นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่น 1 รับฟังนโยบาย
และแผนงานการไปฝึกปฏิบัติงานในต่างประเทศ
เมื่อวานนี้ OPDC News ได้รายงานข่าวความก้าวหน้าโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) รุ่นที่ 1 และ รุ่นที่ 2 กันไปแล้ว ซึ่งการดำเนินโครงการในระยะต่อไปของ โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 1 ก็คือ การส่ง นปร. รุ่นที่ 1 ไป ฝึกปฏิบัติราชการในต่างประเทศ เป็นเวลา 4 เดือน ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง สิงหาคม 2550 โดยจะไปฝึกปฏิบัติงานอยู่ที่สำนักงานไทยในต่างประเทศ ทั้งสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และคณะทูตถาวรแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ก่อนการเดินทางไปปฏิบัติงานในต่างประเทศนั้น นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 1 ได้เข้ารับฟังนโยบายและแผนงานการไปฝึกปฏิบัติงานในต่างประเทศ จากเลขาธิการ ก.พ.ร. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2550 ณ ห้องประชุม 501 ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร.
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวมอบนโยบายและแผนงานการไปฝึกปฏิบัติงานในต่างประเทศ กับนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 1 ว่า ในการเตรียมตัวก่อนไปฝึกปฏิบัติงานนั้น นปร. ต้องเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนให้ดี นั่นคือ การเป็นข้าราชการที่ถูกส่งไปปฏิบัติราชการ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศต่าง ๆ และขอให้ศึกษาข้อมูลของประเทศที่จะไปฝึกงาน ทั้งข้อมูลพื้นฐาน สภาพเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงยุทธศาสตร์ของประเทศไทยต่อประเทศนั้น ๆ และยุทธศาสตร์ของประเทศนั้น ๆ ต่อประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการฝึกปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ วิธีการทำงานอาจแตกต่างไปจากการฝึกปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาคกับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งโดยปกติแล้วงานหลักของสถานเอกอัครราชทูต คือ งานพิธีการ งานต้อนรับคณะผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ที่เดินทางจากประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีงานกงสุล ซึ่งในบางส่วนจะต้องไปดูแลคนไทยที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในประเทศนั้น ๆ
อีกงานหนึ่งซึ่งเลขาธิการ ก.พ.ร. หวังว่า นปร. จะได้ไปฝึกปฏิบัติงาน คือ งาน Intelligence ของสถานทูต ได้แก่ การติดตามสถานะ ความเคลื่อนไหว และนโยบายของประเทศนั้น ๆ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย รวมทั้งการพบปะพูดคุยกับบุคคลต่าง ๆ เพื่อรับทราบข้อมูลในเชิงลึก เช่น นักธุรกิจในประเทศนั้น มีความต้องการที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร นอกจากนี้ อาจต้องทำหน้าที่เข้าไปช่วยผลักดันนโยบาย และยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในบางเรื่องที่มีต่อประเทศนั้น ๆ ด้วย
สำหรับระบบการบริหารงานของสถานเอกอัครราชทูตนั้น เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า ได้มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนบทบาทของเอกอัครราชทูต จากเดิมที่ทำงานในเชิงการทูตหรือการเมืองระหว่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว ให้มาทำงานในเชิงการค้าและการเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น
ทั้งนี้ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้ฝากให้ นปร. รุ่นที่ 1 ศึกษาและเก็บข้อมูลในระหว่างที่ฝึกปฏิบัติงานในต่างประเทศ ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. การศึกษาเอกสารและข้อมูลสำคัญ ๆ เกี่ยวกับประเทศที่ไปฝึกปฏิบัติงาน เช่น โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน ฯลฯ เพื่อนำมาเก็บไว้ในห้องสมุดของสถาบัน สำหรับค้นคว้าอ้างอิง และเป็นข้อมูลสำหรับ นปร. รุ่นต่อ ๆ ไป
2. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบราชการนั้น ขอฝากให้ นปร. ศึกษาการจัดโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน การพัฒนาระบบราชการในแต่ละประเทศ ซึ่งมีความหลากกลายแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำองค์ความรู้ในเรื่อง การบริหารรัฐกิจเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Public Administration) หรือนำมาปรับใช้กับประเทศไทยต่อไป
3. การศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับ แนวทาง/ทิศทางในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญ รวมทั้งเรื่องการปฏิรูประบบราชการในประเทศนั้น ๆ เช่น นโยบายช่วยเหลือคนจน ฯลฯ เพื่อนำมาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับประเทศไทยต่อไป รวมทั้งศึกษาแนวคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนาระบบราชการ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการจัดทำ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทยฉบับต่อไป
4. การศึกษาระบบการบริหารงานของสถานเอกอัครราชทูต แผนปฏิบัติงาน เป้าหมาย การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ของไทยในประเทศนั้น ๆ ซึ่งได้มีความพยายามที่จะสร้างให้เป็น Team Thailand นอกจากนี้ ขอให้ นปร. วิเคราะห์ว่า จะปรับปรุงระบบบริหารราชการไทยในต่างประเทศอย่างไร เพื่อให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการทำงาน การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน รวมทั้งการบูรณาการแนวความคิด นโยบาย และการทำงานที่สอดคล้องกัน ระหว่างสถานเอกอัครทูตไทยในต่างประเทศ กับกระทรวงการต่างประเทศ
สุดท้าย เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวให้พรกับ นปร. รุ่นที่ 1 ที่จะไปฝึกปฏิบัติราชการในต่างประเทศเป็นเวลา 4 เดือน พร้อมทั้งกล่าวว่า นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ คือความหวังที่หลายกระทรวงได้แสดงความประสงค์ที่จะให้ไปฏิบัติงานในหน่วยงานของตน ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้ว สำนักงาน ก.พ.ร. จะมีระบบในการจัดสรร นปร. เพื่อไปปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ ที่เหมาะสมต่อไป
จากนั้น รศ.ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ. ดร. ศุภมิตร ปิติพัฒน์ หัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินในต่างประเทศ ระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศที่ไปฝึกปฏิบัติงาน ระบบการบริหารงานของสถานเอกอัครราชทูต รวมทั้งปัญหาอุปสรรคในการทำงาน เพื่อให้ นปร. รุ่นที่ 1 ได้เห็นภาพในเชิงวิเคราะห์ที่แท้จริง ก่อนที่จะไปฝึกปฏิบัติงานในประเทศต่าง ๆ
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2552 15:28:24 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2552 15:28:24