คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 จำนวนทั้งสิ้น 1,635,000 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ จำนวน 120,000 ล้านบาท ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ และเพื่อให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐ และมีการบูรณาการจัดทำงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ จึงให้สำนักงบประมาณรับไปประสานกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดประชุมพิจารณารายละเอียดคำของบประมาณในภาพรวมก่อนด้วย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. สมมติฐานเศรษฐกิจมหภาค คาดว่า
1.1 เศรษฐกิจไทยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.0
1.2 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3.0
1.3 แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน แรงกระตุ้นจากการลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2550 และอัตราเงินเฟ้อลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง เป็นต้น
สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการเศรษฐกิจในปี 2551 มุ่งเน้นการนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการพัฒนาและบริหารเศรษฐกิจประเทศ รวมทั้งให้ความสำคัญในการดำเนินการตามนโยบายกรอบความยั่งยืนทางการคลัง โดยควบคุมสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้นไม่เกินร้อยละ 50 และสัดส่วนภาระหนี้ต่อวงเงินงบประมาณรายจ่ายไม่เกินร้อยละ 15 จึงได้กำหนดนโยบายงบประมาณ ดังนี้
1. ดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลในจำนวนที่ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2550
2. ทบทวนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐที่ไม่ก่อให้เกิดผลในการพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน (Redeploy) โดยเฉพาะผลผลิต/โครงการ กิจกรรมต่าง ๆ ที่มีลำดับความสำคัญลดลง หรือหมดความจำเป็น
3. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และการใช้งบประมาณภาครัฐเพื่อควบคุมอัตรา การขยายตัวของรายจ่ายประจำให้ขยายตัวในอัตราที่เหมาะสม
4. กำหนดรายจ่ายลงทุนในจำนวนไม่ต่ำกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2550
5. ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจให้แก่ท้องถิ่น
2. ประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 คาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวม จำนวน 1,793,700 ล้านบาท เมื่อหักคืนภาษีของกรมสรรพากร การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด และการกันเงินเพื่อชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะคงเหลือรายได้สุทธิ 1,515,000 ล้านบาท
3. โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
หน่วย : ล้านบาท
รายการ |
ปี 2550 |
ปี 2551 |
เพิ่ม-ลด (ร้อยละ) |
1. วงเงินงบประมาณรายจ่าย |
1,566,200.0 |
1,635,000.0 |
4.4 |
1.1 รายจ่ายประจำ - สัดส่วนต่องบประมาณ (ร้อยละ) |
1,135,988.1 72.5 |
1,166,328.0 71.3 |
2.7 |
1.2 รายจ่ายลงทุน - สัดส่วนต่องบประมาณ (ร้อยละ) |
374,721.4 24.0 |
416,925.0 25.5 |
11.3 |
1.3 รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ - สัดส่วนต่องบประมาณ (ร้อยละ) |
55,490.5 3.5 |
51,747.0 3.2 |
- 6.7 |
2. รายได้สุทธิ |
1,420,000.0 |
1,515,000.0 |
6.7 |
3. วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล |
146,200.0 |
120,000.0 |
-17.9 |
4. แนวทางในการจัดทำและเสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
เพื่อให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ พิจารณาเสนอของบประมาณตามรูปแบบและวิธีการที่กำหนดส่ง สำนักงบประมาณภายในวันที่ 12 เมษายน 2550 โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการพิจารณาทบทวนบทบาทและภารกิจของหน่วยงานที่มีลำดับความสำคัญต่ำและไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล (Redeploy)
5. การทบทวนบทบาทและภารกิจของหน่วยงานที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และการจัดลำดับความสำคัญ
เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล บนพื้นฐานของหลักสำคัญ 4 ประการ คือ โปร่งใส เป็นธรรม ประหยัดและประสิทธิภาพ จึงให้กระทรวง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ พิจารณาทบทวนบทบาทและภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ
โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
5.1 การทบทวนภารกิจพื้นฐาน เป็นการทบทวนภารกิจของหน่วยงานที่ดำเนินการตามกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือมีความสำคัญในระดับรอง เพื่อพิจารณายกเลิกผลผลิต/โครงการ และเลือกดำเนินการเฉพาะที่เกิดประโยชน์คุ้มค่าต่อประชาชนผู้รับบริการ
5.2 การทบทวนภารกิจตามยุทธศาสตร์ เป็นการทบทวนภารกิจของหน่วยงาน ให้คงเหลือเฉพาะการดำเนินงานตามจุดเน้นที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 และยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
5.3 การทบทวนค่าใช้จ่าย เป็นการทบทวนค่าใช้จ่ายของแต่ละภารกิจที่สามารถประหยัดได้ การบูรณาการเพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน และทบทวนค่าใช้จ่ายต่อหน่วยที่สูงกว่าหน่วยงานอื่นที่ดำเนินงานในลักษณะเดียวกัน หรือที่สามารถลดต้นทุนได้
5.4 การทบทวนผลผลิต/โครงการ กิจกรรม และเป้าหมาย ให้คงเหลือเฉพาะส่วนที่จำเป็น เหมาะสม และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง โดยให้พิจารณาทบทวนจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มีการดำเนินงานได้ต่ำกว่าเป้าหมาย มีความสำคัญลดลง ภาคเอกชนและ/หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ รวมทั้งการทบทวนผลผลิต/โครงการ กิจกรรม และรายการที่ใช้เงินตราต่างประเทศสูง หรือเป็นภาระงบประมาณในระยะยาวโดยเฉพาะรายจ่ายประจำ
6. การปรับปรุงแนวทางในการจัดสรรงบประมาณค่าสาธารณูปโภค ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 จะจัดสรรงบประมาณค่าสาธารณูปโภคให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจได้ตามความจำเป็นและประหยัด แต่ไม่เกินงบประมาณที่ได้รับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยไม่รวมค่าสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจจะต้องดำเนินการชำระหนี้ค่าสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
7. การจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ให้มีการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 147,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนไว้ จำนวน 139,374 ล้านบาท เป็นเงิน 8,466 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับรายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเอง และรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บให้และแบ่งให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกจำนวน 233,940 ล้านบาท จะรวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น จำนวน 381,780 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 25.2 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดไว้ร้อยละ 25.17
แต่งตั้ง
เรื่อง
แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน
คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอให้แต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการชุดใหม่ จำนวน 9 คน แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดเดิมที่ได้ดำรงตำแหน่งมาใกล้จะครบกำหนดตามวาระ ดังนี้
1.นายกิตติศักดิ์ ปรกติ
2. นายขวัญชัย วศวงศ์
3. นายครรชิต มาลัยวงศ์
4. นายชูชัย ศุภวงศ์
5. นายทศพร ศิริสัมพันธ์
6. นายเธียรชัย ณ นคร
7. นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์
8. นายมานิจ สุขสมจิตร
9. นางจุรี วิจิตรวาทการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2550 เป็นต้นไป
หมายเหตุ ผลสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติและขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ สำนักบริหารการประชุมคณะรัฐมนตรี โทร 0 2280 9000 ต่อ 331 - 333
E-Searching เพิ่มเติมได้ที่
http://www.thaigov.go.th
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 10 เมษายน 2550 12:39:39 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 10 เมษายน 2550 12:39:39