ตัวอย่างข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและจังหวัดที่มีความโดดเด่น โครงการ 1 กรม 1 ป้องกันโกง
การดำเนินงานโครงการ 1 กรม 1 ป้องกันโกง ที่ให้ส่วนราชการและจังหวัดจัดทำข้อเสนอเปลี่ยนแปลงความโปร่งใส ในการปฏิบัติราชการ มาหน่วยงานละ 1 โครงการนั้นสำนักงาน ก.พ.ร. ได้วางระบบการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงฯ ดังกล่าว ทั้งในรูปแบบการประเมินผลตนเอง(Self Assessment) ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการตรวจติดตามในพื้นที่ (Site Visit) โดยมีการจัดประชุมเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าในการดำเนินงาน และเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงของส่วนราชการในทุกรอบระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน และ 9 เดือน โดยกำหนดประเด็นในการติดตามประเมินผลแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
- ด้านประสิทธิภาพการดำเนินการ ประเมินจากความก้าวหน้าในการดำเนินงานและการเบิกจ่ายงบประมาณ
- ด้านผลผลิตจากการดำเนินการ ประเมินจากผลผลิตตามกิจกรรมต่าง ๆ ในข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงฯ
- ด้านผลลัพธ์จากการดำเนินการ ประเมินจากผลสำเร็จของการดำเนินการ วิธีการแก้ปัญหา อุปสรรคเพื่อให้การดำเนินการสำเร็จตามหลักการและเหตุผลของแต่ละข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงฯ
- ด้านความสำเร็จจากการดำเนินงาน ประเมินจากการสรุปประสบการณ์ของส่วนราชการ
ในลักษณะเรื่องเล่าอธิบายรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และผลอันเนื่องมาจากเหตุการณ์นั้น ๆ เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไป
จากการตรวจติดตามและประเมินผลการดำเนินการในพื้นที่จริง โดยคณะอาจารย์ที่ปรึกษาฯ และผู้ทรงคุณวุฒิฯ สามารถสรุปเป็นตัวอย่างหน่วยงานที่มีการดำเนินการโดดเด่น ดังต่อไปนี้
1. กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม : กระบวนงานก่อสร้างและบำรุงรักษาทาง
กรมทางหลวงชนบท ได้ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการควบคุมงานก่อสร้างและบำรุงรักษาทางให้ได้คุณภาพเป็นไปด้วยความโปร่งใส โดยเน้นให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ติดตามมาตรฐานการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางในพื้นที่ โดยเฉพาะในโครงการที่มีมูลค่ามากกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จัดทำคู่มือในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้รับจ้างเพื่อจดทะเบียนเป็นผู้รับจ้างกับกรมฯ คู่มือการควบคุมงานก่อสร้างทาง และเอกสารสรุปประเด็นข้อบกพร่องที่ควรระมัดระวังในการควบคุมงาน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ประชาชนให้การยอมรับและมีความเชื่อมั่นต่อคุณภาพงานก่อสร้างและบำรุงรักษาทาง ตลอดจนได้ทางที่มีอายุการใช้งานยาวนาน ได้มาตรฐาน ส่งผลต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประชาชนต่อไป
2. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช :กระบวนงานป้องกันและปราบปรามการบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์
การละเว้นการจับกุมผู้กระทำผิดในคดีบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือ การจับกุมที่ไม่ถูกต้อง หลักฐานไม่เพียงพอ ทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ถูกดำเนินคดี เป็นปัญหาของงานป้องกันและปราบปรามการบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้วางระบบการตรวจสอบขั้นตอนการจับกุมให้รัดกุม การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าตรวจสอบขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และแจ้งเบาะแสการทุจริต
ผลจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้หน่วยงานด้านการป้องกันรักษาป่ามีคู่มือมาตรฐานการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในขั้นตอนการตรวจยึดจับกุมมีความถูกต้อง เรื่องร้องเรียนของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นลดลง และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนแจ้งเบาะแส จะช่วยให้ในอนาคต สถิติคดีการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้มีแนวโน้มลดลง
3.กรมสรรพากร :กระบวนงานการคัดเลือกผู้เสียภาษี เพื่อกำกับ และตรวจสอบ
กรมสรรพากร ได้พัฒนากระบวนงานการคัดเลือกผู้เสียภาษีเพื่อกำกับ และตรวจสอบ มีความโปร่งใส เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ขึ้นอยู่กับการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีที่ถูกตรวจสอบ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมีความถูกต้องมากขึ้นผู้เสียภาษีจะได้รับความเป็นธรรมในการกำกับดูแล และตรวจสอบภาษี เกิดความเชื่อมั่นในการทำงานของกรมฯ ผู้เสียภาษีจะได้รับเงินคืนภาษีเร็วขึ้น สำหรับผู้ผ่านเกณฑ์ ไม่ต้องถูกตรวจสอบ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการกำกับ ดูแล และตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกรมสรรพากร ที่มีข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบาย การบริหารงานและการติดตามงาน
4.กรมพัฒนาที่ดิน :กระบวนงานการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน
การขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตพื้นที่ชลประทาน การดำเนินการมีขั้นตอนที่มีความเสี่ยงต่อความไม่โปร่งใส คือ การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการตรวจรับและควบคุมงานก่อสร้าง กรมพัฒนาที่ดินจึงได้พัฒนาระบบงานที่มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจรับงาน โดยจัดทำสื่อและอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจในรูปแบบที่เข้าใจง่าย รวมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์ในทุกขั้นตอนที่มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและหมอดินอาสา ที่เข้ามามีส่วนช่วยตรวจรับงานให้ได้มาตรฐานมีกระบวนการทำงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้มาตรฐาน และทำให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกร
5. กรมชลประทาน:กระบวนงานการบริหารจัดการน้ำให้แก่เกษตรกร
กรมชลประทานได้ใช้หลักการการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้น้ำหรือคณะกรรมการจัดการชลประทานมาบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เนื่องจากในกรณีที่ปริมาณน้ำไม่เป็นไปตามแผนการส่งน้ำ เจ้าหน้าที่จะต้องใช้ดุลยพินิจในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสและก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการส่งน้ำแก่เกษตรกรไม่ทั่วถึงและไม่เป็นธรรม
กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการสร้างความโปร่งใสในกระบวนงานการบริหารจัดการน้ำ โดยได้ดำเนินการดังนี้
1. ปรับปรุงกระบวนการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม ให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
2. จัดอบรมตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ พนักงานส่งน้ำและเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งน้ำประจำพื้นที่ ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานตามกระบวนการ
3. ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่ทั่วถึงเพื่อสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานในการบริหารจัดการน้ำ
ผลจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้เกษตรกรได้รับน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สามารถเพาะปลูกได้ตามเป้าหมาย สนับสนุนการผลิตภาคการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนของเกษตรกรเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจของประเทศเติบโตสูงขึ้น และเกษตรกรมีความพึงพอใจสูงขึ้น
6.สำนักงานประกันสังคม :กระบวนงานการชำระเงินสมทบผ่านไปรษณีย์
สำนักงานประกันสังคม ได้ปรับปรุงวิธีการรับเงินธนาณัติจากเงินสดเป็นแคชเชียร์เช็ค ทำให้เงินสดไม่ผ่านมือเจ้าหน้าที่ ช่วยลดความเสี่ยงในการที่เจ้าหน้าที่นำธนาณัติไปขึ้นเงินสดก่อน และลงทะเบียบคุมไม่ครบถ้วน รวมทั้งเพิ่มช่องทางให้ไปรษณีย์เป็นผู้แทนสำนักงานประกันสังคม รับชำระเงินสมทบ โดยเรียกข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์ของสำนักงานประกันสังคม สั่งพิมพ์ใบเสร็จรับเงินให้ผู้ประกันตนได้ทันที ทำให้ข้อมูลไม่ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ได้ส่งหนังสือแจ้งเวียนให้มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบ และแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จัดอบรมบุคลากรให้มีจริยธรรม ได้รับความรู้เรื่องแนวปฏิบัติ และบทลงโทษกรณีเจ้าหน้าที่ทุจริต ตลอดจนพัฒนาระบบร้องเรียน ทำให้สามารถป้องปราม และการตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ผลจากการดำเนินการ ทำให้สามารถป้องกันการทุจริตในการรับชำระเงินสมทบผ่านไปรษณีย์ได้ 100% ผู้ประกันตนเกิดความเชื่อมั่นว่าเงินที่ชำระ ถูกต้อง ครบถ้วน และมีใบเสร็จยืนยันทันที
7.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ :กระบวนงานจัดการศาสนสมบัติ
การสร้างความโปร่งใสในการดูแลรักษาศาสนสมบัติ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องข้อมูลการเช่าที่ไม่เป็นปัจจุบัน ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ทุจริตในการเรียกร้องรับสินบนได้ สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ดำเนินการปรับปรุงข้อมูลการใช้ประโยชน์พื้นที่เช่าให้มีความถูกต้อง การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังเพื่อให้ผู้เช่ามีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และร่วมตรวจสอบการเช่าในชุมชนตนเอง
ผลจากการดำเนินการดังกล่าวทำให้ข้อมูลการเช่าศาสนสมบัติมีความถูกต้อง ตรงกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เช่าและสร้างความตระหนักรู้รับผิดชอบให้เกิดกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งส่งผลให้ผู้รับบริการมีความพึงพอใจต่อการปฏิบัติงานจัดการศาสนสมบัติที่มีความโปร่งใสและเป็นธรรม
8.กรมศุลกากร :กระบวนงานการนำเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Import) กรณีการเปิดตรวจสินค้า (Red Line)
สินค้านำเข้าประเภทที่ต้องการตรวจสอบพิธีการ (Red Line) เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบมีสิทธิ์ใช้ดุลยพินิจของตนในการตรวจสอบว่าผู้นำเข้ามีการกระทำผิดในการนำเข้าหรือไม่ และผู้นำเข้ามีโอกาสพบปะกับเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบโดยตรง และมีโอกาสที่จะเสนอประโยชน์ให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อให้เอื้อประโยชน์หรืออำนวยความสะดวกให้กับตนโดยมิชอบได้ กรมศุลกากรจึงได้พัฒนากระบวนการนำเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Import) เพื่อให้มีความโปร่งใสในการปฏิบัติงานโดยวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการทุจริตในกระบวนการดังกล่าวอย่างรอบด้านและกำหนดมาตรการในการควบคุม กำกับดูแลอย่างรัดกุม ได้แก่ การวางระบบการตรวจสอบ ติดตาม โดยระบบกล้องวงจรปิดครอบคลุมทุกพื้นที่ ที่มีการตรวจสอบสินค้าในพิธีการทางศุลกากร และมีศูนย์ควบคุมที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ และบันทึกภาพข้อมูลการทำงานของเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง และยังพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลในการจัดการความเสี่ยงของทุกหน่วยงานในสังกัดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในด้านของบุคลากรได้มีการพัฒนาความรู้ด้านพิกัดศุลกากร ราคาสินค้าและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจัดทำเป็นคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง มีมาตรฐาน
นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังมีการกำหนดบทลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดเพิ่มขึ้น มีการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำการติดต่อกรมศุลกากรเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำในขั้นตอนทางศุลกากรที่ถูกต้อง ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อร่วมกันปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไม่ให้มีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ ภาคประชาชนได้มีการสร้างเครือข่ายการป้องปรามและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยอยู่ในระหว่างดำเนินการจัดตั้งเป็นศูนย์เครือข่ายฯ และสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ขึ้นที่ Customnetwork2012.blogspot.com
9.จังหวัดเชียงราย : กระบวนงานลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน
จังหวัดเชียงรายได้พัฒนาระบบงานฐานข้อมูลการให้ถ้อยคำของพยานบุคคล ซึ่งช่วยให้การตรวจสอบข้อมูลพยานผู้รู้เห็นการเกิด เพื่อออกหนังสือรับรองการเกิดมีความถูกต้อง ทำให้ลดความเสี่ยงการให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จของพยานการเกิดได้เป็นอย่างดี ซึ่งช่วยลดปัญหาการอนุมัติลงรายการสัญชาติไทยให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิได้สัญชาติไทย และสร้างความโปร่งใสในกระบวนงานลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน
10.จังหวัดนครปฐม:กระบวนงาน การขออนุญาตออกใบกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำ
จังหวัดนครปฐมได้พัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูลการออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำ ซึ่งช่วยให้การตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนสัตว์น้ำต่อพื้นที่การเพาะเลี้ยง และป้องกันการสวมสิทธิใบอนุญาตการจำหน่ายสัตว์น้ำ โดยโปรแกรมจะเตือนเมื่อจำนวนสัตว์น้ำที่แจ้งเกินสัดส่วนอัตรารอดของลูกพันธุ์ ซึ่งเดิมเจ้าหน้าที่จะต้องคำนวณแล้วจึงบันทึกลงเครื่อง ทำให้เกิดความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลและการออกใบอนุญาตที่เกินจำนวนที่เป็นจริงได้โดยโปรแกรมดังกล่าวยังได้รับการออกแบบให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังตั้งแต่แหล่งเพาะเลี้ยงลูกพันธุ์ได้ ทำให้เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบย้อนกลับเกี่ยวกับแหล่งที่มาของสัตว์น้ำ ในอนาคต อาจประยุกต์ใช้โปรแกรมนี้กับการออกใบอนุญาตสัตว์น้ำอื่นๆ และพัฒนาโปรแกรมภาษาอังกฤษเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในการเข้าสู่ประชาคมอีกด้วย
รวมถึงเปลี่ยนการใช้กระดาษในการพิมพ์ใบคำรับรองการขออนุญาตฯ ของกรมประมง เดิมกรมประมงมีระเบียบให้ใช้กระดาษต่อเนื่อง เปลี่ยนมาใช้กระดาษ A4 ธรรมดาแต่ยังคงใจความสำคัญของใบคำร้องการขออนุญาตอย่างครบถ้วน ประชาชนผู้รับบริการได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
11.จังหวัดลำพูน :กระบวนงานจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขาย
กระบวนงานจดสิทธิและนิติกรรมขาย มักมีข้อร้องเรียนการปฏิบัติงานว่าค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธินิติกรรมไม่ถูกต้องเป็นธรรม พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลยพินิจในการกำหนดราคาประเมินหรือค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้ จังหวัดลำพูนจึงแก้ไขปัญหาโดยการจัดทำราคาประเมินเป็นรายแปลงทั่วทั้งจังหวัด โดยใช้ฐานข้อมูลราคาประเมินที่ดินและโซน/บล็อก และเปิดเผยข้อมูลราคาประเมินดังกล่าวต่อสาธารณชนในช่องทางต่างๆเป็นความร่วมมือระหว่างส่วนราชการของจังหวัดและท้องถิ่น ได้แก่ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ลำพูน สำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทุกหน่วยงาน
การที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเข้ามามีบทบาทหลักในการกำหนดราคาประเมินรายแปลง เป็นแนวการปฏิบัติแนวทางใหม่ของการกำหนดราคาประเมินซึ่งเดิมเป็นหน้าที่ของธนารักษ์พื้นที่ ถือเป็นแนวทางการปฏิบัติใหม่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดอื่นๆ ในการกำหนดราคาประเมินรายแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสของกระบวนงานจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขายได้อย่างเป็นรูปธรรม
ในการดำเนินการระยะต่อไปของโครงการ 1 กรม 1 ป้องกันโกง คณะกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการซึ่งมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นเพื่อกำหนดประเด็นในการจัดทำข้อเสนอฯให้แก่ส่วนราชการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารวบรวมข้อมูลทั้งนี้เพื่อให้ขอบเขตการดำเนินงานมีความชัดเจน อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้อย่างต่อเนื่องและตรงจุด ขยายผลการสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ ตลอดจนเน้นวางกรอบการดำเนินการที่ชัดเจนมากขึ้นในลักษณะ Top-Down ซึ่งจะสามารถกำหนดกระบวนงานที่ต้องดำเนินการแก้ไข พร้อมขยายผลไปในส่วนของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนต่อไป
อุปสรรคเพื่อให้การดำเนินการสำเร็จตามหลักการและเหตุผลของแต่ละข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงฯ
4. ด้านความสำเร็จจากการดำเนินงาน ประเมินจากการสรุปประสบการณ์ของส่วนราชการ
ในลักษณะเรื่องเล่าอธิบายรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และผลอันเนื่องมาจากเหตุการณ์นั้น ๆ เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไป
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 25 เมษายน 2556 15:35:38 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 29 เมษายน 2556 16:24:22