Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
หนังสือเวียน / มติ คณะรัฐมนตรี / มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2550 / เมษายน / วันอังคารที่ 10 เมษายน 2550

วันอังคารที่ 10 เมษายน 2550

สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 10 เม.ย. 50
ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.


           การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 10 เมษายน 2550    ซึ่งมี นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 4 เรื่อง ดังนี้

สังคม

เรื่อง
สรุปผลการประชุมเปิดตัวยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด
และโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน
ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง



        
 คณะรัฐมนตรีรับทราบ สรุปผลการประชุมเปิดตัวยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด และโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

         ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้มีการเปิดตัว ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัดและ โครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คพพ.) และการสัมมนาผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในวันพุธที่ 21 มีนาคม 2550 ณ โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช
สรุปสาระสำคัญการประชุม ดังนี้

         1. นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขและโครงการ คพพ. เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขแก่ประชาชนและชุมชน โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นการลงทุนในสิ่งที่ประชาชน/ชุมชนริเริ่มขึ้น มีกระบวนการเรียนรู้และการดำรงชีพตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ยึดหลักคุณธรรม ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และสามารถพึ่งตนเองได้ มีกระบวนการทำงานร่วมกันของภาคีการพัฒนาที่ยึดหลัก 4 ป. ขอให้ใช้ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัดเป็นร่มใหญ่ของกิจกรรมและโครงการที่ลงสู่ทุกพื้นที่ และเป็นจุดบูรณาการความอยู่ดีมีสุขของประชาชนฐานรากและชุมชนต่อไป

         2. รองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) ให้หลักการสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด ขอให้เน้นใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่  (1) การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนาที่นำไปสู่การพึ่งตนเองได้มากขึ้น โดยประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน และการสร้างภูมิคุ้มกันให้คน/ชุมชนปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงใช้ความคิดของชาวบ้านเป็นหลัก รัฐเป็นผู้สนับสนุน  (2) การบริหารจัดการคือ การเชื่อมโยงความคิดของชุมชนเข้าสู่กระบวนการทำงาน โดยมีจังหวัดเป็นกลไกในการประสานและสนับสนุนให้เกิดการจัดทำแผนชุมชน ที่เชื่อมโยงกับแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด  (3) สอดคล้องกับแผนงานตามกรอบยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ใน 5 แผนงาน ส่วน คพพ. จะเสริมต่อการดำเนินงานของชุมชนที่สามารถดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้าน/ชุมชนได้ผลดี ทั้งนี้ จังหวัดต้องมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรเงินตามสภาพปัญหาของชุมชน ไม่ใช่กระจายเม็ดเงินอย่างเท่าเทียมกันในทุกชุมชน

         3. รองนายกรัฐมนตรี (นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) ให้แนวทางการบูรณาการสู่ความอยู่ดีมีสุขของชุมชน ซึ่งความสุขประกอบด้วย 1) ความพอเพียง ไม่ยากจน  2) ความน่าอยู่ ปลอดภัย 3) ความเข้มแข็ง มีความรู้ มีสุขภาวะ และ  4) มีคุณธรรม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีบทบาทเป็นผู้ประสานเชื่อมโยงการบูรณาการ ทั้งในส่วนขององค์กร คน เงิน และทุนทุกประเภท โดยใช้หลัก 4 ประการ ได้แก่  1) ยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง  2) ประชาชนมีบทบาทเป็นทั้งผู้ปฏิบัติและผู้ได้รับประโยชน์ ส่วนราชการเป็นฝ่ายเอื้ออำนวย  3) รวมพลังทุกภาคส่วน  4) บูรณาการอย่างเป็นระบบ

         4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายอารีย์ วงศ์อารยะ) กล่าวถึงบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ จะต้องเข้าใจโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ และจะต้องมีบทบาทเป็นผู้แทนของทุกกระทรวงในการกำกับ ประสาน และบูรณาการโครงการให้เป็นไปตามแนวทางอยู่ดีมีสุข และให้แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกันโดยคำนึงถึง  1) ความต้องการของประชาชน  2) การมีส่วนร่วมของประชาชน  3) การสร้างขีดความสามารถให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ สำหรับขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินอยู่ที่จังหวัดขอให้เป็นไปตามระเบียบ รวดเร็ว และโปร่งใสทุกบาท ให้รวบรวมความต้องการที่มาจากกระบวนการเรียนรู้ในการปรับตัวของชุมชน

         5. การดำเนินการขั้นต่อไป

              1) ให้จังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด อำเภอ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดภายในวันที่ 10 เมษายน 2550

              2) จังหวัดพิจารณากลั่นกรอง และอนุมัติโครงการตามเกณฑ์ที่กำหนด และส่งให้สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2550

              3) การจัดตั้งงบประมาณปี 2551 กระทรวงมหาดไทยจะเป็นหน่วยงานตั้งคำของบประมาณ และการจัดสรรงบประมาณให้กับจังหวัดจะพิจารณาจากผลงานในปี 2550 จังหวัดใดสามารถเสริมสร้างการปรับตัว กระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนไปสู่แผนชุมชนที่เชื่อมโยงกับแผนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น จะเป็นเกณฑ์สำคัญในการจัดสรรงบประมาณปี 2551

              4) ให้มีคณะทำงานติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงบประมาณ และ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ รายงานผลต่อคณะกรรมการระดับชาติและคณะรัฐมนตรี

 

กฎหมาย

เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติระบบบริการการแพทย์
และสาธารณสุขฉุกเฉิน พ.ศ. .


         คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 ซึ่งมี
รองนายกรัฐมนตรี (นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) เป็นประธานกรรมการ ที่อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉิน พ.ศ. .
ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย และให้รับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีในประเด็นดังต่อไปนี้ไปพิจารณาด้วย

         1. การจัดตั้งสถาบันนเรนทรฯ เห็นควรให้เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การมหาชน

         2. การจัดตั้งและการใช้จ่ายเงินของกองทุนด้านการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉินตามร่างมาตรา 40-42 ให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาให้สอดคล้องกับหลักการใช้จ่ายการเงินการคลังภาครัฐ แล้วแจ้งผลการพิจารณาให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

กฎหมาย

เรื่อง
การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง
หลักเกณฑ์การจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศของหน่วยงานของรัฐ

          คณะรัฐมนตรีอนุมัติและเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้

         1. อนุมัติให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศของหน่วยงานของรัฐ รวม 3 มติ ดังนี้
             1.1 มติคณะรัฐมนตรี (13 มีนาคม 2544) เรื่อง การนำเข้าพัสดุจากต่างประเทศ และการจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศ
             1.2 มติคณะรัฐมนตรี (22 ตุลาคม 2544) เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศ และการจ้างที่ปรึกษาไทย
             1.3 มติคณะรัฐมนตรี (10 พฤษภาคม 2548) เรื่อง การจ้างที่ปรึกษาไทย

         2. เห็นชอบหลักเกณฑ์การจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศของหน่วยงานของรัฐ ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ

         3. ให้กระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการพิจารณาตีความและวินิจฉัยเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

         สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับ แนวทางปฏิบัติในการจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศของหน่วยงานของรัฐ พบว่ามีจำนวน 3 มติ (13 มีนาคม 2544, 22 ตุลาคม 2544 และ 10 พฤษภาคม 2548) โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นมติที่ออกในช่วงเวลาการใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งระเบียบดังกล่าวได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างที่ปรึกษาโดยมุ่งส่งเสริมและพัฒนาที่ปรึกษาไทย และให้มีศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังด้วย ดังนั้น การจ้างที่ปรึกษาไทยในปัจจุบันจึงมีแนวทางปฏิบัติเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ แล้ว ส่วนการจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศมิได้มีรายละเอียดกำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวสมควรได้รับการปรับปรุงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศของหน่วยงานของรัฐ โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้จัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์การจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศของหน่วยงานของรัฐ ให้สมบูรณ์ชัดเจนและอยู่ในฉบับเดียวกัน จึงได้เสนอขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่เสนอดังกล่าว

         (ร่าง) หลักเกณฑ์การจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศของหน่วยงานของรัฐ มีสาระสำคัญ ดังนี้

         โดยที่ประเทศไทยสูญเสียงบประมาณค่าใช้จ่ายเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศในการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เป็นเงินจำนวนมากในแต่ละปี ประกอบกับปัจจุบันนักวิชาการไทยจำนวนมาก มีความรู้ความสามารถและศักยภาพเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการและกิจกรรมด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่าย รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและพัฒนางานด้านการเป็นที่ปรึกษาของนักวิชาการไทย สมควรกำหนดหลักเกณฑ์การจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศ ดังนี้

         1. ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาเลือกจ้างที่ปรึกษาไทยที่มีความรู้ความสามารถในด้านที่เกี่ยวข้องก่อนเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และให้ถือปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับของหน่วยงานผู้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด แต่หากมีความจำเป็น และไม่อาจจัดจ้างที่ปรึกษาไทยที่เหมาะสมได้ ให้จ้างที่ปรึกษาต่างประเทศได้ในกรณีดังต่อไปนี้ โดยให้เป็นความรับผิดชอบของหัวหน้าหน่วยงานผู้ดำเนินการที่จะจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศ

              1.1 กรณีเป็นการจ้างที่ปรึกษา ซึ่งแหล่งเงินช่วยเหลือหรือเงินกู้กำหนดเงื่อนไขให้พิจารณาจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศด้วย
              1.2 กรณีได้รับการยืนยันเป็นหนังสือจากศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษากระทรวงการคลังว่า ไม่มีที่ปรึกษาไทยในสาขาบริการหรืองานนั้น และไม่มีที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยของรัฐสามารถให้บริการได้
              1.3 กรณีเป็นการจ้างที่ปรึกษาของส่วนราชการในต่างประเทศหรือมีกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติในต่างประเทศ

         2. ในกรณีที่ไม่อยู่ในข้อยกเว้นตามข้อ 1 และมีความจำเป็นจะต้องจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศ ให้เสนอรัฐมนตรีพิจารณา

         3. ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้จัดทำสัญญาหรือข้อตกลงจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศ หรือได้แจ้งผลการคัดเลือกให้ที่ปรึกษาต่างประเทศทราบก่อนวันที่ 22 ตุลาคม 2544 (ซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ หลักเกณฑ์การจ้างที่ปรึกษาที่ได้ปรับปรุงใหม่ แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนมาก ที่ นร. 0205/ว 212 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2544 เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศและการจ้างที่ปรึกษาไทย) ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามสัญญาหรือข้อตกลง หรือการแจ้งผลการคัดเลือกต่อไปได้

         ทั้งนี้ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

เศรษฐกิจ

เรื่อง
มาตรการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2550

          คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยเพิ่มเติมจากมาตรการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 เมษายน 2550  เพื่อบริหารจัดการงบประมาณที่เหลืออยู่ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 และการใช้จ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเร่งรัดให้มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มอุปสงค์และการลงทุนในประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นแนวทางให้หัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจใช้ในการกำกับ ดูแล ติดตาม เร่งรัดและแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้

         1. การใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้

              1.1 ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจใช้แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณแล้ว เป็นเป้าหมายหลักในการเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อให้การเบิกจ่ายบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550

              1.2 โครงการ/รายการที่ได้ทำสัญญา/ก่อหนี้ผูกพันไว้แล้ว ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเร่งรัดการดำเนินงาน ดังนี้

                      1) ควบคุม/กำกับ การดำเนินงานตามสัญญาของคู่สัญญา ให้มีการส่งมอบงานก่อสร้าง หรือพัสดุภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา

                      2) ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ กำกับดูแลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจการจ้าง และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ โดยให้ถือหลักปฏิบัติในเรื่องระยะเวลาตรวจรับพัสดุ หรือตรวจการจ้างงาน ก่อสร้าง ตามนัยหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0305 / ว 5855 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2544 อย่างเคร่งครัด และหากไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด ให้รายงานเหตุผลความจำเป็นต่อหัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อพิจารณาดำเนินการแก้ไขเร่งรัดต่อไป

                      ทั้งนี้ สมควรให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจกำหนดแนวทางหรือวิธีปฏิบัติ ในการขออนุมัติเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง กระชับ รวดเร็ว ลดขั้นตอนการตรวจสอบที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินเป็นไปโดยเร็ว

                      3) กรณีที่การดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจติดตาม เร่งรัด และแก้ไขปัญหาอุปสรรค เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

              1.3 โครงการ/รายการที่ยังไม่ได้ทำสัญญา/ก่อหนี้ผูกพัน ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาได้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ/รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจส่งผลการจัดซื้อจัดจ้างให้สำนักงบประมาณพิจารณาให้ความเห็นชอบ ความเหมาะสมของราคาภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2550

              1.4 ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจพิจารณาทบทวนแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ในกรณีที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่สามารถทำสัญญา/ก่อหนี้ผูกพันโครงการ/รายการใดได้ทันภายในไตรมาส 3 (30 มิถุนายน 2550) และไม่มีหนี้ค่าสาธารณูปโภค ให้พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยนำเงินงบประมาณที่ได้จากการปรับแผนฯ ไปดำเนินการ ดังนี้

                      1) ดำเนินการตามสัญญา กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เช่น เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน การจ่ายค่างานตามปริมาณที่ทำจริงซึ่งสูงกว่าสัญญา เป็นต้น

                      2) ดำเนินโครงการ/รายการ ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่สามารถดำเนินการได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้

                      3) ดำเนินโครงการ/รายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและต้องใช้จ่ายงบประมาณเกินกว่าที่ได้รับการจัดสรร เช่น ราคากลางหรือผลการประกวดราคาสูงกว่างบประมาณที่ได้รับ เป็นต้น

                      4) ดำเนินโครงการ/รายการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือเพิ่มรายได้ให้ประชาชน เช่น แก้ปัญหาภัยแล้ง แก้ปัญหาน้ำท่วม การจ้างงานในชนบท เป็นต้น

                      5) ดำเนินโครงการ/รายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล

                      6) ดำเนินโครงการ/รายการที่ทำให้เพิ่มผลิตภาพผลผลิต (Productivity)

              ทั้งนี้ โครงการ/รายการที่จะดำเนินการดังกล่าวจะต้องอยู่ในเงื่อนไข ดังนี้

              - กรณีที่เป็นรายการเดิมที่ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ซึ่งไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ตามแผนที่กำหนดไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ให้นำไปใช้ได้แต่เฉพาะในรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณอื่น ๆ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว และสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าแผน หรือโครงการ/รายการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ และมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องจ่ายเงินตามสัญญาเป็นลำดับแรก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการคลังและไม่เป็นภาระงบประมาณในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป

              - กรณีที่เป็นโครงการ/รายการใหม่ จะต้องมีความพร้อมที่จะดำเนินการและสามารถก่อหนี้ผูกพันลงนามในสัญญาได้ ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2550 และต้องไม่เป็นโครงการ/รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ โดยสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2550

              ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจดำเนินการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามนัยข้อ 1.4 เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป

         2. งบประมาณรายจ่ายงบกลาง งบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการใดที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจได้รับการจัดสรรงบประมาณไปใช้จ่าย และบรรลุวัตถุประสงค์แล้วมีเงินเหลือ ให้นำส่งคืนคลังตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 หากมีความจำเป็นจะต้องนำไปใช้จ่ายในรายการอื่น ๆ ให้พิจารณาดำเนินการตามนัย ข้อ 1.4 ได้โดยอนุโลม แล้วขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป

         3. การใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับอนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี หรืออยู่ระหว่างการขออนุมัติขยายระยะเวลาเบิกจ่ายเงินดังกล่าวออกไปอีก ให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจนำมาตรการ ข้อ 1 ข้างต้น มาใช้โดยอนุโลม

         4. ให้สำนักงบประมาณติดตามและรายงานผลการปรับแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณในไตรมาสที่ 3 ให้คณะรัฐมนตรีทราบ ภายในเดือนกรกฎาคม 2550

         5. ให้สำนักงบประมาณนำผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 และเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ไปประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ให้กับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจด้วย

 

หมายเหตุ  ข่าวสรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติและขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ สำนักบริหารการประชุมคณะรัฐมนตรี โทร 0 2280 9000 ต่อ 331 - 333

 

ข้อมูลจาก  http://www.thaigov.go.th

 

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 27 เมษายน 2550 09:58:56 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 27 เมษายน 2550 09:58:56
หนังสือเวียน
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th