Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
หนังสือเวียน / มติ คณะรัฐมนตรี / มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2550 / พฤษภาคม / วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม 2550

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม 2550

มติคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 15 พฤษภาคม 2550

ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.

           การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 15 พฤษภาคม 2550    ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 5 เรื่อง ดังนี้

เศรษฐกิจ

เรื่อง
หลักเกณฑ์และแนวทางการจัดสรรเงินเพิ่มพิเศษ
สำหรับผู้บริหารและการจัดสรรเงินรางวัลของส่วนราชการ
จังหวัดและสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดทำ
คำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549

         คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและรับทราบหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ที่เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ในคราวประชุม ครั้งที่ 5/2550 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 ตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ดังนี้

         1. เห็นชอบการจัดสรรเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหาร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549

              แนวทางการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ยังคงเป็นไปตามหลักการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2547 โดยใช้หลักเกณฑ์การคำนวณตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินรางวัลสำหรับผู้บริหารและสำหรับหน่วยงาน เพื่อแจกจ่ายให้แก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้ใช้สัดส่วนการจ่าย 70 : 30 กล่าวคือ จ่ายให้ผู้บริหารเป็นจำนวน ร้อยละ 70 ของจำนวนเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารที่คำนวณได้จริง ส่วนอีกร้อยละ 30 ของผู้บริหารที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มพิเศษดังกล่าวให้นำไปสมทบกับเงินรางวัลที่จะจัดสรรให้กลุ่มผู้ปฏิบัติโดยส่วนราชการ สถาบันอุดมศึกษา เป็นผู้จัดสรรสำหรับผู้ปฏิบัติงานของส่วนราชการ สถาบันอุดมศึกษา ในหน่วยงานที่เป็นราชการบริหารส่วนกลางและหน่วยงานที่เป็นราชการบริหารส่วนกลางที่ไปปฏิบัติงานในภูมิภาค และให้จังหวัดเป็นผู้จัดสรรสำหรับผู้ปฏิบัติในหน่วยงานที่เป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคทั้งหมดในจังหวัด ทั้งนี้ ให้จัดสรรตามหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดสรรที่ส่วนราชการ สถาบันอุดมศึกษา จังหวัด กำหนดตามลำดับโดยไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์และแนวทางที่ ก.พ.ร.กำหนด

              สำหรับการดำเนินการดังกล่าว ได้รับจัดสรรงบประมาณ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 เป็นเงินงบกลางค่าใช้จ่ายการปรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ จำนวน 6,835 ล้านบาท สำหรับจ่ายเป็นเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหาร จำนวน 1,285 ล้านบาท และสำหรับจ่ายเป็นเงินรางวัลให้แก่หน่วยงานเพื่อให้หน่วยงานจัดสรรให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 5,550 ล้านบาท จึงเป็นการดำเนินการภายในวงเงินงบกลางฯ ที่ได้รับจัดสรรดังกล่าวโดยไม่ขอเพิ่มงบประมาณ

              ทั้งนี้ การเบิกจ่ายเงิน ให้กระทรวงการคลังดำเนินการแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินรางวัลสำหรับผู้บริหารและสำหรับหน่วยงาน เพื่อแจกจ่ายให้แก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานของรัฐ ให้สามารถดำเนินการเบิกจ่ายให้ผู้บริหารร้อยละ 70 และเบิกจ่ายให้ผู้ปฏิบัติร้อยละ 30 ได้

         2. รับทราบแนวทางการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 เพื่อให้ส่วนราชการสถาบันอุดมศึกษาและจังหวัดใช้เป็นแนวปฏิบัติ ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. จะดำเนินการแจ้งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทราบ ต่อไป 

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอ (รวม 81 อำเภอ)

         คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอบางเสาธง อำเภอสามร้อยยอด อำเภอนาตาล อำเภอเอราวัณ อำเภอกุดรัง อำเภอพระทองคำ อำเภอวังสมบูรณ์ อำเภอภูเพียง อำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอรัตนวาปี อำเภอเฝ้าไร่ อำเภอศรีรณรงค์ อำเภอพนมดงรัก อำเภอโนนนารายณ์ อำเภอเขาคิชฌกูฎ อำเภอเกาะช้าง อำเภอเกาะกูด อำเภอภูซาง อำเภอโคกสูง อำเภอนิคมพัฒนา อำเภอซำสูง อำเภอบ้านแฮด อำเภอลำทะเมนชัย อำเภอเวียงเชียงรุ้ง อำเภอวังเจ้า อำเภอสีดา อำเภอหนองหิน อำเภอเวียงหนองล่อง อำเภอดงเจริญ อำเภอภูกามยาว อำเภอสากเหล็ก อำเภอนาคู อำเภอแคนดง อำเภอโคกโพธิ์ไชย อำเภอโนนศิลา อำเภอบัวลาย อำเภอนาเยีย อำเภอเกาะจันทร์ อำเภอดอยหล่อ อำเภอบึงสามัคคี อำเภอวิภาวดี อำเภอเมืองยาง อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอแม่ออน อำเภอสุขสำราญ อำเภอโกสัมพีนคร อำเภอกู่แก้ว อำเภอเขาชะเมา อำเภอบึงนาราง อำเภอบ้านด่าน อำเภอช้างกลาง อำเภอน้ำขุ่น อำเภอสว่างวีระสงค์ อำเภอนบพิตำ อำเภอเชียงขวัญ อำเภอฆ้องชัย อำเภอหนองฮี อำเภอเหล่าเสือโก้ก อำเภอสามชัย อำเภอดอนจาน อำเภอสระใคร อำเภอประจักษ์ศิลปาคม อำเภอทุ่งเขาหลวง อำเภอชื่นชม อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ อำเภอหนองนาคำ อำเภอเทพารักษ์ อำเภอดอยหลวง อำเภอบ้านคา อำเภอศิลาลาด อำเภอหนองมะโมง อำเภอ แม่เปิน อำเภอชุมตาบง อำเภอเนินขาม อำเภอหาดสำราญ อำเภอโพธิ์ตาก อำเภอวังยาง อำเภอมะนัง อำเภอคลองเขื่อน อำเภอซับใหญ่ และอำเภอเวียงเก่า พ.ศ. .... (จัดตั้งอำเภอรวม 81 อำเภอ) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งร่างพระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

         สำหรับเรื่องอัตรากำลังและงบประมาณ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ คณะที่ 2 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) เป็นประธาน ที่ให้กระทรวงมหาดไทยและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเกลี่ยอัตรากำลัง โดยไม่มีการเพิ่มอัตรากำลังขึ้นใหม่ ส่วนงบประมาณที่จะต้องใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ให้ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับไปดำเนินการต่อไป

         ร่างพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอ (รวม 81 อำเภอ) มีสาระสำคัญ คือ ยกฐานะกิ่งอำเภอขึ้นเป็นอำเภอ รวม 81 อำเภอ 

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียง
และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. .

         คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. . ตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

         1. การจัดตั้งและเงินทุน
             
ให้จัดตั้งองค์การสื่อสาธารณะแห่งประเทศไทย ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือ
รัฐวิสาหกิจ
(มาตรา 5 วรรค 1
)

         2. คณะกรรมการและการบริหาร
             ให้มีคณะกรรมการนโยบายองค์การสื่อสาธารณะ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะกรรมการสรรหา (มาตรา 10)
             ให้มีคณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร (มาตรา 22) และแต่งตั้งผู้อำนวยการ (มาตรา 24)

         3. การเผยแพร่รายการ
             ให้องค์การจัดให้มีสถานีโทรทัศน์ที่มีเครือข่ายให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยไม่จัดเก็บค่าสมาชิก และไม่หา
รายได้จากโฆษณา และให้องค์การสามารถจัดให้มีสถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ และสถานีวิทยุกระจายเสียงเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ได้ (มาตรา 41)

         4. รายได้และรายจ่าย
             รายได้ขององค์การมาจากเงินบำรุงองค์การ ที่ได้รับจัดสรรจากภาษีที่เรียกเก็บจากผู้มีหน้าที่เสียภาษี ตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ (มาตรา 44, 45)

         5. บทเฉพาะกาล
             ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้สิน สิทธิ และภาระผูกพันของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เฉพาะที่เกี่ยวกับการดำเนินงานสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ (สถานีโทรทัศน์ไอทีวี) ที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไปเป็นขององค์การ เพื่อดำเนินการผลิตและเผยแพร่รายการโดยให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดูแลการถ่ายโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิและภาระผูกพันให้แก่องค์การให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน (มาตรา 64)

             ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ให้องค์การใช้คลื่นความถี่ตามที่ได้รับโอนตามมาตรา 64 และได้รับยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตามกฎหมายวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (มาตรา 65)

             ให้รัฐบาลจัดสรรทุนประเดิมให้แก่องค์การตามจำนวนไม่เกินที่กำหนดไว้ในมาตรา 45 (มาตรา 66) 

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
(องค์การมหาชน) พ.ศ. .... และ
ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินงาน
ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ....

         คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว และให้นำร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป สำหรับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการต่อไปได้

         สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีทั้งสองฉบับดังกล่าวเสร็จแล้ว มีการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายทั้งสองฉบับให้ถูกต้องเหมาะสม และเป็นไปตามแบบของร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชน และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีโดยทั่วไป จึงได้เสนอ ร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

         ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

         1. จัดตั้ง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ขึ้น เรียกโดยย่อ (อบก.) มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และอาจจัดตั้งได้ตามคณะกรรมการเห็นสมควร (ร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 6)

         2. กำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงการและการตลาดการซื้อขายก๊าซเรือนกระจก เป็นศูนย์ข้อมูล และจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น และให้มีอำนาจหน้าที่ในการถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครองหรือก่อตั้งทรัพยสิทธิต่าง ๆ ก่อตั้งสิทธิ หรือทำนิติกรรมทุกประเภทผูกพันสินทรัพย์ ตลอดจนนิติกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการขององค์การ จัดให้มีหรือให้ทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุงค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินการ (ร่างมาตรา 7 และร่างมาตรา 8)

         3. องค์การมีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ และวัตถุประเภทขององค์การได้ และรายได้ขององค์การไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง (ร่างมาตรา 12)

         4. ให้มีคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อดูแลกิจการทั่วไปขององค์การ รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินการ จัดตั้งและยุบเลิกสำนักสาขากำหนดวิธีการบริหารงานของสำนักงาน การสรรหา แต่งตั้ง ประเมินผลการปฏิบัติงาน และถอดถอนผู้อำนวยการ (ร่างมาตรา 15 และร่างมาตรา 20)

         5. กำหนดให้มีผู้อำนวยการองค์การมาจากการสรรหาของคณะกรรมการ มีวาระในตำแหน่งคราวละสี่ปีและอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน โดยมีหน้าที่บริหารกิจการขององค์การให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ขององค์การ และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน (ร่างมาตรา 24 และร่างมาตรา 28)

         6. ผู้ปฏิบัติการขององค์การมี 3 ประเภท คือ (1) เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง (2) ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ (3) เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมาปฏิบัติงานขององค์การเป็นการชั่วคราว (ร่างมาตรา 32)

         7. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจกำกับดูแลการดำเนินการกิจการขององค์การได้ เป็นไปตามกฎหมายและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การ นโยบายของรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรี และมติของคณะกรรมการแห่งชาติที่เกี่ยวกับองค์การ (ร่างมาตรา 40)

         8. ให้คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้คำรับรองโครงการที่มีความเหมาะสม และมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และต้องเป็นโครงการที่ส่งผลให้เกิดการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาของประเทศอย่างยั่งยืน ว่าเป็นโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (ร่างมาตรา 41 ถึงร่างมาตรา 45)

         9. กำหนดเป็นบทเฉพาะกาล ให้มีคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกชั่วคราว ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คนที่รัฐมนตรีแต่งตั้งจากสาขาการบริหารธุรกิจ การพลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าจะมีคณะกรรมการตามพระราชกฤษฎีกานี้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ (ร่างมาตรา 46) และให้คณะกรรมการชั่วคราวแต่งตั้งกรรมการสรรหาจำนวนเจ็ดคน เพื่อสรรหาประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดแรก แล้วดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและแต่งตั้ง (ร่างมาตรา 47)

         10. ให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติฯ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการตามพระราชกฤษฎีกานี้ (ร่างมาตรา 48)

         ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

         1. ให้มีคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านพลังงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเจ็ดคน โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ (ร่างข้อ 4)

         2. คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์การป้องกัน และการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย การเก็บกักและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก กำหนดนโยบายแนวทางหลักเกณฑ์และกลไกการดำเนินงานร่วมกับนานาชาติ เกี่ยวกับการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สอดคล้องกับสภาพของเศรษฐกิจ สังคมและผลประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศ (ร่างข้อ 8)

         3. ให้จัดตั้งสำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติฯ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ (ร่างข้อ 10)

         4. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเทียบเท่า เป็นผู้มีอำนาจตามพิธีสาร (ร่างข้อ 11)

         5. ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามระเบียบ (ร่างข้อ 12) 

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจ
จากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ....

         คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว และให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

         สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณา ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... เสร็จแล้ว ได้แก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

         ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

         1. แก้ไขเพิ่มเติมบันทึกหลักการและเหตุผลในประเด็นการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้เกี่ยวข้องและการนำไปใช้อย่างยั่งยืน

         2. แก้ไขเพิ่มเติมคำนิยาม การพัฒนาเศรษฐกิจทางฐานชีวภาพ (ร่างมาตรา 3)

         3. เพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพในร่างมาตรา 7 (2) ในการส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาของชุมชนและท้องถิ่น

         4. เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ร่างมาตรา 14 (3))

************************

หมายเหตุ  ผลสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติและขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ สำนักบริหารการประชุมคณะรัฐมนตรี โทร 0 2280 9000 ต่อ 331 - 333


ข้อมูลจาก  http://www.thaigov.go.th

 

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 17 พฤษภาคม 2550 10:02:29 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 17 พฤษภาคม 2550 10:02:29
หนังสือเวียน
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th