เปิดตัวโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.)
รุ่นที่ 7 มีผู้สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร. จัดงานเปิดตัวโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) รุ่นที่ 7 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 ณ ห้องจามจุรี บอลรูม โรงแรมปทุมวัน ปริ้นเซส โดยมี นายพงษ์อาจ ตรีกิจวัฒนากุล รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ภายในงานมีการแนะนำหลักสูตรโครงการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปัณรส มาลากุล ณ อยุธยา และ การเสวนาโดย ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ พร้อมผู้แทนนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่หลายรุ่น อีกทั้งยังได้รับเกียรติจาก นายไพโรจน์ พรหมสาส์น และ นายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ กรรมการ ก.พ.ร. และผู้ที่สนใจในโครงการฯ เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นายพงษ์อาจ ตรีกิจวัฒนากุล รอง
เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า สืบเนื่องจากปี พ.ศ. 2545
ได้มีการปฏิรูประบบราชการครั้งสำคัญ
โดยนำหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาใช้ในระบบราชการ
มีการปรับโครงสร้าง กระทรวง ทบวง กรม มีการทำงานแบบเชิงยุทธศาสตร์
การทำตัวชี้วัด
ซึ่งการพัฒนาระบบราชการจำเป็นต้องอาศัยเวลาและสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง คือ
ต้องสรรหาคนเก่ง คนดี เข้าระบบราชการให้มากขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 และ
พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร.
เสนอในเรื่องโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.)
ที่ต้องการสรรหาคนเก่ง มีความรู้ความสามารถเข้าสู่ระบบราชการ
แล้วพัฒนาให้เป็นนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ นักวางแผน นักปฏิบัติ
และนำนวัตกรรมใหม่ ๆ
มาปรับปรุงการทำงานเพื่อไปพัฒนาองค์กรที่ตนเองสังกัดต่อไป
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการโครงการ นปร. มาตั้งแต่ปี 2548
รวมทั้งหมด 6 รุ่น โดยมี นปร. จำนวน 4
รุ่นไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์แล้ว ส่วนอีก 2
รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 5
กำลังปฏิบัติราชการในต่างประเทศภายใต้การสอนงานของท่านทูตประจำประเทศต่างๆ
และ รุ่นที่ 6 กำลังปฏิบัติราชการในจังหวัดต่าง ๆ
ภายใต้การสอนงานของผู้ว่าราชการจังหวัด รวมแล้วปัจจุบันมี นปร. จำนวนประมาณ
200 กว่าคน ทั้งนี้ เมื่อเข้าร่วมโครงการ นปร. แล้ว
จะได้เรียนรู้งานทั้งด้านวิชาการ
และการปฏิบัติงานกับผู้บริหารภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 22 เดือน รุ่นที่กำลังเปิดรับสมัคร คือ รุ่นที่ 7
เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 จนถึงวันที่ 10 มกราคม 2556
ท้ายสุดนี้ ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมฟังและเป็นส่วนหนึ่งในการสรรหาคนเก่ง
คนดี มาเข้ารับราชการเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป
นายพงษ์อาจ กล่าว
ต่อจากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปัณรส มาลากุล ณ อยุธยา ผู้
อำนวยการหลักสูตรนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่
กล่าวแนะนำหลักสูตรของโครงการ นปร. ว่า
โครงการนี้เกิดจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2547
ให้มีโครงการเพื่อสรรหาและดึงดูดคนที่มีขีดสมรรถนะสูงเข้ามารับราชการ
เพราะระบบราชการต้องการคนที่เป็นนักคิดที่มีวิสัยทัศน์
เป็นนักวางแผนและนักพัฒนา
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในระบบราชการที่เป็นหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ
จึงเกิดโครงการนี้เพื่อเป็นช่องทางใหม่ในการดึงดูดบุคคลผู้มีความรู้ความ
สามารถสูง เข้าสู่ระบบราชการ แล้วพัฒนาผู้เข้าร่วมโครงการฯ
ให้เป็นข้าราชการที่เก่งและดี เป็นนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่
ที่มีสมรรถนะครบครัน
รวมทั้งให้มีเวทีในการรวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับ
การบริหารภาครัฐ ระหว่างผู้บริหาร วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
และนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่
ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่มีลักษณะคล้ายโครงการ AENA
ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือนของประเทศฝรั่งเศส และ
The Administrative Service ของประเทศสิงคโปร์
โครงการฯ จะรับสมัครกลุ่มบุคคล 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1)
กลุ่มผู้เพิ่งสำเร็จการศึกษา 2) กลุ่มบุคคลภายนอกจากภาคเอกชน
หน่วยงานหรือองค์การระหว่างประเทศ
โดยจะนับอายุงานที่ปฏิบัติงานในภาคเอกชนมาเป็นอายุราชการ 3)
กลุ่มข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ
เมื่อสอบผ่านเข้าร่วมโครงการจะได้รับการบรรจุเป็นนักพัฒนาระบบราชการสังของสำนักงาน ก.พ.ร. ทันที โดยต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป
ไม่จำกัดสาขาที่จบปริญญาโท อายุไม่เกิน 30 ปี ระดับปริญญาเอก อายุไม่เกิน
35 ปี
ในการทดสอบมี 3 ขั้นตอน
จัดโดยศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขั้นตอนที่ 1
เป็นการทดสอบความรู้พื้นฐาน ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และความถนัดทางเชาวน์ปัญญา
ขั้นตอนที่ 2 ทดสอบข้อเขียนและทดสอบสภาวะจิตใจและอารมณ์
เพื่อวัดความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ และความสนใจในเหตุการณ์บ้านเมือง
ขั้นตอนที่ 3 การประเมินความเหมาะสมทางบุคลิกภาพ พฤติกรรม และเชาวน์อารมณ์
ด้วยวิธี Assessment Center ซึ่งทดสอบโดยคณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อประเมินพฤติกรรมของผู้สมัครสอบ
และสอบสัมภาษณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิทางสาขาวิชาต่าง ๆ
ทั้งหมดเป็นขั้นตอนการคัดกรองคนเข้าสู่ระบบราชการ
เมื่อผ่านเข้ามาแล้วจะได้เรียนรู้ภาควิชาการ 9 เดือน
โดยเรียนรู้จากการบรรยายและกรณีศึกษา ฝึกปฏิบัติ การประชุมกลุ่ม
เพื่อให้พื้นฐานความรู้เกี่ยวกับระบบราชการ และ
เรียนรู้จากการปฏิบัติราชการภายใต้การฝึกและสอนงานจากผู้บริหารระดับสูงของ
หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา 13 เดือน ประกอบด้วย
การปฏิบัติราชการในส่วนภูมิภาค ซึ่งได้เรียนรู้ใกล้ชิดกับประชาชน
การเรียนรู้ระบบบริหารงานของหน่วยงานกลางในการบริหารนโยบาย
ซึ่งได้เรียนรู้นโยบายกลาง ว่ากำหนดอย่างไร มีการตัดสินและคัดกรองอย่างไร
การปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง
ได้เรียนรู้การทำงานจากปลัดกระทรวงและอธิบดี การปฏิบัติราชการในภาคเอกชน
ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของภาคเอกชนที่อาจนำมาปรับใช้ในระบบราชการได้
และสุดท้าย การปฏิบัติราชการในต่างประเทศ ณ สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่
ได้รู้จักการเตรียมงานการประชุมในระดับนานาชาติ จะเห็นได้ว่า
การศึกษาเรียนรู้ที่ นปร. ได้รับ
จะเป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหน
ต่อจากนั้น เป็นการเสวนาในหัวข้อ สร้างคนเก่ง พัฒนาคนดี สร้างประเทศไทยให้ก้าวหน้า ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ในฐานะครูผู้ฝึกสอนงานของโครงการพัฒนานักบริหารหารเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่
เข้าร่วมการเสวนา ร่วมกับผู้แทนนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 1
รุ่นที่ 4 และ รุ่นที่ 6 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปัณรส มาลากุล ณ อยุธยา เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ กล่าว
ถึงโครงการ นปร. พร้อมเล่าประสบการณ์การเป็นที่ ปรึกษาให้กับ นปร.
รุ่นที่ผ่านมาว่า ในช่วงหลัง คนไม่ค่อยสนใจอยากรับราชการ
ด้วยอาจมองว่ารายได้น้อย สู้ภาคเอกชนไม่ได้ ซึ่งในความจริงแล้ว
อุดมคติไม่ได้มีแค่เงินทอง
แต่ยังมีความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานให้ประเทศชาติบ้านเมืองและคนไทยทั้ง
ประเทศ ดังนั้น
เพื่อสร้างแรงจูงใจและดึงดูดผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าสู่ระบบราชการ
จึงเกิดโครงการฯ นี้ขึ้น ในฐานะที่ปรึกษาก็ให้ นปร.
ติดตามไปทำงานตามที่ต่าง ๆ
ซึ่งในระหว่างการเดินทางจะเป็นการบรรยายการทำงานของแต่ละวัน ปัญหาต่าง ๆ
ที่ได้พบ เพื่อให้ นปร. ได้ซักถามและพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อสงสัย
รวมทั้งเวลาเข้าห้องประชุมส่วนใหญ่จะอนุญาตให้ นปร. ร่วมประชุมด้วย เช่น
ผมเป็นกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้ นปร. เข้าห้องประชุมเพื่อดูการทำงานจริง
ซึ่งคนทั่วไปไม่มีโอกาสได้เห็น นปร. จะได้เป็นทั้งลูกศิษย์และเลขาส่วนตัว
เรียนรู้การติดต่อประสานงาน จะได้รับมอบหมายงานให้เขียนโครงการ
ศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งได้หมุนเวียนไปทำงานในกองต่าง ๆ
เพื่อให้เห็นภาพรวมของงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นการได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง
หลังจากนั้นผู้แทน นปร. จากรุ่นที่ 1 รุ่นที่ 4 และรุ่นที่ 6
ได้เล่าถึงเหตุผลในการเข้าร่วมโครงการฯ และประสบการณ์ต่าง ๆ
ที่ได้รับจากโครงการ โดยมองว่า การเข้าโครงการ นปร.
เพื่อมาทำงานราชการเป็นทางเลือกที่ทำให้มีความสุข เราไม่ได้มองที่ตัวเงิน
แต่มองว่าเราได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และในส่วนประสบการณ์ที่ได้รับ
คือ ได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง รับทราบข้อมูลจริงจากส่วนราชการต่าง ๆ
และยังได้เครือข่ายจากอาจารย์ที่สอน เครือข่ายจาก นปร.
ด้วยกันเองที่ทำงานอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ
ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำงาน
ทั้งนี้ ยังได้เชิญ นายไพโรจน์ พรหมสาส์น กรรมการ
ก.พ.ร. ร่วมแสดงความคิดเห็นในฐานะผู้ปกครองของผู้เข้าร่วมโครงการ นปร.
โดยนายไพโรจน์ได้แสดงความคิดเห็นว่า เป็นโครงการที่ดี
ที่ผู้ร่วมโครงการจะได้ประสบการณ์นอกเหนือจากในตำรา นป
เป็นเส้นทางหนึ่งที่น่าสนใจในการบรรจุเป็นข้าราชการ
มีสิทธิพิเศษแตกต่างจากโครงการอื่นตรงที่จะได้รับมอบหมายให้ทำงานในหน้าที่
สำคัญของหน่วยราชการที่ได้ไปสังกัด
พร้อมกล่าวว่า
พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีโอกาสต้อนรับผู้ที่สนใจในระบบราชการ
เป็นคนที่เก่งและดี มีความรู้
มาใช้ความรู้ความสามารถเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดแก่ระบบราชการ
สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ บ้านเมือง ให้มีความเจริญยิ่งขึ้นไป
ภายหลังจากการเสวนาได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้แสดงความความคิดเห็น
รวมถึงซักถามในประเด็นข้อสงสัย หากสนใจคำถาม-คำตอบของงานนี้
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.opdc.go.th โดยคลิกไปที่
โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.)
สุปรียา (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
กลุ่มสื่อสารฯ/จัดทำ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 21 มกราคม 2556 10:29:13 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 21 มกราคม 2556 10:29:13