Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2550 / มกราคม / เลขาธิการ ก.พ.ร. ย้ำ การพัฒนาระบบราชการที่ผ่านมายึดหลัก

เลขาธิการ ก.พ.ร. ย้ำ การพัฒนาระบบราชการที่ผ่านมายึดหลัก

  

      หลายท่านคงจะได้รับทราบถึงแนวทางที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้มุ่งขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฎิบัติมาโดยตลอด นั่นคือ การทำให้ส่วนราชการตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานตามหลัก "ธรรมาภิบาล" ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทั้งนี้ บรรดาประชาชนและสื่อมวลชนต่างก็ให้ความสนใจและจับตามองว่า   สำนักงาน ก.พ.ร. จะมีทิศทางการดำเนินงานในเรี่องดังกล่าวอย่างไร

                                                                   



          โอกาสนี้ OPDC News จึงขอเสนอบทสัมภาษณ์ของ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. เรื่อง "ธรรมาภิบาล" เพื่อผู้สนใจได้รับทราบแนวคิดและนโยบายของ ก.พ.ร. ทั้งนี้ บทสัมภาษณ์ดังกล่าวจะตีพิมพ์ในนิตยสาร "G  MAX" ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนฉบับแรกของประเทศไทย ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแวดวงราชการ และคาดว่าฉบับที่นำเสนอบทสัมภาษณ์ของเลขาธิการ ก.พ.ร. นี้ จะเป็นฉบับปฐมฤกษ์ โดยมี บริษัท นาริ อินโฟ จำกัด (ผู้ผลิตรายการกรองสถานการณ์) เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา

 

   

 

 

    เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวเริ่มต้นอธิบายคำว่า "ธรรมาภิบาล" หรือ "การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี" หรือ  Good Governance ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการพัฒนาราชการไทยในช่วงที่ผ่านมานั้นต้องพิจารณาคำสองคำประกอบกัน คำแรก คือ Governance ซึ่งเป็นเรื่องของการบริหารการปกครอง เดิมนั้นเราคิดว่าภาครัฐเท่านั้นที่ดูแลกิจการบ้านเมือง คิดว่ามีการเลือกตั้ง มีรัฐบาล มีระบบราชการเป็นกลไกทำงานก็น่าจะเพียงพอต่อการพัฒนาบ้านเมืองแล้ว แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นก็คิดว่าควรจะมีกลไกอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเริ่มมีความคิดเห็นของหลายฝ่ายขึ้นมา ฝ่ายแรก  คือ
นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเน้นการใช้ กลไกตลาด เน้นบทบาทภาคเอกชนและต้องการ ถ่ายโอนกิจการของรัฐให้เอกชนทำแทน


ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง คือ นักรัฐศาสตร์ ก็ต้องการทำให้ภาครัฐมีบทบาทและขนาดเล็กลง กลไกที่นำมาใช้ไม่ใช่กลไกตลาดแต่เป็นภาคประชาสังคม เพื่อให้ประชาชนเข้ามาบริหารกิจการบ้านเมืองด้วยตนเอง สร้างพลังและการรวมเป็นกลุ่มชุมชน ฉะนั้นแนวคิดของการบริหารกิจการบ้านเมืองจึงเปลี่ยนไปภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ดำเนินการเอง มีการลดขนาดลง มีการเปิดให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลกิจการบ้านเมืองมากขึ้น ซึ่งก็ต้องพยายามที่จะหาจุดสมดุลระหว่างกลไกภาครัฐ  ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อเข้ามาร่วมกันดูแลกิจการบ้านเมืองของเรา

                                                                     



          ส่วนคำที่สอง คือ Good ก็ต้องมีการนิยามว่า ที่ดี ของการบริหารกิจการบ้านเมือง คืออะไร คำว่าที่ดีมีขอบเขตกว้างขวางและแตกต่างกันออกไป "ที่ดี" ของนักเศรษฐศาสตร์อาจหมายถึงความคุ้มค่ามีประสิทธิภาพ "ที่ดี" ของนักบริหารคือ มีประสิทธิพลทำงานเสร็จตามเป้าหมาย ทำงานอย่างมีคุณภาพ ประชาชนมีความพึงพอใจ สามารถตรวจสอบได้หรือ เรียกว่ามีภาระรับผิดชอบ  แต่ "ที่ดี" ตามแนวคิดของนักรัฐศาสตร์ คือ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม การทำงานต้องมีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูล ให้ราชการทำงานเหมือนปลาทองในตู้กระจก คือ เห็นการทำงานได้อย่างชัดเจน โปร่งใส มีการกระจายอำนาจ รวมทั้งทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชน ช่วยแก้ไขปัญหาประชาชน บรรเทาทุกข์ของประชาชน ส่วน "ที่ดี" ของนักกฎหมายมหาชนมองว่าต้องยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งต้องการให้ฝ่ายปกครองปฏิบัติตามหลักกฎหมาย เมื่อใดที่ฝ่ายปกครองใช้กฎหมายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดก็จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ต้องการให้มีการเลือกปฏิบัติ มีความยุติธรรม เสมอภาคกัน           

          อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งปฏิรูประบบราชการที่ผ่านมามีการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม คนก็เข้าใจผิดว่าการปฏิรูประบบราชการเป็นเพียงการปรับปรุงกระทรวง ทั้ง ๆ ที่สาระสำคัญอยู่ตรง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ที่ได้มีการเพิ่มเติมสาระสำคัญเรื่อง หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือ ธรรมาภิบาล เข้าไปไว้เป็นความในมาตรา 3/1 ในพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีเจตนารมณ์ คือ "การบริหารราชการแผ่นดินต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน..."   ความดังกล่าวนี้ก็ถือว่าเป็นการเจริญรอยตามพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"นั่นเอง                                              

           "มาตรา 3/1 การบริหารราชการตามพระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจและยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวก และการตอบสนองความต้องการของการของประชาชน ทั้งนี้ โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลของงาน

                         การจัดสรรงบประมาณ และการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ต้องคำนึงถึงหลักการตามวรรคหนึ่ง

                         ในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ ต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงานการมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมของแต่ละภารกิจ

                         เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรานี้ จะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติราชการและการสั่งการให้ส่วนราชการและข้าราชการปฏิบัติก็ได้"

          หลังจากนั้น เพื่อให้มีการนำหลักการในมาตรา 3/1 ไปใช้ในทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน จึงต้องมีการออกกฎหมายลูกบทตามมาในเดือนตุลาคม 2546 นั่นคือ   พระราชกฤษฎีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีพ.ศ. 2546  ซึ่งกำหนดขอบเขต แบบแผน และวิธีการปฏิบัติราชการเพื่อให้เกิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

                                                         



          ดังนั้น การพัฒนาระบบราชการที่ผ่านมาจึงเป็นการเดินตามหลักธรรมาภิบาลมาโดยตลอด ยกตัวอย่างในหมวด 3 ของพระราชกฤษฎีกาฯ คือ การบริหารราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ นั่นก็คือ การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ไม่มีการทำงานแบบเช้าเย็นชามอีกต่อไป การทำงานต้องมีเป้าหมาย การทำงานให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์จึงต้องมีการกำหนดตัวชี้วัด มีการบริหารจัดการความรู้ มีการบริหารแบบบูรณาการ จึงจะสามารถทำงานให้บรรลุผลได้

          ตัวอย่างเช่น เดิมในการบริหารราชการแผ่นดินนั้นพบว่าการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาไม่เป็นรูปธรรม เป็นการแถลงกว้าง ๆ ข้าราชการที่จะนำนโยบายไปปฎิบัติก็อาจไม่ทราบว่าความคาดหวังของรัฐบาลเป็นอย่างไร ต่อมาจึงมีแผนการบริหารราชการแผ่นดิน 4 ปี แผนดังกล่าวเริ่มใช้ประมาณปี 2548  ซึ่งเป็นการนำนโยบายของรัฐบาลมาแปลงเป็นแผนที่สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและแผนพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ จากนั้นก็ถ่ายทอดออกมาเป็นแผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการต่าง ๆ ที่สอดรับกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ในส่วนของจังหวัดก็ต้องทำแผนยุทธศาสตร์ด้วย และต้องมีตัวชี้วัด เพราะมีการกระจายอำนาจและงบประมาณ ผู้ว่าฯ เองก็ต้องมีคำตอบว่าใช้แล้วก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ถ้าจะเน้นเรื่องการท่องเที่ยวก็ต้องมีเป้าหมายว่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้เข้ามามากน้อยเพียงไร และมีการเซ็นคำรับรองการปฏิบัติราชการเพื่อจะผูกพันการทำงาน สุดท้ายถ้าทำไม่ดี ก็ต้องถูกตรวจสอบ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

 

 

         ในการตรวจสอบก็มีการหาบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่สามเข้ามาเป็นผู้ติดตามตรวจสอบและประเมินผล โดยได้ว่าจ้างบริษัท ทริส มาดำเนินการ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการของ ก.พ.ร.ซึ่งจากการประเมินผลนั้นพบว่า ส่วนราชการและจังหวัดสามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย ส่วนใหญ่ทำได้สูงกว่าเกณฑ์ คนที่ทำดีก็มีรางวัลตอบแทน ซึ่งเป็นที่มาของเงินรางวัลในระบบราชการ

          สิ่งที่กล่าวมานี้จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งในการสร้างธรรมาภิบาล เฉพาะในเรื่องของการสร้างภาระความรับผิดชอบหรือ Accountability เท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่เราดำเนินการอีกหลายอย่าง 

          ผู้แทนบริษัทนาริ อินโฟ จำกัด ได้ซักถามเลขาธิการ ก.พ.ร. ต่อไปว่า สิ่งที่สำนักงาน ก.พ.ร. ทำนั้น อาจจะเป็นที่เข้าใจเฉพาะระดับผู้บริหาร แต่ระดับล่างไม่เข้าใจ ในส่วนนี้ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่ามีการเปรียบเทียบ เหมือนการส่งสัญญาณ คนที่ใกล้เครื่องรับวิทยุก็จะได้ยินชัดเจนมาก ไกลออกไปสัญญาณก็เริ่มแผ่ว ส่วนหนึ่งปัญหาอาจเกิดจาก ก.พ.ร. ด้วย คือ เริ่มจากผู้บริหารที่เข้ามาทำ เวิร์คชอพ กับสำนักงาน ก.พ.ร ได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงหรือครูสอนต่อเพื่อขยายผลในองค์กรของตน ซึ่งบางหน่วยงานได้นำไปสื่อสารต่อถึงผู้บริหารระดับกลางและผู้ปฏิบัติ แต่บางหน่วยงานก็ไปไม่ถึงคงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขต่อไป

          อย่างไรก็ตาม เราก็ได้มีความพยายามคิดหาวิธีให้ข้าราชการทุกคนทุกระดับเข้าใจในหลักของการพัฒนาระบบราชการ โดยใช้สื่อต่าง ๆ เช่น  การเรียนการสอนทาง e learning ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการแขนงต่าง ๆ มาเป็นอาจารย์ผู้สอน เช่น เรื่องกฎหมายมหาชน ได้เชิญ     อาจารย์บวรศักดิ์    อุวรรณโณมาเป็นผู้สอน เรื่องยุทธศาสตร์ก็ได้เชิญอาจารย์พสุ เตชะรินทร์ มาเป็นผู้สอน นอกจากนี้ยังมี ท่านไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม มาช่วยอธิบายในหัวข้อเรื่องประชาสังคม เป็นต้น ซึ่งในการดำเนินงานนั้น ก็มีปัญหาบ้าง เช่น การเข้าถึงอินเตอร์เนตของข้าราชการ ระบบเครือข่ายในต่างจังหวัด เป็นต้น ส่วนสื่ออื่น ๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งอาจพบว่าหนังสือเอกสารเผยแพร่ของสำนักงาน ก.พ.ร.มักจะอยู่ในห้องสมุดหรือไม่ก็โต๊ะของผู้บริหารเท่านั้น จึงได้มีตัวชี้วัดที่กำหนดให้มีการฝึกอบรม ถ่ายทอด หรือสื่อสารเรื่องการพัฒนาระบบราชการให้ไปถึงกลุ่มข้าราชการระดับปฎิบัติด้วย

 

   ผลการศึกษาด้านความรู้สึกของข้าราชการต่อการพัฒนาระบบราชการ 

          พบว่า  51 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยกับการพัฒนาระบบราชการ โดยเป็นกลุ่มที และอยากทำ อีกกลุ่มหนึ่งคือ รู้แต่ไม่อยากทำ 14 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มไม่รู้แต่อยากทำ 8 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มไม่รู้ ไม่อยากทำอีก 27 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ หากพิจารณาว่ากลุ่มส่วนใหญ่รู้แล้วอยากทำ รวมกับกลุ่มไม่รู้แต่อยากทำก็ 59 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสองกลุ่มนี้น่าจะเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง และเป็นหัวขบวน ช่วยฉุดดึงกลุ่มที่เหลือ

 

          สำหรับบทบาทของสำนักงาน ก.พ.ร. ในเรื่องธรรมาภิบาลนั้น เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักในการสร้างความตระหนักในเรื่องธรรมาภิบาล โดยอาศัยเครื่องมือต่าง ๆ เช่น การจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ เพื่อนำสาระตามหลักธรรมาภิบาลมากำหนดไว้เป็นตัวชี้วัดในคำรับรองฯ เช่น ความโปร่งใส การเปิดให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม เป็นต้น

                                                         



          ทั้งนี้ต้องเข้าใจด้วยว่า ธรรมาภิบาลเป็นเรื่องการวางระบบและกลไกเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในขณะที่อีกด้านหนึ่งของเหรียญคือ เรื่องตัวบุคคล เป็นเรื่องการสร้างจิตสำนึกในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม ธรรมาภิบาลเน้นการวางระบบเพื่อควบคุมให้คนไม่ประพฤติปฏิบัติ ในสิ่งที่ไม่ดีและให้ทำตามมาตรฐานที่ดีแต่จริยธรรมจะลึกกว่านั้น เน้นการปลูกฝังจิตสำนึก ต้องไม่ประพฤติมิชอบและต้องประพฤติชอบ ทั้งสองเรื่องหรือสองด้านของเหรียญจะต้องไปด้วยกันจึงจะยั่งยืน กล่าวคือ ต้องเน้นทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งก็มีการถกเถียงว่าระบบต้องดีก่อนหรือต้องสร้างคนให้ดีก่อน แต่ผมคิดว่าต้องมีการทำแบบคู่ขนานกันไป

          ทั้งนี้ ผมคิดว่านโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังเน้นเรื่องธรรมาภิบาล และต้องมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและไม่ว่ารัฐบาลใดก็ต้องคิดว่าเรื่องการสร้าง
ธรรมาภิบาลต้องเดินหน้าต่อไป

          นอกจากนี้ผู้แทนบริษัท นาริ อินโฟ จำกัด ยังได้ถามว่า เรื่องเงินรางวัลที่ได้รับการจัดสรรจากการประเมินผลการปฏิบัติราชการนั้นจะยังคงมีอีกหรือไม่ ?

                                                                



          ด้านเรื่องเงินรางวัลนั้น โดยกระบวนการต้องมีการกำหนดเป้าหมาย วิธีดำเนินการ และการประเมินผลอย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้ ในส่วนของเงินรางวัลก็มีปัญหาอยู่บ้าง บางส่วนราชการจัดสรรไม่ดี บางหน่วยงานก็จัดสรรดี ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นกระบวนการเรียนรู้ของแต่ละหน่วยงานด้วย อาจมีข้อสงสัยว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้วจะมีเงินรางวัลอีกหรือไม่ผมคิดว่าคงจะมีต่อไป ส่วนนี้ไม่ใช่การหลงใหลในวัตถุเงินทอง แต่ค่าตอบแทนในระบบราชการอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เงินรางวัลตรงนี้เพียงแค่เข้ามาเสริม ทั้งนี้ ประเทศเราไม่ร่ำรวยถึงขนาดที่จะปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ เป็นการเลือกให้ค่าตอบแทนสำหรับคนทำงานดีก็ถือว่าเป็นธรรม

          อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปตัวเงิน แต่อาจเป็นการจัดการฝึกอบรมเพิ่มเติม ส่วนเงินรางวัลที่ส่วนราชการได้จากการประหยัดงบประมาณ ครึ่งหนึ่งกรมบัญชีกลางให้เก็บไปใช้ในการฝึกอบรม ห้ามนำไปเที่ยวต่างประเทศ ใช้เงินจากการประหยัดได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท นอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ยังได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตสำรวจความคิดเห็นของข้าราชการที่มีต่อการจัดสรรเงินรางวัลด้วย ซึ่งพบว่าข้าราชการส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย

          ปัญหาหลักคือ คนไทยไม่ชอบเรื่องการประเมิน ไม่ชอบให้ใครเสียหน้า แต่ระบบต่าง ๆ ต้องมีการประเมิน แต่ต้องพยายามให้เป็นธรรม คิดในเชิงบวก ประเมินเพื่อพัฒนาไม่ใช่ประเมินเพื่อจับผิด ต่างประเทศจะประเมิน 360 องศา เราประเมินเจ้านาย เจ้านายประเมินเรา เพื่อนร่วมงานประเมินเรา อย่างนี้ใช้ได้ดี แต่องค์กรในประเทศไทยยังไปไม่ถึง วัฒนธรรมแบบไทย ไม่มีใครกล้าประเมินนาย วัฒนธรรมการเคารพผู้ใหญ่เป็นเรื่องดี แต่เด็กประเมินผู้ใหญ่ก็จะขัดกับสิ่งที่ถูกปลูกฝัง การประเมินก็อาจเกรงใจ หรือ เพื่อนร่วมงานที่สนิทก็ไม่กล้าประเมินกันเอง

          สำหรับคำถามที่หลายท่านสงสัยว่าการปฎิรูประบบราชการที่ผ่านมาคิดว่าประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ท่านเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า

                      
         
เราไม่เลือกที่จะใช้คำว่าปฏิรูป เพราะจะเห็นว่าไม่ใช่ช๊อตเดียว แต่เป็นกระบวนการ ตราบใดที่โลกยังมีการเปลี่ยนแปลง ราชการก็ต้องมีการปรับตัว และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะสำนักงาน ก.พ.ร. สิ่งที่ต้องทำ คือ ให้ธรรมาภิบาลเป็นเรื่องของหน่วยงาน ให้แต่ละหน่วยงานใส่ใจ ในช่วงแรกหน่วยงานอาจทำเพราะคิดว่าถูกบังคับ แต่สิ่งที่ต้องทำให้ได้คือ ทำให้ธรรมาภิบาลอยู่ในสายเลือด ต้องไปให้ได้ แต่เราต้องลงทุนและเริ่มทำการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในระบบราชการซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย วัฒนธรรมที่ดีต้องคงไว้ ส่วนที่ไม่ดีก็ต้องเปลี่ยน ทั้งด้านจิตสำนึก สภาพแวดล้อม ทั้งนี้  เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวในตอนท้ายว่า การพัฒนาระบบราชการต้องไม่เหมือนกับการตัดเสื้อโหล บางส่วนราชการอาจต้องจัดวิธีการให้แตกต่างกัน ดังนั้น การพัฒนาระบบราชการจึงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว 

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2552 15:09:48 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2552 15:09:48
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th