Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
หนังสือเวียน / มติ คณะรัฐมนตรี / มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2550 / เมษายน / วันอังคารที่ 24 เมษายน 2550

วันอังคารที่ 24 เมษายน 2550

สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 24 เม.ย. 2550
ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.

           การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 24 เมษายน 2550    ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 7 เรื่อง ดังนี้

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย
การตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

         คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 5 ตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้  สำหรับค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวง ตามร่างระเบียบดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ให้แต่ละกระทรวงเจียดจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ของกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว สำหรับงบประมาณปีต่อ ๆ ไปให้เสนอขอตั้งไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

         สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอว่า เนื่องจากการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการเป็นกลไกที่สำคัญของระบบราชการในการกำกับดูแลและควบคุมตนเองที่ดีของส่วนราชการ ตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ประกอบกับได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวง จากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ เพื่อให้ทำหน้าที่สอบทานในประเด็นต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) กำหนด ดังนั้น สมควรกำหนดค่าตอบแทนการปฏิบัติงานให้แก่คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวงดังกล่าวด้วย จึงได้เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา มาเพื่อดำเนินการ

         ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดให้แต่ละกระทรวงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวง และให้ได้รับค่าตอบแทนจากการปฏิบัติงานเป็นเงินสมนาคุณเหมาจ่ายเป็นรายเดือน ในอัตราเช่นเดียวกับคณะอนุกรรมการตามข้อ 16 (คณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการแต่งตั้ง) (ร่างข้อ 3 แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 17) 

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐ พ.ศ. .


         คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐ พ.ศ. . ตามที่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีดังนี้

         วัตถุประสงค์หลักของกฎหมาย เป็นการส่งเสริมจรรยาบรรณและธรรมาภิบาล ทั้งในระดับหน่วยงานของรัฐและระดับเจ้าหน้าที่ โดยครอบคลุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ทุกฝ่าย ได้แก่ คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายระเบียบข้าราชการการเมือง ข้าราชการฝ่ายรัฐสภาตามกฎระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภาผู้พิพากษา ตุลาการ ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจและคณะกรรมการต่าง ๆ ของภาครัฐด้วย ซึ่งให้แต่ละองค์การ/หน่วยงานมีอิสระและความรับผิดชอบในการกำหนดจรรยาบรรณ และข้อกำหนดทางวินัยที่ชัดเจน ทั้งนี้ โดยมีคณะกรรมการธรรมาภิบาลแห่งชาติเป็นผู้ให้คำปรึกษา

         สาระสำคัญ ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ มีทั้งสิ้น 54 มาตรา โดยแบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ

         หมวด 1 ธรรมาภิบาลภาครัฐ (มาตรา 5 - มาตรา 15) ซึ่งกำหนดหลักการว่า การปฏิบัติภารกิจของรัฐต้องมีเป้าหมายเพื่อให้ความผาสุกและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ตลอดจนประโยชน์สูงสุดของประเทศ โดยจะต้องใช้วิธีการบริหารจัดการที่ดีภายใต้หลักธรรมาภิบาล เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ศรัทธา และไว้วางใจ

         หมวด 2 คณะกรรมการธรรมาภิบาลแห่งชาติ (มาตรา 16 - มาตรา 28) กำหนดให้มีคณะกรรมการธรรมาภิบาลแห่งชาติขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกสิบสี่คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา ทั้งนี้ กรรมการอย่างน้อยสามคนแต่ไม่เกินห้าคนต้องทำงานเต็มเวลา โดยมีหน้าที่ในการตรวจสอบ วิเคราะห์ สะท้อนปัญหาและสภาพความเป็นจริงของพฤติกรรมด้านธรรมาภิบาลและจริยธรรมในภาครัฐ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน มุ่งส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในภารกิจของภาครัฐเพื่อรายงานผลต่อสาธารณชน

         หมวด 3 สำนักงานคณะกรรมการธรรมาภิบาลแห่งชาติ (มาตรา 29 - มาตรา 48) กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการธรรมาภิบาลแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลและไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยให้มีหน้าที่ศึกษาวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรม ปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมาภิบาลและจริยธรรมในภาครัฐ รวมทั้งหน้าที่อื่นตามที่จำเป็นต่อการส่งเสริมคุณธรรม จรรยาบรรณ และธรรมาภิบาลภาครัฐ

         บทเฉพาะกาล (มาตรา 49 - มาตรา 54)  

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพิเศษ พ.ศ. ....

         คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) เป็นประธานกรรมการ ที่อนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพิเศษ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยให้รับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีไปดำเนินการด้วย ดังนี้

         1. กระทรวงศึกษาธิการควรศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาพิเศษที่เหมาะสมและเป็นสากลที่มีการใช้ในต่างประเทศประกอบด้วย

         2. โดยที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีแผนงานด้านการจัดการเทคโนโลยีเพื่อคนพิการอยู่ จึงให้เชิญผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมพิจารณาในชั้นการตรวจพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย

         กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 บัญญัติให้รัฐต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสิบสองปี โดยให้ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคและเท่าเทียมกัน และรัฐต้องจัดให้คนพิการและทุพพลภาพมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลืออื่นใดจากรัฐ โดยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้ อีกทั้งให้มีการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการหรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแล แต่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้รับการปฏิบัติเป็นจริงอย่างเต็มที่ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาพิเศษ จึงสมควรออกกฎหมายเพื่อให้มีหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ด้านการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยมีหน่วยงานในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

         ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพิเศษ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาพิเศษ เพื่อเป็นการประกันโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการ ดังนี้

         1. กำหนดให้จัดการศึกษาพิเศษโดยมุ่งตอบสนองความต้องการของคนพิการให้ได้รับการศึกษา ตลอดจนความช่วยเหลือทางการศึกษา (ร่างมาตรา 6)

         2. กำหนดหลักการในการจัดการศึกษาพิเศษ (ร่างมาตรา 7)

         3. กำหนดให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกสังกัด ต้องจัดให้คนพิการและครอบครัวได้รับสิทธิพิเศษด้านการช่วยเหลือในระยะแรกเริ่ม มีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาพิเศษกำหนด รวมทั้งมีสิทธิประโยชน์พิเศษอื่น (ร่างมาตรา 8 -10)

         4. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่จัดงบประมาณ เงินอุดหนุน หรือทรัพยากรทุกประเภท สนับสนุนการจัดการศึกษาพิเศษ (ร่างมาตรา 13)

         5. กำหนดรูปแบบในการจัดการศึกษาพิเศษเป็น 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยการจัดการศึกษาพิเศษนอกระบบและการจัดการศึกษาพิเศษตามอัธยาศัย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์แวะวิธีการที่คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาพิเศษกำหนด (ร่างมาตรา 14 - 15)

         6. กำหนดให้องค์กรหลักทุกองค์กรในกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ สามารถจัดการศึกษาพิเศษได้ และให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาพิเศษ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายให้ความเห็นต่อแผนการปฏิบัติการ การจัดสรรทรัพยากร แต่งตั้งอนุกรรมการ ออกระเบียบ ข้อกำหนด และปฏิบัติงานอื่นตามที่กฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 18 - 20)

         7. กำหนดให้มีสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยให้จัดทำประกาศกระทรวงแบ่งส่วนราชการภายใน โดยคำแนะนำของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาพิเศษ (ร่างมาตรา 23)

         8. กำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาสำหรับการจัดการศึกษาพิเศษ (ร่างมาตรา 27)

         9. กำหนดให้มี อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยจำนวนหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุมและอำนาจหน้าที่ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 โดยอนุโลม (มาตรา 29)

         10. กำหนดให้องค์กร สมาคม มูลนิธิ หน่วยงานเอกชน ที่จัดหรือส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษ (ร่างมาตรา 31)

         11. กำหนดให้มีการระดมทรัพยากรและการลงทุน ทั้งจากรัฐและองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ มาจัดการศึกษาพิเศษ และให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาพิเศษ มีฐานะเป็นนิติบุคคลภายในกำกับของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาพิเศษ โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง โดยมีแหล่งที่มาของเงินทุนตามที่กฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 32 - 34)

         12. กำหนดให้รัฐจัดตั้ง สถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนพิการ มีหน้าที่รับผิดชอบการผลิต สาธิต ฝึกอบรม นิเทศ การใช้ การซ่อมบำรุงเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ อุปกรณ์ (ร่างมาตรา 39) 

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ....

         คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. .... ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขใหม่ ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

         ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้

         1. ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ร่างมาตรา 3)

         2. กำหนดให้ทหารประกอบด้วยข้าราชการกระทรวงกลาโหมที่เป็นข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ นักเรียนสังกัดกระทรวงกลาโหมที่ขึ้นทะเบียนกองประจำการ และบุคคลที่ถูกเรียกเข้ารับราชการทหาร โดยให้แบ่งข้าราชการกระทรวงกลาโหมเป็นสองประเภท คือ ข้าราชการทหาร และข้าราชการพลเรือนกลาโหม (ร่างมาตรา 5)

         3. กำหนดให้การบริหารราชการกระทรวงกลาโหมต้องดำเนินการตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ (ร่างมาตรา 6 และร่างมาตรา 7)

         4. กำหนดให้การใช้กำลังทหารนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา (ร่างมาตรา 8)

         5. ให้แบ่งส่วนราชการกระทรวงกลาโหมออกเป็น 5 ส่วนราชการ ประกอบด้วย สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมราชองครักษ์ กองทัพไทยและส่วนราชการอื่นที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ (ร่างมาตรา 9 ถึงร่างมาตรา 13)

         6. ให้แบ่งส่วนราชการกองทัพไทยออกเป็น 5 ส่วนราชการ ประกอบด้วย กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และส่วนราชการอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ (ร่างมาตรา 15-ร่างมาตรา 21)

         7. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในการปฏิบัติราชการกระทรวงกลาโหม โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนได้ และในกรณีที่ไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้กำหนดให้ปลัดกระทรวงกลาโหมมีอำนาจดำเนินการอนุญาต การอนุมัติ และการปฏิบัติราชการประจำแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ โดยให้อำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ และกำหนดให้ผู้รับมอบอำนาจอาจมอบอำนาจช่วงได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงกลาโหมกำหนด (ร่างมาตรา 22)

         8. กำหนดให้การบริหารจัดการกำลังพล การข่าวกรอง และการต่อต้านข่าวกรองทางทหารให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด (ร่างมาตรา 23 และร่างมาตรา 25)

         9. กำหนดให้โครงสร้างองค์กรการฝึก และการศึกษาของข้าราชการทหารต้องมีเอกภาพ เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กระทรวงกลาโหมกำหนด และให้มีการกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับระบบส่งกำลังบำรุงและมาตรฐานยุทโธปกรณ์ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยให้มีคณะกรรมการส่งกำลังบำรุง ร่วมเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ (ร่างมาตรา 26 และร่างมาตรา 27)

         10. ให้มีการจัดระเบียบราชการทหารในสถานการณ์ไม่ปกติ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นของของสภากลาโหม และกองทัพไทย มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ และในกรณีที่เห็นสมควรให้มีการใช้กำลังทหารหรือการวางกำลังเพื่อเตรียมการยุทธ ให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหาร และกำหนดอำนาจหน้าที่ให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติภารกิจ และเมื่อการรบหรือสงคราม หรือการปราบปรามกบฎสิ้นสุดลงให้มีอำนาจสั่งยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวที่กำหนดไว้ได้ รวมทั้งกำหนดพื้นที่ใดเป็นยุทธบริเวณหรือเขตภายในก็ได้ สำหรับการใช้กำลัง
ทหารเพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงโดยเร็ว ให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด เว้นแต่การใช้กำลังทหารในการปฏิบัติภารกิจเพื่อสันติภาพ ให้เป็นไปโดยความเห็นชอบของสภากลาโหม และมติคณะรัฐมนตรี และให้การปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 31 ถึงร่างมาตรา 36)

         11. กำหนดให้มี สภากลาโหม ประกอบด้วย สมาชิกโดยตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภากลาโหมโดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ซึ่งการดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากลาโหม กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งการพ้นจากตำแหน่ง รวมทั้งกำหนดองค์ประชุมของสภากลาโหมด้วย (ร่างมาตรา 37 ถึง ร่างมาตรา 42)

         12. กำหนดให้มี คณะผู้บัญชาการทหาร ประกอบด้วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และเสนาธิการทหาร โดยมีผู้บัญชาการทหารสูดเป็นประธานคณะผู้บัญชาการทหาร มีหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งในยามปกติและในสถานการณ์ไม่ปกติ (ร่างมาตรา 43)

         13. ในบทเฉพาะกาล
               13.1 ให้โอนบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ข้าราชการ ลูกจ้าง และเงินงบประมาณของกองบัญชาการทหารสูงสุด ไปเป็นของกองบัญชาการกองทัพไทยตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 44)
               13.2 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ตราพระราชกฤษีกากำหนดส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ส่วนราชการ เพื่อรองรับกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 48)
 

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
และนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ....

         คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี
(นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) เป็นประธาน ฯ ดังนี้

         1. อนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ และส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้นำไปรวมกับร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยชั้นสูง พ.ศ. .... เป็นฉบับเดียวกัน โดยให้ตัดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ออก และรับประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ คณะที่ 1 และความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วเป็นกรณีเร่งด่วนด้วย แล้วส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

         2. มอบสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงาน ก.พ. และ สำนักงาน ก.พ.ร. รับประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องฯ คณะที่ 1 ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

         3. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ คณะที่ 1

         กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญ ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากการปลูกฝังความคิดแบบวิทยาศาสตร์จะช่วยให้คนไทยมีวิถีการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของความมีเหตุมีผล และการคิดแบบวิทยาศาสตร์จะช่วยให้สามารถหาวิธีแก้ปัญหาได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ขณะที่ประเทศไทยยังขาดกลไกสำคัญที่ส่งเสริมให้คนไทยคิดและทำบนพื้นฐานของตรรกะและเหตุผล ซึ่งการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างและสะสมองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ทันสมัย จะช่วยให้ประเทศสามารถปรับตัวเตรียมป้องกันผลกระทบทางลบจากกระแสโลกาภิวัตน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถบริหารการจัดการ และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และภูมิปัญญา โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศมากเกินความจำเป็น ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สมควรให้มีกฎหมายหลักด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ที่แสดงถึงความจำเป็นของภาครัฐที่มีการประกาศเจตจำนงอย่างชัดเจนในการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มาเพื่อดำเนินการ 

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยีไทยชั้นสูง พ.ศ. ....

         คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ซึ่งมีรองนายก รัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) เป็นประธานกรรมการที่อนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยชั้นสูง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ และ ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณารวมเป็นร่างฉบับเดียวกันกับ ร่างพระราชบัญญัติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ....แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

         กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม ฐานความรู้และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างแท้จริง ซึ่งประเทศไทย ยังขาดแคลนกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสูงมาก จนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญ จำเป็นต้องเร่งสร้างทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีองค์ความรู้ใหม่และความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้านการผลิตและบริการของประเทศ อันจะได้จากความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งภาคการผลิตและบริการในการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดองค์กรที่ทำหน้าที่หลักในการประสานงานเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือ และสร้างความเชื่อมั่นในระดับสากล อันมีผลกระทบต่อแรงจูงใจของสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ ในการเข้ามาร่วมมือกับสถาบันในประเทศ จึงจำเป็นต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง เพื่อเอื้ออำนวยให้สถาบันวิจ

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 28 เมษายน 2550 23:50:59 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 28 เมษายน 2550 23:50:59
หนังสือเวียน
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th