มติคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 16 มกราคม 2550
ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 16 มกราคม 2550 ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้
สังคม
การจัดตั้งศูนย์บริการอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ
ในประเทศไทยแบบเบ็ดเสร็จ
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) เป็นประธานฯ ดังนี้
1. อนุมัติการจัดตั้งศูนย์บริการอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยแบบเบ็ดเสร็จ
2. อนุมัติหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยแบบเบ็ดเสร็จ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยรับประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 และความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
3. ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับไปประสานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงวัฒนธรรม ในการดำเนินการตามประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 รวมทั้งรับความเห็นของ สำนักงาน ก.พ.ร. เกี่ยวกับการบริหารราชการแบบบูรณาการร่วมกันไปพิจารณาดำเนินการด้วย
กฎหมาย
เรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่าง
ผลประโยชน์ส่วนบุคคลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 ที่อนุมัติหลักการ ร่าง พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกัน ระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .... ตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รองศาสตราจารย์ ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 กับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกัน ระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดนิยามความหมายของคำว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ญาติ ผู้กล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหา และคณะกรรมการ ป.ป.ช.
2. กำหนดห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ คู่สมรส หรือญาติ เข้ามามีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประโยชน์ส่วนรวม โดยกำหนดลักษณะการกระทำที่ถือว่าเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล กับประโยชน์ส่วนรวมไว้รวม 5 ประการ พร้อมทั้งกำหนดโทษทางอาญาไว้ด้วย
3. กำหนดให้บรรดาของขวัญ ของที่ระลึก เงิน หรือทรัพย์สินอื่นใดที่มีผู้มอบให้ในโอกาสที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามตำแหน่งหน้าที่ของตนหรือราชการอื่นตามที่รับมอบหมาย ไม่ว่าผู้มอบจะระบุว่าให้เป็นการส่วนตัวก็ตาม ให้บรรดาของเหล่านั้นตกเป็นของรัฐทั้งสิ้น เว้นแต่เป็นสิ่งของที่มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี หรือประกาศของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้รับไว้ได้
4. กำหนดให้สัญญาของรัฐไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางแพ่ง หรือสัญญาทางปกครองที่กระทำโดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจ ซึ่งมีลักษณะเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ให้สัญญานั้นตกเป็นโมฆะ
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า สัญญาของรัฐตามวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาตามประเภทสัญญาของรัฐ แล้วแต่กรณี เป็นผู้วินิจฉัย และให้คำวินิจฉัยนั้นผูกพันคู่สัญญาทุกฝ่าย
5. กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดทำข้อกำหนดและคู่มือการปฏิบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐและประโยชน์ส่วนรวม
6. กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม โดยให้นำบทบัญญัติ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาบังคับใช้โดยอนุโลม
7. กำหนดให้ในกรณีที่มีพฤติการณ์ปรากฏแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือมีผู้กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม หรือกรณีได้รับการแจ้งเบาะแสถึงพฤติการณ์ที่ส่อว่าเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้แจ้ง หากคำกล่าวหานั้นมีสาระสำคัญเพียงพอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และหากพบว่ามีมูล ให้ถือว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้กล่าว และให้ดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยต่อไป
8. กำหนดให้ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับ
9. กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คนใดคนหนึ่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้ง 2 สภารวมกันไม่น้อยกว่า 50 คน มีสิทธิเข้าชื่อต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้มีการไต่สวนเพื่อระงับการดำเนินงานโครงการของรัฐใด ๆ ไม่ว่าจะมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีพฤติการณ์เชื่อได้ว่ามีการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อของประชาชน
มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ให้ระงับโครงการให้ทำเป็นคำสั่งและให้คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด โดยให้ประกาศคำสั่งนั้นลงในราชกิจจานุเบกษา
ในกรณีที่โครงการนั้นมีการลงนามในสัญญาแล้ว ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาตามประเภทสัญญาของรัฐแล้วแต่กรณี เป็นผู้วินิจฉัย และให้คำวินิจฉัยนั้นผูกพันคู่สัญญาทุกฝ่าย
10. กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมขึ้น ในสำนักงานคณะกรรม-การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยมีหน้าที่เป็นหน่วยธุรการในการดูแล ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
11. กำหนดให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ ผลสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นเพียงการนำเสนอในเชิงข่าวเท่านั้น มิอาจถือเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จึงขอให้ตรวจสอบมติและขอรายละเอียดเพิ่มเติม จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ สำนักบริหารการประชุมคณะรัฐมนตรี โทร 0 2280 9000 ต่อ 331 - 333
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 10 เมษายน 2550 12:33:28 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 10 เมษายน 2550 12:33:28