้ว สิ่งที่ ก.พ.ร. ต้องทำในเรื่องของการจัดโครงสร้างส่วนราชการกับการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม คือ
การจัดโครงสร้างส่วนราชการที่มีคุณลักษณะของการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม กล่าวคือ เป็นองค์กรที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ (Accessibility) มีการติดต่อสื่อสารสองทางกับประชาชน (Dialogue) ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และนำข้อคิดเห็นของประชาชนมาประกอบการตัดสินใจขององค์กรพร้อมทั้งอธิบายเหตุผล รวมไปถึงการจัดกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทันท่วงที ถูกต้อง โปร่งใส และจริงใจ
การพัฒนาโครงสร้างโดยคำนึงถึงเงื่อนไขการมีส่วนร่วมของประชาชน
สำหรับ แนวคิดเรื่องการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมกับภารกิจของ ก.พ.ร. ด้านการพัฒนาราชการในส่วนภูมิภาคนั้น ดร.อรพินท์กล่าวว่า สามารถนำแนวคิดการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม มาเป็นใช้ในระบบการบริหารจัดการงบประมาณ รวมไปถึงการจัดทำยุทธศาสตร์ของจังหวัด เพื่อให้งบประมาณที่จังหวัดได้รับถูกนำไปใช้ในการพัฒนาชุมชน และสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้ เพราะมีกระบวนการมีส่วนร่วมที่จะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณมีความโปร่งใส และถูกต้องตามหลักการมากขึ้น เพราะประชาชนสามารถติดตามตรวจสอบได้ โดยการปลุกกระแสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งในขณะนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. โดย กลุ่มพัฒนาระบบสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ กลุ่มงานวิชาการ กำลังจัดทำโครงการที่กำหนดให้จังหวัดทั้ง 75 จังหวัด มีพื้นที่ที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานในภูมิภาค ซึ่งการดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภารกิจการพัฒนาระเบียบราชการส่วนภูมิภาคและความสัมพันธ์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย
ทั้งนี้ สิ่งที่ ก.พ.ร. ต้องทำในการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมกับภารกิจการพัฒนาราชการส่วนภูมิภาค คือ
การจัดโครงสร้างการบริหารส่วนภูมิภาคที่มีคุณลักษณะของการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
การพัฒนากระบวนการบริหารราชการแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมของประชาชน
การพัฒนาระบบการให้บริการสาธารณะในระดับพื้นที่
นอกจากนี้ การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ยังมีความเชื่อมโยงกับภารกิจการติดตามประเมินผลการพัฒนาระบบราชการ ของ ก.พ.ร. ด้วย โดยในคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและจังหวัดนั้น ได้กำหนดให้มีตัวชี้วัดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยกำหนดให้การวางกลไกในการทำงาน รวมทั้งโครงสร้าง และวิธีการทำงาน ที่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการผลักดันให้เกิดเป้าหมายสุดท้ายคือ ส่วนราชการทั้งระบบมีลักษณะของการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โดยเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะหน่วยงานราชการทุกหน่วยงานมีภารกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับประชาชน รวมทั้งคุณภาพชีวิตและผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าจะเกี่ยวข้องในมิติใด และจะต้องผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับขั้นใด ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน
ทั้งนี้ ระบบการติดตามประเมินผลงานจะต้องได้รับการยอมรับและคงอยู่ต่อไปอย่างมั่นคง เพื่อนำไปสู่ระบบการบริหารประเทศในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งระบบดังกล่าวจะอยู่ได้โดยการค้ำของภาคประชาชน ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ระบบการติดตามประเมินผลนี้มีความมั่นคง คือ ทำให้ประชาชนเล็งเห็นว่าระบบดังกล่าวเอื้อประโยชน์ต่อประชาชน โดยการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่า ผลการจากการปฏิบัติตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและจังหวัดนั้น ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับประชาชน ไม่ใช่เพียงการรายงานผลคะแนนที่ส่วนราชการ / จังหวัดได้รับจากระบบการติดตามประเมินผลดังกล่าว
โดยสรุปแล้ว ภารกิจในการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติราชการของ ก.พ.ร. ที่จะต้องทำให้สอดคล้องกับการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ได้แก่
ทำให้เกิดผลสุดท้ายของการจัดทำระบบคำรับรองการปฏิบัติราชการและการประเมินผลการปฏิบัติราชการ คือ ประโยชน์สุขของประชาชน
ระบบการวัดผลการปฏิบัติราชการ ต้องอ้างอิงการสนับสนุนจากภาคประชาชนเป็นสำคัญ โดยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และนำภาคประชาชนเข้าสู่กระบวนการติดตามประเมินผล
สร้างกระแสกดดันจากภาคประชาชนเพื่อให้ระบบการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ และการติดตามประเมินผลคงอยู่อย่างมั่นคง ถาวร โดยทำให้ประชาชนเห็นถึงประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากระบบดังกล่าว
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2552 15:38:09 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2552 15:38:09