มติคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550
ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้
กฎหมาย
เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติศูนย์อำนวยการบริหาร
จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ร่างพระราชบัญญัติศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
ร่างพระราชบัญญัติศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญคือ ให้มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นในกระทรวงมหาดไทย เป็นส่วนราชการเฉพาะกิจและมีฐานะเช่นเดียวกับกลุ่มภารกิจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อปฏิบัติภารกิจตามพระราชบัญญัตินี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้าง ซึ่งปฏิบัติงานในศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่งตั้ง
เรื่อง
แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี
รวม 3 คณะ
คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 41 /2550 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี รวม 3 คณะ ดังนี้้
โดยที่สมควรให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีด้านสังคมเพิ่มเติมขึ้นอีกคณะหนึ่ง และปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 8/2550 ลงวันที่ 17 มกราคม 2550 ให้เหมาะสม เพื่อให้การพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีมีการตรวจสอบ กลั่นกรองข้อมูล ความจำเป็น ความเหมาะสม และความสอดคล้องกับนโยบายของคณะรัฐมนตรีและรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นระบบและรอบคอบรัดกุมยิ่งขึ้นอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 แห่งพระราช-บัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ประกอบกับมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วย การเสนอ เรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงให้ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 8/2550 ลงวันที่ 17 มกราคม 2550 (ดูรายละเอียดได้ใน OPDC News ประจำวันที่ 26 มกราคม 2550) และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี รวม 3 คณะ โดยมีองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่และกลไกการปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้
1. คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1
1.1 องค์ประกอบ
|
1.1.1 |
รองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) |
ประธานกรรมการ |
|
1.1.2 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ |
รองประธานกรรมการ |
|
1.1.3 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม |
กรรมการ |
|
1.1.4 |
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง |
กรรมการ |
|
1.1.5 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ |
กรรมการ |
|
1.1.6 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา |
กรรมการ |
|
1.1.7 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร |
กรรมการ |
|
1.1.8 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน |
กรรมการ |
|
1.1.9 |
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม |
กรรมการ |
|
1.1.10 |
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย |
กรรมการ |
|
1.1.11 |
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ |
กรรมการ |
|
1.1.12 |
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ |
กรรมการ |
|
1.1.13 |
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา |
กรรมการ |
|
1.1.14 |
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน |
กรรมการ |
|
1.1.15 |
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี |
กรรมการและเลขานุการ |
|
1.1.16 |
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประจำรองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) |
กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |
1.2 อำนาจหน้าที่
1.2.1 พิจารณากลั่นกรองเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ ราชบัณฑิตยสถาน สำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ และองค์กรอิสระต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
1.2.2 มีอำนาจเชิญรัฐมนตรีและหน่วยงานอื่น ๆ มาชี้แจง
1.3 กลไกการปฏิบัติงาน
1.3.1 ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจัดส่งเรื่องสำคัญในปัญหาตามที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ ตามข้อ 1.2.1 เสนอมาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา หรือเรื่องที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้พิจารณา พร้อมทั้งความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกสารประกอบ ให้คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณากลั่นกรองก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีี
1.3.2 เรื่องสำคัญซึ่งจะต้องเสนอคณะกรรมการตามคำสั่งนี้ หมายถึงเรื่องที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1.3.2.1 เรื่องที่เป็นปัญหาในเชิงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน
1.3.2.2 เรื่องที่ต้องใช้งบประมาณดำเนินการเป็นจำนวนมาก
1.3.2.3 เรื่องที่กระทบต่อการปฏิบัติราชการของหลายหน่วยงาน
1.3.2.4 เรื่องที่หน่วยงานต่าง ๆ มีความเห็นไม่สอดคล้องกัน
1.3.2.5 เรื่องที่ยังไม่เคยมีระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติมาก่อน
1.3.2.6 เรื่องที่อาจมีผลกระทบต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สังคม จิตวิทยา หรือความมั่นคงหรือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมในส่วนที่เกี่ยวข้อง
1.3.2.7 เรื่องที่คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีคณะอื่น นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีขอให้พิจารณา
1.3.3 รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทุกคน จะเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดังกล่าวก็ได้ตามที่เห็นสมควร ในกรณีเช่นนี้ ให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมเป็นกรรมการด้วย ทั้งนี้ ให้ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการจัดส่งระเบียบวาระการประชุมและเอกสารอื่น ๆ ให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทุกคนทราบทุกครั้งด้วย
1.3.4 ให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว เข้าร่วมประชุมเป็นกรรมการด้วย ทั้งนี้ ให้ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการจัดส่งระเบียบวาระการประชุมและเอกสารอื่น ๆ ให้บุคคลดังกล่าวทราบทุกครั้ง
1.3.5 คณะกรรมการมีอำนาจเชิญผู้แทนกระทรวง ทบวง กรมหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลอื่นที่อาจให้ข้อมูล เข้าร่วมประชุมในปัญหาที่เกี่ยวข้องได้ตามที่เห็นสมควร
1.3.6 วันเวลา สถานที่ และการประชุม ให้เป็นตามที่คณะกรรมการกำหนด
2. คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2
2.1 องค์ประกอบ
|
2.1.1 |
รองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) |
ประธานกรรมการ |
|
2.1.2 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
รองประธานกรรมการ |
|
2.1.3 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ |
กรรมการ |
|
2.1.4 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน |
กรรมการ |
|
2.1.5 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี |
กรรมการ |
|
2.1.6 |
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ |
กรรมการ |
|
2.1.7 |
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม |
กรรมการ |
|
2.1.8 |
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ |
กรรมการ |
|
2.1.9 |
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ |
กรรมการ |
|
2.1.10 |
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา |
กรรมการ |
|
2.1.11 |
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี |
กรรมการและเลขานุการ |
|
2.1.12 |
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประจำรองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) |
กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |
2.2 อำนาจหน้าที่
2.2.1 พิจารณากลั่นกรองเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงาน ก.พ.ร.สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนเรื่องที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
2.2.2 มีอำนาจเชิญรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่น ๆ มาชี้แจง
2.3 กลไกการปฏิบัติงาน
2.3.1 ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจัดส่งเรื่องสำคัญในปัญหาตามที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ ตามข้อ 2.2.1 เสนอมาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา หรือเรื่องที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้พิจารณา พร้อมทั้งความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกสารประกอบ ให้คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณากลั่นกรองก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี
2.3.2 เรื่องสำคัญตามคำสั่งนี้ ซึ่งจะต้องเสนอคณะกรรมการ หมายถึงเรื่องที่มีลักษณะตามข้อ 1.3.2 ข้างต้น
2.3.3 ให้นำข้อ 1.3.3 ข้อ 1.3.6 ข้างต้น มาใช้บังคับด้วย
3. คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3
3.1 องค์ประกอบ
|
3.1.1 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ |
ประธานกรรมการ |
|
3.1.2 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย |
รองประธานกรรมการ |
|
3.1.3 |
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์) |
กรรมการ |
|
3.1.4 |
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รองศาสตราจารย์ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์) |
กรรมการ |
|
3.1.5 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
|
กรรมการ |
|
3.1.6 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม |
กรรมการ |
|
3.1.7 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน |
กรรมการ |
|
3.1.8 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม |
กรรมการ |
|
3.1.9 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข |
กรรมการ |
|
3.1.10 |
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
|
กรรมการ |
|
3.1.11 |
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ |
กรรมการ |
|
3.1.12 |
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา |
กรรมการ |
|
3.1.13 |
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี |
กรรมการและเลขานุการ |
|
3.1.14 |
เลขาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ |
กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |
3.2 อำนาจหน้าที่
3.2.1 พิจารณากลั่นกรองเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับด้านสังคมที่ต้องบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน ตลอดจนเรื่องที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
3.2.2 มีอำนาจเชิญรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่น ๆ มาชี้แจง
3.3 กลไกการปฏิบัติงาน
3.3.1 ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจัดส่งเรื่องสำคัญในปัญหาตามที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ ตามข้อ 3.2.1 เสนอมาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา หรือเรื่องที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้พิจารณา พร้อมทั้งความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกสารประกอบ ให้คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณากลั่นกรองก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี
3.3.2 เรื่องสำคัญตามคำสั่งนี้ซึ่งจะต้องเสนอคณะกรรมการ หมายถึงเรื่องที่มีลักษณะตามข้อ 1.3.2 ข้างต้น
2.3.3 ให้นำข้อ 1.3.3 ข้อ 1.3.6 ข้างต้น มาใช้บังคับด้วย
4. ให้มีการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง เว้นแต่ไม่มีเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ
ในกรณีที่ประธานกรรมการกลั่นกรองฯ ไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการกลั่นกรอง ฯ เป็นผู้นัดประชุมและปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานกรรมการกลั่นกรองฯ แทน
5. เมื่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ มีมติเป็นประการใด ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบหรือพิจารณา แล้วแต่กรณี เว้นแต่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะเห็นควรดำเนินการเป็นประการอื่น ก็ให้ดำเนินการตามมตินั้น
6. ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไม่อาจเข้าประชุมได้ ให้มอบหมายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเข้าประชุมแทนและหากจำเป็น อาจพิจารณามอบหมายให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบและรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะพิจารณาเป็นอย่างดี เป็นผู้เข้าประชุมแทน
ในกรณีที่หัวหน้าหน่วยงานซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไม่อาจเข้าประชุมได้ ให้มอบหมายรองหัวหน้าหน่วยงานหรือเทียบเท่าเป็นผู้เข้าประชุมแทน
7. ในกรณีเห็นสมควร คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ตามคำสั่งนี้จะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ หลายคณะร่วมกัน เพื่อพิจารณาปัญหาคาบเกี่ยวให้เกิดความรอบคอบ ชัดเจน และมีการประสานสอดคล้องกันก็ได้
8. เรื่องใดที่ประธานกรรมการกลั่นกรองฯ คณะใดเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องหรืออยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ คณะอื่นที่ไม่ใช่คณะของตน ให้ประธานกรรมการกลั่นกรองฯ คณะนั้นมีอำนาจสั่งการให้เสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ตามที่เห็นสมควรเป็นผู้พิจารณาได้
9. ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อำนวยความสะดวกในการประชุมคณะกรรมการทุกคณะตามคำสั่งนี้ และมีอำนาจออกระเบียบหรือคำสั่งที่จำเป็น เพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
10. ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอาจขอให้นายกรัฐมนตรี หรือที่ประชุมร่วมรองนายกรัฐมนตรีวินิจฉัยหรือสั่งการตามที่เห็นสมควรได้
บทเฉพาะกาล
11. ในระยะเริ่มแรก ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีประสานกับประธานคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ทั้ง 3 คณะ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ระหว่างการจัดเข้าระเบียบวาระฯ ของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ทั้งหมด ให้เหมาะสมสอดคล้องกับกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่ด้วย
หมายเหตุ ผลสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติและขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ สำนักบริหารการประชุมคณะรัฐมนตรี โทร 0 2280 9000 ต่อ 331 - 333
E-Searching เพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaigov.go.th
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 10 เมษายน 2550 11:50:16 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 10 เมษายน 2550 11:50:16