Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
หนังสือเวียน / มติ คณะรัฐมนตรี / มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2550 / มีนาคม / วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2550

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2550

มติคณะรัฐมนตรีวันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2550

ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.

           การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2550    ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 3 เรื่อง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

เรื่อง
การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551

         คณะรัฐมนตรีได้มีการหารือกันอย่างกว้างขวาง เรื่องของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 โดยมุ่งเน้นที่จะให้การจัดทำงบประมาณ เป็นเครื่องมือที่จะนำนโยบายรัฐบาลให้สามารถไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ

         ประการแรก การเร่งรัดติดตามและสกัดอุปสรรคการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2550 ซึ่งวันนี้ (17 มีนาคม 2550) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบผลการดำเนินการการ เบิกจ่ายงบประมาณปี 2550 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตามเป้าหมายการเบิกจ่าย ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 เท่ากับ 42.46 เปอร์เซ็นต์ คือ 665,009,000,000 บาท ผลการเบิกจ่าย ณ วันที่ 12 มีนาคม 2550 สามารถเบิกจ่ายได้ 37.02 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 579,881,000,000 บาท จากวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,566,200,000,000 บาท ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ต้องการ เพราะยังเหลือเวลาอีกครึ่งเดือน ในส่วนที่เหลืออีก 5 เปอร์เซ็นต์ จึงน่าที่จะเป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้

         ประการที่สอง คือ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2551 ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและการพัฒนาในทุกมิติอย่างยั่งยืน โดยผลการประชุมที่สำคัญคือ นายกรัฐมนตรีได้แจ้งผลการดำเนินงาน และการใช้จ่ายงบประมาณในภาพรวมของประเทศให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ เพื่อจะใช้ในการติดตามเร่งรัดผลการดำเนินงานในปี 2550 และได้ให้นโยบาย หลักการ ในการจัดทำงบประมาณ ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ

         1. การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักธรรมาภิบาลในเรื่องของความประหยัด ความมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรม มาใช้ในการจัดทำงบประมาณอย่างจริงจัง และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเหมาะสม

         2. การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ให้ใช้นโยบายของรัฐบาล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ซึ่งแปลงมาเป็นยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณปี 2551 เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศ และก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างยั่งยืน รวมทั้งขอให้พิจารณาดำเนินโครงการต่อเนื่องที่เป็นประโยชน์ และทบทวนปรับลดในเรื่องที่หมดความจำเป็นลงด้วย

         ทั้งนี้ รัฐมนตรีได้นำเสนอนโยบายต่าง ๆ จุดเน้น ตลอดจนแผนงานโครงการสำคัญที่จะมีการดำเนินการต่อเนื่อง และแผนงานโครงการใหม่ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยข้อเสนอจากรัฐมนตรีในเบื้องต้น มีกรอบวงเงินทั้งหมด 2,087,496,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่ากรอบวงเงินงบประมาณปี พ.ศ. 2551 ที่กำหนดไว้ที่ 1,635,000 ล้านบาท อยู่ 452,496,000,000 บาท หรือประมาณ 27.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้แสดงความคิดเห็นในเชิงนโยบายที่มีความสำคัญ และเป็นประโยชน์ในเรื่องของนโยบายที่จะนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณ และนำไปสู่การปฏิบัติในปี 2551 แต่เนื่องจากข้อเสนอวงเงินเบื้องต้นของปี 2551 สูงกว่าวงเงินงบประมาณ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติขอความร่วมมือรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้

         1. พิจารณาทบทวนการดำเนินงานในเรื่องเดิมที่หมดความจำเป็น หรือมีความสำคัญต่ำ เพื่อให้มีวงเงินสำหรับการดำเนินงานเรื่องใหม่ ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ในจำนวนที่มากพอ

         2. พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินงานเรื่องใหม่ ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับระยะเวลาอย่างเหมาะสมด้วย

         โดยจากนี้ไปกระทรวงต่าง ๆ จะจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2551 และส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 12 เมษายน 2550 ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในปฏิทินงบประมาณต่อไป

 เรื่อง
ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมประชาสัมพันธ์
สำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

         คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอ

         ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้กรมประชาสัมพันธ์สามารถดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ให้แก่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐได้

หมายเหตุ* กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ได้เพิ่มเติม ดังนี้ "6/1 ดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ให้แก่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ" ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าว ได้ลงประกาศในรายกิจจานุเบกษา วันที่ 18 มีนาคม 2550)

*ข้อมูลจากการประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 4/2550 วันที่ 19 มีนาคม 2550 

เรื่อง
นายกรัฐมนตรีกำชับ ครม. บูรณาการการทำงาน
เน้นดูแลประชาชนฐานราก

         โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า ภายหลังการพิจารณาเรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 แล้ว คณะรัฐมนตรีได้มีการหารือกันเป็นการภายในใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงแนวทางการทำงาน โดยเฉพาะการบูรณาการการทำงานของแต่ละกระทรวงเข้าด้วยกัน ให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น

         นายกรัฐมนตรีได้ฝากถึงการทำงานในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน และการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เน้นบูรณาการการทำงานค่อนข้างมาก ซึ่งเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน แม้กระทั่งเรื่องของภาคใต้ก็เกี่ยวข้องกับด้านต่างประเทศด้วย เป็นต้น เพราะฉะนั้นขอให้แต่ละหน่วยงานได้มีการบูรณาการกันเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยเฉพาะด้านงบประมาณ รวมทั้งเน้นการดูแลประชาชนฐานราก เพราะเม็ดเงินกำลังจะเริ่มลงไปอย่างเต็มที่แล้ว และเน้นว่า การดำเนินการในส่วนนี้ของรัฐบาลต้องการให้ความช่วยเหลือประชาชนฐานราก โดยไม่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทางด้านการเมือง และจะเป็นการดำเนินการที่เป็นธรรมเท่าเทียมกันทั้งประเทศ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

         โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ฝากให้แต่ละกระทรวงที่มีความเกี่ยวข้องกัน อาจจะต้องมีการประชุมกลุ่มย่อมร่วมกันให้บ่อยครั้งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่จะเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อให้การทำงานในช่วง 7 เดือนจากนี้ไป มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งฝากให้รัฐมนตรีไปดูงานเร่งด่วน โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมายต่าง ๆ ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี เพื่อปรับปรุงการทำงาน แต่เป็นการพูดคุยกันในเรื่องการทำงานภาพรวม ว่าจะบูรณาการการทำงานกันได้อย่างไรมากกว่า และให้มีการประสานงานกันมากยิ่งขึ้น

         โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายกันในหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องการช่วยเหลือประชาชน เช่น ปัญหาน้ำเน่าเสียในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้มอบหมายให้นายบัญญัติ จันทน์เสนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยกำกับดูแลในการให้ความช่วยเหลือ โดยจะประสานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน ส่วนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการพูดถึงในกรอบภาพรวมของการบูรณาการว่า การทำงานตรงนี้จะมีหลายมิติเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงอยากให้มีการประสานกันอย่างใกล้ชิด

หมายเหตุ  ผลสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติและขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ สำนักบริหารการประชุมคณะรัฐมนตรี โทร 0 2280 9000 ต่อ 331 - 333

 

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 10 เมษายน 2550 13:22:43 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 10 เมษายน 2550 13:22:43
หนังสือเวียน
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th