Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
หนังสือเวียน / มติ คณะรัฐมนตรี / มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2550 / เมษายน / วันอังคารที่ 3 เมษายน 2550

วันอังคารที่ 3 เมษายน 2550

มติคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 3 เมษายน 2550
ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.

           การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน 2550    ซึ่งมี นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้

สังคม

เรื่อง
หลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐ

         คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการเป็นหน่วยงานของรัฐ หลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐ ออกเป็น 4 ประเภท คือ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ และการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน ตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ สำหรับรัฐวิสาหกิจบางแห่ง จำนวน 10 แห่ง ที่เข้าข่ายที่อาจจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนได้ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับไปศึกษาในรายละเอียดและประสานหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่อไป

         1. หลักเกณฑ์ในการพิจารณาการเป็นหน่วยงานของรัฐ มีดังนี้

             1.1 ความสัมพันธ์กับรัฐ ประกอบด้วย การจัดตั้ง รูปแบบ การแต่งตั้งบุคลากรระดับสูง และการกำกับดูแลของรัฐ โดยพิจารณาถึงที่มาของการจัดตั้ง ประเภทของหน่วยงานที่ระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้ง อำนาจหรือบทบาทของรัฐในการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน บทบาทของรัฐในการกำกับดูแลการดำเนินกิจการของหน่วยงาน

             1.2 กิจกรรม พิจารณาถึงกิจกรรมของหน่วยงานนั้น ว่าเป็นบริการสาธารณะหรือไม่ และเป็นบริการสาธารณะประเภทใด

             1.3 งบประมาณ/รายได้ของหน่วยงาน และการค้ำประกันหนี้ พิจารณาถึงแหล่งที่มาของงบประมาณและหรือรายได้หลักของหน่วยงาน ว่ามาจากแหล่งใด เป็นเงินงบประมาณของรัฐ หรือเป็นรายได้ที่หน่วยงานได้รับจากการดำเนินกิจกรรม หรือเป็นการสมทบเงินเข้ากองทุน เป็นต้น รวมทั้งพิจารณาว่ารัฐค้ำประกันหนี้ของหน่วยงานนั้นหรือไม่ โดยยึดพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 เป็นหลักในการพิจารณา

             1.4 สถานะของบุคลากร พิจารณาว่าบุคลากรของหน่วยงานมีสถานะอย่างไร เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามกฎหมายใดหรือไม่ หรือเป็นลูกจ้างพนักงานที่ใช้สัญญาจ้างตามกฎหมายแรงงาน

             1.5 วิธีการและระบบกฎหมายที่ใช้ในการทำกิจกรรม พิจารณาถึงการดำเนินกิจกรรมหลักของหน่วยงานว่า หน่วยงานต้องใช้อำนาจรัฐบังคับฝ่ายเดียวเป็นหลักในการทำงาน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งหน่วยงาน หรือใช้รูปแบบของสัญญาระหว่างหน่วยงาน

             1.6 ความเป็นเจ้าของและอำนาจในการบริหารจัดการ พิจารณาจากที่มาของการจัดตั้ง เงินทุนประเดิม สัดส่วนของรัฐในการถือหุ้น อำนาจตัดสินใจในการบริหารจัดการ และการมีส่วนในการครอบงำกิจการ

         2. หลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐ ออกเป็น 4 ประเภท คือ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ ดังนี้

             2.1 ส่วนราชการ หมายถึง หน่วยงานที่รับผิดชอบการให้บริการสาธารณะทางปกครอง ซึ่งเป็นภารกิจหลักของรัฐ ให้บริการเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งกำไร และมีความสัมพันธ์กับรัฐ ซึ่งประกอบด้วย รัฐจัดตั้ง รัฐปกครองบังคับบัญชา ใช้งบประมาณแผ่นดิน ใช้อำนาจฝ่ายเดียวของรัฐเป็นหลักในการดำเนินกิจกรรม บุคลากรมีสถานะเป็นข้าราชการ และรัฐต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวในการกระทำของหน่วยงาน

             2.2 รัฐวิสาหกิจ หมายถึง หน่วยงานที่รับผิดชอบบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม
มีวัตถุประสงค์เพื่อการแสวงหารายได้ ต้องสามารถเลี้ยงตัวเองจากการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ แต่หากมีความจำเป็นต้องรับเงินงบประมาณสนับสนุนเป็นครั้งคราวหรือบางส่วน ในกรณีนี้ รัฐก็ควรจัดสรรงบประมาณให้ในรูปของเงินอุดหนุน ซึ่งควรจะแยกจากการเก็บค่าบริการตามปกติของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ให้ชัดเจน เป็นนิติบุคคล และมีความสัมพันธ์กับรัฐ ซึ่งประกอบด้วย รัฐจัดตั้ง ทุนเกินครึ่งเป็นของรัฐ รัฐมีอำนาจบริหารจัดการ (ผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงและการให้นโยบาย) การลงทุนต้องขอความเห็นชอบจากรัฐและรายได้ต้องส่งคืนรัฐ บุคลากรมีสถานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ และวิธีดำเนินการไม่ใช้อำนาจฝ่ายเดียวเป็นหลัก แต่ใช้สัญญา ไม่ใช้กฎระเบียบของทางราชการในการบริหารการเงิน การบริหารงานและการบริหารบุคคล ยกเว้นรัฐวิสาหกิจที่ต้องใช้อำนาจพิเศษของรัฐ เช่น เวนคืน ปักเสา พาดสาย ต้องจัดตั้งโดยมีพระราชบัญญัติรองรับ

             2.3 องค์การมหาชน หมายถึง หน่วยงานที่รับผิดชอบบริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร เป็นนิติบุคคลและมีความสัมพันธ์กับรัฐ ซึ่งประกอบด้วย รัฐจัดตั้ง ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ หรือสามารถเลี้ยงตัวเองได้ (ยกเว้นมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง) และรัฐมีอำนาจบริหารจัดการ (ผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงและการให้นโยบาย) การลงทุนต้องขอความเห็นชอบจากรัฐ บุคลากรมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และวิธีดำเนินการ ไม่ใช้อำนาจฝ่ายเดียวเป็นหลัก แต่ใช้สัญญา ไม่ใช้กฎระเบียบของทางราชการ (ยกเว้นกิจกรรมที่ต้องใช้อำนาจฝ่ายเดียวต้องออกพระราชบัญญัติ รวมทั้งกรณีจัดตั้งมหาวิทยาลัย)

             2.4 หน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ หมายถึง

                     (1) องค์การของรัฐที่เป็นอิสระ (Independent Administrative Organization) ซึ่งเป็นหน่วยงานรูปแบบใหม่ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมกำกับดูแลกิจกรรมของรัฐ ตามนโยบายสำคัญที่ต้องการความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ปราศจากแทรกแซงจากอำนาจทางการเมือง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นต้น

                     (2) กองทุนที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจของรัฐ หมายถึง นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยตราเป็นพระราชบัญญัติ เนื่องจากต้องการอำนาจรัฐในการบังคับฝ่ายเดียวต่อภาคเอกชนหรือประชาชน ในการสมทบเงินเข้ากองทุน ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนก็เพื่อเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจของรัฐ ในการดำเนินบริการสาธารณะแก่ประชาชน หรือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ หรือเพื่อการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเฉพาะด้าน การดำเนินงานของกองทุนจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และเงินสมทบจากกลุ่มเป้าหมายนั้น ๆ

         3. การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน ควรมีหลักเกณฑ์การจัดตั้ง ดังนี้

             3.1 การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ ให้จัดตั้งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เว้นแต่รัฐวิสาหกิจนั้นจำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐบังคับฝ่ายเดียวต่อประชาชน จึงให้ตราเป็นพระราชบัญญัติเฉพาะได้ หรือกรณีที่จะจัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำกัด ก็ให้ดำเนินการจัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด

             3.2 การจัดตั้งองค์การมหาชนโดยทั่วไป ให้จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เว้นแต่องค์การมหาชนนั้นจำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐบังคับฝ่ายเดียวต่อประชาชน จึงให้ตราเป็นพระราชบัญญัติเฉพาะได้  

สังคม

เรื่อง
วันหยุดราชการช่วงเทศกาลสงกรานต์

         คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้วันอังคารที่ 17 เมษายน 2550 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเติม เป็นกรณีพิเศษอีก 1 วัน รวมเป็นวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทั้งหมด 5 วัน (วันที่ 13 - 17 เมษายน 2550) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนประเพณีและวัฒนธรรมไทย รวมทั้งเป็นการให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว ทั้งนี้ กรณีวันหยุดของธนาคารพาณิชย์ให้เป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนวันหยุดของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ประกอบประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2549 

แต่งตั้ง

เรื่อง
การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ในคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ

         คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอให้แต่งตั้ง นายสิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหาร ในคณะกรรมการตรวจสอบและประเมิลผลภาคราชการ แทนกรรมการเดิมที่ลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2550 เป็นต้นไป

 หมายเหตุ  ผลสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติและขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ สำนักบริหารการประชุมคณะรัฐมนตรี โทร 0 2280 9000 ต่อ 331 - 333 

ข้อมูลจาก  http://www.thaigov.go.th

 

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 5 เมษายน 2550 22:36:47 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 5 เมษายน 2550 22:36:47
หนังสือเวียน
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th