มติคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550
ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้
เศรษฐกิจ
เรื่อง
การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกันภัย
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกันภัย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับรูปแบบ และกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกันภัย ที่มีความอิสระในการบริหาร ซึ่งอาจใช้เป็นแนวทางสำหรับการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลในกิจการอื่นในอนาคตได้ จึงควรคำนึงถึงทิศทางของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการยกร่าง และบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น วุฒิสภา เป็นต้น ด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
เศรษฐกิจ
เรื่อง
ขออนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการ
พัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
และยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด
คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ จำนวน 271,864,200 บาท ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์) ประธานกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เสนอขอเพิ่มวงเงินงบประมาณ สำหรับดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด ที่จะใช้วงเงินร่วมกันจากเดิมที่มีอยู่จำนวน 9,728,135,800 บาท รวมเป็นจำนวน 10,000 ล้านบาท โดยแบ่งให้โครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 5,000 ล้านบาท และยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด จำนวน 5,000 ล้านบาท
เศรษฐกิจ
เรื่อง
ขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ
สำหรับรายการรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2550
คณะรัฐมนตรีพิจารณาการขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณสำหรับรายการรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ แล้วมีมติ ดังนี้
1. อนุมัติให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการต่าง ๆ ที่มีวงเงินการก่อหนี้ผูกพันทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 816 รายการ เป็นเงินงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 จำนวน 11,800.3 ล้านบาท และเป็นจำนวนภาระผูกพันทั้งสิ้น 58,427.0 ล้านบาท
สำหรับรายการที่มีวงเงินการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีทั้งสิ้นเกิน 1,000 ล้านบาท มีจำนวน 11 รายการ ประกอบด้วย สำนักนายกรัฐมนตรี 1 รายการ กระทรวงกลาโหม 4 รายการ กระทรวงมหาดไทย 3 รายการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 รายการ กระทรวงศึกษาธิการ 1 รายการ และรัฐวิสาหกิจ 1 รายการ รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 53,837.5 ล้านบาท และเป็นงบประมาณที่จะต้องจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 จำนวน 5,263.2 ล้านบาท คณะรัฐมนตรีเห็นควรให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเจ้าของเรื่องพิจารณา และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่งเป็นกรณี ๆ ไป
2. อนุมัติให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ไม่อาจดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2541 สามารถก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณได้ ดังนี้
2.1 หลักเกณฑ์ ข้อ 1.3 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2541 กำหนดสัดส่วนภาระผูกพันงบประมาณของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในปีต่อ ๆ ไป เมื่อเปรียบเทียบกับรายจ่ายลงทุนในปัจจุบัน จะต้องไม่เกินกว่าสัดส่วนที่กำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 60 40 20 และ 10 ในปีแรก ปีที่สอง ปี่สาม และปีที่สี่ ตามลำดับ ปรากฏว่าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 มีหน่วยงานที่ไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ จำนวน 4 หน่วยงาน คือ กรุงเทพมหานคร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้ หน่วยงานดังกล่าวมีโครงการเร่งด่วนสำคัญ เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายฯ โครงการพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์ และโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เป็นต้น ที่จะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 จึงทำให้สัดส่วนภาระผูกพันงบประมาณเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2.2 หลักเกณฑ์ ข้อ 1.6 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2541 กำหนดให้รายการผูกพันงบประมาณทุกรายการต้องได้รับจัดสรรงบประมาณในปีแรกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของวงเงินรายจ่ายส่วนที่เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้นของรายการนั้น ๆ โดยไม่รวมเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด ปรากฏว่ามีส่วนราชการจำนวน 5 หน่วยงาน มีรายการผูกพันรวมจำนวน 6 รายการ ที่มิได้ตั้งงบประมาณไว้ให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ทั้งนี้ เนื่องจากบางหน่วยงานมีความประสงค์จะใช้เงินรายได้สมทบ และบางหน่วยงานเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณในปีแรกถึงร้อยละ 20 ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยรายชื่อหน่วยงานและจำนวนรายการปรากฏดังนี้
หน่วยงาน |
จำนวนรายการ |
(1) |
กรมทางหลวงชนบท |
2 |
(2) |
มหาวิทยาลัยมหิดล |
1 |
(3) |
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา |
1 |
(4) |
มหาวิทยาลัยนครพนม |
1 |
(5) |
องค์การสวนสัตว์ |
1 |
|
รวม |
6 |
3. รายการที่ได้รับอนุมัติให้ผูกพันข้ามปีงบประมาณในครั้งนี้ หากเป็นรายการผูกพันที่จะต้องจ่ายในรูปของเงินตราต่างประเทศ เช่น รายการค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าอาคารสำนักงาน และค่าเช่าทรัพย์สินในต่างประเทศ ฯลฯ ขอให้สำนักงบประมาณสามารถพิจารณาอนุมัติวงเงินผูกพันที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ ในกรณีที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ สามารถปรับแผนจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีก
หมายเหตุ ผลสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติและขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ สำนักบริหารการประชุมคณะรัฐมนตรี โทร 0 2280 9000 ต่อ 331 - 333
E-Searching เพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaigov.go.th