เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา 15.30 น. รองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข ประจำปี 2550 ครั้งที่ 1/2550 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในคณะกรรมการดังกล่าว มีเลขาธิการ ก.พ.ร. ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย โดยมีสาระสำคัญของการประชุม สรุปได้ดังนี้
ที่ประชุมเห็นชอบกรอบกระบวนการ และกลไก การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข ภายใต้เป้าประสงค์ให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข มีความสามารถในการปรับตัวและนำไปสู่การพึ่งตนเอง มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง มีบทบาทและร่วมในกระบวนการพัฒนาทุกระดับตามวิถีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีแผนงานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัดที่ ยึดคนเป็นหลัก มุ่งให้ประชาชนและครอบครัวสามารถพึ่งตนเอง ใช้กลไกชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน ภายใต้ระบบข้อมูลที่ชุมชนต้องคิดจัดทำขึ้นเอง ซึ่งประกอบด้วย 5 แผนงาน ได้แก่
1. แผนงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง
2. แผนงานพัฒนาและสร้างโอกาสให้ชุมชน
3. แผนงานการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน
4. แผนงานการสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ
5. แผนการบริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน
ทั้งนี้ กลไกและกระบวนการในการขับเคลื่อนแผนงาน ประกอบด้วย
1. ระบบกลไกการประสานแผน แบ่งเป็น 3 ระดับคือ
- ระดับอำเภอ เป็นระดับปฏิบัติการที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการ ซึ่งมีนายอำเภอ เป็นประธาน ร่วมด้วยผู้แทนจากส่วนราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์กรประชาชน/เอกชน ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน โดยทำหน้าที่บูรณาการระหว่างชุมชน กับ อปท. เพื่อตรวจสอบและกลั่นกรองโครงการที่ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชนกับส่วนราชการและนายอำเภอ
- ระดับจังหวัด เป็นหน่วยงานบูรณาการภาพรวม ดำเนินการโดยคณะกรรมการอำนวยการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ร่วมด้วยผู้แทนจากส่วนราชการ ภาคเอกชน องค์กรเอกชน และผู้แทนปราชญ์ชาวบ้าน โดยทำหน้าที่ในการกลั่นกรอง บูรณาการแผนงาน และติดตามผลการดำเนินงาน และให้การสนับสนุนงบประมาณในระดับจังหวัด
- ระดับชาติ ดำเนินการโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยทำหน้าที่ในการอำนวยการแปลงแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ และติดตามผลการดำเนินงาน
2. การหากลุ่มเป้าหมายและกิจกรรมสนับสนุนการปรับตัวของประชาชน โดยยึดความพร้อมของแต่ละพื้นที่ โดยพิจารณาพื้นที่ที่มีแผนชุมชนที่ชุมชนเป็นผู้ริเริ่ม เป็นตัวหลักในการวางแนวทางในการพัฒนา ขณะเดียวกัน พื้นที่ที่ยังไม่มีแผนชุมชน ให้สนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนชุมชนที่จะใช้ประโยชน์สำหรับการพัฒนาต่อไป
3. เกณฑ์การพิจารณากลั่นกรองโครงการและงบประมาณมีขอบเขตดังนี้
1) ยึดความสอดคล้องและสนับสนุน 5 แผนงานหลัก เน้นให้มีการกระจายที่ครอบคลุมทั้ง 5 แผนงานตามลักษณะภูมิสังคม
2) สนับสนุนกิจกรรม/โครงการที่มาจากแผนชุมชน
3) สนับสนุนกิจกรรมที่สนับสนุนให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้ ลดภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่มาจากภาครัฐ โดยให้มีการเชื่อมโยงจาก อปท.
4) สนับสนุนกิจกรรม/โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ และบูรณาการแผนชุมชนกับแผนท้องถิ่น
5) หลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนกับโครงการที่เป็นภารกิจของส่วนกลาง
4. ขั้นตอนการอนุมัติโครงการแบ่งเป็น
1) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ให้คณะกรรมการจังหวัดพิจารณากลั่นกรองและอนุมัติโครงการตามเกณฑ์ที่กำหนด และเสนอคณะกรรมการระดับชาติเพื่อให้ข้อคิดเห็นประกอบการดำเนินงานของจังหวัด
2) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ให้ทุกจังหวัดดำเนินการพิจารณากลั่นกรองโครงการภายใต้กลไกและกระบวนการทุกขั้นตอน เพื่อขอการสนับสนุนงบประมาณในปี 2550
ข่าวจาก เว็บไซต์รัฐบาลไทย (http://www.thaigov.go.th/)