Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2550 / กุมภาพันธ์ / ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด

ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด


ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด

           หลังจากที่ได้รายงานความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัดมาเป็นระยะ ล่าสุด คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  6  กุมภาพันธ์  2550 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขของจังหวัด และแผนงานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามนโยบายของรัฐบาล ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

           การดำเนินการในเรื่องยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขจังหวัดนั้น เป็นการปรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการสร้างความอยู่ดีมีสุขให้เกิดขึ้นในระดับชุมชน เพื่อให้ความสำคัญต่อประชาชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยที่ผ่านมา ได้มีการทดลองนำร่องใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครนายก และจังหวัดพิษณุโลก

           ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้ร่วมกันศึกษาแนวทางยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขของจังหวัด และแผนงานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเมื่อวันที่  6  กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่เสนอ และให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงในบางประเด็น รวมทั้งให้นำความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาประกอบการดำเนินการ โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้


 
กรอบยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขของจังหวัด
 

           ยึดคนเป็นหลัก มุ่งให้ประชาชนและครอบครัวสามารถพึ่งตนเอง ใช้กลไกชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน ภายใต้ระบบข้อมูลที่ชุมชนต้องคิดจัดทำขึ้นเอง โดยการสนับสนุนของจังหวัด และส่วนกลางปรับประบบเพื่อเอื้อให้จังหวัดสามารถสะท้อนความต้องการชุมชนมายังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มีจุดเน้นและกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่กิจกรรมและโครงการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถบริหารจัดการไ้ด้ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่น และภาคส่วนต่าง ๆ ในการวางแผนและกำหนดโครงการ และหากชุมชนใดมีความพร้อมและสมัครใจ ให้จัดทำแผนชุมชนแบบมีส่วนร่วม


 
แผนงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
 

           ประกอบด้วย 5 แผนงาน ดังนี้

           1. แผนงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ในการดำเนินชีวิตของประชาชนและครอบครัว และการประกอบอาชีพทั้งในภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่

           2. แผนงานพัฒนาและสร้างโอกาสให้ชุมชน โดยสนับสนุนกิจกรรมใน 3 ระดับ ตามศักยภาพชุมชน โดย ขั้นต้น เน้นการผลิตเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เพื่อลดรายจ่าย เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ ผักสวนครัว  ขั้นกลาง เน้นการถนอมอาหาร การแปรรูป เพื่อตลาดในชุมชน และ  ขั้นสูง เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น/ชุมชนที่มีศักยภาพและมีลู่ทางด้านการตลาด

           3. แผนงานการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน เน้นการอนุรักษ์ พัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดินและป่าไม้ ตามแนวพระราชดำริ

           4. แผนงานการสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ เน้นการสงเคราะห์ในระดับครอบครัว ตามความเป็นจริงในพื้นที่อย่างทันเหตุการณ์

           5. แผนงานการบริหารขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน ครอบคลุมทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา การฝึกอบรมอาชีพ และการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เช่น การมาติดต่อจังหวัด/อำเภอ/หน่วยการปกครองท้องถิ่นของประชาชน


 
ให้มีคณะกรรมการแห่งชาติ
 

           สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอให้มี คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ปรับชื่อคณะกรรมการแห่งชาติดังกล่าว เป็น คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีผู้แทนจากหน่วยราชการและองค์กรเอกชนเป็นกรรมการ โดยให้ผู้แทนจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่อำนวยการในการขับเคลื่อน และการพิจารณางบประมาณสนับสนุนแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข รวมทั้งการกำกับ ดูแล เพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายที่กำหนดไว้


 
การสนับสนุนงบประมาณ
 

           จัดสรรงบประมาณให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน 5 แผนงานตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขของจังหวัด ภายใต้วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงมหาดไทยทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ


 
ความเห็นเพิ่มเติมของคณะรัฐมนตรี
 

           คณะรัฐมนตรีมีความเห็นเพิ่มเติมว่า แผนงาน/โครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการในพื้นที่แต่ละจังหวัด มีหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการหลายหน่วยงาน ทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และอาจมีกลไกการดำเนินงานในระดับพื้นที่ที่แตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินแผนงาน/โครงการต่าง ๆ ดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผล เป็นประโยชน์สูงสุด และตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ทุกหน่วยงานควรจะได้ประสานและบูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน โดยจังหวัดทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการดำเนินการ เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านบุคลากร งบประมาณ และอื่น ๆ อย่างเหมาะสม และเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนในแต่ละพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ และได้รับประโยชน์จากการดำเนินแผนงาน/โครงการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมต่อไป


           ทั้งนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้มี คำสั่งที่ 38/2550 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข ให้เป็นไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้

           1. องค์ประกอบ

1.1
นายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการ
1.2
รองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์)
รองประธานกรรมการ
1.3
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
กรรมการ
1.4
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
กรรมการ
1.5
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
กรรมการ
1.6
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
กรรมการ
1.7
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กรรมการ
1.8
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
กรรมการ
1.9
ปลัดกระทรวงมหาดไทย
กรรมการ
1.10
นายประยงค์ รณรงค์
กรรมการ
1.11
นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม
กรรมการ
1.12
นายคำเดื่อง ภาษี
กรรมการ
1.13
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
กรรมการ
1.14
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
กรรมการ
1.15
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
กรรมการ
1.16
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
กรรมการและเลขานุการร่วม
1.17

ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

กรรมการและเลขานุการร่วม
1.18
รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
1.19
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
(นายบุญญรักษ์ นิงสานนท์)
กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

           2. อำนาจหน้าที่

                2.1 กำหนดแนวทาง กลไก การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ

                2.2 พิจารณา กลั่นกรอง และให้ความเห็นชอบในแผนงาน และงบประมาณ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนงานตามยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข

                2.3 กำกับ ดูแล ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน และประสานความร่วมมือของภาคีการพัฒนา ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม

                2.4 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น

                2.5 ปฏิบัติการเรื่องอื่น ๆ ตามที่มอบหมาย

           สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 7 กันยายน 2552 16:05:04 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 7 กันยายน 2552 16:05:04
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th