มติคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550
ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้
กฎหมาย
เรื่อง
ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง
กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) เป็นประธานฯ ดังนี้
1. เห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
2. ให้ สำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาเรื่องการกำหนดหน่วยงานตรวจสอบภายใน และหน่วยงานพัฒนาระบบบริหาร ไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของส่วนราชการต่าง ๆ ในภาพรวม โดยให้รับประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไปประกอบการพิจารณาด้วย
ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ยกเลิกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2545
2. กำหนดภารกิจ และอำนาจหน้าที่ของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ
3. แบ่งส่วนราชการของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ ออกเป็นกองกลาง กองบรรณสารและห้องสมุด ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ สำนักจัดหาและบริหารทรัพย์สิน สำนักนโยบายและแผน สำนักบริหารการคลัง สำนักบริหารบุคคล คณะทูตถาวรประจำองค์การสหประชาชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด สถานเอกอัครราชทูตตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และสถานกงสุลใหญ่ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการดังกล่าว
เศรษฐกิจ
เรื่อง
มาตรการและแนวทางการเร่งรัดติดตามการใช้จ่าย
เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ มาตรการและแนวทางการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. มาตรการเร่งรัดติดตามในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550
1.1 กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ ได้ร่วมกันพิจารณาและเห็นสมควรกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ในภาพรวมในอัตรา ร้อยละ 93.0 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 1,566,200 ล้านบาท สำหรับรายจ่ายลงทุนเห็นสมควรกำหนดเป้าหมาย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 73.0 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนของแต่ละส่วนราชการ โดยเป้าหมายในภาพรวมข้างต้นแยกเป็นรายไตรมาส ดังนี้
ไตรมาสที่ 1 |
เป้าหมายการเบิกจ่าย แต่ละไตรมาส (ล้านบาท) |
เป้าหมายการเบิกจ่ายสะสม ณ สิ้นไตรมาส (ล้านบาท) |
เป้าหมายอัตราการเบิกจ่ายสะสม ณ สิ้นไตรมาส (%) |
1 |
257,797 |
257,797 |
16.46 |
2 |
407,212 |
665,009 |
42.46 |
3 |
407,212 |
1,072,221 |
68.46 |
4 |
384,345 |
1,456,566 |
93.00 |
การกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ข้างต้น พิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(1) ในช่วงระยะเวลาก่อนพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ประกาศใช้ ส่วนราชการมีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปีฯ ประกาศใช้ คาดว่าส่วนราชการสามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้ทันที
(2) โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 มีสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำร้อยละ 76.07 ของวงเงินงบประมาณ (1,566,200 ล้านบาท) โดยในจำนวนนี้ เป็นรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจำนวน 176,309 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.26 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งโดยปกติรายจ่ายประเภทดังกล่าวจะสามารถเบิกจ่ายได้ทั้งจำนวนภายในปีงบประมาณ
(3) สำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ให้สอดคล้องกับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเต็มตามจำนวนวงเงินงบประมาณรายจ่าย ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
พ.ศ. 2550 ประกาศใช้บังคับแล้ว จึงทำให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจสามารถใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันได้ ภายหลังจากวันประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ยกเว้นรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ซึ่งต้องดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณก่อน
(4) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 มีการจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปของเงินอุดหนุนโดยทั่วไปมากขึ้น ประกอบกับกระทรวงการคลังได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการเบิกจ่ายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลมากขึ้น
1.2 ให้นำอัตราการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน ตามเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นตัวชี้วัดในคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ
2. แนวทางการดำเนินงานของส่วนราชการเจ้าของงบประมาณ
2.1 ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 โดยเร่งดำเนินการโอนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของแผนงบประมาณ แผนงบประมาณในเชิงบูรณาการ ผลผลิตหรือโครงการ ประเภทงบรายจ่าย และรายการในงบรายจ่าย ที่ต้องดำเนินการในเขตพื้นที่จังหวัด ยกเว้นงบบุคลากรประเภทเงินเดือนและค่าจ้างประจำ ไปยังสำนักเบิกส่วนภูมิภาคนั้น ๆ ตามแผนการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณที่กำหนดไว้โดยไม่ชักช้า แต่อย่างช้าไม่เกิน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ
2.2 ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จ ภายในสิ้นไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 (สิ้นเดือนมีนาคม 2550)
2.3 ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจดำเนินการตรวจรับงาน และเบิกจ่ายเงินให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ
2.4 ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจและจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงาน ในการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 เพื่อทำหน้าที่ในการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ตลอดจนติดตามปัญหาอุปสรรคในการเบิกจ่ายเงิน และดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณ
2.5 ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจรายงานสถานะการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน ทุกสิ้นเดือนส่งให้กรมบัญชีกลาง ตามวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด
2.6 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้คลังจังหวัดดำเนินการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของส่วนราชการในจังหวัด เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมาย
3. แนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานกลาง
3.1 กระทรวงการคลังจะมอบหมายให้กรมบัญชีกลางรายงานปัญหาอุปสรรค ในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 รวมทั้งมาตรการที่ควรดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบ
สำหรับรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ให้ติดตามผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานในสังกัด ผ่านทางระบบ GFMIS
3.2 ให้สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานผลการติดตามการดำเนินงาน และปัญหาอุปสรรคขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีทราบ
สังคม
เรื่อง
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการกรอบยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขของจังหวัด แผนงานหลักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ การแต่งตั้งกรรมการระดับชาติ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและกำกับดูแล และอนุมัติงบประมาณสนับสนุนภายใต้วงเงิน 5,000 ล้านบาท ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. กรอบยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขของจังหวัด
ยึดคนเป็นหลักมุ่งให้ประชาชนและครอบครัวสามารถพึ่งตนเอง ใช้กลไกชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน ภายใต้ระบบข้อมูลที่ชุมชนต้องคิดจัดทำขึ้นเองโดยการสนับสนุนของจังหวัด และส่วนกลางปรับระบบเพื่อเอื้อให้จังหวัดสามารถสะท้อนความต้องการชุมชนมายังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มีจุดเน้นและกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่กิจกรรมและโครงการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถบริหารจัดการได้โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่น และภาคส่วนต่าง ๆ ในการวางแผนและกำหนดโครงการ และหากชุมชนใดมีความพร้อมและสมัครใจให้จัดทำเป็นแผนชุมชนแบบมีส่วนร่วม
2. แผนงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
1) สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ในการดำเนินชีวิตของประชาชนและครอบครัว และการประกอบอาชีพ ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร
2) สนับสนุนกิจกรรมใน 3 ระดับตามศักยภาพชุมชน โดยขั้นต้นเน้นการผลิตเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เพื่อลดรายจ่าย ขั้นกลางเน้นการถนอมอาหาร การแปรรูป เพื่อตลาดในชุมชน และ ขั้นสูงเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น/ชุมชนที่มีศักยภาพและมีลู่ทางด้านการตลาด
3) เน้นการอนุรักษ์ พัฒนาและฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติ ดินและป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ
4) เน้นการสงเคราะห์ในระดับครอบครัว ตามความเป็นจริงในพื้นที่อย่างทันเหตุการณ์
5) เน้นการบริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน ครอบคลุมทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา การฝึกอบรมอาชีพ และการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เช่น การมาติดต่อจังหวัด/อำเภอ/หน่วยการปกครองท้องถิ่นของประชาชน
3. ให้มีคณะกรรมการระดับชาติ
คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีผู้แทนจากหน่วยราชการและองค์กรเอกชนเป็นกรรมการ โดยให้ผู้แทนจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่อำนวยการในการขับเคลื่อนและการพิจารณางบประมาณสนับสนุนแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข
4. การสนับสนุนงบประมาณ
จัดสรรงบประมาณให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน 5 แผนงานตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขของจังหวัด ภายใต้วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงมหาดไทยทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ
หมายเหตุ ผลสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติและขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ สำนักบริหารการประชุมคณะรัฐมนตรี โทร 0 2280 9000 ต่อ 331 - 333
E-Searching เพิ่มเติมได้ที่
http://www.thaigov.go.th
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 10 เมษายน 2550 12:35:27 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 10 เมษายน 2550 12:35:27