Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2550 / มีนาคม / การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐจังหวัดต้นแบบ

การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐจังหวัดต้นแบบ

 การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
จังหวัดต้นแบบ

           การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality Award : PMQA) ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริมให้ส่วนราชการและจังหวัดดำเนินการนั้น มีวัตถุประสงค์หลักในอันที่จะยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงานของภาครัฐ ให้สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการของหน่วยงาน สู่มาตรฐานระดับสากล รวมทั้งเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการประเมินตนเอง และเป็นบรรทัดฐานการติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐ

           ในการดำเนินการส่งเสริมและผลักดันเรื่องดังกล่าวให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จึงได้กำหนดให้ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้กำหนดให้การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นตัวชี้วัดบังคับ สำหรับส่วนราชการระดับกรมและจังหวัด ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการสำหรับการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550

           ในส่วนของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของจังหวัดนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เริ่มส่งเสริมและผลักดันให้จังหวัดดำเนินการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐในระดับจังหวัด มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 โดยกำหนดให้การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐเป็นตัวชี้วัดเลือกของจังหวัด และมีจังหวัดให้ความสนใจเข้าร่วมดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 จำนวน 37 จังหวัด ซึ่งแนวทางการดำเนินการตามตัวชี้วัดการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของจังหวัดในปี 2549 ได้กำหนดให้จังหวัดพิจารณาคัดเลือกอำเภอ จำนวน 1 อำเภอ มาดำเนินการ

           สำหรับการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของจังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 นั้น ได้กำหนดให้ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นตัวชี้วัดบังคับของจังหวัด (ตัวชี้วัดที่ 13 : ระดับความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ) ซึ่งในการดำเนินการตามเกณฑ์ของตัวชี้วัดดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้จังหวัดต้องดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐในภาพรวมของจังหวัด โดยระยะเริ่มแรกได้กำหนดขอบเขตการดำเนินการให้ครอบคลุมส่วนราชการประจำจังหวัด จำนวน 8 หน่วยงาน ซึ่งมีหน่วยงานครอบคลุมถึงระดับอำเภอด้วยก่อน ได้แก่ สำนักงานจังหวัด ที่ทำการปกครองจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานประมงจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

ขอบเขตการดำเนินการ : ครอบคลุม 8 ส่วนราชการหลัก

 

           อย่างไรก็ดี ขอบเขตการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของจังหวัด ตามตัวชี้วัดฯ ที่กำหนดให้ 8 ส่วนราชการประจำจังหวัด มาร่วมดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 จึงเป็นเพียงย่างก้าวแรกของการดำเนินการในระดับจังหวัดเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นการบริหารแบบองค์รวม ดังนั้น การยกระดับเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการของจังหวัดตามรูปแบบที่สมบูรณ์ จะต้องดำเนินการให้ครอบคลุมหน่วยงานทุกส่วนที่มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคทั้งหมด ซึ่งตามสภาพข้อเท็จจริงพบว่า ในปัจจุบันทุกจังหวัดจะมีส่วนราชการประจำจังหวัด จำนวน 27 ส่วนราชการ จะเห็นได้ว่าการดำเนินการในปี 2550 ยังไม่สามารถครอบคลุมส่วนราชการประจำจังหวัดทั้งหมด แต่การดำเนินการในระยะต่อไป ทุกจังหวัดจะต้องขยายผลการดำเนินการให้ครอบคลุมทุกส่วนราชการประจำจังหวัดทั้งหมด

           นอกจากนี้ ในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการระดับจังหวัด อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนแตกต่างจากส่วนราชการโดยปกติทั่วไป รวมถึงหลักเกณฑ์และแนวทางต่าง ๆ ที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ จำเป็นต้องปรุงแต่งให้เหมาะสมกับบริบทของจังหวัด เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ทั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างการบริหารราชการของจังหวัด จะมีความแตกต่างกับองค์กรต่าง ๆ ที่ได้เคยนำแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐมาใช้ ประกอบกับการบริหารงานของจังหวัดจำเป็นต้องใช้ลักษณะการบริหารงานแบบบูรณาการ ที่ทุกส่วนราชการจะต้องขับเคลื่อนการบริหารงานไปสู่เป้าหมายที่เป็นภาพรวมของจังหวัดร่วมกัน

           ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว ภารกิจการบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้จัดทำกิจกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐในจังหวัดต้นแบบขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและวิธีการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ที่ครอบคลุมการดำเนินการของส่วนราชการประจำจังหวัด จำนวน 27 ส่วนราชการ สำหรับใช้เป็นรูปแบบและแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐให้กับจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ภารกิจการบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม ได้พิจารณาคัดเลือกจังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดต้นแบบ (Korat Model) ในการดำเนินกิจกรรม

           และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ไปร่วมประชุมเพื่อเปิดตัวกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการจังหวัดต้นแบบ (Kick - Off) ณ หอประชุมศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยมี รองเลขาธิการ ก.พ.ร. พรพิมล รัตนพิทักษ์ เป็นหัวหน้าคณะ นำทีมงานของสำนักงาน ก.พ.ร. และที่ปรึกษาโครงการจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ไปพบผู้บริหารของจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนครราชสีมา

           วัตถุประสงค์ในการประชุมดังกล่าว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน มีการชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ ในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐในจังหวัดต้นแบบ แนวทางการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของจังหวัด ตามตัวชี้วัดฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 - 2550 การชี้แจงกรอบแนวทางการดำเนินการ รวมทั้งการรับฟังบรรยายสรุป เกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารงานของจังหวัดนครราชสีมา แผนยุทธศาสตร์จังหวัด ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ของจังหวัดนครราชสีมาที่ผ่านมา ซึ่งในการประชุมดังกล่าวมี นายประชา จิตสุทธิผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ให้การต้อนรับคณะทีมงานจากสำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติอย่างอบอุ่น และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. อย่างเต็มที่

           สำหรับหัวข้อการประชุมหารือ และบรรยากาศของการประชุมวันนั้น มีประเด็นการหารือร่วมกัน สรุปได้ ดังนี้

            ช่วงแรก  นายประชา จิตสุทธิผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
                ได้กล่าวต้อนรับคณะทีมงานของสำนักงาน ก.พ.ร. และได้แสดงความขอบคุณที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้พิจารณาคัเลือกให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดต้นแบบ ในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งเป็นรูปแบบของการดำเนินการที่ครอบคลุมทุกส่วนราชการประจำจังหวัด ที่เป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค (27 ส่วนราชการประจำจังหวัด) รวมทั้งยังได้ให้ความมั่นใจในศักยภาพและทีมงานของข้าราชการในจังหวัดนครราชสีมา ที่มีความตั้งใจและมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมดำเนินกิจกรรมนี้อย่างเต็มที่กับสำนักงาน ก.พ.ร.

 


            ช่วงที่สอง  รองเลขาธิการ ก.พ.ร. พรพิมล รัตนพิทักษ์ 
                ได้แนะนำตัวทีมงานของสำนักงาน ก.พ.ร. และที่ปรึกษาโครงการจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ รวมทั้งได้อธิบายภาพรวมของการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ตลอดจนชี้แจงถึงเหตุผล ความเป็นมา วัตถุประสงค์ของกิจกรรม และผลผลิตที่ต้องการ เพื่อให้ผู้บริหารของจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนครราชสีมา ได้รับทราบและเข้าใจถึงแนวคิดที่ถูกต้องของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือในเบื้องต้น ก่อนที่จะเริ่มดำเนินกิจกรรมดังกล่าวให้บังเกิดผลสำเร็จที่ต้องการ

 


            ช่วงที่สาม  ผอ.ณรงค์ บุญโญ  ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารการเปลี่ยนแปลง 4 ภารกิจการบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม สำนักงาน ก.พ.ร.
                ในฐานะเป็นหน่วยงานหลัก ที่รับผิดชอบในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับจังหวัด รวมทั้งจะต้องเป็นทีมงานหลักในการเข้าไปร่วมดำเนินการกับจังหวัดนครราชสีมา ได้ชี้แจงถึงความเป็นมา และพัฒนาการของการดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของจังหวัด โดยผ่านกลไกตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของจังหวัด ในช่วงการดำเนินการปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 2550 เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นภาพรวมของการดำเนินการ รวมทั้งชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็น ในการดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ที่จะเข้ามาดำเนินการในจังหวัดต้นแบบ ให้ที่ประชุมได้รับทราบถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินการ

      


            ช่วงที่สี่   นายศุภชัย เมืองรักษ์ ที่ปรึกษาโครงการจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้อธิบายถึงกรอบแนวทางการดำเนินการ วิธีการดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐในจังหวัดต้นแบบ เสนอต่อที่ประชุม เพื่อให้ผู้บริหารของจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนครราชสีมา ได้รับทราบก่อนที่จะเริ่มดำเนินการจริงในช่วงเดือนเมษายน ถึง เดือนกันยายน 2550

            ช่วงสุดท้าย 
                รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้บรรยายสรุปข้อมูลพื้นฐาน ของส่วนราชการประจำจังหวัดนครราชสีมา แผนยุทธศาสตร์จังหวัด การดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของจังหวัดนครราชสีมาที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีความเข้าใจร่วมกัน ก่อนที่จะเริ่มดำเนินกิจกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปกำหนดแผนการดำเนินงานร่วมกันต่อไป

  

           การประชุมเพื่อเปิดตัว กิจกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐในจังหวัดต้นแบบ ดังกล่าว ณ จังหวัดนครราชสีมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับความร่วมมือจากจังหวัดนครราชสีมาอย่างดียิ่ง การประชุมหารือสามารถบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ เพื่อนำไปสู่การดำเนินกิจกรรมร่วมกันในขั้นตอนต่อไป ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรม ทั้งในส่วนของสำนักงาน ก.พ.ร. สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และจังหวัดนครราชสีมา ต่างรับทราบและเข้าใจตรงกันถึงกรอบแนวทางและทิศทางในการดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งในลำดับต่อไป ทุกฝ่ายก็จะเริ่มดำเนินการตามกิจกรรมที่กำหนดไว้

           สำหรับความก้าวหน้าของการดำเนินการนั้น ภารกิจการบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม จะนำมารายงานให้ทราบความเคลื่อนไหวเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่กิจกรรมดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2550 เป็นต้นไป และคาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2550 นี้

           การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวนับว่าเป็นประโยชน์และอาจกล่าวได้เป็นมิติใหม่ของการพัฒนาระบบราชการอีกแนวทางหนึ่ง ในการสร้างเครือข่ายการดำเนินการพัฒนาระบบราชการร่วมกัน ระหว่างสำนักงาน ก.พ.ร. กับจังหวัด ที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาระบบราชการ และสร้างรูปแบบการดำเนินการพัฒนาระบบราชการให้บังเกิดผลในลักษณะของ     
 Win  Win Solution ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการของสำนักงาน ก.พ.ร. ในการพัฒนาระบบราชการบรรลุตามวิสัยทัศน์ของสำนักงาน ที่กำหนดไว้ว่า ส่งเสริมให้การพัฒนาระบบราชการดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 7 กันยายน 2552 15:20:07 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 7 กันยายน 2552 15:20:07
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th