รับมอบนโยบายเกี่ยวกับบทบาทผู้ว่าราชการจังหวัด
ตามกรอบยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ณ จ.นครนายก
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 รองนายกรัฐมนตรีโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ได้เป็นประธานมอบนโยบายเกี่ยวกับบทบาทผู้ว่าราชการจังหวัดตามกรอบยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดนครนายก โดยมี นายเจตต์ ธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด และ ว่าที่ร้อยตรีณรงค์ สุจริต รองผู้ว่าราชการจังหวัดให้การต้อนรับและผู้แทนส่วนราชการในจังหวัดนครนายกร่วมรับฟังนโยบายอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ โดยมี นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร กรรมการ ก.พ.ร. และ ศ.ดร. ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีร่วมชี้แจงกรอบยุทธศาสตร์ อยู่ดีมีสุขจังหวัดและแนวทางในการดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว |
|
นอกจากนี้ยังมีผู้แทนหน่วยงานจากส่วนกลางที่เข้าร่วมรับฟังการมอบนโยบายดังกล่าวด้วยอาทิกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำหรับผู้บริหารสำนักงาน ก.พ.ร. ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
สำหรับที่มาของการมอบนโยบาย เกี่ยวกับบทบาทผู้ว่าราชการจังหวัด ตามกรอบยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขนั้น สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 และวันที่ 15 ธันวาคม 2549 ได้มีการพิจารณาถึงบทบาทผู้ว่าราชการจังหวัด และระบบบริหารงานภายในจังหวัด โดยมีข้อสรุปจากที่ประชุม เกี่ยวกับบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะต้องมีบทบาทในสองมิติ คือ
1. บทบาทในฐานะผู้ประสานงานส่วนภูมิภาค โดยบูรณาการและประสานความร่วมมือกับส่วนราชการในภูมิภาค เพื่อจัดให้มีการเชื่อมโยงประสานงานภายในจังหวัดให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2. บทบาทในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด โดยการบริหารจัดการและดูแลชุมชนและองค์กรในท้องถิ่นให้เข้มแข็ง และแก้ไขปัญหาทางสังคม
ซึ่งมีภารกิจที่เน้นหนักในกิจกรรม หรือโครงการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถประสานและบริหารจัดการเองได้ โดยมีเป้าหมายที่ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ภายใต้ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยดำเนินการทดลองเพื่อให้เกิดความชัดเจนในบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดใน 2 มิติ ดังกล่าว โดยเป็นโครงการนำร่องใน 2 จังหวัด คือ กลุ่มจังหวัดขนาดเล็ก ได้แก่ นครนายก และกลุ่มจังหวัดขนาดกลาง ได้แก่ พิษณุโลก เพื่อจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ดังกล่าว รวมทั้งศึกษาระบบสนับสนุนที่จะช่วยให้ภารกิจดังกล่าวประสบผลสำเร็จด้วย และให้สำนักงาน ก.พ.ร. นำตัวแบบที่ได้เสนอ ก.พ.ร. และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
รองนายกรัฐมนตรีโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ได้กล่าวมอบนโยบายว่า
เดิมนั้น ระบบราชการประกอบด้วย การบริหารในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่ง ก.พ.ร. ได้มีการศึกษาเรื่องการบริหารงานในภูมิภาค และได้ริเริ่มให้จังหวัดเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ หรือที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์พื้นที่ ขณะที่นโยบายยังถูกกำหนดจากส่วนกลาง ต่อมาจึงได้มีการทบทวนว่า การดำเนินงาน ดังกล่าวมีความเหมาะสมแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหมาะสมสอด คล้องกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า วิธีการกำหนดนโยบายจากส่วนกลางเพื่อสร้างประชานิยมนั้น ไม่สอดคล้องกับปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสาเหตุที่ไม่สอดคล้องกันนั้น รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเกิดจากสาเหตุ 3 ประการ คือ
1. การขาดความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องความเข้มแข็งหรือการสร้างความสามารถทางการผลิต เป้าหมายหลักจึงอยู่ที่การสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง ไม่ใช่การหวังพึ่งคนอื่น หรืออาศัยจากปัจจัยภายนอก
2. กระบวนการขับเคลื่อนในเชิงการคลัง เมื่อมีการตัดงบประมาณ 40,000 ล้านบาท ออกไป จึงเกิดปัญหาทางการคลัง และกลายเป็นภาระที่ส่งผลกระทบต่องบประมาณกลาง
3. เรื่องประสิทธิภาพ มีข้อสังเกตว่า การทำงานที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ จะเรียกว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ หากวัดจากรายได้ ถ้ามีคนนำเงินไปให้ประชาชนแล้วประชาชนมีเงิน แต่ถ้าไม่ให้จะดำเนินการอย่างไร ความสำคัญจึงอยู่ที่กลไกเชิงความคิด วันนี้เราต้องทบทวนว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก ในเบื้องต้นอาจต้องเป็นการขับเคลื่อนจากรัฐ
|
|
รองนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ที่ช่วยขับเคลื่อนด้วยการเป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ซึ่งจังหวัดอาจมีเวลาดำเนินการน้อยเพียงแค่ 2 เดือนที่จังหวัดคิดว่าจะเสนออะไร จะปรับปรุงการทำงาน และสร้างความเชื่อมโยงอย่างไร ทั้งนี้ จะมีการประเมินผลหลังจากดำเนินการแล้วเสร็จ ซึ่งหากมีผลเป็นที่พอใจก็จะเสนอรัฐบาลต่อไป
ส่วนที่มาของชื่อนโยบาย ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข นั้น รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีที่มา 2 ประการ
|
ประการแรก มาจากแผนพัฒนาการการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ซึ่งแผนฯ 10 นี้ มุ่งเน้นให้สังคมมีเป้าหมายในการพึ่งตนเอง มีความสามัคคี และมีความอยู่เย็นเป็นสุข
ประการที่สอง มาจากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการขยายจำนวนประชาชน ให้ได้รับการดูแลมากขึ้น แม้จะไม่สามารถดูแลได้ครอบคลุมครบทุกกลุ่มก็ตาม
|
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า ในทางวิชาการ ส่วนภูมิภาคจะเชี่อมโยงกับท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนมีโอกาส มีความสามารถในการดำรงชีวิต ดังนั้น จึงขอให้จังหวัดพิจารณากรอบยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ที่อยู่ภายใต้พื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยต้องยึดหลัก เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ให้พัฒนาบนพื้นฐานดั้งเดิมและสอดคล้องกับวิถีชีวิต การพัฒนาต้องพึ่งตนเองก่อน โดยต้องรู้จักประมาณตน ทำทุกอย่างอย่างรอบคอบ ไม่ประมาท สิ่งเหล่านี้จะสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีใกับเรา
ทั้งนี้ รัฐบาลเองก็พยายามสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน โดยเฉพาะความเข้าใจที่ว่า การพึ่งตนเองสำคัญ ประชาชนต้องมีความต้องการอยากดูแลตนเอง ซึ่งหลักใหญ่ คือ ไม่ใช่บทบาทรัฐที่บอกให้เขาเลี้ยงโค หรือปลูกนั่น ปลูกนี่ ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข จะเป็นการปรับใช้เศรษฐกิจพอเพียง ให้พิจารณาว่าตนเองมีความสามารถเท่าไร และมีความปรารถนาที่จะทำให้ตนเองมีความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างไร ไม่ใช่เกิดจากการที่เราสอน หรือเป็นการเรียนรู้ตามแบบที่เราสอน ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว จะขยายผลยิ่งใหญ่ จนทำให้แต่ละชุมชนเข้าใจตนเองมากขึ้น |
|
ในส่วนนี้จะต่างกับการเป็นผู้รับ เพราะการช่วยตัวเอง ดูแลตนเอง จะทำให้ประชาชนจะรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้กุมชะตาชีวิต ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกต้อง การให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งคนที่พึ่งตนเองต้องรู้ว่าจะพึ่งตนเองอย่างไร อาจกำหนดอยู่ในแผนชาวบ้าน หรือแผนชุมชนก็ได้ กล่าวคือ ชุมชนเป็นผู้กำหนดแผนงาน สร้างหลักสูตรการเรียนรู้ขึ้นเอง ส่วนที่ยากเกินไปก็อาจไปถามส่วนราชการ ว่ามีใครที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องดังกล่าวบ้าง
สำหรับ ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ซึ่งประกอบด้วย 5 ด้านนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวอธิบายไว้ ดังนี้
1. ด้านการสงเคราะห์ เน้นการให้การสงเคราะห์แก่ผู้ด้อยโอกาส หรือครอบครัวยากจนที่ต่ำกว่าระดับมาตรฐานในชุมชนนั้น ในด้านการจัดให้ทุนการศึกษา และการสงเคราะห์ด้านการพัฒนาอาชีพระยะสั้นที่เห็นผลทันตา และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งนี้ ในมิติที่กล่าวถึงกันมานาน ในระบบการสงเคราะห์ เช่น กองทุน การสงเคราะห์ต่าง ๆ ต้องมีการจัดการ คือ ช่วยเหลือคนที่ควรได้รับการช่วยเหลือ ให้คนมีปัญหาได้การช่วยเหลืออย่างเพียงพอ กล่าวคือ แผนงานของจังหวัดต้องมีการสงเคราะห์คน มิฉะนั้น แม้จะมีการพัฒนาอย่างไรก็จะมีประเด็นคนถูกทอดทิ้ง คนไม่ได้รับการดูแลเสมอ ซึ่งหากเป็นอย่างนี้แล้วเราจะมี GDP ทำไม หากดูแลเรื่องง่ายๆ ไม่ได้
|
2. ด้านเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการพัฒนาการเกษตรให้เป็นไปตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่
สำหรับเกษตรกรที่ยากจน แล้วยังอยากอยู่ในภาคราชการเกษตร และเกษตรบนพื้นที่สูง ทั้งนี้ เมื่อประชาชนมีความสามารถในการพึ่งพิงตนเอง ก็จะไม่มีการเดินขบวนขอให้ยกเลิกหนี้สิน ตัวอย่างที่เคยเห็น เช่น ผู้นำชุมชนทางภาคเหนือที่พ้นความยากจน พ้นจากหนี้สิน เพราะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้
|
3. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นบทบาทชุมชนในการบริหารจัดการ ในส่วนนี้จะต่างกับการเป็นผู้รับ เพราะการช่วยตัวเอง ดูแลตนเอง จะทำให้ประชาชนจะรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้กุมชะตาชีวิต ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกต้อง การให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งคนที่พึ่งตนเองต้องรู้ว่าจะพึ่งตนเองอย่างไร อาจกำหนดอยู่ในแผนชาวบ้าน หรือแผนชุมชนก็ได้
กล่าวคือ ชุมชนเป็นผู้กำหนดแผนงาน สร้างหลักสูตรการเรียนรู้ขึ้นเอง ส่วนที่ยากเกินไปก็อาจไปถามส่วนราชการ ว่ามีใครที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องดังกล่าวบ้าง
ไม่มีชุมชนใดดูแลตนเองโดยการทำลายตนเอง ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาตินี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบบอย่างแก่พสกนิกร เนื่องจากทรงพากเพียรพยายามรักษาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้ดีขึ้น เช่น โครงการตามแนวพระราชดำริเขาหินซ้อน ดังนั้น เหตุใดเราจึงไม่นำตัวอย่างการพัฒนาของพระองค์ท่านมาใช้ ทั้งนี้ การพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติต้องมีความต่อเนื่อง ต้องใช้ความพากเพียร เพราะหากชุมชนมีความเสื่อมโทรม ก็เป็นหนทางไปสู่ความตาย ไม่ใช่ความเจริญ
4. ด้านผลิตภัณฑ์ชุมชนเน้นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีลู่ทางในตลาด โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อม และชุมชนที่มีความสามารถให้มีความสามารถในการแข่งขัน สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชนนี้ ไม่ใช่ว่าทุกชุมชนต้องมี แต่จะเป็นการเชื่อมโยงตลาดและเอกลักษณ์ท้องถิ่น ชาวบ้านไม่ต้องกังวลว่าผลิตแล้วไม่มีคนซื้อ บางคนเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นการลงทุน ความจริงไม่ใช่การลงทุนแต่เป็นการเชื่อมโยงการตลาด วิชาการ การลงทุน และผลผลิตเข้าด้วยกัน
5. ด้านการบริการประชาชนเน้นการพัฒนาบริการประชาชนทั้งที่จังหวัด/อำเภอ/หน่วยปกครองท้องถิ่น ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 |
|
เช่น การจัดตั้งเคาน์เตอร์บริการของรัฐ การจัดตั้งศูนย์บริการร่วมอำเภอ..ยิ้ม ซึ่งเป็นตัวแบบที่สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับกรมการปกครองดำเนินการ และการจัดตั้งศูนย์บริการร่วม
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนท้ายว่า โดยปกติ การวางแผนเป็นเรื่องวิชาการ แต่อยากให้การวางแผนเป็นเรื่องการกระชับการทำงาน การสื่อสารให้เข้าใจร่วมกัน เพื่อเป้าหมายของความอยู่ดีมีสุขแบบพอเพียง ไม่ต้องถึงขึ้นนสร้างรถไฟความเร็วสูง ไม่ใช่การพัฒนาให้ทุกจังหวัดมีสนามบิน ความอยู่ดีมีสุขนอกจากเป็นเรื่องของประชาชนแล้ว ยังรวมถึงการปรับทิศทางเพื่อเป็นทางเลือกที่ดีของข้าราชการที่ไม่ขึ้นกับการเมือง ทั้งนี้ หากจังหวัดพิจารณายุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้านแล้ว อาจเติมเรื่องอื่น ๆ ตามสภาพความเหมาะสมก็ได้ เช่น เรื่องน้ำ การขนส่งทางน้ำ การพัฒนาโดยการเชื่อมโยงกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
ต่อจากนั้น สำนักงาน ก.พ.ร.โดย นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร กรรมการ ก.พ.ร. และ ศ.ดร. ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้ชี้แจงกรอบยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขจังหวัด และแนวทางในการดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข และได้มอบคู่มือการปรับแผนยุทธศาสตร์จังหวัดให้สอดคล้องกับแนวคิด ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้ คาดว่า จังหวัดนครนายกจะสามารถเสนอผลการดำเนินงานดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ก.พ.ร. ได้ในช่วงปลายเดือนมกราคม และหากที่ประชุม ก.พ.ร. เห็นชอบก็จะเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 14 กันยายน 2552 16:04:49 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 14 กันยายน 2552 16:04:49