Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2550 / เมษายน / เปิดตัวและชี้แจงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด (Part II)

เปิดตัวและชี้แจงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด (Part II)

เปิดตัวและชี้แจงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด และโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Part II)

           สวัสดีค่ะ OPDC News วันนี้กลับมาที่เรื่องของสรุปข่าว การประชุมสัมมนาการเปิดตัว และชี้แจงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด และโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงของการบรรยาย ของ นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยได้ คุณวิชิตร์ แสงทองล้วน ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระเบียบราชการส่วนภูมิภาค และความสัมพันธ์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มงานวิชาการ ที่เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย สรุปประเด็นที่น่าสนใจเพื่อนำมาถ่ายทอดให้ได้รับทราบกัน

หลักการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด
และการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


โดย นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

           การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข เป็นการขับเคลื่อนกระบวนการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นงานที่ต้องการความร่วมมือร่วมใจกันจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญต่อความสำเร็จของการพัฒนาส่วนรวม และการพัฒนาส่วนรวมต้องเชื่อได้ว่าทุกภาคส่วนมีเป้าหมายและความประสงค์ร่วมกัน คือการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีประเด็นที่จะนำเสนอ 3 ประเด็น คือ

           ประเด็นที่ 1 ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน
           ประเด็นที่ 2 ว่าด้วยการบริหารจัดการ
           ประเด็นที่ 3 ว่าด้วยสาระของโครงการ

 

ประเด็นที่ 1  การพัฒนาที่ยั่งยืน

           เป็นหลักสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการพัฒนา คือ การปรับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยกระบวนการเพื่อการพัฒนาที่กำลังดำเนินการนี้ มาจากแนวความคิดที่ตรงกันในการปรับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สาระสำคัญมี 2 ประการ ได้แก่ 1) การพึ่งตนเอง เป็นองค์ประกอบหลักหรือส่วนประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 2) การสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อช่วยให้สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน และดำรงชีวิตได้อย่างอยู่ดีมีสุข

           ดังนั้นการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นเรื่องของการปรับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ดีขึ้น มีภูมิคุ้มกันที่ดี แนวความคิดที่จะนำมาปรับใช้กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามโครงการทั้งสองของรัฐบาล ก็คือ แนวความคิดที่เกิดขึ้นจากความคิดของชาวบ้าน หรือภาคีต่าง ๆ และมีกระบวนการนำไปปฏิบัติได้ผลแล้วในระดับหนึ่ง ดังนั้น เรื่องนี้จะเริ่มต้นจากความคิดของชาวบ้าน แล้วประกอบกันขึ้นเป็นความคิดของชุมชน โดยในส่วนของรัฐบาล จะทำหน้าที่เป็นเพียงกลไกสนับสนุนความคิดของชาวบ้านและชุมชน ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ประเด็นที่ 2  การบริหารจัดการ

           การบริหารจัดการโครงการนี้ รากฐานสำคัญได้มาจากความคิดของชาวบ้าน ความรู้ความเข้าใจ ความคิดเห็นจากชุมชน เพราะฉะนั้นกระบวนการในการบริหารจัดการโครงการจึงมีความประสงค์ที่จะเชื่อมโยงความคิดดังกล่าวเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ กระบวนการเชื่อมโยงการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ การเชื่อมโยงการทำงานในที่นี้ แกนหลักสำคัญจะอยู่ที่จังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นกลไกสำคัญ ที่จะเป็นตัวแทนรัฐบาลในการประสานให้ความสนับสนุนแผนงานตามแนวความคิดของประชาชน/ชุมชน ซึ่งความคิดเหล่านั้นควรจะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด ขึ้นมาตามลำดับ

           การบริหารจัดการโครงการเป็นแนวทางที่เชื่อมโยงระหว่างแผนงาน/แนวความคิด ที่เสนอมาจากชุมชน ให้เข้ากับแผนงาน/แนวความคิดในการทำงานองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอ จังหวัด การเชื่อมโยงนี้เป็นลักษณะที่เสริมสร้างซึ่งกันและกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงให้ได้ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

 

ประเด็นที่ 3 สาระของโครงการ

           โดยแท้จริงแล้ว ชุมชนและความคิดของชุมชน กับการดูแลแก้ปัญหาของชุมชนเอง และการพยายามพึ่งพาตนเองของชุมชนนั้นมีอยู่แล้ว แต่ความพร้อมของแต่ละชุมชนมีไม่เท่ากัน รัฐบาลจึงให้มีโครงการการจัดทำยุทธศาสตร์จังหวัดอยู่ดีมีสุข และโครงการพัฒนาหมู่บ้านชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาสนับสนุนชุมชน ซึ่งโครงการสำหรับชุมชนที่มีความพร้อม มีการปฏิบัติที่เห็นผลงานแล้ว จะได้รับการสนับสนุนอื่นเพิ่มเติมขึ้นจากโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับคนที่พร้อมแล้วหรือยังไม่พร้อม หรือชุมชนที่ยังไม่มีความพร้อม จะเข้ามาอยู่ในกรอบของยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ที่มีสมมุติฐานว่า ความรู้สึกนึกคิด ความเข้าใจของประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น มีเหมือนกันหมด นั่นคือมีความต้องการใน 5 เรื่อง ได้แก่

           1.เรื่องของการประกอบอาชีพ ทั้งในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะประกอบอาชีพให้ดีขึ้น โดยอาศัยการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การถ่ายทอดความรู้ การคิดค้น การปรับใช้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้เกิดประโยชน์

           2. เรื่องผลิตภัณฑ์ชุมชน มีลักษณะเป็นผลผลิตที่จะสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชนได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการร่วมกันดำเนินการของชุมชน หรือกิจกรรมอื่น ๆ นอกภาคการเกษตร ที่ชุมชนร่วมกันจัดทำขึ้น

           3. เรื่องสิ่งแวดล้อมของชุมชน เป็นเรื่องใหญ่ที่ชุมชนต้องช่วยกันดูแลบำรุงทรัพยากรของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ต้นไม้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของทรัพยากรชุมชน การบำรุงรักษาเพิ่มประสิทธิภาพดิน

           4. เรื่องของการสงเคราะห์ ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายโดยในแต่ละชุมชนจะมีประชากรสูงอายุและผู้ด้อยโอกาส ที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมชุมชนได้ ด้วยเหตุผลในเรื่องของสุขภาพหรือเหตุผลอื่น ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข จะเน้นให้การสงเคราะห์ให้ตรงกับสภาพการดำรงชีวิตของประชาชน ให้พอเพียง การสงเคราะห์อาจเป็นเรื่องที่ชุมชนดูแลกันเองได้ หรืออาจมีความจำเป็นต้องการการสนับสนุนภายใต้แผนพัฒนาชุมชนก็ได้ ซึ่งจะต้องมีการไตร่ตรองมากขึ้นตามขั้นตอน

           5. เรื่องการบริการ ในที่นี้หมายถึง บริการของรัฐ จากอำเภอ ลงไปสู่ชุมชน หลายเรื่องเป็นบริการที่สามารถบริหารจัดการ ให้ชุมชนได้ประโยชน์จากอำเภอ ยกตัวอย่าง กรณีชุมชนที่ยังไม่มีแผนพัฒนาชุมชน หรือว่ายังไม่พร้อม ไม่สามารถก่อให้เกิดการดำเนินการได้ ทางอำเภอต้องสนับสนุนให้เกิดความสามารถ ความพร้อม และมีแผนพัฒนาชุมชนที่ดีมีคุณภาพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บริการเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าอำเภอสามารถทำอย่างนี้ได้ ทุกชุมชนก็จะได้รับการดูแล แม้จะไม่เหมือนกัน แต่จะเป็นการดูแลตามสภาพแวดล้อมข้อเท็จจริง ชุมชนใดยังไม่พร้อมก็สนับสนุนให้เกิดความพร้อม ชุมชนใดขาดหรือมีความสามารถเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็สนับสนุนให้เหมาะสมกับที่ชุมชนคิดและต้องการการสนับสนุนเพื่อให้ชุมชนสามารถดูแลตัวเองและคิดโครงการเองได้ ดังนั้น โครงการนี้จึงไม่ใช่เป็นการดูแลและสนับสนุนให้ทุกคน/ชุมชนได้เท่ากันหมด และไม่ใช่ความปรารถนาที่จะกระจายเม็ดเงินของรัฐบาลให้ทุกพื้นที่ได้เท่ากัน แต่เป็นความต้องการที่จะให้จังหวัดได้ใช้ความรู้ ความสามารถ สนับสนุนการทำงานของชุมชน โดยมีชุมชนเป็นผู้ริเริ่ม เป็นผู้คิด ตามอัตภาพของชุมชน

บทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด
และการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง






โดย นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

           บทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข และโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาล ที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการที่ต้องดำเนินการอยู่หลายโครงการ ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเข้าใจและสามารถแยกแยะการดำเนินการได้ ดังนี้

           1.โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องแรก หน่วยงานราชการต่าง ๆ ต้องนำโครงการที่หน่วยงานจัดทำมาปรับใช้แนวทางตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

           2.การดำเนินงานตามนโยบายการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบท เป็นงานที่จังหวัดกำลังดำเนินการอยู่ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเข้าใจว่า ปัญหาเช่นนี้ แนวทางเช่นนี้ จะต้องปฏิบัติอย่างไร

           3.การดำเนินงานตามโครงการพัฒนาสวัสดิการชุมชนของกระทรวงพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ เกี่ยวข้องกับเรื่องของผู้ด้อยโอกาส คนชรา ดังนั้นในการพัฒนาชุมชนจะต้องมีแนวทางแผนการปฏิบัติต่อกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้

           4.โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงส่วนหนึ่งมีงบประมาณรองรับโครงการ จำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

           5. โครงการสุดท้าย คือ การแนะนำยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขที่ได้เปิดตัวโครงการในวันนี้

           ทั้ง 5 โครงการที่กล่าวมานี้ เป็นงานที่ต้องนำมาปฏิบัติในจังหวัด โดยอาศัยกลไกของผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องจำแนกให้ได้ว่าโครงการใด จะต้องปฏิบัติอย่างไร เพราะฉะนั้น ในฐานะที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด บทบาทของท่านและนายอำเภอ จะมีความสำคัญมาก จะต้องเข้าใจทุกเรื่อง จะต้องประสานงาน และสามารถดำเนินการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ โดยบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าวไม่ได้หมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดของกระทรวงมหาดไทย แต่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดของทุกกระทรวง งานต่าง ๆ ที่ลงมาถึง นอกจากจะรับผิดชอบโดยรวมในฐานะที่ดูแลรับผิดชอบจังหวัดแล้ว จะต้องให้ส่วนราชการต่าง ๆ ในจังหวัดรับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

           นายอำเภอก็เช่นเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องเป็นนายอำเภอของทุกกระทรวง จะต้องบูรณาการงานต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการต่าง ๆ ที่มีงานอยู่ในพื้นที่ให้เกิดการปฏิบัติตามแนวทางและวิธีการที่กำหนดไว้ ดังนั้นนายอำเภอจำเป็นต้องมีความเข้าใจในทุกเรื่องของงานและโครงการต่าง ๆ ที่ลงสู่พื้นที่อำเภอ

           ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บทบาทในส่วนของผู้บริหารท้องถิ่น นอกจากจะต้องดำเนินโครงการตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขแล้ว ยังอาจจะมีอีกหลายโครงการ ที่มีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับแผนยุทธศาสตร์อยู่มีสุข ชุมชนที่อาศัยอยู่ในตำบลต่าง ๆ อยู่ในเขตเทศบาล ยังมีอีกหลายชุมชนที่จำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาตามแนวทางยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ซึ่งจะต้องช่วยอำเภอในการกำกับดูแลและช่วยให้ความรู้ พร้อมกันนั้นจะต้องมีการปรึกษาหารือกับนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด งานทุกอย่างจะต้องมีการบูรณาการให้พร้อมกันทั้งหมด ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ อันนี้เป็นหลักการสำคัญ

           ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการระดับจังหวัด นายอำเภอ ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการระดับอำเภอ จะต้องเข้าใจแนวทางปฏิบัติ งานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน หรือการพัฒนาคุณภาพชีวิต จริง ๆ แล้วเป็นงานที่ทำอยู่แล้วในหลายโครงการและทำมาหลายปีแล้ว การดำเนินการโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ควรต้องยึดหลักสำคัญ คือ 1) ความต้องการของประชาชน 2) ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชน และ 3) การสร้างขีดความสามารถให้กับประชาชน

           ความต้องการหรือสิ่งที่ประชาชนต้องการ ในส่วนของความสามารถของบุคคล เป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องดำเนินการ โดยเริ่มต้นจากพื้นฐานคือการรวมกลุ่มประชาชน/ชุมชนที่มีลักษณะเดียวกัน มีความต้องการอย่างเดียวกัน แล้วให้ความรู้ความเข้าใจ ผู้ว่าราชการจังหวัดคงไม่มีเวลาลงไปทำด้วยตัวเองในทุกชุมชน คนที่จะต้องลงไปทำงานเรื่องนี้ อาจใช้คนที่มีความสามารถ มีความเข้าใจ หรือใช้คนในพื้นที่ หรือคนที่มีความสัมพันธ์กันเป็นผู้ดำเนินการผู้ถ่ายทอด เช่น พัฒนากรที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ หรือ คณะกรรมการสภาตำบล คณะกรรมการพัฒนาตำบล ผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน ชุมชนต่าง ๆ ที่เป็นผู้นำที่ดีและมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ จะต้องมีกระบวนการนำบุคคลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ โดยสามารถประสานความคิดได้ตามที่ประชาชนต้องการ หรือสร้างให้รู้จักคิด และให้เกิดความเชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นมีประโยชน์ จะทำให้คน/ชุมชนเกิดศรัทธาในตัวเอง และจะเริ่มต้นทำกิจกรรมที่ร่วมกันทำได้

           สำหรับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นนายกเทศมนตรีก็ดี นายก อบต. ก็ดี จะต้องบูรณาการในส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ให้เข้ากัน ปรึกษาหารือกันในแนวทางที่จะต้องดำเนินการหรือแก้ไข กำหนดกรอบการทำงานตามโครงการทั้ง 5 ต้องทดลอง/ศึกษารายละเอียด และเริ่มดำเนินการ ระเบียบในการใช้จ่ายเงินงบประมาณมีอยู่แล้ว ต้องบริหารเงินงบประมาณไปใช้ในโครงการนี้ให้เร็วที่สุด และให้ประชาชนเกิดความสมประโยชน์ เกิดความพึงพอใจ หากจำเป็นต้องตั้งงบประมาณไปไว้ที่จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะดูแลให้ถึงมือประชาชนเร็วที่สุด เงินแต่ละบาทที่ลงไปสู่ชุมชน จะต้องรวดเร็ว และโปร่งใส นอกจากเรื่องงบประมาณแล้ว จะต้องมีคู่มือแผนงานโครงการด้วย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะจัดทำคู่มือ เมื่อนำคู่มือมาอ่านแล้วจะเข้าใจว่าในจังหวัดของท่านแต่ละเรื่องมีอะไรบ้างที่จะต้องทำ ที่สำคัญ คือความต้องการให้ชุมชนเป็นตัวของตัวเอง สามารถทำงานด้วยตัวเอง และเกิดการเรียนรู้จากสิ่งที่ได้ทำด้วย สุดท้ายให้ประชาชนเกิดความคิดและมีความสุข อยู่ดีมีสุข บทบาทของเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องคอยกำกับดูแลตามระเบียบอย่างโปร่งใส และสุจริต และจะต้องเอาใจใส่ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

วิชิตร์ (กลุ่มพัฒนาระเบียบราชการส่วนภูมิภาคฯ) / สรุปข่าว
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
 

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 17 กรกฎาคม 2552 14:21:09 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 17 กรกฎาคม 2552 14:21:09
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th