หลังจากเสร็จสิ้นพิธีมอบประกาศนียบัตรแล้ว คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตร และได้ มอบนโยบายการเป็นวิทยากรและที่ปรึกษามืออาชีพ ด้านการพัฒนาระบบราชการ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
การเป็นที่ปรึกษาภายในของหน่วยงานนั้น ยากกว่าการเป็นที่ปรึกษาภายนอก เนื่องจากที่ปรึกษาภายนอกอาจมีจุดเด่นที่การใช้ประสบการณ์ทางความคิด และมุมมองจากภายนอก ที่แตกต่างจากภายในหน่วยงาน แต่ปัญหาคือ เมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้ว ที่ปรึกษาภายนอกเหล่านี้ก็จะกลับไป โดยประสบการณ์ ข้อมูล และองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินโครงการก็จะไปพร้อมกับที่ปรึกษาภายนอกด้วย
นอกจากนี้ ในหลาย ๆ ครั้ง ได้มีข้อโต้แย้งว่า ความคิดของที่ปรึกษาภายนอกรวบรวมกลั่นกรองออกมาเป็นข้อเสนอแนะนั้น เป็นความคิดของใครหรือได้จากแหล่งข้อมูลใด ซึ่งในบางครั้งเป็นความคิดของบุคลากรในหน่วยงานเอง แต่ถูกถ่ายทอดออกมาในนามของที่ปรึกษาภายนอก เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
สำหรับ ที่ปรึกษา CMC และ วิทยากรต้นแบบ นั้น แม้จะเป็นที่ปรึกษาที่จะให้คำปรึกษาหรือถ่ายทอดความรู้ให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ภายนอกหน่วยงานของตน แต่ยังนับว่าเป็นที่ปรึกษาภายในระบบราชการ ดังนั้น จึงขอมอบกำลังใจให้กับบุคคลเหล่านี้ในการปฏิบัติงาน เนื่องจากงานของระบบราชการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปตามลำดับ
ปัญหาหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาหลักของระบบราชการ / ข้าราชการ คือ กระบวนการบริหารจัดการในระบบราชการ เพราะระบบราชการเคยชินกับเรื่องของการบริหาร แต่ไม่ได้เน้นในเรื่องของการจัดการ ทำให้การทำงานหลาย ๆ ครั้งต้องใช้เวลามากแต่ได้ผลงานน้อย ดังนั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจึงฝากความหวังไว้กับข้าราชการรุ่นใหม่ โดยเฉพาะที่ปรึกษา CMC และวิทยากรต้นแบบ ในการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับปรุง และพัฒนางานให้เป็นการปฏิบัติงานที่ใช้เวลาน้อย แต่ได้ผลงานมาก รวมทั้งถ่ายทอดกระบวนการปรับปรุงระบบราชการให้กับผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งข้าราชการในระดับต่าง ๆ ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับผู้บังคับบัญชา เพื่อให้เข้าใจ รับฟังความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชา และมีความเชื่อในการที่จะปรับเปลี่ยนระบบการทำงาน เพื่อให้ผลงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ปัญหาอีกประการหนึ่งของระบบราชการคือ การทำงานในแนวราบ หรือระหว่างเพื่อนร่วมงาน ซึ่งข้าราชการไทยส่วนใหญ่ขาดการพูดคุยหารือกันเกี่ยวกับเรื่องงาน หรืนประสานกัน ซึ่งนับว่าเป็นจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง เพราะการพูดคุยหารือและการทำงานประสานกันนั้น จะทำให้ได้ข้อมูล ความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิด และจะทำให้การทำงานมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ความรู้ เป็นเสมือนอาวุธที่จำเป็นต้องใช้ตลอดเวลา เหมือนกับการลับอาวุธให้คมอยู่เสมอ เพราะหากไม่ได้นำความรู้ไปใช้แล้ว ในเวลาไม่กี่เดือน ความรู้นั้นก็อาจจะถูกลืมเลือนหรือดับไป จึงขอฝากให้ที่ปรึกษา CMC และ วิทยาต้นแบบ นำความรู้ต่าง ๆ ไปใช้อย่างสม่ำเสมอ โดยผ่านการพูด การเขียน และที่สำคัญคือ การลงมือปฏิบัติ
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ข้าราชการนั้น นอกจากจะ เก่ง แล้ว ต้อง ดี ด้วย ความดีเป็นสิ่งที่ต้องสะสมให้เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผู้ที่จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำและถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคคลต่าง ๆ จะต้องทำให้จิตของตนเป็นจิตที่ดี มีคุณธรรม และไม่มีอคติ เพราะการเป็นที่ปรึกษานั้น จะทำให้ได้ข้อมูลมาก และคำปรึกษานั้นจะมีน้ำหนักและมีประโยชน์ได้ ก็ต่อเมื่อผู้ให้คำปรึกษามีจิตที่ดี จึงขอแนะนำที่ปรึกษา CMC และวิทยากรต้นแบบ ให้ฝึกจิตให้เป็นจิตที่เข้มแข็ง เต็มไปด้วยความเมตตา เป็นจิตที่เป็นกุศล ทำแต่สิ่งที่ดีงาม
และสุดท้ายคือ ขอให้มีความ กล้า ซึ่งผู้ที่เก่งแล้วจะต้องกล้าด้วย เพราะด้วยความรู้และประการณ์ที่มีมากกว่าผู้อื่น ทำให้เราต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ทักท้วง หรือแนะนำ และต้องอดทน ไม่หยุดที่จะเสนอความเห็นและให้คำแนะนำ จนกว่าผู้บังคับบัญชาจะรับฟัง เห็นด้วย และเชื่อในความเห็นและคำแนะนำนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานประสบผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่ปรึกษาด้านการบริหารผู้ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐาน (CMC) รุ่นที่ 2
วิทยากรต้นแบบตามโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้
ส่วนหนึ่งของชาวสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ได้รับประกาศนียบัตรที่ปรึกษา CMC และวิทยากรต้นแบบ
พิธีกรของงาน... คุณปิยสุรางค์
กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
วสุนธรา (สำนักเลขาธิการ) / รายงาน
บุศรา & วสุนธรา (สำนักงานเลขาธิการ) / ภาพ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 4 กันยายน 2552 11:37:38 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 4 กันยายน 2552 11:37:38