เวทีนวัตกรรม (Innovative Forum) ครั้งที่ 3 Part I
:รมต.นร. มอบนโยบาย การจัดการความรู้ในราชการไทย
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2550 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัด การสัมมนาวิชาการ เวทีนวัตกรรม ครั้งที่ 3 ขึ้น ในหัวข้อ การจัดการความรู้ เครื่องมือสู่ความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ (Knowledge Management : A Tool for Strategic Success)ณ ห้อง ESCAP Hall ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยเชิญ Professor Ikujiro Nonaka ผู้มีบทบาทสำคัญต่อแนวคิดด้านการจัดการความรู้ของญี่ปุ่น มาให้ความรู้และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐของไทย การสัมมนาวิชาการประจำปีในครั้งนี้
เริ่มด้วยการกล่าวรายงานการสัมมนา โดย ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. จากนั้นเป็นการกล่าวเปิดการสัมมนาและมอบนโยบาย การจัดการความรู้ในราชการไทย โดย คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
|
|
ต่อด้วยการสัมมนาในหัวข้อ การจัดการความรู้ เครื่องมือสู่ความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ (Knowledge Management : A Tool for Strategic Success) โดย Professor Ikujiro Nonaka
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวรายงานถึงการสัมมนาวิชาการประจำปีของสำนักงาน ก.พ.ร. หรือ เวทีนวัตกรรม (Innovative Forum) ว่าได้เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ผู้บริหารของภาครัฐได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ เพื่อสามารถนำองค์ความรู้ไปสนับสนุนการทำงานให้มีความเป็นมืออาชีพ อันจะเป็นการพัฒนาระบบราชการให้มีรากฐานที่มั่นคง และเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
|
ที่ผ่านมา เราได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีผลงานโดดเด่น เป็นที่ยอมรับระดับโลกมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้บริหารในภาครัฐ โดยในปี 2547 เราได้รับเกียรติจาก Mr. Juan Enrigue ผู้แต่งหนังสือเรื่อง As the Future Catches You Mr. Narayana Murthy ผู้ประสบผลสำเร็จในการสร้างอาณาจักร IT ที่ยิ่งใหญ่จากอินเดีย Professer Dipak C. Jain คณบดีวิทยาลัยการจัดการแห่งเคลลอกก์ มหาวิทยาลัยนอรสท์ เวสเทิร์น ผู้มีชื่อเสียงด้านการจัดการตลาดระดับโลก และ Mr. J. Craig Venter นักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าในศตวรรษที่ 21 ผู้มีผลงานวิจัยโดดเด่นด้านพันธุกรรมมนุษย์
|
สำหรับในปี 2548 เราได้รับเกียรติจาก Mr. William D. Eggers ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเครือข่าย และเป็นผู้แต่งหนังสือเรื่อง Governing By Network และ Dr. Robert J. Thomas เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำกับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรและการบริหารการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเป็นผู้เขียนหนังสือ Best Seller เรื่อง Geeks and Geezers ที่ได้รับการตีพิมพ์ถึง 8 ภาษา และเวทีนวัตกรรม ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการสัมมนาวิชาการประจำปี 2549 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับเกียรติจาก Professor Ikujiro Nonaka ศาสตราจารย์เกียรติคุณ จากมหาวิทยาลัยฮิโตซึบาชิ ผู้แต่งหนังสือเรื่อง The Knowledge-Creating Company : How Japanese Companies Create the Dynamics of Innovation ซึ่งทุกท่านคงรู้จักท่านวิทยากรดีในฐานะของผู้คิดค้นแนวคิดเรื่อง SECI Model
ความรู้นั้น เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ และมีคุณค่ามากที่สุดขององค์กร การที่แต่ละองค์กรจะสามารถก้าวสู่ระดับแนวหน้า และเป็นที่รู้จักได้นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถขององค์กรในการสร้าง และนำองค์ความรู้ไปเพิ่มคุณภาพและศักยภาพของคนในองค์กร การนำความรู้ที่มีอยู่มาบูรณาการกับความรู้ใหม่จะก่อให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นอีก และสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น จนกลายเป็นวงจรการเรียนรู้ที่เพิ่มพูนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ทั้งนี้ ในการพัฒนาระบบราชการให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ในอนาคต จะต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจจากผู้บริหารหน่วยงานทุกท่าน เพื่อเป็นเครือข่ายช่วยผลักดันและขับเคลื่อนระบบราชการของไทยให้เกิดการปรับเปลี่ยนที่ยั่งยืน ถาวร อันจะเป็นรากฐานที่มั่นคงสืบไป
|
|
เวทีนวัตกรรมครั้งที่ 3 นี้ นับเป็นแนวทางหนึ่งในความพยายามที่จะพัฒนาการบริหารงานของภาครัฐ และส่งเสริมให้ระบบราชการและข้าราชการมีขีดสมรรถนะสูงและเป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันให้ประชาชนและสังคมมีความก้าวหน้า พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างต่อเนื่องสืบไป
จากนั้น คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดการสัมมนาและมอบนโยบาย การจัดการความรู้ในราชการไทย ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
|
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การบริหารความรู้เป็นเรื่องที่สำคัญตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน เพราะเรามีเทคโนโลยีที่คนเป็นจำนวนมาทั่วโลกสามารถใช้ได้ ดังนั้น โอกาสในการเรียนรู้จึงเปิดกว้าง เพียงคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ ต่างๆ ก็สามารถค้นหาความรู้ และเรียนรู้ด้วยตนเองได้ แต่ประเด็นก็คือว่า จะค้นเป็นหรือไม่ หรือมีเวลาเพียงพอที่จะย่อความรู้ต่าง ๆ เหล่านั้นหรือไม่
|
ดังนั้น ประเด็นที่จะมาคุยกันในเรื่องของการบริหารความรู้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในอดีต สมัยที่เรื่อง Information Technology (IT) เกิดขึ้นใหม่ ๆ เป็นสมัยที่พูดกันถึงเรื่องของสารสนเทศ และมีคำกล่าวที่ว่า Information is Power หรือ ข้อมูลเป็นอำนาจ โดยกล่าวได้ว่า ในกรณีที่กำลังเจรจาต่อรองทางธุรกิจ หรือการซื้อขายหุ้น หากทราบข้อมูลต่าง ๆ ก่อนเวลา เช่น ราคาของหุ้น ความเคลื่อนไหว หรือทราบว่าบริษัทที่เราจะไปทำธุรกิจด้วยกำลังมีปัญหา การเจรจาธุรกิจหรือการซื้อขายหุ้นนั้นก็จะมีมูลค่าเป็นมากมายมหาศาล แต่หากทราบข้อมูลต่าง ๆ ช้าไปเพียง 1 นาที ข้อมูลนั้นก็ไม่มีความหมาย แต่ในปัจจุบัน ข้อมูล เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่สิ่งสำคัญกลับกลายเป็น ความรู้ (Knowledge)ดังคำกล่าวที่ว่า Knowledge is Power กล่าวคือ ความรู้คืออำนาจ ซึ่งคนทุกคนล้วนแล้วแต่มีความปรารถนา มีความฝัน ความประสงค์ หรือความต้องการที่จะประสบความสำเร็จ และกุญแจแห่งความสำเร็จนั้นก็คือ ความรู้ นั่นเอง
ทั้งนี้ เพราะความรู้เป็นการพัฒนาในขั้นที่สูงขึ้นของข้อมูล กล่าวคือ จาก Data พัฒนาไปสู่ Information Knowledge และ Wisdom ตามลำดับ ผู้ที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ จะต้องสะสมทั้งข้อมูล ความรู้ ทฤษฎีต่าง ๆ และสามารถกลั่นกรองจนกลายเป็นปัญญา (Wisdom) ที่สามารถแข่งขันหรือต่อสู้กันด้วยมือเปล่าโดยใช้เพียงสมองเท่านั้น ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้การทำงานเป็นการแข่งขันกันด้วยมือเปล่าจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น เวลาประชุมจะต้องสู้กันด้วยลีลาภาษา ซึ่งบางครั้งเราคิดไม่ทัน พูดไม่ทัน เพราะข้อมูลมีไม่พอ ทำให้ที่ประชุมลงมติไปโดยที่เรายังไม่มีโอกาสได้ชี้แจง
|
|
การบริหารความรู้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและสอดคล้องกับกาลเวลา เพราะนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันประสงค์ที่จะพัฒนาให้ข้าราชการเป็น มืออาชีพ ซึ่งไม่ว่าจะปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานใดก็มีเป้าหมายเดียว คือ ประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน เพียงแต่วิถีทางและวิธีการที่จะได้มาซึ่งเป้าหมายนั้น จะแตกต่างกันไปตามงานหรือภารกิจของแต่ละหน่วยงาน
ดังนั้น ข้าราชการมืออาชีพ ก็คือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม สุดท้ายแล้วจะต้องตอบคำถามของจิตวิญญาณของเราให้ได้ว่า สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้จะเป็นส่วนที่ทำให้เกิดประโยชน์สุขต่อประเทศชาตละประชาชน โดยเราก็เปรียบเสมือนก้อนหินส่วนหนึ่งในการก่อสร้าง ดังนั้น งานของเราทุกชิ้นจึงมีความหมาย มีความสำคัญ เราจะต้องรู้จริงในงานที่เราทำ
ความรู้กับข้าราชการนั้น ในเชิงทฤษฎี เราได้ผ่านการทดสอบมาแล้ว จึงนับว่าข้าราชการมีความเก่ง เพราะสามารถผ่านการสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับราชการได้ คำว่า มืออาชีพ จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของข้าราชการทุกตำแหน่ง และยิ่งจะเลื่อนระดับให้สูงมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งต้องเก่งมากขึ้นเท่านั้น
|
ดังนั้น การที่จะบริหารความรู้ของเราจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งส่วนประกอบที่สำคัญคือ
1. การแสวงหาความรู้ ทำอย่างไรข้าราชการจึงจะสามารถแสวงหาความรู้ได้ถูกต้อง และพัฒนาความรู้นั้นอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณากันต่อไป แต่สิ่งที่จะขอฝากไว้ก็คือ ข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในระดับสูง มีความรับผิดชอบที่อยู่ในขอบเขตหน้าที่ ความคิด ความสามารถ ของเรา ยิ่งเราเก่ง ฉลาด และมีความรู้มากเท่าไหร่ ก็จะสามารถช่วยทำให้ประเทศชาติและสังคมของเราดีมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
|
ดังนั้น ข้าราชการทุกคนจะต้องพัฒนาและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งนอกจากความรู้ในทฤษฎี หรือในสาขาที่เรียนจบมาแล้ว ข้าราชการก็จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับงานที่ทำ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด ต้องมีความรู้ในทุกแง่มุมของตำแหน่งนั้น รู้ว่าคนที่ทำงานก่อนเราชื่ออะไร และทำอะไรมาบ้าง ดังนั้น การรับงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ความรู้อีกประการหนึ่ง ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนของข้าราชการ คือ ความรู้ในเรื่องกฎหมาย กฎ ระเบียบ ทุกมาตราที่เกี่ยวข้องกับงานของเรา เพราะจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังมีความรู้ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคนที่เก่งและประสบความสำเร็จคือคนที่สามารถพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และแสวงหาความรู้ในวิชาการใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานของตน และงานที่เกี่ยวข้อง
2. มีทักษะ ทั้งการพูดและการเขียน ยิ่งอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นก็ยิ่งต้องพูดเก่งและเขียนเก่ง สามารถเขียนเองได้ ไม่ใช่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำให้ทั้งหมด เพราะจะพลาดได้ ดังนั้น ยิ่งเป็นระดับหัวหน้า ตำแหน่งอธิบดี ปลัดกระทรวง จะยิ่งทำงานหนัก เพราะต้องดูแลงานของทั้งหน่วยงาน การเซ็นเอกสารจะต้องเซ็นด้วยความรู้
ความรอบคอบ และความรับผิดชอบ ไม่ใช่เซ็นด้วยความเชื่อในงานที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอมา แต่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อน นอกจากนี้ จะต้องสามารถพูดสื่อความได้ และคิดเองได้ เพราะสุดท้ายผู้ตัดสินใจคือตัวเราเอง
3. การถ่ายทอดความรู้อย่างเป็นระบบการถ่ายทอดความรู้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เป็นส่วนหนึ่งในหน้าที่ขององค์กร ซึ่งการถ่ายทอดความรู้นั้น มีหลายรูปแบบ อาทิ การถ่ายทอดความรู้แบบปากต่อปาก เช่น การพูดคุย การฟังบรรยาย ซึ่งการถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบนี้จะมีข้อจำกัด เพราะผู้ที่ไม่ได้รับฟังก็อาจจะไม่ได้ความรู้ ดังนั้น จึงต้องมีระบบในการบันทึกข้อมูล และถ่ายทอดความรู้ออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
นอกจากนี้ ความรู้ก็ไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียว ประเภทเดียว แต่มีความรู้อยู่หลายรูปแบบ ดังนั้น องค์กรที่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นองค์กรที่สามารถบริหารจัดการองค์ความรู้ภายในองค์กร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างองค์กร ระหว่างสถาบัน และระหว่างประเทศได้
การพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่องถือเป็นหน้าที่ของข้าราชการทุกคน ทุกระดับ ซึ่งขณะนี้ กำลังมีแนวคิดที่จะกำหนดให้ส่วนราชการจัดเวลาส่วนหนึ่งของการทำงาน เช่น 10% ของเวลาการทำงาน เพื่อเป็นเวลาที่ข้าราชการใช้สำหรับพัฒนาตนเอง โดยส่วนราชการจะต้องให้เวลาในส่วนนี้กับข้าราชการ ซึ่งผู้ที่ประสบความสำเร็จนั้น จะใช้เวลาสำหรับการพัฒนาตนเองมากกว่าเวลา 10% ที่กำหนดไว้ดังกล่าว
ดังนั้น การบริหารความรู้ จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงานที่จะต้องจัดระบบของการถ่ายทอดความรู้ให้เกิดขึ้นในองค์กร และกระตุ้นให้ผู้บังคับบัญชาเปิดโอกาสให้ข้าราชการทุกระดับได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเอง อย่างเท่าเทียม และเสมอภาคกัน ทั้งความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงาน และความรู้อื่น ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้มีสุนทรียภาพ มีอารมณ์ที่ดีในการทำงาน หรือทำให้การทำงานดีขึ้น ทั้งนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่จะพัฒนาและบริหารความรู้ในองค์กรอย่างเป็นระบบ
คำว่า ระบบ นั้น คือ การคิดอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีเวลาเท่ากันใน 1 วัน คือ 24 ชั่วโมง หากไม่สามารถจัดเวลาให้เป็นระบบ ก็จะทำให้ใช้เวลาไปอย่างสูญเปล่า ดังนั้น ในองค์กรจึงต้องมีเจ้าหน้าที่ที่จะมาช่วยกันคิด เพื่อที่จะบริหารจัดความรู้ในองค์กรอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้ทำงานแบบสะเปะสะปะ ซึ่งจะทำให้เวลาสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย
ทั้งนี้ จากลำดับขั้นของความรู้ที่พัฒนาจาก Data --> Information --> Knowledge --> Wisdom ข้าราชการควรจะรู้จักใช้ว่าเมื่อไหร่จะเป็นองค์ความรู้ เป็น Information หรือเป็น Data ซึ่ง Data หรือ สถิติ ตัวเลข นั้น เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจำเป็นต้องเรียนรู้และมี เราต้องมีสถิติตัวเลขเกี่ยวกับงานที่ทำ ยกตัวอย่างเช่น ในการจัดกิจกรรม จะต้องมีการเก็บข้อมูลจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆ เช่น อายุ เพศ หน่วยงานต้นสังกัด ระดับความรู้ ประสบการณ์ ระดับตำแหน่ง ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าผู้ที่มาร่วมกิจกรรมนั้น ๆ ตรงตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดกิจกรรมคราวที่แล้ว มีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งนี่คือส่วนหนึ่งของ Data ที่จะนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ จนกลายเป็นKnowledge และในที่สุดก็จะเป็น Wisdom
|
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ไม่ว่าจะมีความรู้หรือเก่งอย่างไรก็ตาม แต่จะต้องมีคุณธรรมด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังรณรงค์ส่งเสริมให้ข้าราชการมีคุณสมบัติ 3 ข้อ คือ 1. ดี คือ ต้องเป็นคนดี และพัฒนาดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นคุณสมบัติข้อแรกที่จำเป็นต้องมี
2. เก่ง เพราะมืออาชีพต้องเก่ง
|
3. กล้า เพราะงานราชการต้องกล้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กล้าพูด กล้าเสนอความคิด กล้าเสนอความเห็น กล้าแย้ง กล้าท้วง และกล้าที่จะไม่ทำหากเห็นว่าเป็นสิ่งที่ผิด
กล่าวโดยสรุปคือ ในการบริหารความรู้นั้น ประการแรก เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ของตนเอง และทำให้เป็นคนที่ดีมากยิ่งขึ้น เรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อแก้ไขและทำให้ดีกว่าเดิม
ประการที่สอง เมื่อเราเติบโตมากขึ้น ขอให้มีความรู้มาขึ้น ดีขึ้น
ประการที่สาม ผู้บังคับบัญชาจะต้องมีความรู้ที่แน่น และต้องถ่ายทอดความรู้นั้นให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย อย่าหวงความรู้/ความคิด แต่ข้าราชการต้องช่วยกันคิดและช่วยกันแบ่งปันความรู้
ประการที่สี่ ในการทำงานขอให้มีสติคอยกำกับอยู่ตลอดเวลาว่า เราขอเป็นคนดี เป็นข้าราชการที่ดี และขอปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 8 กันยายน 2552 15:54:17 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 8 กันยายน 2552 15:54:17