มติคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 13 มีนาคม 2550
ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 13 มีนาคม 2550 ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 7 เรื่อง ดังนี้
กฎหมาย
เรื่อง
การกำหนดกลุ่มตรวจสอบภายใน กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
และกลุ่มงานด้านวิชาการไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการการกำหนดกลุ่มตรวจสอบภายใน กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร และกลุ่มงานด้านวิชาการไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของทุกส่วนราชการ หากมีการปรับปรุงกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของส่วนราชการใด ๆ ต่อไป ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบข้อกฎหมายเพื่อให้เกิดความรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง
สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า ได้นำเรื่องการกำหนดหน่วยงานตรวจสอบภายใน และหน่วยงานพัฒนาระบบบริหาร ไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของส่วนราชการต่าง ๆ ในภาพรวม เสนอ ก.พ.ร. ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า หน่วยงานตรวจสอบภายใน และหน่วยงานพัฒนาระบบบริหาร เป็นกลไกสำคัญที่ตอบสนองต่อการเสริมสร้างธรรมาภิบาล และการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาคราชการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงควรให้ปรากฏอยู่ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ ประกอบกับการกำหนดให้มีหน่วยงานในลักษณะนี้ เช่น กลุ่มงานวิชาการด้านต่าง ๆ ไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ ก็ได้เคยมีการกำหนดไปแล้วในหลายส่วนราชการ และไม่ขัดต่อประเด็นข้อกฎหมายตามความเห็นของ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการตีความและวินิจฉัยปัญหากฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดินที่เห็นว่า ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 บัญญัติให้กรมอาจมีส่วนราชการเป็นสำนักงานเลขานุการ กรม หรือกอง และยังอาจกำหนดให้มีส่วนราชการอื่นได้อีกด้วย การออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงมิใช่ข้อจำกัดให้กำหนดได้เฉพาะส่วนราชการระดับกอง หากแต่ยังสามารถกำหนดส่วนราชการอื่นที่มีความจำเป็น ตามลักษณะงานที่จะต้องแสดงไว้ด้วย เพื่อให้ทราบว่า ภารกิจนั้นของกรมจะมีส่วนราชการใดเป็นผู้ปฏิบัติงาน ก.พ.ร. จึงมีมติเห็นชอบให้มีการกำหนด กลุ่มตรวจสอบภายใน กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร และกลุ่มงานด้านวิชาการ ไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของทุกส่วนราชการ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน
เศรษฐกิจ
เรื่อง
มาตรการประหยัดพลังงาน
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2549 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2549 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้
1. ให้นำ ค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงานในส่วนราชการ มาใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินผล ด้านการประหยัดพลังงานของส่วนราชการ ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป โดยมอบหมาย สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมกันพิจารณากำหนดปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นตัวแปรให้เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของส่วนราชการ และให้สำนักงบประมาณนำ ค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงานในส่วนราชการ ไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในส่วนค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้แต่ละส่วนราชการ โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นไป
2. ในปีงบประมาณ 2550 ให้คงกำหนดเป้าหมายลดใช้พลังงานของส่วนราชการจาก ร้อยละ 10-15 เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานในปีงบประมาณ 2546 ไปก่อน และขณะเดียวกันให้ สนพ. ทำความเข้าใจกับส่วนราชการเรื่องเกณฑ์ใหม่ ค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงานในส่วนราชการ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการใช้งานต่อไป
3. ให้กระทรวงการคลังกำหนดให้ทุกส่วนราชการจัดซื้ออุปกรณ์และครุภัณฑ์ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานระดับดีมาก (ฉลากเบอร์ 5) ตลอดจนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในส่วนค่าบำรุงดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศและรถยนต์ ที่เป็นครุภัณฑ์ของส่วนราชการ ให้แต่ละส่วนราชการด้วย
ทั้งนี้ ให้รับข้อสังเกตของสำนักงบประมาณและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปประกอบการพิจารณาด้วย
เศรษฐกิจ
เรื่อง
แนวทางการบริหารจัดการงบประมาณ
ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอทั้ง 3 ข้อ ทั้งนี้ โดยให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. จัดสรรเงินงบประมาณในส่วนของยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด จำนวน 5,000 ล้านบาท ที่ตั้งเบิกจ่าย ณ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปตั้งเบิกจ่าย ณ กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข
2. ขยายวัตถุประสงค์การใช้เงินงบประมาณให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 ที่เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด ที่มุ่งให้ประชาชนและครอบครัวสามารถพึ่งตนเอง โดยใช้กลไกชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนและส่วนกลางปรับระบบ
3. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข จัดทำระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการบริหารจัดการวงเงินงบประมาณดังกล่าวข้างต้นต่อไป
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รายงานว่า
1. โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้าน/ชุมชน (SML) กำหนดวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการไว้ตั้งแต่แรกเริ่มว่า ต้องการให้มีการจัดสรรงบประมาณโดยตรง เพื่อประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชนจะได้นำไปแก้ไขปัญหาของส่วนรวม เพื่อการประกอบอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน โดยประชาชนเป็นผู้บริหารจัดการเอง (ร่วมคิด-ร่วมทำ) และถือเป็นอีกขั้นหนึ่งของการพัฒนาประชาธิปไตย
2. รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 ข้อ 2 นโยบายเศรษฐกิจ จะปรับปรุงบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานภูมิภาค โดยปรับปรุงระบบความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชน และภาคประชาสังคมอย่างเหมาะสม เพื่อร่วมกันรับผิดชอบดูแลผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนรักษาและดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ
3. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 ที่เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด ที่มุ่งให้ประชาชนและครอบครัวสามารถพึ่งตนเอง โดยใช้กลไกชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน และส่วนกลางปรับระบบ เพื่อเอื้อให้จังหวัดสามารถสะท้อนความต้องการของชุมชนมายังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มีจุดเน้นและกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่กิจกรรมและโครงการ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถบริหารจัดการได้โดยการมีส่วนของชุมชน ท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ ในการวางแผนและกำหนดโครงการ พร้อมทั้งให้มีคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อทำหน้าที่อำนวยการในการขับเคลื่อน
4. สำนักงบประมาณได้เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 เรื่อง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด ว่า วงเงินงบประมาณจำนวน 5,000 ล้านบาท ควรให้ใช้จ่ายจากงบประมาณปี พ.ศ. 2549
งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน ที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้เบิกจ่ายและฝากธนาคารไว้ โดยให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีร่วมกับกระทรวงมหาดไทย พิจารณานำเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุขต่อไป
5. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 อนุมัติให้เพิ่มวงเงินงบประมาณ สำหรับการดำเนินโครงการพัฒนา
หมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด ที่จะใช้วงเงินร่วมกันจากเดิมที่มีอยู่จำนวน 9,728,135,800 บาท (รวมดอกเบี้ย) เป็นจำนวน 10,000,000,000 บาท โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณเพิ่มเติมในส่วนที่ขาด จำนวน 271,864,200 บาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น
แต่งตั้ง
เรื่อง
คำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรีที่ 70/2550 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีสารสะคัญ ดังนี้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 15 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งสุดท้ายโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 นายกรัฐมนตรี จึงให้ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 191/2549 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2549 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 252/2549 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) และมีคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี และให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี และกำกับดูแล รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังต่อไปนี้
ส่วนที่ 1 นิยาม
ในคำสั่งนี้
กำกับการบริหารราชการ หมายความว่า กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินของส่วนราชการ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและนโยบายของคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจสั่งให้ส่วนราชการชี้แจงแสดงความคิดเห็นหรือรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการหรือ การปฏิบัติงาน สั่งสอบสวนข้อเท็จจริง หรือสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน คณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และคณะกรรมการอื่นแทนนายกรัฐมนตรี ตลอดจนอนุมัติให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี และอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2520 เกี่ยวกับการมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีที่ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี อนุญาตหรืออนุมัติเรื่องต่าง ๆ ของส่วนราชการในกำกับการบริหารราชการไปก่อนได้ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ
สั่งและปฏิบัติราชการ หมายความว่า สั่ง อนุญาต หรืออนุมัติให้ส่วนราชการหรือข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในส่วนราชการ ปฏิบัติราชการหรือดำเนินการใด ๆ ได้ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชา รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง
กำกับดูแล หมายความว่า กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนหรือหน่วยงานของรัฐ นโยบายของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสั่งให้รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนหรือหน่วยงานของรัฐชี้แจงแสดงความคิดเห็น ทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐ นโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการ
ส่วนที่ 2
1. รองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์)
1.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการ และสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
1.1.1 กำกับการบริหารราชการของส่วนราชการ ดังนี้
(1) กระทรวงการต่างประเทศ
(2) กระทรวงคมนาคม
(3) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(4) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(5) กระทรวงพลังงาน
(6) กระทรวงพาณิชย์
(7) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(8) กระทรวงอุตสาหกรรม
(9) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
(10) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
(11) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
1.1.2 กำกับการบริหารราชการ และสั่งและปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ดังนี้
(1) สำนักงบประมาณ (ยกเว้นการอนุมัติงบประมาณ)
(2) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(3) สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
1.2 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้
1.2.1 สำนักงานบริหารการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน
1.2.2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
1.3 การสั่งการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน
1.4 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 1.1 1.3 ยกเว้น
1.4.1 เรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย
1.4.2 การสถาปนาพระอิสริยยศ อิสริยศักดิ์ สมณศักดิ์
1.4.3 การแต่งตั้ง ในกรณีการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ข้าราชการตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงและกรม เอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศ กงสุล และกรรมการที่มีตำแหน่ง หน้าที่สำคัญ
1.4.4 การพระราชทานยศทหาร ตำรวจ ชั้นนายพล
1.4.5 การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และ การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำปี
1.4.6 การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการประกาศใช้ความตกลงระหว่างประเทศ
1.4.7 เรื่องสำคัญที่เคยมีประเพณีปฏิบัติให้เสนอนายกรัฐมนตรีลงนาม
ส่วนที่ 3
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม)
2.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการ และสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
2.1.1 กำกับการบริหารราชการของส่วนราชการ ดังนี้
(1) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
(2) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(3) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(4) กระทรวงแรงงาน
(5) กระทรวงวัฒนธรรม
(6) กระทรวงศึกษาธิการ
(7) กระทรวงสาธารณสุข
(8) กรมประชาสัมพันธ์
(9) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
(10) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
(11) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
(12) ราชบัณฑิตยสถาน
2.2 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐ ดังนี้
2.2.1 สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
2.2.2 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
2.2.3 สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
2.2.4 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
2.3 การสั่งการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย และการสั่งการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครู ซึ่งเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมายและการดำเนินคดีปกครอง รวมทั้งลงนามมอบอำนาจให้พนักงานอัยการดำเนินคดีปกครอง กรณีที่มีการฟ้องนายกรัฐมนตรีในการสั่งการตามกฎหมายดังกล่าว
2.4 การสั่งการตามกฎหมายว่าด้วยราชบัณฑิตยสถาน
2.5 การสั่งการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
2.6 การสั่งการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
2.7 การสั่งการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
2.8 การมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทน ในเรื่องที่เป็นงานประจำปกติของสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่จำเป็นต้องเสนอนายกรัฐมนตรีสั่งการตามกฎหมาย หรือที่ต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาตามกฎหมาย
2.9 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และลงนามในประกาศสำนักนายก รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 2.1 2.8 เว้นแต่กรณีที่ระบุยกเว้นในข้อ 1.4
ส่วนที่ 4
3. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์)
3.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
3.1.1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
3.1.2 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
3.1.3 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
3.1.4 กรมประชาสัมพันธ์
3.2 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชน ดังนี้
- สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้
ส่วนที่ 5
4. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์)
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 16 มีนาคม 2550 09:57:40 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 16 มีนาคม 2550 09:57:40