Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2555 / สิงหาคม / บุคลากรสำนักงาน ก.พ.ร. ศึกษาดูงานสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (Museum Siam)

บุคลากรสำนักงาน ก.พ.ร. ศึกษาดูงานสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (Museum Siam)

บุคลากรสำนักงาน ก.พ.ร. ศึกษาดูงาน

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (Museum Siam)

 

alt
 
        เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. โดย สำนักงานเลขาธิการ ร่วมกับกลุ่มพัฒนาองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วน ราชการ ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ การศึกษาดูงาน ณ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (Museum Siam) นำโดยนางสาวสุนทรี สุภาสงวน ผู้เชี่ยวชาญภารกิจกลุ่มพัฒนาองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่นที่มิ ใช่ส่วนราชการ ซึ่งการศึกษาดูงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายราเมศ พรหมเย็น ผู้ อำนวยการสำนักงานบริหารและผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เป็นผู้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (Museum Siam)

alt       สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (Museum Siam) เป็นพิพิธภัณฑสถานที่เน้นการสร้างประสบการณ์สดใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ที่น่ารื่นรมย์ และช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ให้กับประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทยเกี่ยวกับการสร้างสำนึกในการรู้จักตนเอง รู้จักเพื่อนบ้าน และรู้จักโลก รวมถึงการบริหารที่มีประสิทธิภาพ คล่องตัวและทันสมัย กระบวนการในการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์จึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน ที่มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นการสร้างแนวคิดและเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ของ พิพิธภัณฑ์ในสังคมแห่งการเรียนรู้ ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นไปอย่างสนุกสนานยิ่งขึ้น ซึ่งมีการนำเสนอเนื้อหาที่ครอบคลุมองค์ความรู้ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชาติพันธ์วิทยา มานุษยวิทยา ภูมิศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านรูปแบบของการจัดเป็นนิทรรศการ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นประเด็นต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ ที่ก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ง่ายต่อการเรียนรู้และการจดจำ

        โดยนายราเมศ ได้บรรยายเกี่ยวกับการจัดนิทรรศการของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (Museum Siam) ว่า จะประกอบด้วย
alt
               1. นิทรรศการถาวร ซึ่ง เป็นนิทรรศการ เรียงความประเทศไทย เป็นการบอกเล่าถึงพัฒนาการด้านต่างๆ นับตั้งแต่สมัยแผ่นดินสุวรรณภูมิ เรื่อยมาจนถึงกำเนิดสยามประเทศและก้าวสู่ประเทศไทยในปัจจุบัน โดยนำเสนอผ่านห้องนิทรรศการจำนวน 17 ห้อง ประกอบด้วย
                       ห้องเบิกโรง เป็น การเบิกตัวละครทั้งเจ็ดที่จะพาผู้ชมย้อนกลับไปสู่เรื่องราวอันเป็นต้นกำเนิด จากสุวรรณภูมิสู่สยามประเทศ ถึงประเทศไทย เพื่อค้นหาคำตอบว่าเราคือใคร และอะไรคือไทย

                    ห้องไทยแท้ เป็นห้องที่ทำให้เกิดความอยากรู้ว่าไทยแท้คืออะไร และเป็นอย่างไรจึงเรียกว่าไทยแท้

                        เปิดตำนานสุวรรณภูมิ เป็น ห้องที่แสดงถึงวิวัฒนาการสังคมก่อนจะมาเป็นบรรพบุรุษชาวสุวรรณภูมิ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า "สุวรรณภูมิ" คือชื่อที่ชาวโลกเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนใช้เรียกดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ทางทิศตะวันออกของอินเดีย ส่วนหนึ่งของพื้นที่แห่งนี้มีกรุงเทพฯ ที่ยังนอนสงบนิ่งอยู่ใต้ทะเล ซึ่งการศึกษาโครงกระดูก หลุมฝังศพ และอารยธรรมที่ฝังอยู่ใต้ดินทำให้รู้จักดินแดนแห่งนี้มากขึ้น

                    alt             alt

                       สุวรรณภูมิ
เป็น ห้องที่ทำให้รู้จัก "สุวรรณภูมิ" ดินแดนแห่งความมั่งคั่งผ่านผู้คน การเกษตร การค้า การสร้างเมือง เทคโนโลยีแห่งโลหะ และความเชื่อ (ผี-พราหมณ์-พุทธ) ซึ่งจะทำให้รู้ว่าสุวรรณภูมิ คือ รากเหง้าของประเทศไทย

   
                   พุทธิปัญญา เป็นห้องที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหัวใจของพุทธศาสนา 

                       กำเนิดสยามประเทศ เป็น การนำเสนอด้วยเทคนิคที่หลากหลาย เพื่อให้เห็นนานาแว่นแคว้นต่างๆ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นนครรัฐ และสื่อสารเรื่องราวของวีรบุรุษผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาจากตำนานท้าวอู่ทอง เรื่องเล่าที่แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม

             alt     alt

                      สยามประเทศ นำเสนอในช่วงกรุงศรีอยุธยาที่มีสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ทั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และด้วยอำนาจทางการเมืองที่กว้างไกล ทำให้สามารถควบคุมการผลิตภายในราชอาณาจักรได้ นอกจากนี้ กรุงศรีอยุธยายังเป็นอาณาจักรที่อยู่ใกล้ทะเล จึงพัฒนาตัวเองขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้า ทางทะเลของภูมิภาค และสืบเนื่องจากการติดต่อค้าขายนี่เอง ที่ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างผู้คนและวัฒนธรรม เกิดเป็นความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมที่หลากหลายขึ้นในแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การทหาร ภาษา และสถาปัตยกรรม

                       สยามยุทธ์ เป็น การบอกเล่าเรื่องราวสงครามในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีมูลเหตุใหญ่ๆ คือ ความต้องการแสดงพระองค์ของกษัตริย์ ในฐานะ "พระจักรพรรดิ" เหนือพระเจ้าแผ่นดินและเพื่อกวาดต้อน "คน" อันเป็นแรงงานและกำลังรบ รวมถึงการครอบครองสินค้าสำคัญของรัฐอื่น สงครามจึงไม่ใช่เรื่องของรัฐต่อรัฐ หากเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์หนึ่งกับพระมหากษัตริย์อีกรัฐหนึ่ง และนอกจากการสู้รบแล้ว ยังมีการแสดงถึงภูมิปัญญา การวางกลยุทธ์ กลุ่มชาติพันธ์ และศิลปกรรมอีกด้วย
 
                       ห้องแผนที่ นำเสนอแผนที่ต่างๆ ตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน

 alt  alt

                       กรุงเทพฯ ภายใต้ฉากอยุธยา นำเสนอเรื่องราวเรื่องราวเมื่อครั้นสิ้นกรุงศรีอยุธยา ชาวกรุงศรีฯ ก็สร้างเมืองของพวกเขาขึ้นใหม่ บนผืนดิน "บางกอก" ซึ่งพวกเขาได้จำลองแนวคิดและสืบสานวัฒนธรรมมาจากเมืองเก่ามากมาย อีกทั้งเมื่อเริ่มสร้างกรุงใหม่ จึงได้เกณฑ์ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติมาช่วยกัน จนเมื่อสร้างเสร็จลงหลักปักฐาน กลายเป็นชาวกรุงเทพฯ ในที่สุด

                       ชีวิตนอกกรุงเทพฯ สื่อให้เห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น และความฉลาดหลักแหลม ไม่ว่าจะเป็นของเล่น อุปกรณ์การดักสัตว์ เครื่องมือทำกิน ความเชื่อ และพิธีกรรม ที่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยะแห่งการสร้างสรรค์ และ วิถีเกษตรที่ผูกพันกับชาวสยามจนมาถึงทุกวันนี้

               alt          alt

                       แปลงโฉมสยามประเทศ บอกเล่าเรื่องราวช่วงการติดต่อกับโลกตะวันตก ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในสังคมสยามหลายด้าน การเริ่มสร้างถนน ไม่เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการคมนาคมเท่านั้น หากยังเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนที่คุ้นชินกับสายน้ำและความแช่มช้า นับจากนี้ ถนนจะเร่งกงล้อแห่งความเปลี่ยนแปลงให้สยามเปลี่ยนโฉมไปตลอดกาล

                       กำเนิดประเทศไทย นำเสนอช่วงเปลี่ยนผ่านจากสยาม ทำไมกลายเป็นไทย ห้องนี้จะกระตุ้นให้เกิดการค้นหาคำตอบว่า "วันเกิดประเทศไทยคือวันที่เท่าไหร่" และ "กรมโฆษณาการมาเกี่ยวอย่างไร"

                           alt       alt
 
                       สีสันตะวันตก เป็นท้องที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์โลกใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างมีชีวิตชีวา ภายหลังความบอบซ้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทศวรรษ 1940 เศรษฐกิจที่กำลังรุ่งเรือง ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส เสียงเพลงแห่งความหวัง และสนุกสนาน กล่อมให้ผู้คนลืมความเจ็บปวดจากสงครามไปได้หมดสิ้น และประเทศไทยก็โกย "ดอลล่าร์" จากการเปิดอ้ารับวัฒนธรรมอเมริกันอย่างเป็นลำเป็นสัน

                       เมืองไทยวันนี้ บอกเล่าเรื่องราวผ่านกาลเวลามากว่า 3,000 ปี มีสิ่งใดบ้างที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนฝังตรึงเป็น "ดีเอ็นเอ" ของความเป็นไทย มีสิ่งดีๆ ใดบ้างที่ยังอยู่กับเราและมีสิ่งดีๆ ใดบ้างที่หล่นหายไปอย่างน่าเสียดาย ภาวะอันสับสนของคนรุ่นปัจจุบันน่าจะแก้ไขได้ หากทุกคนเรียนรู้ "ความเป็นไทยที่แท้จริง" ความเป็นไทยที่อยู่บนพื้นฐานของความหลากหลาย "ความเป็นไทยที่รู้จักเลือกรับและปรับใช้" นั่นคือ การผสมผสานสิ่งดีงามจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเรา

                     alt             alt

                           alt         alt

                       มองไปข้างหน้า เป็นห้องที่ตอกย้ำว่า "วันพรุ่งนี้ของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร คนรุ่นปัจจุบันเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้"

                       ตึกเก่าเล่าเรื่อง ที่จะเล่าถึงที่มาของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (Museum Siam) นับตั้งแต่ความเป็นมาและพัฒนาการของพื้นที่ในบริเวณนี้ แม้กระทั่งตัวอาคารนิทรรศการเนื่องจากตอนบูรณะ "อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ (เดิม)" ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์นั้น ได้มีการค้นพบความเก่งกาจของสถาปนิกและช่างในสมัยก่อน นอกจากนี้ยังจัดให้มีการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การค้นพบรากฐานของวังในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 ทีมงานผู้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์จึงอยากชักชวนให้ผู้ชมมาสวมวิญญาณเป็น "นักโบราณคดีสมัครเล่น" และค้นหาอดีตของพื้นที่แห่งนี้

                  alt              alt

                2. นิทรรศการชั่วคราว โดยในช่วงวันที่ 10 กรกฎาคม - 4 พฤศจิกายน 2555 นี้ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาaltติ (Museum Siam) ได้จัดนิทรรศการ กินของเน่า ซึ่ง เป็นการตีความวัฒนธรรมการกินสุดคลาสสิกของคนไทย ที่นำเสนอภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนไทยโบราณ ในการทำอาหารให้ เน่าเสีย ด้วยกระบวนการ หมักดอง ความชาญฉลาดที่สอดคล้องกับหลักการถนอมอาหารในยุคปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนโบราณคือ นักวิทยาศาสตร์ และ ศิลปินเอก ที่นำจุลินทรีมาใช้ประโยชน์ได้แม้ไม่มีกล้องจุลทรรศน์ เกิดการสร้างสรรค์อาหารรสชาติแปลกใหม่ กลายเป็นสัญลักษณ์การกินที่เป็นตัวตนของคนไทย บ่งบอกถึงการอยู่ร่วมกันของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ในผืนแผ่นดินไทยที่มีมา อย่างยาวนาน รวมถึงประวัติศาสตร์การค้าในสมัยโบราณที่มีเกลือเป็นเครื่องสร้างความ มั่งคั่ง และโอกาสทางการค้าในยุคปัจจุบันจากการต่อยอดผลิตภัณฑ์ร่วมตีความวัฒนธรรมการ กินของเน่า ภูมิปัญญาที่นำมาซึ่งความอร่อย การอยู่รอด เงินตรา วรรณะ วัฒนธรรม และความเชื่อ

                 alt             alt

              3. นิทรรศการเคลื่อนที่ หรือ Muse Mobile มิวเซียมติดล้อ เป็นนิทรรศการในตู้คอนเทนเนอร์ครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อเคลื่อนที่ไปจัดแสดงทั่วประเทศ โดยย่อเนื้อหามาจากนิทรรศการ เรียงความประเทศไทย ที่จัดแสดงอยู่ในมิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ

              4. นิทรรศการพิเศษ เป็นการจัดแสดงนิทรรศการที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสนใจที่จะนำเสนอผลงาน ของตนเอง อาทิ นักเรียน นักศึกษา สามารถนำผลงานมาแสดง ณ สถานที่แห่งนี้ได้

        หลังจากจบการบรรยายคณะผู้ศึกษาดูงานจากสำนักงาน ก.พ.ร. ไปชมนิทรรศการถาวร และชมนิทรรศการชั่วคราว โดยนิทรรศการดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

        การศึกษาดูงานในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาสมรรถนะสำนักงาน ก.พ.ร. ด้านการบริหารความรู้ (Knowledge Management) เพื่อพัฒนาความรู้ในสำนักงาน ก.พ.ร. ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของข้าราชการ ให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและประมวลความรู้ในด้านต่างๆ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป


วสุนธรา & ภัทรพร (สลธ.)/รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ/จัดทำ
 
 

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 24 สิงหาคม 2555 10:12:11 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 24 สิงหาคม 2555 10:19:42
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th