ยิ่งรวมกัน...ชีวิตยิ่งดีขึ้น (TRUE story ที่กาฬสินธุ์)
สวัสดีค่ะ วันนี้ OPDC News ขอพักเรื่องสรุปข่าว การประชุมสัมมนาการเปิดตัว และชี้แจงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด และโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้ก่อน 1 วัน เพราะวันนี้เราจะมาชวนคุณไปชมรายการ เดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ตอน การมีส่วนร่วมของประชาชน กับการพัฒนาระบบราชการ ที่จะออกอากาศในคืนนี้ (อังคารที่ 24 เมษายน 2550) เวลา 21.30 น. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ โดยเรามีเรื่องเล่าจากคุณธารทิพย์ กาญนาภา กลุ่มสื่อสารสร้างความเข้าใจในการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานเลขาธิการ จากการไปถ่ายทำสกู๊ปรายการนอกสถานที่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อนำมาออกอากาศในรายการเดินหน้า...พัฒนาราชการไทยในคืนนี้ เป็นการเรียกน้ำย่อยกันก่อนค่ะ
ยิ่งรวมกัน...ชีวิตยิ่งดีขึ้น (TRUE story ที่กาฬสินธุ์) |
ใครๆ มักจะพูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอะไรสักอย่างว่าเป็น นามธรรม บางทีก็ว่าเป็น เรื่องที่นึกอะไรไม่ออกก็หยิบเอางานนี้มาทำ
ความจริงกับรูปธรรมที่เกิดขึ้น ณ บ้านนาเรียง ตำบลสามัคคี อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นตัวอย่างและเป็นคำตอบสำหรับ ใครๆ ได้เป็นอย่างดีว่า ถ้าร่วมกันทำขึ้นมา ที่ว่าไม่เห็นๆ กลับกลายเป็น ต้นแบบตัวจริง ของการสร้างความเข้มแข็งและแข็งแกร่งของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
บ้านนาเรียง จ.กาฬสินธุ์ เป็นที่หมายหลักของการเดินทางในครั้งนี้ ทีมงานผลิตรายการ เดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ได้เดินทางไปบันทึกเทปเรื่องการมีส่วนร่วมของชาวกาฬสินธุ์ที่เห็นผลสัมฤทธิ์ เพื่อเผยแพร่ออกอากาศในช่วงหนึ่งของรายการ เดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ในคืนวันอังคารที่ 24 เมษายน
ที่มาที่ไปของโครงการนำร่องการบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน : กาฬสินธุ์ ถิ่นความรู้สู้ความยากจน ได้รับการบอกเล่าจาก คุณนิตยา ธีระทัศน์ศิริพจน์ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานโครงการของจังหวัดกาฬสินธุ์ ว่า บ้านนาเรียงก็เหมือนกับหมู่บ้านอื่นๆ ในภาคอีสาน ที่คนวัยแรงงานทิ้งบ้านเกิดไปทำงานในจังหวัดต่างๆ คงอยู่ก็แต่พ่อแม่วัยชรา และหลานๆ (ถ้ามี) ที่ให้พ่อแก่แม่แก่เลี้ยง ผลผลิตทางเกษตรเป็นไปแบบมีบ้างไม่มีบ้าง รอแต่เมื่อไหร่จังหวัดจะส่งคนมาช่วย ดินฟ้าอากาศกลายเป็นเหตุผลหลักของความยากจน
กลุ่มเย็บที่นอน-หมอนขิด ที่บ้านนาเรียง ที่จะไปบันทึกเทปนี้เป็นต้นแบบของความสำเร็จจากการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการขจัดความยากจน ที่อยากให้เห็นกัน คุณนิตยา เกริ่นนำไว้
จนเมื่อเดินทางไปถึง คุณสุรสิทธิ์ บรรพกลม นายก อบต. เล่าเปิดรายการให้ฟังว่า ชาวบ้านที่นี่เปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมที่อยู่กันไปวันๆ เป็นหันมารวมตัวกันทำหมอนขิดเป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำหมู่บ้านได้ เพราะโครงการนำร่องการบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจนฯ ที่มีหลายหน่วยงานภาครัฐช่วยกันดูแล ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ร่วมกันทำโครงการ โดยเลือกเอาจังหวัดกาฬสินธุ์เป็น 1 ใน 12 จังหวัดนำร่องของโครงการฯ แล้วนำเอากระบวนการมีส่วนร่วมที่เรียกว่า A-I-C (ดู*) มาใช้ เริ่มตั้งแต่การสำรวจความต้องการของชาวบ้าน ปรากฏว่า ชาวบ้านมีความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนมากที่สุด เพราะถ้าเศรษฐกิจดีมีรายได้ ผลที่ตามมาคือ การได้ครอบครัวกลับมาอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัดก็กลับมาทำงานที่บ้านเพราะมีรายได้เลี้ยงตัวเอง-ครอบครัว และมีเงินเก็บออม ครบความหมายของ อยู่ดีมีสุข
ที่นาเรียงนี้มีการรวมกลุ่มกันทำหมอนขิด ซึ่งจริงๆ แล้วมีการก่อตั้งกันมาถึง 20 ปีแล้ว แต่กลับขาดงบประมาณสนับสนุน ขาดคนทำการตลาด ขาดความคิดสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ ฉะนั้น ชาวบ้านจึงรวมกันทำตามที่ สกว. พอช. จังหวัด และคุณนิตยา ซึ่งเป็นผู้ประสานงานโครงการฯ สอน คือ ร่วมกันทำชีวิตให้ดีขึ้น เหล่าแม่บ้าน ผู้หญิง คนชรา รวมกันทำหมอนขิด ส่วนหนุ่มๆ พ่อบ้าน ทำเกษตรผสมผสาน เป็นต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง นายก อบต. กล่าว
หมอนขิด ตัวเลือกที่ได้ผลของหมู่บ้าน เพราะปัจจุบันหมอนขิดกลายเป็นสินค้าเลี้ยงปากท้องชาวบ้านได้เป็นอย่างดี กลุ่มทำหมอนขิดขยายจากหนึ่งครัวเป็น 40 ครัวต่อกลุ่มก็มี 70 ครัวต่อกลุ่มก็มี แล้วแต่ละกลุ่มยังเป็นเครือข่ายช่วยเหลือกัน จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 3 สิ่งที่ได้คือ แรงงานกลับคืน แต่ละบ้านมีเงินออม (เพราะมีการทำบัญชีการใช้จ่ายครัวเรือน) เกิดร้านค้าสวัสดิการของชุมชนเพื่อชุมชน
เกษตรอินทรีย์ มีการสร้าง ศูนย์เรียนรู้ ของหมู่บ้าน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก อบต. มีการลงพื้นที่ โดย ครู ก. (ผู้แทนจากจังหวัด จากหน่วยงานกลาง จากองค์กรอิสระ) ถ่ายทอดความรู้ให้ ครู ข. (ผู้นำระดับตำบล ผู้นำระดับหมู่บ้าน) ลงเก็บข้อมูลปรับความคิด สร้างศักยภาพจากทุนของตัวเองขึ้นมา ด้วยการใช้พื้นที่เพาะปลูกให้เกิดประโยชน์ อย่างการปลูกพืชแบบเกษตรผสมผสานปลอดสารพิษ ทำให้เก็บพืชผักขายได้รายได้ทุกวัน
คุณนิตยา พาทีมงานไปเยี่ยมชมทั้ง ศูนย์เรียนรู้ และ บ้านต้นแบบเกษตรผสมผสาน ของปราชญ์ชาวบ้าน (คุณสำราญ ถิ่นรัศมี : คนปั่นจักรยานสูบน้ำ) ซึ่งมาจากความคิด ต้องการทำ และ ได้ทำ ของชาวบ้านจริงๆ
ถามถึงผลที่ได้รับ ชาวบ้านยืนยันกับทีมงานว่า แรงงานที่ไปทำที่จังหวัดอื่น กลับมาบ้านกว่า 60% หมู่บ้าน อยู่ดีมีสุข (ใช้คำเดียวกับยุ่ทธศาสตร์รัฐบาลจริงๆ) อย่าว่าแต่แม่บ้านทำหมอนขิดได้เลย เด็กประถมที่นาเรียงก็ทำได้
แต่ที่ทีมงานนึกไม่ถึงคือ ชาวบ้านจัดผู้สูงอายุให้เป็นคน ขีด เส้นการเย็บผ้า ที่น่าตกใจจริงๆ คือ คนสูงอายุที่ว่า เขาบอกว่า ตั้งแต่ 45 ขึ้นไป ก็โดนเป็นผู้สูงอายุเสียแล้ว !!!
ท้ายที่สุด คำถามจากทีมงานถึงนายก อบต. และคุณนิตยา คือ จะมีการให้งบประมาณสนับสนุนเพิ่มได้หรือไม่
สองคนตอบพร้อมกันว่า ได้ แต่ต้องผ่านการประเมินผลงานว่าตรงตามเป้าหมาย วัตถุประสงค์ที่วางไว้หรือไม่ หรืออีกทีถ้าจะทำอะไรก็ต้องเอาโครงการมาปัดฝุ่นดูเสียก่อนว่าผ่านไป 1 ปี หรือ 6 เดือนตามแผน มีความคืบหน้าหรือเปล่า
การทำแผนของที่นี่ นายก อบต. บอกว่า ต้องดูแผนของชาวบ้าน ดูยุทธศาสตร์จังหวัด แล้วก็ดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ด้วย อย่างปัจจุบัน เน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ชาวบ้านก็ต้องเอากับเขาด้วย ไม่งั้นตกกระแส!!
เราจบการเดินทางบันทึกเทปกันตอนช่วงเย็นแล้วของวันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน 2550 และต้องนำเทปที่ได้ กลับมาตัดต่อกันต่อเพื่อให้ทันออกรายการ เดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ตอน การมีส่วนร่วมของประชาชน กับการพัฒนาระบบราชการ ในวันอังคารที่ 24 เมษายน 2550 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เวลา 21.30 น. สกู๊ปจาก บ้านนาเรียง จะดึงเอาจินตนาการของคนหลายๆ คนออกมาให้เห็นกัน โดยจะสอดแทรกไว้ในรายการซึ่งเป็นการสนทนาสดระหว่างพิธีกร คือ คุณศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ กับแขกรับเชิญ ดร.อรพินท์ สพโชคชัย กรรมการพัฒนาระบบราชการเต็มเวลา และ นายกวี กิติสถาพร ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์
ทีมงานกลุ่มสื่อสารฯ ขอเชิญติดตามรายการ เดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ตอน การมีส่วนร่วมของประชาชน กับการพัฒนาระบบราชการ แล้วคุณจะเห็นด้วยว่า ยิ่งรวมกัน...ชีวิตยิ่งดีขึ้น (TRUE story ที่กาฬสินธุ์) แล้วพบกันค่ะ
*เกร็ดเรื่อง A-I-C จาก สกว.
A-I-C ที่กล่าวถึงมาจากคำว่า Appreciation Influence Control เป็นวิธีหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมาแก้จุดอ่อนเหล่านี้ เพื่อสร้างคนให้มี 2E คือ การเสริมสร้างพลัง (empower) กับ การสนับสนุนให้ทำได้สำเร็จด้วยทุนและศักยภาพของชุมชนเอง ซึ่งประเทศที่พัฒนาและธนาคารโลกใช้ได้ผลมากว่า 30 ปีแล้ว กระบวนการ A-I-C เป็นเทคนิคการประชุมแบบมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ที่การระดมสมองทำให้เกิดความเข้าใจสภาพปัญหา/ขีดจำกัด ความต้องการ/และศักยภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องต่างๆ งานที่ได้จากการประชุมมาจากความคิดของทุกคน โครงสร้างกระบวนการ A-I-C จะคล้ายกับ F.S.C. เพียงแต่กระบวนการ A-I-C มีลำดับขั้นตอนไม่ซับซ้อนเท่ากับ F.S.C.
ความหมาย A-Appreciation คือ การยอมรับชื่นชม (Appreciate) ความคิดเห็นความรู้สึกของเพื่อนสมาชิกในกลุ่มด้วยความเข้าใจในประสบการณ์ สภาพ และขีดจำกัดของเพื่อนสมาชิกแต่ละคน จึงไม่รู้สึกต่อต้านหรือวิจารณ์เชิงลบในความคิดเห็นของเพื่อนสมาชิก ทุกคนในกลุ่มมีโอกาสที่จะให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง เหตุผล ความรู้สึก และการแสดงออกตามที่เป็นจริง เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน มีความรู้สึกที่ดีมีเมตตาต่อกัน เกิดพลังร่วมกันและความรู้สึกเป็นเครือข่าย เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
I-Influenceคือ การใช้ประสบการณ์ /ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของแต่ละคนที่มีอยู่ มาช่วยกันกำหนดวิธีการ / ยุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์/อุดมการณ์ร่วมกัน สมาชิกในกลุ่มจะมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน มีการถกเถียงด้วยเหตุผลทั้งในประเด็นที่เห็นด้วยและขัดแย้งจนได้วิธีการที่กลุ่มเห็นร่วมกัน
C-Control คือ การนำยุทธศาสตร์/วิธีสำคัญ มากำหนดแผนปฏิบัติการโดยละเอียด สมาชิกจะเลือกว่าตนเองสามารถรับผิดชอบในเรื่องใดด้วยความสมัครใจ ทำให้เกิดพันธะสัญญาข้อผูกพัน (Commitment) แก่ตนเองเพื่อควบคุมตน (Control) ให้ปฏิบัติจนบรรลุผลตามเป้าหมายร่วมของกลุ่ม
เทคนิค / วิธีการ กระบวนการ A-I-C จะใช้การวาดภาพเพื่อเป็นการสะท้อนประสบการณ์ในอดีต / สภาพปัจจุบันกับจินตนาการถึงความมุ่งหวังในอนาคตของสมาชิกทุกคน โดยให้แต่ละคนวาดภาพของตนก่อน นำภาพของทุกคนมาวางรวมกันบนกระดาษแผ่นใหญ่ แล้วจึงต่อเติมรวมภาพของแต่ละคนให้กลมกลืนเป็นภาพใหญ่ของกลุ่มเพียงภาพเดียว การวาดภาพเป็นการกระตุ้นให้สมาชิกสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจออกมาอย่าง
แท้จริง บางเรื่องราวที่ไม่สะดวกใจที่จะพูดโดยเปิดเผยก็สามารถสะท้อนออกมาเป็นรูปภาพหรือสัญญลักษณ์รูปทรง/สี แทนการพูด/เขียนหนังสือ เปิดโอกาสให้ผู้อื่นสามารถซักถามข้อมูลความหมายจากภาพได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ใช้เป็นสื่อกระตุ้นให้สมาชิกที่ไม่ค่อยกล้าพูดได้ร่วมอธิบายความคิด/ประสบการณ์ของตน การวาดภาพช่วยสร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง
การรวมภาพความคิดของแต่ละคนเป็นภาพรวมของกลุ่ม ทำได้ง่ายและเป็นรูปธรรมกว่าการพยายามรวมแนวคิดของแต่ละคนโดยการอภิปรายหรือการเขียน และเป็นสื่อถึงความรู้สึกเป็นเจ้าของภาพร่วมกันและการมีส่วนร่วมในการสร้างกรอบความคิดตามภาพของกลุ่ม
โดยทั่วไป ผู้ใหญ่มักกังวลว่าไม่มีความสามรถในการวาดภาพ จึงควรชี้แจงว่า การวาดภาพไม่เน้นความสวยงาม หากแต่เน้นถึงความหมายที่ปรากฏออกมาเป็นภาพ ผู้วาดอาจใช้สีเป็นสัญลักษณ์แทนภาพเหมือนก็ได้
|
ธารทิพย์ (สลธ.) / ภาพและเนื้อเรื่อง
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 17 กรกฎาคม 2552 14:31:52 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 17 กรกฎาคม 2552 14:31:52